×

“สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมากกว่าสิทธิมนุษยชน” คุยกับนักข่าวรุ่นใหม่ของสิงคโปร์ในวันที่เสรีภาพสื่อถูกลิดรอน

07.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับการถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งสะท้อนออกมาจากดัชนีเสรีภาพสื่อโลก ปี 2017 ว่า จาก 180 ประเทศ เสรีภาพของสื่อใน 10 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ต่ำกว่าอันดับ 120 ทั้งหมด
  • วงการสื่อสารมวลชนของไทยกำลังถกเถียงกันเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้พัฒนามาจาก พ.ร.บ. การออกอากาศของสิงคโปร์
  • พ.ร.บ.การออกอากาศของสิงคโปร์ระบุว่า สื่อต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลเป็นประจำทุกปี จ่ายค่าธรรมเนียม แจ้งที่มาของเงินทุน ห้ามรับเงินทุนจากต่างชาติ และรัฐบาลสิงคโปร์มีสิทธิที่จะสั่งให้เว็บไซต์นำเนื้อหาที่รัฐบาลมองว่า ‘ทำลายความมั่นคงของรัฐ’ ออกได้ภายใน 24 ชั่วโมง
  • เคิร์สเทน ฮาน (Kirsten Han) นักข่าวออนไลน์รุ่นใหม่ของสิงคโปร์ ผู้ทำหน้าที่รายงานเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนในสิงคโปร์อย่างต่อเนื่องแสดงความคิดเห็นว่า หน้าที่ของเธอคือทำให้ผู้คนตระหนักต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้ได้มากที่สุด และสื่อมวลชนคืออีกสถาบันหนึ่งของรัฐที่ไม่ควรถูกลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก

     เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นภูมิภาคที่เผชิญกับความไม่มั่นคงทางการเมืองและการใช้อำนาจในทางที่ผิดของรัฐบาลในหลายประเทศ ซึ่งในประเทศประชาธิปไตยนั้น ‘สื่อ’ คืออีกกลไกหนึ่งที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล หรือเปรียบเสมือนคนคอยเฝ้าบ้านและเป็นกระบอกเสียงของประชาชน ดังนั้นหากมีสิ่งไม่ชอบมาพากล ประชาชนก็มีสิทธิที่จะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน รัฐบาลเองก็จะตระหนักว่ามีกลไกที่คอยตรวจสอบพวกเขาอยู่

     รัฐบาลของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเลือกที่จะจำกัดอิสรภาพของสื่อในการรายงานข่าว สิ่งนี้สะท้อนออกมาจากดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปี 2017 ที่จัดทำโดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) จาก 180 ประเทศ ซึ่งเสรีภาพของสื่อทั้ง 10 ประเทศอาเซียนอยู่ต่ำกว่าอันดับที่ 120 ทั้งหมด (อินโดนีเซีย อันดับที่ 124, ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 127, เมียนมา อันดับที่ 131, กัมพูชา อันดับที่ 132, ไทย อันดับที่ 142, มาเลเซีย อันดับที่ 144, สิงคโปร์ อันดับที่ 151, บรูไน อันดับที่ 156, ลาว อันดับที่ 170, และเวียดนาม อันดับที่ 175)

     สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยอมรับว่า ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ที่ถูกสื่อมวลชนไทยวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเนื้อหาครอบงำและจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อนั้นพัฒนามาจาก พ.ร.บ.การออกอากาศ (Broadcasting Act) ของสิงคโปร์ ซึ่งสำหรับประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สิงคโปร์เป็นอีกประเทศที่รัฐบาลจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างเข้มงวด

      THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับเคิร์สเทน ฮาน (Kristen Han) นักข่าวออนไลน์รุ่นใหม่ของสิงคโปร์ที่รายงานข่าวเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิมนุษยชนในสิงคโปร์ ซึ่งเคยถูกเผยแพร่ในสื่อต่างชาติอย่าง Al Jazeera, The Guardian, The Diplomat และ Asian Correspondent เพื่อสะท้อนมุมมองของเธอต่อปัญหาที่ไทย สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้กำลังเผชิญร่วมกัน

สื่อกระแสหลักของสิงคโปร์ไม่มีอิสรภาพในการรายงานข่าว พวกเขายังอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว

 

พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ และการแสดงความคิดเห็นของสิงคโปร์เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ…จริงหรือ?

     มาตราที่ 14 ในรัฐธรรมนูญของสิงคโปร์ระบุชัดเจนว่า ประชาชนชาวสิงคโปร์มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตราบใดที่การแสดงออกนั้นเป็นสันติและปราศจากอาวุธ อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์มี พ.ร.บ.การออกอากาศที่ระบุให้สื่อต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลเป็นประจำทุกปี จ่ายค่าธรรมเนียม แจ้งที่มาของเงินทุน และหน่วยงานด้านสื่อของรัฐบาลสิงคโปร์ (Media Development Authority) มีสิทธิที่จะสั่งให้สำนักข่าวนั้นๆ นำเนื้อหาที่รัฐบาลมองว่าทำลาย ‘ความมั่นคง’ และ ‘ความสงบเรียบร้อย’ ของรัฐ รวมถึง ‘ไม่ถูกทำนองคลองธรรม’ ออกได้ทันที นอกจากนี้สื่อที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลสิงคโปร์นั้นห้ามรับเงินทุนจากต่างชาติ

     รัฐบาลสิงคโปร์ออก พ.ร.บ.การออกอากาศให้สอดคล้องตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงของชาติ (The Internal Security Act) ที่ให้อำนาจรัฐบาลในการจับกุมและสั่งห้ามการกระทำใดๆ ที่บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งในและต่างประเทศว่าทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไม่มีสิทธิมีเสียงในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพรรค People’s Action ได้เต็มที่

     ที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์ใช้กฎหมายนี้สั่งห้ามฉายภาพยนตร์ที่มองว่ามีเนื้อหา ‘ทำลายความมั่นคงของรัฐ’ ไปหลายเรื่อง เช่น To Singapore, With Love ซึ่งมีบทสัมภาษณ์นักเคลื่อนไหวที่หลบหนีไปต่างประเทศ โดยตันปิงปิง (Tan Pin Pin) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงเจตนารมณ์ว่า “ประชาชนควรมีสิทธิที่จะเผยแพร่ความคิดเห็นใหม่ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศ และความคิดเห็นที่รัฐบาลเคยสั่งห้ามไม่ให้พูด” แต่ท้ายที่สุด คณะกรรมการภาพยนตร์ก็ปฏิเสธคำร้องของเธอ และสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้

 

การแสดงออกทางความคิดเห็นภายใต้บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว

     ในยุคสมัยใหม่ สื่อออนไลน์เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชาวสิงคโปร์มากขึ้น ทั้งพฤติกรรมการเสพสื่อของคนที่เปลี่ยนไป รวมถึงเนื้อหาที่แตกต่างออกไปจากสื่อกระแสหลัก เว็บไซต์ข่าวในสิงคโปร์เริ่มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้ง Theonlinecitizen.com, Themiddleground.sg, Theindependent.sg, Therealsingapore.com ฯลฯ โดยรัฐบาลสิงคโปร์มีการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงได้จับกุมประชาชนที่แสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์ไปหลายราย และเว็บข่าวออนไลน์ต้องนำเนื้อหาที่รัฐบาลมองว่าไม่เหมาะสมออกภายใน 24 ชั่วโมง

     ฮาน นักข่าวออนไลน์ของสิงคโปร์บอกกับ The Standard ว่า แม้อันดับเสรีภาพของสื่อในสิงคโปร์จะขยับสูงขึ้นกว่าปีก่อนๆ แต่เธอมองว่าเสรีภาพของสื่อในประเทศนั้นยังคง ‘น่าสิ้นหวัง’ เพราะบรรยากาศการรายงานข่าวยังเต็มไปด้วยความหวาดกลัว

     “สื่อกระแสหลักของสิงคโปร์ไม่มีอิสรภาพในการรายงานข่าว พวกเขายังอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ดังนั้นชาวสิงคโปร์จึงไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารอีกด้านที่จะทำให้พวกเขามีมุมมองและบทสนทนาที่แตกต่างเกี่ยวกับอำนาจของรัฐบาล นโยบายของชาติ การเมือง เชื้อชาติ และศาสนายังคงเป็นเรื่องอ่อนไหวในสิงคโปร์ และแม้ว่าสื่อออนไลน์จะช่วยทำให้พวกเขาแสดงความคิดเห็นได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังคงอยู่ภายใต้บรรยากาศของความหวาดกลัว”

     แม้รัฐบาลสิงคโปร์จะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในประเทศจับกุมนักเคลื่อนไหวน้อยลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และหันไปใช้วิธีเฝ้าระวังกลุ่มก่อการร้ายมากขึ้น แต่ฮานมองว่าเหตุการณ์ในอดีตที่รัฐบาลสิงคโปร์ใช้กฎหมายฉบับนี้จับกุมนักกฎหมายและนักกิจกรรมทางสังคมได้สร้างผลกระทบมาถึงปัจจุบัน “สิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์ทำนั้นบ่อนทำลายความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม และ พ.ร.บ.การออกอากาศยังทำให้สื่อกระแสหลักรายงานข่าวที่มีเนื้อหาเป็นที่ถกเถียงยากขึ้น”

     นอกจากนี้ฮานยังแสดงความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ.ควบคุมการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะว่า “กฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงในสิงคโปร์นั้นครอบคลุมหลายด้านมาก ทำให้ประชาชนไม่แน่ใจว่าตรงไหนคือเส้นของความพอดี และความไม่แน่ใจนี้ทำให้พวกเขาเลือกจะไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการโดนจับเลย ดังนั้นการจำกัดพื้นที่ในการถกเถียงจึงยังมีอยู่ในสิงคโปร์”

 

ความพอดีระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกกับวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง

     ก่อนหน้านี้ ทาร์มาน ชานมูการัตนัม (Tharman Shanmugaratnam) รองนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ประกาศไว้ว่า รัฐบาลพยายามจะทำให้ชาวสิงคโปร์มีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น แต่ข้อจำกัดบางอย่างยังต้องมีอยู่เพื่อป้องกันวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา ซึ่งฮานกำลังเขียนรายงานข่าวเกี่ยวกับความพอดีระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกกับการป้องกันวาทกรรมสร้างความเกลียดชังผ่านกรณีที่รัฐบาลสิงคโปร์จับกุมอามอส ยี (Amos Yee) ในปี 2015 หลังจากเขาโพสต์คลิปวิดีโอซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับอดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยูลงในยูทูบ โดยเขาเปรียบเทียบลีกวนยูกับผู้สนับสนุนว่าเป็นเหมือนคนที่เชื่อพระเจ้าในศาสนาคริสต์ ซึ่งศาลตัดสินว่าเนื้อหาในวิดีโอนั้นกระทบต่อความเชื่อทางศาสนาของผู้คน โดยเธอแสดงความเห็นไว้ว่า เจตนาของวิดีโออาจกระทบต่อความเชื่อของผู้คนจริง แต่สิงคโปร์ใช้สิ่งนี้ไปครอบคลุมการแสดงออกอื่นๆ ด้วย

     “กฎหมายของสิงคโปร์นั้นครอบคลุมไปไกลกว่าวาทกรรมเกลียดชัง เพราะวาทกรรมเกลียดชังจะต้องมีลักษณะปลุกปั่นและยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังหรือความรุนแรงต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กฎหมายสิงคโปร์ครอบคลุมเนื้อหาไปไกลกว่านั้น และหากจะมองว่ารัฐบาลต้องการป้องกันวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง กฎหมายของสิงคโปร์ก็ไม่ได้ทำหน้าที่นั้น เพราะเมื่อฉันไปสัมภาษณ์กลุ่ม LGBT พวกเขาบอกกับฉันว่า กฎหมายเหล่านี้ก็ไม่ได้ยืนยันว่ากลุ่ม LGBT จะได้รับการปกป้องจากวาทกรรมเกลียดชังในสังคม”

เจตนาของวิดีโออาจกระทบต่อความเชื่อของผู้คนจริง

แต่สิงคโปร์ใช้สิ่งนี้ไปครอบคลุมการแสดงออกอื่นๆ ด้วย

ความกินดีอยู่ดีที่ต้องแลกกับเสรีภาพในการแสดงออก?

     สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหากดูจากภายนอกแล้ว สิงคโปร์เป็นประเทศที่เกิดเหตุโกลาหลทางการเมืองน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้หลายประเทศในแถบนี้นำมาใช้เป็นข้ออ้างว่าการควบคุมหรือกดสังคมไว้ไม่ให้เกิดความวุ่นวายจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจดังเช่นสิงคโปร์ ซึ่งฮานเปิดเผยมุมมองในฐานะประชาชนชาวสิงคโปร์ว่า เราถูกฝังหัวด้วยแนวคิดนี้มาเป็นเวลานานว่า ชาวสิงคโปร์จำเป็นต้องแลกความกินดีอยู่ดีกับเสรีภาพและการควบคุมการแสดงออกทางความคิดเห็นไม่ให้มีมากเกินไป ซึ่งจะทำให้สังคมอยู่ในบรรยากาศของความสามัคคี เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ด้วยกัน ทั้งจีน อินเดีย และมาเลเซีย

     “สังคมสิงคโปร์ไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองเท่ากับเรื่องเศรษฐกิจ พวกเราถูกสอนมาเป็นเวลานานว่าเราจำเป็นต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หากเรายอมสละเสรีภาพบางส่วนก็จะทำให้ประเทศมีความมั่นคงและนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกคน แต่ความเหลื่อมล้ำในสิงคโปร์สะท้อนว่าความเจริญมั่งคั่งที่รัฐบาลอ้างนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์กับทุกคน แต่ถึงอย่างนั้น ความคิดที่ว่าเสรีภาพทางการเมืองไม่ใช่สิ่งจำเป็นตราบใดที่ค่าจีดีพียังสูงอยู่ก็ยังคงมีอยู่ในบรรดาชาวสิงคโปร์ และสิ่งนี้ทำให้พวกเราไม่ได้ถูกฝึกให้รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง พวกเราคิดว่าสิ่งที่เราไม่อยากได้ยินก็ไม่ควรถูกพูดถึง ซึ่งฉันว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก”

     นอกจากนี้ฮานยังสะท้อนว่า การที่รัฐบาลพยายามไม่ให้เกิดความแตกแยกระหว่างกลุ่มเชื้อชาติและศาสนาในสิงคโปร์ไม่ได้หมายความว่าเสียงของคนทุกกลุ่มจะถูกรับฟังอย่างเท่าเทียม “ความหลากหลายอยู่ในชีวิตของชาวสิงคโปร์ แต่ฉันคิดว่าอำนาจในประเทศนี้ยังไม่ได้เป็นตัวแทนของทุกกลุ่ม กลุ่มคนที่ย้ำว่าสังคมสิงคโปร์มีความเท่าเทียมนั้น ส่วนใหญ่คือกลุ่มที่มีอำนาจ ซึ่งหมายความว่าพวกเรายังไม่ตระหนักด้วยซ้ำว่าความเหลื่อมล้ำมีอยู่ในสังคม”

     ภายใต้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สิงคโปร์เผชิญกับปัญหาที่กลุ่มแรงงานไม่ได้รับความเท่าเทียม และกลุ่มเชื้อชาติบางกลุ่มอย่างเช่นอินเดียนั้นมักถูกละเลยในสังคม

 

กระบอกเสียงใหม่ของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความโปร่งใส

     ปัญหาการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและความเหลื่อมล้ำในสิงคโปร์นั้นเป็นปัญหาที่หลายประเทศกำลังเผชิญ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงคงจะไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน และนี่คือสาเหตุที่ฮานตัดสินใจเลือกเป็นกระบอกเสียงของชาวสิงคโปร์ เพราะเธอเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากการที่ชาวสิงคโปร์เริ่มตระหนักต่อปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ

     “สิ่งสำคัญคือชาวสิงคโปร์มีการคิดวิเคราะห์มากขึ้น สังคมเกิดการถกเถียงและเปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นคนละอย่างกับการโจมตีหรือเหยียดหยามอีกฝั่ง และปัจจุบันมีชาวสิงคโปร์จำนวนมากที่เริ่มตั้งคำถามกับอำนาจของรัฐบาล หรือแนวคิดที่ว่าเราจำเป็นต้องสละเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อความมั่นคงของประเทศ พวกเขาเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมเราจึงต้องยอมทิ้งความสามารถในการยืนหยัดเพื่อตัวเอง”

     เธอคิดว่าความโปร่งใสคือกุญแจสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยของสิงคโปร์ “สิ่งที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ไม่ใช่ความหวาดกลัวต่อการจับกุมของรัฐบาล แต่ข้อมูลที่รัฐบาลป้อนให้ประชาชนในแต่ละวันทำให้เกิดความไม่สมดุลทางอำนาจ สังคมสิงคโปร์ขาดข้อมูลที่โปร่งใสและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับรัฐบาล และประชาชนมีสิทธิที่จะรู้ว่าคนที่มีอำนาจทำอะไรบ้าง เพราะมันกระทบต่อชีวิตของพวกเขา การเป็นสื่อมวลชนหรือคนคอยเฝ้าบ้านไม่ได้เกี่ยวข้องแค่เราคิดว่ารัฐบาลดีหรือไม่ แต่มันคือการปกป้องสถาบันประชาธิปไตยของประเทศ และสื่อมวลชนก็ทำหน้าที่เป็นอีกสถาบันหนึ่งของประเทศ

     “ฉันคิดว่ามันคือหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่จะพูดคุยกับคนรอบตัวเราว่า ทำไมสิทธิพลเมืองจึงสำคัญต่อพวกเขา พูดคุยกับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของพวกเราว่ามันจะกระทบกับชีวิตของพวกเขาอย่างไร ในส่วนของภาคประชาชน ฉันคิดว่ามันสำคัญมากที่จะทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นนักเคลื่อนไหวหรือออกมาประท้วง แต่บางครั้งมันเป็นแค่การพูดคุยถกเถียงกับคนรอบๆ ตัวเรา”

     The Standard ถามฮานส่งท้ายว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพจากรัฐบาล และไทยก็กำลังเผชิญปัญหานี้ร่วมกับสิงคโปร์ เธออยากบอกอะไรกับคนรุ่นใหม่บ้างในฐานะที่เธอก็เป็นอีกเสียงทางเลือกของสังคม

     “เราควรจะจับตามองสถาบันต่างๆ ของประเทศ เราทุกคนควรจะตระหนักว่ารัฐบาลพยายามจะลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของเราอย่างไรบ้าง อย่างเช่น การออกกฎหมายใหม่ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การแสดงออกของเรา มันไม่ง่ายที่จะต่อสู้กับอำนาจของรัฐบาล เพราะประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ยังไม่แข็งแรง แต่สิ่งที่เราทำได้คือการรวบรวมข้อมูล ประสบการณ์ และกลุ่มคนที่มีพลังเพื่อต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง”

     บางครั้งการเปลี่ยนแปลงก็อาจไม่ต้องอาศัยสิ่งใดยิ่งใหญ่ แต่คือการไม่เพิกเฉยและละเลยสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และสิ่งนี้จะกลายเป็น ‘เสียง’ ใหม่ๆ ที่ค่อยๆ สะท้อนก้องดังในสังคม

 

อ้างอิง:

     – rsf.org/en

     – statutes.agc.gov.sg/

     – goo.gl/mbQYf9

     – www.todayonline.com/singapore/more-freedom-speech-some-restrictions-necessary-dpm

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X