×

“ไม่มีใครเกิดมาเป็นผู้ก่อการร้าย” นักวิจัยชาวอินโดนีเซีย กับสาเหตุ ‘ความคิดรุนแรง’ ของผู้ก่อการร้าย

07.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ คือประเทศที่พบว่ามีคนพยายามเดินทางไปร่วมรบกับกลุ่มหัวรุนแรงในตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง และหลายคนที่กลับมาจากสงครามในตะวันออกกลางได้กลับมาขยายเครือข่ายกับนักรบในพื้นที่ ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการก่อการร้ายที่สำคัญ
  • การก่อการร้ายคือภัยคุกคามที่ท้าทายความมั่นคงของทุกประเทศทั่วโลกที่นับวันจะสะท้อนความขัดแย้งที่ฝังรากลึกครอบคลุมตั้งแต่บริบททางการเมือง วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งทางออกต่อเรื่องนี้ดูจะเลือนรางและสิ้นหวัง
  • นูร์ ฮูดา อิสมาอิล นักวิจัยด้านความขัดแย้งชาวอินโดนีเซียรุ่นใหม่ เลือกที่จะแก้ปัญหาการก่อการร้ายแบบล่างสู่บน เข้าใจโครงสร้างของปัญหา ซึ่งทำให้เขาไม่เหมารวมว่า ‘ผู้ก่อการร้าย’ จะต้องมีความคิดรุนแรงในระดับเดียวกัน หรือมีสาเหตุที่กระตุ้นให้พวกเขาก่อความรุนแรงเหมือนกัน การเข้าใจที่มาที่ไปของแต่ละคนว่าแตกต่างกันทำให้เขาสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด

     อินโดนีเซียคือประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เผชิญกับความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนออกมาผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตาครั้งล่าสุด ที่ศาสนากลายเป็นปัจจัยสำคัญในการลงคะแนนเสียงของประชาชน

     ‘ความคิดสุดโต่ง’ ที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียนั้นทำให้ประเทศนี้เป็นอีกพื้นที่เฝ้าระวังการก่อการร้าย เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพราะมีรายงานว่ามีคนจากประเทศเหล่านี้พยายามเดินทางไปร่วมรบกับกลุ่มหัวรุนแรงในตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง

     ในช่วง 10 ปีให้หลัง ‘การก่อการร้าย’ สิ่งที่ท้าทายความมั่นคงของทุกประเทศทั่วโลกเป็นความขัดแย้งฝังรากลึกที่ครอบคลุมไปถึงบริบททางวัฒนธรรม การเมือง และศาสนา ทั้งในระดับชาติและสากล จนทำให้ทางออกต่อปมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นดูจะเลือนรางและสิ้นหวัง และท่ามกลางข่าวก่อการร้ายในสื่อต่างชาติกระแสหลักที่รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปและตะวันออกกลาง ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีความเคลื่อนไหวต่อการเข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรงในตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ทำให้ไทยเองต้องเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน

    THE STANDARD ได้พูดคุยกับ นูร์ ฮูดา อิสมาอิล (Noor Huda Ismail) นักวิจัยด้านความขัดแย้งชาวอินโดนีเซียรุ่นใหม่ที่พยายามเข้าใจความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งได้นำเขาไปสู่วิธีการแก้ปัญหาการก่อการร้ายด้วยมุมมองใหม่

     เขาตั้งสถาบันที่มีชื่อว่า Yayasan Prasasti Perdamaian ที่ทำให้คนที่มีความคิดรุนแรงและพยายามเข้าร่วมสงครามในตะวันออกกลางกลับมามีความคิดที่ไม่ต่อต้านสังคมและก่อความรุนแรงกลับมาใช้ชีวิตได้ในสังคม นอกจากนี้เขาได้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับคนที่ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรงผ่านสารคดี Prison and Paradise และ Jihad Selfie ทั้งยังเตรียมสร้างงานที่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ผ่านสารคดีอีกตอนที่มีชื่อว่า The Face of Islam in Southeast Asia ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวในภาคใต้ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน

การป้องกันการก่อการร้ายมันไม่มีหนังสือคู่มือ มันไม่มีทางออกที่เป็นสูตรสำเร็จ แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการลงไปคลุกคลีกับกลุ่มหัวรุนแรงคือ ไม่มีใครเกิดมาเป็นผู้ก่อการร้าย

 

ไม่มีใครเกิดมาเป็นผู้ก่อการร้ายและมีความคิดรุนแรง

     ในปี 2016 กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียเจอกับเหตุโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย 6 ครั้ง โดยกลุ่มไอเอสประกาศว่าเป็นการกระทำโดย ‘พันธมิตร’ ของกลุ่มไอเอส ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียเดินทางไปซีเรียและอิรักเพื่อร่วมรบกับกลุ่มไอเอสถึง 700 คน ก่อนจะกลับมาขยายเครือข่ายกับกลุ่มหัวรุนแรงในพื้นที่ ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบันเป็นพื้นที่เฝ้าระวังกลุ่มก่อการร้ายที่สำคัญ

     ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียเคยเจอกับเหตุก่อการร้ายรุนแรงที่สุดอย่างเหตุการณ์ระเบิดในบาหลีเมื่อปี 2002 ที่คร่าชีวิตผู้คนไป 202 คน และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้อิสมาอิล ที่ตอนนั้นเป็นนักข่าวของ Washington Post ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัดสินใจไปศึกษาต่อด้านความมั่นคงและความขัดแย้ง และกลับมาก่อตั้งสถาบันวิจัยด้านสันติภาพและการแก้ปัญหาก่อการร้ายที่อินโดนีเซีย (Yayasan Prasasti Perdamaian) เพราะการรายงานข่าวความขัดแย้งในภูมิภาคนี้ได้นำพาเขาไปสัมผัสความตายและความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเกิดคำถามว่าทำไมคนธรรมดาทั่วไปจึงตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้าย เพราะหนึ่งในผู้ก่อเหตุระเบิดในบาหลีคือเพื่อนของเขาเอง

     “ผมพบว่าเพื่อนของผมเป็นหนึ่งในผู้ก่อเหตุระเบิดในบาหลี ซึ่งจริงๆ แล้วเขาเป็นคนน่ารักมาก ตั้งแต่วันนั้นผมจึงเกิดคำถามว่า อะไรคือปัจจัยที่ส่งผลให้คนธรรมดาทั่วไปเข้าร่วมก่อเหตุรุนแรง และนี่คือจุดที่ทำให้ผมเริ่มตั้งสถาบัน Yayasan Prasasti Perdamaian เพื่อค้นคว้าและวิจัยถึงปัจจัยที่ทำให้พวกเขาเริ่มมีความคิดรุนแรง”

     อิสมาอิลเริ่มก่อตั้งสถาบัน Yayasan Prasasti Perdamaian ในปี 2008 ซึ่งกว่าที่เขาจะทำให้คนยอมรับแนวคิดนี้เพื่อระดมทุนนั้นก็ยากพอสมควร

     “คนที่ผมช่วยให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ในสังคมมีทั้งนักรบปากีสถานและนักรบกลุ่มญิฮัด ซึ่งในการป้องกันการก่อการร้ายมันไม่มีหนังสือคู่มือ มันไม่มีทางออกที่เป็นสูตรสำเร็จ แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการลงไปคลุกคลีกับกลุ่มหัวรุนแรงคือ ไม่มีใครเกิดมาเป็นผู้ก่อการร้าย และการเป็นนักรบกลุ่มญิฮัดเปรียบเสมือนงานพาร์ตไทม์ ไม่มีใครเป็นนักรบเต็มเวลา แต่ตอนเริ่มต้นนั้นยากมากที่คนจะซื้อแนวคิดของผม เพราะจริงๆ แล้ววิธีการของผมมันธรรมดามาก”

     หลังจากที่ก่อตั้งสถาบันนี้ เขาได้ลงไปศึกษาและพูดคุยกับผู้มีแนวคิดรุนแรงหลายร้อยคนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์

หากคุณมองสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ คุณจะเห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกิดจากการไม่ยอมรับความแตกต่าง

การแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายคือการทำความเข้าใจพวกเขา

     การเรียนรู้ข้างต้นทำให้เขาตั้งใจลดความรุนแรงระหว่างประเทศด้วยวิธีจากล่างสู่บน เพราะเขาคิดว่าการแก้ไขปัญหาแบบเดิมไม่ใช่ทางออก เขาเลือกให้บทบาทกับครอบครัวและชุมชนในการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน เพราะเขาคิดว่าสถาบันอย่างครอบครัวนั้นจะช่วยป้องกันและแก้ไขความคิดรุนแรงได้อย่างดี

     “ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ผมพยายามหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ เพราะที่ปัญหายังเกิดขึ้นซ้ำๆ หมายความว่ามันยังถูกแก้ไขด้วยวิธีเดิมๆ ที่ไม่ใช่ทางออก ทีมงานของเราได้ลงพื้นที่ไปศึกษาใน 32 เมืองทั่วทุกหมู่เกาะของอินโดนีเซีย และทางออกที่ดีที่สุดในการเข้าใจที่มาที่ไปและป้องกันความคิดรุนแรงคือการเข้าไปสัมผัสกับพวกเขา รวมถึงกิจกรรมที่พวกเขาทำ

     “ผมและทีมงานเยียวยาความคิดของคนที่เคยก่อความรุนแรงหรือผู้ก่อการร้ายด้วยการพูดคุย เปลี่ยนทักษะการใช้อาวุธของพวกเขามาเป็นทักษะในการทำงานอื่นๆ ผมไม่ได้เข้าไปแล้วบอกให้พวกเขาเปลี่ยนอุดมการณ์หรือความเชื่อ เพราะพวกเขาจะยิ่งต่อต้านทันที แต่เราพยายามเข้าใจพวกเขาผ่านกิจกรรมที่ทำ แล้วก็ทำให้ครอบครัวและชุมชนตระหนักว่านี่คือปัญหาของพวกเขาด้วย

     “เป็นการแก้ไขปัญหาจากระดับรากหญ้า” อิสมาอิลกล่าว

แม้ว่า ‘รัฐ’ จะมีบทบาทสำคัญ แต่ไม่ได้หมายความว่า ‘รัฐ’ จะแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง และบางครั้ง ‘รัฐ’ คือผู้ก่อปัญหาด้วยซ้ำ

ความคิดรุนแรงมีหลายระดับ และผู้ก่อการร้ายก็เข้าร่วมขบวนการด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน

     จากการสัมผัสคนที่ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรงทำให้อิสมาอิลพบว่า การเหมารวมว่า ‘ผู้ก่อการร้าย’ มีแนวคิดและการกระทำเหมือนกันหมดนั้นทำให้เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด

     “ที่ผ่านมาไม่มีใครพยายามแยกว่าคนเคยก่อเหตุหรือเข้าร่วมขบวนการหัวรุนแรงคนไหนที่มีความเป็นไปได้จะกลับสู่สังคมปกติได้บ้าง พอเราเหมารวม มันเลยทำให้เราพลาดโอกาสที่จะพูดคุยกับพวกเขา

     “ความคิดรุนแรงมีหลายระดับ มีทั้งผู้นำและผู้ตาม และสาเหตุที่พวกเขาเข้าร่วมขบวนการก็มีหลากหลายสาเหตุ บางคนเข้าร่วมเพราะต้องการแก้แค้นให้ครอบครัวที่ถูกสังหาร บางคนเข้าร่วมเพราะเกิดมาในครอบครัวหัวรุนแรง บางคนยึดหลักอุดมการณ์เหนียวแน่น บางคนเข้าร่วมเพียงเพราะต้องการความท้าทาย บางคนเข้าร่วมโดยไม่ได้ตั้งใจ และเพิ่งมารู้ตัวเมื่ออยู่ในคุกแล้ว”

     อิสมาอิลเลือกที่จะจำแนกสาเหตุที่คนเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายออกเป็น 3 สาเหตุ

     “แต่ละคนอาศัยวิธีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน ผมจึงจำแนกการเข้าร่วมออกเป็น 3 สาเหตุ หนึ่ง ผู้ก่อการร้ายที่ตัดสินใจเข้าร่วมหรือก่อเหตุเพราะอุดมการณ์ สอง ผู้ก่อการร้ายมีฐานะยากจน และเชื่อว่าการเข้าร่วมจะทำให้พวกเขาขึ้นสวรรค์ สาม ผู้ก่อการร้ายที่ตัดสินใจลงมือเพราะต้องการแก้แค้น ซึ่งสาเหตุนี้กำลังมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

     การเข้าใจที่มาที่ไปของผู้ก่อการร้ายแต่ละคนทำให้อิสมาอิลรู้ว่าเขาควรจะพูดคุยกับแต่ละคนอย่างไร เพราะเขามองว่าการให้โอกาสครั้งที่สองกับคนกลุ่มนี้มีความสำคัญในการสร้างสันติภาพ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชาติตะวันตกอย่าง Brexit หรือทรัมป์นั้นสะท้อนความหวาดกลัวต่อการสูญเสียอำนาจ ในขณะที่อาเซียนยังเป็นภูมิภาคแห่งความหวัง เพราะเรายังไม่เผชิญกับสงครามรุนแรงเท่ากับภูมิภาคอื่น

การแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายของตะวันตกอาจทำให้ความขัดแย้งยิ่งบานปลาย?

     เหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งนับวันจะรุนแรงและลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนความอดทนอดกลั้นต่อกันและกันที่มีน้อยลง และความแตกต่างกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่ฝังรากลึก

     “หากคุณมองสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ คุณจะเห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกิดจากการไม่ยอมรับความแตกต่าง ความกลัวต่อความแตกต่างระหว่างพวกเขาและพวกเรา และสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งนี้คือข้อมูลที่บิดเบือน ข้อมูลชวนเชื่อ หรือข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ อีกด้านเกิดจากการที่คนบางกลุ่มรู้สึกว่าพวกเขาถูกละเลยหรือรัฐไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ และเมื่อมีข้อมูลข่าวสารที่ไปกระตุ้นความเกลียดชัง พวกเขาจึงเลือกทางออกอย่างการเข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรง ผมมองว่ารูปแบบความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีลักษณะคล้ายกัน”

     ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Jihad Selfie ที่เขาพาคนดูไปเห็นการพูดคุยของเขากับคนที่เคยเข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรงเพื่อทำให้คนเข้าใจความคิดของคนเหล่านี้มากขึ้น ในตอนหนึ่งเขาได้แสดงมุมมองไว้ว่า การใช้คำว่า ‘การก่อการร้าย’ หรือ ‘ผู้ก่อการร้าย’ มักถูกแปะป้ายโดยชาติตะวันตก ซึ่งเขาได้ขยายมุมมองนี้ต่อกับ THE STANDARD ว่า

     “ชาติตะวันตกแก้ไขปัญหานี้ด้วยวิธีเดิมๆ คือการยุ่งแต่กับการสังหารหัวหน้า สังหารคนเข้าร่วม ซึ่งวิธีนี้ยิ่งทำให้คนอยากจะแก้แค้นตะวันตกมากขึ้น และการใช้คำว่า ‘ก่อการร้าย’ บางครั้งก็มีนัยทางการเมือง ปัญหาการก่อการร้ายจึงมีบริบททางการเมืองอยู่มาก อย่างเช่น สงครามซีเรียที่ตอนนี้ผู้คนก็ยังสับสนว่าพวกเขากำลังสู้เพื่อใคร เป็นความขัดแย้งภายในประเทศหรือเป็นสงครามตัวแทน ผมจึงเลือกที่จะแก้ไขปัญหาจากล่างสู่บนผ่านบทบาทของผม เพราะแม้ว่า ‘รัฐ’ จะมีบทบาทสำคัญ แต่ไม่ได้หมายความว่า ‘รัฐ’ จะแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง และบางครั้ง ‘รัฐ’ คือผู้ก่อปัญหาด้วยซ้ำ

     อิสมาอิลจึงคิดว่าวิธีการแก้ไขปัญหาของเขาคือการเข้าใจโครงสร้างของปัญหา เขาเริ่มจากการเข้าใจตัวบุคคลที่ก่อเหตุรุนแรง แล้วจึงค่อยเคลื่อนสู่ระดับสังคม ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ แล้วจึงผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหานี้กับรัฐ

     ในขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ อิสมาอิลยังคงพยายามลดความขัดแย้ง เหตุรุนแรง และสร้างสันติภาพผ่านสถาบันที่เขาก่อตั้ง โดยเขากลายเป็น ‘เสียงใหม่’ ต่อปัญหาด้านความขัดแย้งที่ความคิดและแนวทางของเขากำลังได้รับความสนใจในหลายเวที โดยในปีนี้เขายังเตรียมทำสารคดีเรื่องใหม่ชื่อว่า The Face of Islam in Southeast Asia เพื่อสะท้อนความขัดแย้งระหว่างศาสนาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยจะเริ่มถ่ายทำในมาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทย เพราะต้องการนำแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เขาใช้กับอินโดนีเซียมาใช้กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

     “ผมอยากผลักดันแนวทางนี้ในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติในภายภาคหน้า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชาติตะวันตกอย่าง Brexit หรือทรัมป์นั้นสะท้อนความหวาดกลัวต่อการสูญเสียอำนาจ ในขณะที่อาเซียนยังเป็นภูมิภาคแห่งความหวัง เพราะเรายังไม่เผชิญกับสงครามรุนแรงเท่ากับภูมิภาคอื่น การที่พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่เฝ้าระวังที่สำคัญนั้น หมายความว่าโลกกำลังเผชิญปัญหานี้อย่างแท้จริง

     “ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยคนใดคนหนึ่ง และผมไม่ใช่ฮีโร่ แต่ผมมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและต้องการแก้ไขด้วยวิธีใหม่ๆ รวมทั้งผลักดันแนวทางนี้สู่ระดับนานาชาติ”

 

อ้างอิง:

     – www.straitstimes.com/asia/se-asia/malaysian-police-arrest-three-suspected-isis-sympathisers

     – www.straitstimes.com/asia/east-asia/indonesian-arrest-shifts-discourse-on-isis

     – www.ndtv.com/world-news/singapore-minister-warns-isis-will-target-southeast-asia-1633298

     – thediplomat.com/2016/12/islamic-state-in-southeast-asias-grey-zones

     – www.goo.gl/HS5D2i

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising