วันที่ 8 สิงหาคม ปี 1967 รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ได้ลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ถือเป็นจุดกำเนิดของ ‘ประชาคมอาเซียน’ ที่นานาชาติกำลังจับตามองมากขึ้นในขณะนั้น
มาถึงปี 2017 อาเซียนเดินทางมาครบรอบ 5 ทศวรรษ ประเทศสมาชิกต่างมีการเปลี่ยนแปลงในแง่เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
50 ปีผ่านไป ประเทศสมาชิกอาเซียนเปลี่ยนไปแค่ไหน
ข้อมูลในบทความนี้ที่อ้างอิงจากบันทึกของธนาคารโลก สหประชาชาติ และดัชนีต่างๆ น่าจะเป็นกระจกสะท้อนให้เรา ‘เห็น’ ภูมิภาคนี้ชัดขึ้น
เศรษฐกิจ
การเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนต่างขึ้นลงอยู่เนืองๆ โดยเหตุการณ์สำคัญมากมายได้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของจีดีพีในประเทศ
ในปี 1981 จีดีพีของบรูไนตกหนักสุดในบันทึกอาเซียนถึง -19.83 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากนโยบายน้ำมัน หลังจากการเจริญเติบโตครั้งประวัติศาสตร์กว่า 22 เปอร์เซ็นต์เพียงสองปี
ขณะที่ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ในปี 1997 ส่งผลกระทบต่อสมาชิกอาเซียนอย่างถ้วนหน้า มีเพียงเมียนมาประเทศเดียวที่จีดีพีกระเตื้องขึ้น 0.22 เปอร์เซ็นต์ให้หลังปีวิกฤตเศรษฐกิจ
ปีที่ผ่านมา ไทยครองอันดับที่ 8 ในกลุ่มเพื่อนสมาชิก โดยมีค่าจีดีพีมากกว่าประเทศอย่างสิงคโปร์และบรูไน
ไม่เพียงแต่การถูกจับตามองในฐานะโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ จากต่างประเทศ อาเซียนยังถือเป็นสถานที่ที่ผู้คนนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอีกด้วย และปฏิเสธไม่ได้ว่า ไทยเป็นเป้าหมายที่ใครๆ ต่างก็มาเยือน
ในปี 2014 ที่ไทยประสบปัญหาทางการเมือง รายได้จากนักท่องเที่ยวหายไปราว 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปีดังกล่าว ไทยสูญนักท่องเที่ยวไป 2 ล้านคน แต่มาเลเซียกลับได้นักท่องเที่ยวจำนวนใกล้เคียงกันเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวในมาเลเซียก็ไม่มากนัก
นับตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบัน หลายประเทศได้เงินจากภาคการท่องเที่ยว และมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะเมียนมาและเวียดนามที่คนกำลังไหลเข้า ขณะที่การท่องเที่ยวบรูไนยังคงแน่นิ่งเช่นเดิม
————————————————————
สังคม
จุดเด่นของอาเซียนอีกอย่างหนึ่งคือจำนวนประชากร โดยปัจจุบัน ประชากรรวมกันสิบชาติมีถึง 625 ล้านคน เทียบเป็นสัดส่วน 8.8 เปอร์เซ็นต์ของประชากรบนโลก
อินโดนีเซียคือประเทศที่มีประชากรมากที่สุด ประมาณ 260 ล้านคน หรือราว 1 ใน 3 ของทั้งหมด และยังไม่มีทีท่าจะชะลอตัวลงง่ายๆ
ฟิลิปปินส์ขยับขึ้นมาเป็นอันดับสอง หลังเพิ่งทะลุ 100 ล้านคนไปเมื่อ 3 ปีก่อน โดยทิศทางเป็นไปคล้ายกับอินโดนีเซีย
ส่วนไทยแม้จะยังเพิ่มขึ้นอยู่ทุกๆ ปี แต่เป็นไปอย่างไม่มากนัก ท่ามกลางการเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
————————————————————
อายุขัยเฉลี่ย
อายุขัยเฉลี่ยในประเทศอาเซียนมีทิศทางเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นชาวเวียดนามและกัมพูชา เนื่องจากสงครามเวียดนามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคเขมรแดง ทำให้ประชากรกัมพูชาในปี 1977 มีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 19 ปีเท่านั้น
ขณะที่ประเทศไทยถือว่าอยู่เหนือค่าเฉลี่ยของอายุขัยในอาเซียน และมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยพ้นเส้น 70 ปีมาได้เกือบสองทศวรรษแล้ว
อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์สามารถครองอันดับ 1 มาได้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งอาเซียนจนถึงปัจจุบัน ด้วยอายุขัยประชากรเฉลี่ยที่ 82 ปี
อัตราส่วนคนอ่านออกเขียนได้ (อายุ 15 ขึ้นไป) และอัตราการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา
สมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่มีประชากรที่เข้าใจหนังสือมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเพียงลาวและกัมพูชาที่กำลังพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีทิศทางที่จะแตะถึง 80 เปอร์เซ็นต์ในอีกไม่นานนี้
ส่วนไทยเคยครองอันดับหนึ่งในปี 2010 ก่อนที่จะตกลงมาที่อันดับ 7 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน อัตราการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาของประชาคมแห่งนี้ถือว่ากระจัดกระจายไปตามแต่ละประเทศ โดยปราศจากข้อมูลของสิงคโปร์ การเติบโตส่วนมากบวกขึ้น แม้ว่าบรูไนจะลดลงมาตั้งแต่ปี 2013 แต่ก็ยังครองอันดับหนึ่งที่ 1.65 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยมาเลเซียและไทยที่ 1.53 และ 1.41 เปอร์เซ็นตามลำดับ ส่วนกัมพูชายังรั้งท้ายที่ 0.82 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ค่าต่างๆ เหล่านี้ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติอีกด้วย โดยประเทศที่นำโด่งในดัชนีนี้ที่ 0.925 คือประเทศสิงคโปร์ ตามด้วยบรูไน มาเลเซีย และไทย ส่วนเมียนมามีคะแนนในดัชนีต่ำสุดที่ 0.556
————————————————————
การเมือง
ความเป็นประชาธิปไตย
แม้บางประเทศในอาเซียนจะไม่ได้มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็ตาม ดัชนีนี้ยังคงมีสำคัญต่อการสะท้อนถึงเรื่องทางสังคม เศรษฐกิจ สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อมด้วย
ทิศทางส่วนใหญ่ในอาเซียนเป็นไปในเชิงบวก เว้นแต่ไทยและกัมพูชาที่แม้จะมีคะแนนในดัชนีสูงกว่าบางประเทศ แต่กลับร่วงลงไปนับตั้งแต่ปี 2014 ที่ผ่านมา
ส่วนประเทศที่มีดัชนีประชาธิปไตยต่ำสุดในอาเซียน คือ ลาว
เสรีภาพสื่อ
ในส่วนของดัชนีเสรีภาพสื่อนี้ หากลำดับคะแนนยิ่งสูง หมายถึงสื่อยิ่งถูกคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก โดยอาเซียนต่างแบ่งปันอัตลักษณ์ร่วมกันในกรณีนี้ เสรีภาพสื่ออาเซียนที่ดีที่สุดเป็นของอินโดนีเซียที่อันดับ 127
ส่วนประเทศอย่างเวียดนามและลาวคงตำแหน่งท้ายมาโดยตลอด และยิ่งน่ากังวลมากขึ้น ในขณะที่เสรีภาพสื่อในเมียนมาเริ่มดีขึ้นบ้าง
ไทยที่เคยครองอันดับดีที่สุด อันดับ 59 ในสมัยทักษิณหนึ่ง ก่อนอันดับจะร่วงลงไปเรื่อยๆ โดยมีอันดับต่ำสุดที่อันดับ 153 ในปี 2010
อาเซียนที่มีอายุครบรอบ 50 ปีในวันนี้ จึงประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่มีปูมหลังอันหลากหลายในมุมมองของสามเสาหลัก (การเมือง เศรษฐกิจ สังคม) ที่สมาคมตั้งเป้าจะพัฒนาและบูรณาการร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม อาเซียนที่มีคำขวัญสื่อถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันในวิสัยทัศน์ อัตลักษณ์ และประชาคม ยังคงเคารพความหลากหลายของแต่ละประเทศโดยไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน
ท่ามกลางกระแสโลกที่เคลื่อนและเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ประชาคมอาเซียนยังมีภารกิจอีกมากมายที่จะต้องพิสูจน์ตัวเอง
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan
อ้างอิง: