พฤติกรรมการนั่งอ้าขาในขนส่งสาธารณะของผู้ชาย (Manspreading) เป็นเหตุการณ์ที่พบได้บ่อยครั้งในหลายๆ ประเทศ อาจเรียกได้ว่าเป็น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็ว่าได้ จนเกิดเป็นข้อถกเถียง ข้อเรียกร้อง และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ตามมา โดยผูกโยงอยู่กับความเท่าเทียมกันทางเพศและมารยาททางสังคมในการใช้บริการพื้นที่สาธารณะร่วมกัน
พจนานุกรมออนไลน์ Oxford เวอร์ชัน 2015 ถึงกับนิยามความหมายของ Manspreading ไว้ว่า ‘เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยผู้ชาย พบได้บ่อยครั้งเมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะ พวกเขาจะนั่งอ้าขาและกินพื้นที่ของที่นั่งอื่นที่อยู่ติดกัน’ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันให้แก่ทุกคนในสังคม หลังจากที่มีการถกเถียงกันมาสักระยะหนึ่งว่า ความหมายของคำๆ นี้คืออะไร นอกจากนี้ คำๆ นี้ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มคำที่คนไม่ชื่นชอบและไม่ควรใช้บ่อยๆ (Banished Words) ที่จัดทำโดย Lake Superior State University ประจำปี 2016 อีกด้วย
Photo: GERARD JULIEN’ AFP
พฤติกรรม Manspreading กับ การต่อสู้ของกลุ่มสตรีนิยม
ล่าสุด กลุ่มสตรีนิยม ‘Osez le feminisme’ ในปารีส ฝรั่งเศส ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกส่งไปยังหน่วยงานด้านการขนส่งมวลชนของประเทศ (RATP) ผ่านช่องโทรทัศน์ LCI ช่วงก่อนสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้หญิง ที่กำลังประสบปัญหาจากพฤติกรรมการนั่งอ้าขาของผู้ชายในขนส่งสาธารณะ (Manspreading) ออกมาร้องเรียนต่อหน่วยงาน RATP เพื่อให้พวกเขาเตรียมจัดหามาตรการที่เป็นรูปธรรมและแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้น
Raphaelle Remy-Leleu ตัวแทนจากกลุ่มสตรีนิยมฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรทัศน์ช่อง LCI ว่า “การข่มเหง การคุกคามและรวมถึง Manspreading ใน (พื้นที่) ขนส่งสาธารณะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่พวกเราเผชิญ เป็นการไม่ให้เกียรติ ไม่ให้พื้นที่แก่พวกเรา ดังนั้นพวกเราจึงต้องการตอบโต้การกระทำเหล่านี้” อย่างเช่นที่กลุ่มสตรีนิยมในสเปนที่ทำสำเร็จเมื่อไม่นานมานี้
เมื่อสัปดาห์ก่อน เจ้าหน้าที่ขนส่งมวลชนในมาดริด (La Empresa Municipal de Transportes) หรือ EMT ออกคำเตือนห้ามผู้โดยสารนั่งอ้าขากินพื้นที่บริเวณข้างเคียงของผู้โดยสารคนอื่น พร้อมกับติดสติกเกอร์ห้ามการกระทำนี้ในระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ทั่วประเทศ จุดประสงค์ของการใช้สติกเกอร์นี้เพื่อจัดระเบียบพฤติกรรมของผู้ใช้บริการขนส่งมวลชน รวมถึงเคารพสิทธิและพื้นที่ของผู้อื่นที่ใช้บริการร่วมกัน
การผลักดันให้ออกคำเตือนและใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจาก กลุ่มสตรีนิยม Mujeres en Lucha ได้ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องผ่านเว็บไซต์ออนไลน์อย่าง Change.org ให้ทางการมาดริดเร่งหามาตรการมาแก้ไขพฤติกรรมการนั่งอ้าขาในขนส่งสาธารณะ ที่กลุ่มของพวกเธอมองว่า เป็นการลิดรอนสิทธิเเละความเท่าเทียมกันทางเพศ (โดยเฉพาะเพศหญิง) ในพื้นที่สาธารณะ
โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับจากชาวสเปนราว 12,000 คน ร่วมลงชื่อสนับสนุนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว พร้อมติดแฮชเเท็ก #MadridSinManspreading (MadridWithoutManspreading) ตามสื่อออนไลน์ต่างๆ อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ จนทำให้ทางการสเปนออกมาปฏิบัติตามขอเรียกร้องนี้
สเปนและฝรั่งเศสไม่ใช่ประเทศแรกที่สั่งแบนพฤติกรรมนี้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พฤติกรรมการนั่งอ้าขามากไปบนขนส่งสาธารณะถูกต่อต้าน ในปี 2014 ระบบการขนส่งมวลชนในมหานครนิวยอร์ก (Metropolitan Transportation Authority) ออกแคมเปญรณรงค์ลดพฤติกรรมการนั่งอ้าขาในรถไฟใต้ดินของนิวยอร์ก ผ่านสัญลักษณ์ภายใต้สโลแกน ‘Dude, Stop the spread please. It’s a space issue.’
เช่นเดียวกับที่โตรอนโตและอิสตันบูล ที่มีกลุ่ม anti-manspreading และกลุ่มสตรีนิยมออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องมาตรการในการแก้ไขปัญหาภายใต้สโลแกน ‘Stop spreading your legs, Don’t occupy my space’ ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในโลกออนไลน์ พร้อมผลักดันให้มีการออกกฎหมายบังคับใช้ต่อประเด็นปัญหานี้
ประเทศฝั่งซีกโลกตะวันออกอย่างอินเดียเองก็มีการรณรงค์ในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ภายหลังที่เกิดกระเเสต่อต้านพฤติกรรมดังกล่าวจากแคมเปญในนิวยอร์ก โดย Varkha Chulani นักจิตวิทยา ได้เรียกร้องให้ชาวอินเดียมองประเทศในแถบสแกนดิเนเวียเป็นตัวอย่าง ประเทศเหล่านี้ รวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นล้วนแล้วแต่มีระเบียบ สุภาพและให้เกียรติกัน แต่สังคมของที่นี่ ทุกคนเร่งรีบและคิดแต่เรื่องของตัวเองเป็นอันดับแรก (mine first)
เธอยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาพฤติกรรมการนั่งอ้าขาของผู้ชายในขนส่งสาธารณะในอินเดีย ไม่เพียงเเต่เป็นปัญหาการขาดความละเอียดอ่อน เห็นอกเห็นใจผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอินเดียมาตั้งแต่อดีต อีกทั้งยังมองว่า สังคมอินเดียเอาแต่พร่ำสอนให้ผู้หญิงอดทนและรอแต่ให้ผู้ชายตัดสินใจก่อน แล้วปฏิบัติตาม แต่สังคมนี้ไม่ได้ปลูกฝังและขัดเกลาค่านิยมที่ดีงาม โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศให้แก่ (เด็ก) ผู้ชายเลย ถึงเวลาแล้วที่คนในสังคมนี้จะเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน โดยเริ่มจากเรื่องๆนี้
Photo: GERARD JULIEN’ AFP
สื่อกับการส่งต่อกระแสต่อต้านการนั่งอ้าขา
อินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ต่างๆ ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้กระแส anti-manspreading แพร่ไปยังที่ต่างๆ ในโลกได้รวดเร็วขึ้น หลายเมืองในประเทศต่างๆ ที่กำลังเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ Manspreading ในสังคมของตัวเอง ต่างทยอยพากันออกเเคมเปญ มาตรการและสื่อสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อรณรงค์ ประกาศเตือน หรือสั่งห้ามพฤติกรรมนี้ในขนส่งสาธารณะ
เช่น องค์การขนส่งเพนซิลเวเนียเขตตะวันออกเฉียงใต้ (Southeastern Pennsylvania Transportation Authority) จัดเเคมเปญภายใต้สโลแกน ‘Dude It’s rude.’ หน่วยงานด้านการขนส่งเมืองซีเเอตเทิล (Seattle’s Sound Transit) ก็จัดแคมเปญ ‘One body, one seat’ เช่นเดียวกัน
เมืองสำคัญอย่างซานฟรานซิสโกก็ได้ออกมาตรการต่อต้าน Manspreading เช่นเดียวกัน ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในขณะนี้ เนื่องจากองค์กรที่จัดการเรื่องระบบขนส่งมวลชนของเมืองอย่าง The Bay Area Rapid Transit board (BART) คิดว่า การติดป้ายหรือสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการประกาศเตือนหรือสั่งห้ามแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จึงกำหนดบทลงโทษ ด้วยการจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 100 เหรียญสหรัฐ เมื่อทำผิดครั้งแรก 200 เหรียญสหรัฐ สำหรับความผิดครั้งที่สอง และถ้าหากทำผิดครั้งต่อๆ ไปอีก ครั้งละ 500 เหรียญสหรัฐ
Joel Keller ผู้อำนวยการของ BART ชี้แจ้งว่า บทลงโทษโดยการจ่ายค่าปรับเป็นการป้องปรามการกระทำผิด มากกว่าที่จะเป็นบทลงโทษ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า สิ่งที่ผมสนใจ ไม่ใช่การได้เห็นคนต้องถูกปรับ แต่เป็นการได้เห็นคนในสังคมเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
และด้วยความที่เกรงว่า พฤติกรรมการนั่งอ้าขาของผู้ชายในขนส่งสาธารณะจะถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมที่ใครๆ ก็ทำกัน เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว New York Transit Museum จึงได้จัดแสดงภาพโปสเตอร์ที่เคยใช้โฆษณาและรณรงค์เรื่องมารยาทในการใช้บริการรถไฟใต้ดินทั่วโลก เพื่อส่งสารและกระตุ้นเตือนจิตสำนึกของคนในสังคมให้ลดพฤติกรรมนี้ลง
การนั่งอ้าขาและกระแสโต้กลับ
ภาพของการถูกเบียด เนื่องจากผู้โดยสารที่นั่งติดๆ กันนั่งอ้าขามากจนเกินไป กินพื้นที่ที่นั่งข้างเคียง จนทำให้ไม่สะดวกสบายในการใช้บริการขนส่งสาธารณะกลายเป็นภาพที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในสังคม พฤติกรรมดังกล่าวกลายเป็นข้อถกเถียงในหลายๆ เวทีพูดคุย
โดยบางกลุ่มอ้างว่า Manspreading เป็นการกระทำของกลุ่มที่ต่อต้านผู้หญิง (Anti-Feminist) ต้องการเอารัดเอาเปรียบผู้หญิงและแสดงความเห็นแก่ตัวออกมาในพื้นที่สาธารณะ ในขณะที่ผู้ชายบางกลุ่มก็มองว่า กระแสต่อต้าน Manspreading มุ่งเน้นแต่จะโจมตีเพศชายมากจนเกินไป สร้างภาพจำที่ไม่ดีต่อเพศนี้ อีกทั้งผู้ชายบางคนอาจจะมีความจำเป็นหรือมีปัญหาด้านสรีระจริงๆ จึงไม่ควรจะเหมารวมว่า การนั่งอ้าขาในพื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งไม่ดี ลิดรอนพื้นที่ของผู้อื่นที่ร่วมใช้บริการด้วยเสมอไป
ผู้ชายบางกลุ่ม หรือแม้แต่ผู้หญิงด้วยกันเองยังออกมาให้ความเห็นในอีกแง่หนึ่งว่า จริงๆ แล้ว นอกจากที่พวกเขาจะเผชิญหน้ากับการที่ผู้ชายชอบนั่งอ้าขามากเกินไปในขนส่งสาธารณะ แต่พวกเขาก็พบเจอกับพฤติกรรมอื่นๆ อย่าง ‘Shebagging’ ด้วยเช่นกัน เป็นพฤติกรรมที่ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะนำเอา กระเป๋าหรือสัมภาระวางไว้ยังเบาะที่นั่งข้างเคียง กันพื้นที่ไม่ให้คนอื่นนั่งหรือใช้บริการได้อย่างสะดวกสบาย เกิดเป็นกระแสโต้กลับต่อเหตุการณ์ต่อต้านและข้อเรียกร้องดังกล่าว
แล้วคุณล่ะ? เคยแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ในระบบขนส่งสาธารณะบ้านเรา จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ร่วมใช้บริการด้วยกันบ้างหรือไม่?
Cover Photo: Agatha Koroglu, AFP
อ้างอิง:
- www.thelocal.fr/20170616/will-france-be-the-next-country-to-crack-down-on-manspreading
- www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2017/06/10/please-stop-manspreading-on-public-transportation-madrid-officials-say/?utm_term=.ecc4c79a00e8
- nymag.com/daily/intelligencer/2016/03/see-manspreading-ads-from-around-the-world.html
- www.care2.com/causes/madrid-bans-manspreading-on-public-transportation-whos-next.html
- www.telegraph.co.uk/women/womens-life/11309866/Ban-manspreading-Brits-want-men-to-sit-with-their-legs-together.html
- toronto.ctvnews.ca/movement-to-ban-man-spreading-on-transit-picks-up-speed-in-toronto-1.2158517#
- blog.oxforddictionaries.com/2015/09/manspreading-term-popularized-by-mta
- www.nytimes.com/2016/01/01/us/banished-words-lake-superior-state-university.html?_r=0
- timesofindia.indiatimes.com/city/mumbai/Mumbais-got-its-own-man-spreaders/articleshow/45609512.cms