×

20 ปี ความสัมพันธ์ฮ่องกง-จีน เมื่อลูกอยากมีอิสระ แต่อาจยังต้องพึ่งพาเงินแม่

29.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins read
  • ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เดินทางเยือนฮ่องกงเป็นครั้งแรกเพื่อเฉลิมฉลองที่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงให้กับจีนครบ 20 ปี และร่วมเป็นสักขีพยานในการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของแคร์รี แลม ผู้ว่าการหญิงคนแรกของฮ่องกง
  • ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ฮ่องกงเผชิญกับความไม่มั่นคงทางการเมืองที่คนรุ่นใหม่เริ่มกล่าวหาว่าจีนไม่ทำตามสัญญา ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ที่ทำปฏิญญาร่วมไว้กับอังกฤษ ทำให้ความคิดเห็นของคนฮ่องกงต่อเรื่องการเมืองนั้นแตกต่างจากรุ่นสู่รุ่น
  • ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า แม้ฮ่องกงจะอยากแยกระบอบการเมืองออกมาจากอังกฤษ แต่ฮ่องกงก็ยังต้องพึ่งพาจีนในทางเศรษฐกิจ
  • ฮ่องกงกำลังนับถอยหลังอีก 30 ปีที่จะสิ้นสุดแนวคิดการปกครอง ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าจีนน่าจะเข้ามาควบคุมฮ่องกงมากขึ้นหลังจากนั้น

     ความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การปกครองแบบ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ (One Country Two Systems) นั้นไม่เคยง่าย ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปิดให้ฮ่องกงมีระบอบเศรษฐกิจเป็นของตัวเองทำให้ฮ่องกงก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการค้าของโลก แต่ตลอด 20 ปีที่จีนมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้นอย่างเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และกวางโจว ทำให้ฮ่องกงไม่ได้เป็นพระเอกเพียงคนเดียวของจีนอีกต่อไป

 

Photo: TORSTEN BLACKWOOD/AFP

     

     สิบปีให้หลัง จีนเริ่มพยายามเข้ามาควบคุมฮ่องกงมากขึ้น ทำให้สัญญา ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ที่จีนกับอังกฤษเคยตกลงกันไว้เมื่อครั้งอังกฤษส่งคืนฮ่องกงให้กับจีนในปี 1997 เริ่มถูกทวงถามจากชาวฮ่องกงผ่านการประท้วงหลายครั้ง และที่เด่นชัดคือการปฏิวัติร่มในปี 2014 ที่ชาวฮ่องกงเรียกร้องสิทธิการเลือกผู้ว่าการของเกาะฮ่องกง โดยปราศจากการควบคุมของจีนแผ่นดินใหญ่

     มาถึงวันนี้ที่จีนและฮ่องกงกำลังจะเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีที่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงให้กับจีน ความรู้สึกต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่กลับยิ่งสะท้อนชัดจากชาวฮ่องกงรุ่นเก่าที่รู้สึกผูกพันต่อจีนแผ่นดินใหญ่ มาสู่ชาวฮ่องกงรุ่นใหม่ที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจีนจนถึงขั้นอยากเป็นอิสระจากจีนนั้นคือโจทย์ของทั้งจีนและฮ่องกงเอง โดยเฉพาะในวันที่ฮ่องกงกำลังนับถอยหลัง 30 ปีที่จะสิ้นสุดแนวคิดการปกครองแบบ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ที่จีนอาจกลับมาควบคุมฮ่องกงอย่างเต็มรูปแบบ

     เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับฮ่องกงซึ่งเปรียบเสมือนลูกที่เติบโตมาในแบบของตัวเอง

ชาวฮ่องกงรุ่นใหม่ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจีนจนถึงขั้นอยากเป็นอิสระจากจีน

Photo: Anthony ALLACE/AFP

 

ความสัมพันธ์จีน-ฮ่องกงตลอด 20 ปี กับความคิดเห็นที่แตกต่างของชาวฮ่องกงจากรุ่นสู่รุ่น

     ภายใต้บรรยากาศของการเฉลิมฉลองที่ฮ่องกงถูกอังกฤษส่งคืนให้จีนครบรอบ 20 ปีคือ หลังจากอยู่ใต้อำนาจของอังกฤษมา 150 ปี คำถามต่อ ‘ประชาธิปไตย’ ของคนฮ่องกงที่สะท้อนชัดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การปฏิวัติร่มในปี 2014 โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่อย่างโจชัว หว่อง ไปจนถึงเหยา ไวชิง วัย 25 ปี และบัจโจ เหลียง วัย 30 ปี สมาชิกสภานิติบัญญัติรุ่นใหม่ที่ไม่เพียงเรียกร้องให้ฮ่องกงสามารถเลือกผู้ว่าการของตัวเองได้ แต่ต้องการให้ฮ่องกงเป็นอิสระจากจีน ผ่านการออกมากางธงที่มีข้อความว่า ‘Hong Kong is not China’ ไปจนถึง ‘Hong Kong Nation’ และสุดท้าย ทั้งสองคนนี้ถูกศาลฮ่องกงสั่งห้ามให้ดำรงตำแหน่ง

     การเดินทางเยือนฮ่องกงของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงครั้งนี้จึงไม่ได้สำคัญเพียงเพราะเป็นครั้งแรก แต่ยังเป็นการเดินทางเยือนฮ่องกงในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของฮ่องกง

 

Photo: KIMIMASA MAYAMA/AFP

     

     รศ.ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมืองของจีนกล่าวกับ THE STANDARD ว่า “ตอนนี้ฮ่องกงกำลังเผชิญกับช่องว่างของพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคม คือเศรษฐกิจยังดำเนินไปได้ แต่การเมืองมีปัญหาความขัดแย้ง การต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่เด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ แต่รู้สึกว่าตัวเองเป็นชาวฮ่องกงเหมือนกับที่ชาวไต้หวันรู้สึก ดังนั้นการลดความขัดแย้งทางการเมืองจึงเป็นโจทย์สำคัญของทั้งจีนและฮ่องกง เพราะสถานการณ์คงไม่สงบง่ายๆ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ยอม”

     ฮอย อียิค ชาวฮ่องกง วัย 35 ปี ที่มาทำงานและอาศัยอยู่ในไทยกว่า 9 ปี เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า “เราอายุ 35 เหมือนอยู่ตรงกลาง รุ่นพ่อรุ่นแม่เราจะคิดว่าตัวเองเป็นชาวจีน แต่คนที่อายุน้อยกว่าเรา เขาจะคิดว่าเขาต้องต่อสู้กับรัฐบาลจีน หรือแยกออกมาเป็นประเทศตัวเอง แต่เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้และไม่ควรทำแบบนี้ แต่ถ้าจะให้เรากลับไประบอบเดิมมันก็ไม่ใช่ เพราะเราไม่ได้โตมาแบบนั้น”

 

Photo: Anthony WALLACE/AFP

 

     ขณะที่โจชัว หว่อง และกลุ่มนักเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ได้นำผ้าดำมาคลุมรูปปั้นดอกชงโคสีทอง สัญลักษณ์แห่งเสรีภาพของฮ่องกง เพื่อต่อต้านการเดินทางมาเยือนของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จนท้ายที่สุดก็ถูกจับกุมโดยทางการรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย

ฮ่องกงกำลังเผชิญกับช่องว่างของพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคม คือเศรษฐกิจยังดำเนินไปได้ แต่การเมืองมีปัญหาความขัดแย้ง

Photo: Jayne Russell/AFP

 

ประชาธิปไตยที่อาจยิ่งห่างไกล

     แต่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับฮ่องกงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสะท้อนว่า ยิ่งชาวฮ่องกงต้องการประชาธิปไตยมากขึ้นเท่าไร อย่างเช่น กฎหมายคุ้มครองอำนาจในการปกครองกิจการภายใน และสิทธิเสรีภาพในการเลือกผู้ว่าการของตัวเองผ่านการปฏิวัติร่มในปี 2014 จีนก็ยิ่งใช้อำนาจเข้ามาควบคุมฮ่องกงมากขึ้น ทั้งยังประกาศว่าจะทบทวนกฎหมายฮ่องกงที่เกี่ยวกับการสวามิภักดิ์ต่อจีนให้เข้มงวดยิ่งขึ้น หรือแผนเดิมที่จะให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิเลือกผู้ว่าการของตนเอง แต่รายชื่อผู้ลงสมัครจะต้องผ่านการอนุมัติจากจีน กลายเป็นจีนเองก็ยังใช้วิธีการคัดเลือกผู้ว่าการของฮ่องกงผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้งในการเลือกผู้ว่าการครั้งล่าสุด

     รศ.ดร. สมภพ มองว่า “การที่จีนจะยอมให้ฮ่องกงมีการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นเป็นไปได้ยาก นอกเสียจากว่าการเมืองภายในของจีนเองจะเปลี่ยน ระบอบทุนนิยมอาจทำให้จีนต้องมีระบบที่เปิดกว้างมากขึ้น ผมมองว่าระบบมันก็ต้องเปลี่ยนไป จีนต้องเปิดกว้างมากกว่านี้ จีนต้องมีส่วนร่วมกับโลกมากกว่านี้”

คนจีนเองก็ต้องการมีอิสรภาพ พวกเขาเลยพยายามย้ายหรือซื้อสินทรัพย์ในฮ่องกง ราคาบ้านก็พุ่งสูง คนในฮ่องกงเองก็ยิ่งไม่พอใจ

Photo: Anthony ALLACE/AFP

 

การรักษาตำแหน่งศูนย์กลางทางการค้าของฮ่องกง และฮ่องกงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจีนแค่ไหน

     ก่อนหน้านี้ฮ่องกงถูกจีนมองว่าเป็นประตูสู่การค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จีนมีเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และกวางโจว ที่ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ฮ่องกงจึงไม่ใช่เพชรเม็ดเดียวของจีนอีกต่อไป

     รศ.ดร. สมภพ มองว่า แม้ฮ่องกงจะอยากแยกระบอบการเมืองออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถเลิกพึ่งพาจีนในทางเศรษฐกิจได้ “เศรษฐกิจแทบจะแยกกันไม่ได้ หากฮ่องกงแยกออกจากจีนจริงคงจะไม่กระทบต่อจีนเท่าไร แต่จะกระทบต่อฮ่องกง เพราะจีนเขามีท่าเรือการค้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย สถานะการเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าของฮ่องกงจะสูญหาย และการท่องเที่ยวจะเสียหายเช่นกัน”

 

Photo: BRITAIN JLG/AFP

 

บทบาทของจีนและอังกฤษในการสร้างประชาธิปไตยในฮ่องกง เกาะแห่งความหวังของจีน

     ก่อนหน้าที่อังกฤษจะคืนฮ่องกงให้กับจีนในปี 1997 แท้จริงแล้วอังกฤษเริ่มเจรจากับจีนเกี่ยวกับการส่งมอบฮ่องกงตั้งแต่ปี 1980 และสิ้นสุดการเจรจาในปี 1984 ในสมัยของนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ซึ่งคือจุดเริ่มต้นของการทำปฏิญญาร่วมว่าฮ่องกงจะถูกปกครองภายใต้แนวคิด ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ หมายถึง ภายใต้ประเทศเดียวกัน ฮ่องกงจะมีระบอบทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นของตัวเอง มาร์กาเร็ตประกาศว่า เธอตั้งใจให้ระบอบเศรษฐกิจของฮ่องกงยังเป็นทุนนิยม แม้จะส่งคืนให้จีนในปี 1997 อย่างไรก็ตาม เธอถูกตั้งคำถามตั้งแต่ตอนนั้นว่า เมื่อเธอส่งคืนฮ่องกงให้กับจีนง่ายๆ แล้วมั่นใจได้อย่างไรว่าจีนจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้

     รศ.ดร. สมภพ มองว่า นอกจากตั้งคำถามกับจีนแล้ว อังกฤษเองก็ควรถูกวิจารณ์ต่อการกำหนดอนาคตของฮ่องกงเองเช่นกัน “สิ่งที่น่าจะถูกวิจารณ์ด้วยคือ บทบาทของอังกฤษตั้งแต่ปี 1980 ว่าอังกฤษเองก็อาจจะยอมให้จีนทำแบบนี้กับฮ่องกง ทั้งที่อังกฤษมีเวลาเตรียมตัวตั้ง 17 ปีก่อนจะส่งมอบฮ่องกงให้กับจีนในปี 1997 และอังกฤษเองก็วางตัวเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตยของโลก”

     อย่างไรก็ตาม มาร์กาเร็ตกล่าวในตอนนั้นว่า หากเธอไม่ได้เจรจาเลย ฮ่องกงก็จะอยู่ภายใต้อำนาจของจีนร้อยเปอร์เซ็นต์ และในตอนนั้นฮ่องกงเองก็ถูกอังกฤษตั้งความหวังว่าอาจเป็นพื้นที่แรกที่ทำให้ประชาธิปไตยแผ่ขยายไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ โดยโจชัว หว่อง ออกมาประกาศว่า อังกฤษควรจะเข้ามาสร้างความมั่นใจว่าฮ่องกงจะมีประชาธิปไตย หลังจากแนวคิดการปกครองแบบ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ จะสิ้นสุดในอีก 30 ปีข้างหน้า

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปัญหาประชากรสูงวัยล้น เป็นอีกความท้าทายของแคร์รี แลม ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงหญิงคนแรก

Photo: Anthony ALLACE/AFP

 

ความเหลื่อมล้ำของฮ่องกงคืออีกชนวนการต่อต้านรัฐ

     ภายใต้การเป็นศูนย์กลางทางการเงินและท่าเรือสำคัญของโลก ฮ่องกงกำลังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นเรื่อยๆ

     Gini Coofficient ระบุว่าความเหลื่อมล้ำของฮ่องกงอยู่ที่ 0.54 โดยหากประเทศใดที่มีความเหลื่อมล้ำเกิน 0.4 หมายความว่าประเทศนั้นกำลังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง ปัจจุบันราคาคอนโดฯ ในใจกลางฮ่องกงมีราคาอยู่ที่ประมาณตารางเมตรละ 700,000 บาท เราจึงเห็นภาพที่อยู่อาศัยที่แออัดของชาวฮ่องกงจำนวนมาก

     รศ.ดร. สมภพ มองว่า “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีส่วนที่ทำให้คนไม่พอใจสภาพการเมืองที่เป็นอยู่ คนรวยในฮ่องกงเป็นทั้งชาวฮ่องกงเองและชาวจีนแผ่นดินใหญ่ คนไม่สามารถซื้อได้แม้กระทั่งปัจจัยสี่อย่างที่อยู่อาศัย ซึ่งจะนำไปสู่ความเดือดดาลของประชาชนมากยิ่งขึ้น”

     นอกจากนี้ระบบ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ที่ทำให้ฮ่องกงมีอิสระมากกว่าจีนยังทำให้ชาวจีนจำนวนหนึ่งแห่มาซื้อที่อยู่อาศัยในฮ่องกง และพยายามให้ลูกมีสัญชาติฮ่องกง

 

Photo: DALE DE LA REY/AFP   

     

     “คนจีนเองก็ต้องการมีอิสรภาพ พวกเขาเลยพยายามย้ายหรือซื้อสินทรัพย์ในฮ่องกง ราคาบ้านก็พุ่งสูง คนในฮ่องกงเองก็ยิ่งไม่พอใจ” ซึ่งฮอย อียิค เปิดเผยว่า “10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่รู้สึกว่าเปลี่ยนไปเยอะคือคนจีนเข้ามาอยู่ในฮ่องกงเยอะมาก สมัยที่ฉันเรียนที่ฮ่องกง นักเรียนส่วนใหญ่ในโรงเรียนเป็นชาวฮ่องกง แต่ปัจจุบันเป็นนักเรียนชาวจีนจากเซินเจิ้นที่เดินทางมาเรียนแบบเช้าไป-เย็นกลับ”

     ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปัญหาประชากรสูงวัยล้น เป็นอีกความท้าทายของแคร์รี แลม ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงหญิงคนแรก โดยเธอประกาศตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อต้นปีว่าเธอจะแก้ปัญหานี้เป็นอันดับแรกก่อนการปฏิรูปการเมืองฮ่องกง ซึ่งจุดยืนของเธอตรงนี้อาจจะสวนทางกับนักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง

     ขณะนี้ฮ่องกงกำลังนับถอยหลัง 30 ปีที่จะสิ้นสุดระบอบการปกครองภายใต้แนวคิด ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ตามที่จีนและอังกฤษได้ทำตามข้อตกลงกันไว้ รศ.ดร. สมภพ กล่าวว่า “คนฮ่องกงเป็นห่วงตรงนี้ ซึ่งหลังจากนั้นเราอาจจะเห็นจีนเข้ามาใช้อำนาจคุมศาลของฮ่องกงมากขึ้น จากตอนนี้ที่จีนแค่เข้ามาคุมเฉพาะด้านความมั่นคงเท่านั้น”

     ด้านฮอย อียิค กล่าวว่า “ถ้าอ่านประวัติศาสตร์ เราก็คิดว่าเราเป็นคนจีน แต่เราเป็นคนที่พิเศษ แต่ระยะหลังจีนพยายามจะไม่ให้เราเป็นคนพิเศษคนเดิม”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X