เหตุสะเทือนขวัญคนไทยครั้งล่าสุด คือกรณีมีกลุ่มคนร้ายประมาณ 10 คน สวมชุดลายพราง บุกเข้าไปในบ้านพักซึ่งเป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกลาง อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ สังหารนายวรยุทธ สังหลัง และบุคคลในครอบครัว เสียชีวิตรวม 8 ศพ รอดชีวิต 3 ราย สื่อหลายสำนักรายงานในทำนองเดียวกันว่า นี่คือ ‘การฆ่าล้างครัว’ หรือ ‘ฆ่ายกครัว’
ความสะเทือนขวัญของเหตุการณ์นี้ นอกจากการฆ่ายกครัวซึ่งมีผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อหลายราย คำถามก็คือหากคนร้ายมุ่งหมายเอาชีวิตของ ‘ผู้ใหญ่วรยุทธ’ เพียงคนเดียว เหตุใดจึงต้องลงมือสังหารบุคคลในครอบครัวที่เหลือด้วย นัยของรูปการณ์นี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ‘เป็นการฆ่าเพื่อปิดปาก’
การบรรยายเหตุการณ์ลงมือฆ่าต่อไปนี้อาจสร้างความสะเทือนใจให้ผู้อ่านได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องตีแผ่ เพราะฆาตกรลงมืออย่างโหดเหี้ยมชนิดที่บางสื่อใช้คำว่า ‘ผิดมนุษย์’ หลังยกพวกบุกเข้ามาในบ้าน มีการจับสมาชิกในครอบครัวปิดตา ใส่กุญแจมือ เมื่อรอจนกระทั่งเป้าหมายมาก็บีบบังคับให้ผู้ใหญ่วรยุทธสังหารคนในครอบครัวตัวเอง เมื่อไม่ทำก็บีบคั้นโดยการทุบหัวเด็กจนเบ้าตากระเด็น ใช้สันปืนทำร้าย จากนั้นใช้ปืนจ่อที่หัว ฆ่าทีละราย และรายสุดท้ายคือผู้ใหญ่วรยุทธ ที่ต้องเห็นภาพอันน่าสลดก่อนตัวเองต้องจบชีวิต
อะไรคือคำอธิบายถึงความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ อะไรทำให้คนมีแรงขับและกล้าที่จะฆ่าคนได้มากมาย นี่คือคำถามตั้งต้นที่ต้องหาคำอธิบาย เพื่อให้สังคมตื่นตัวต่อเหตุการณ์ครั้งนี้
ธรรมชาติ ‘นักฆ่า’ ไม่สะทกสะท้าน ไม่สนใจศีลธรรม
รศ. ดร. เดชา สังขวรรณ คณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยามองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของผู้ใหญ่วรยุทธนั้นเป็นการวางแผนมาอย่างดี และน่าจะมาจากปมความขัดแย้งที่ใหญ่มาก เพราะการลงมือก่อเหตุค่อนข้างรุนแรงและสะเทือนขวัญประชาชน พฤติกรรมเหล่านี้มักจะเป็น ‘ความแค้น’ ที่รุนแรง ปมเงื่อนเรื่องผลประโยชน์มักจะเป็นชนวนก่อเหตุหลัก ส่วนกลุ่มที่จะก่อเหตุได้ขนาดนี้ มองแล้วน่าจะเป็นกลุ่มอิทธิพลหรือมาเฟีย เพราะการว่าจ้าง ‘นักฆ่า’ หรือ ‘มือปืน’ ที่มีความเชี่ยวชาญและโหดเหี้ยมแบบนี้น่าจะต้องเคยใช้งานหรือรู้จักกันเป็นอย่างดี
“พฤติกรรมของนักฆ่าหรือมือปืนรับจ้างเหล่านี้ โดยธรรมชาติพื้นฐานพฤติกรรมอาจจะมาจาก การเป็นคนที่เติบโตมากับความรุนแรง หรืออยู่ในแวดวงเหล่านี้ ซึ่งมีส่วนหล่อหลอมชีวิตเขามา แล้วคนเหล่านี้ไม่ได้คิดถึงความโหดเหี้ยม เพราะรู้สึกว่าตนเองทำอาชีพแบบนี้ ซึ่งในบ้านเราหาได้ไม่ยาก
“คนเหล่านี้เป็นพวก incognitive คือขาดการยับยั้งชั่งใจ หรือขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไม่สนว่าอะไรคือความผิดถูก พอไม่มีตรงนี้ก็สามารถที่จะตัดสินใจทำเรื่องต่างๆ ได้หมด การตัดสินใจที่โหดเหี้ยมจึงเกิดขึ้นอย่างที่เห็น คนพวกนี้รับโทษ แล้วอาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัด และต้องทำเป็นรายบุคคล ต้องอาศัยคนนอกที่มีอิทธิพลต่อชีวิตหรือคนที่สามารถคุยให้เข้าถึงแก่นแกนของตัวตนเขาได้ ขณะที่รัฐเองก็ต้องเข้าไปจัดการกับกลุ่มแก๊งอิทธิพลพวกนี้ กวาดล้างให้ถึงต้นตอ”
‘ฆ่าล้างครัว’ ในสังคมไทย ฆ่าปิดปากให้หมด
ดร. เดชา กล่าวว่า การฆ่าล้างครัว หรือฆ่าคนในครอบครัวนั้นปรากฏเป็นข่าวในสังคมไทยอยู่หลายครั้ง ทั้งเกิดจากคนในครอบครัวเองที่ต้องการหาทางออกของปัญหา แล้วตัดสินใจฆ่าคนในครอบครัวและฆ่าตัวตายตาม อีกปัจจัยหนึ่งก็มาจากความขัดแย้งเรื่องต่างๆ ซึ่งอาจเป็นความขัดแย้งในเรื่องส่วนตัว ผลประโยชน์ในพื้นที่ หรือเรื่องธุรกิจ แม้แต่การปล้นทรัพย์ ส่วนใหญ่หากเป็นเรื่องความขัดแย้งก็มักมีความมุ่งหมายที่จะฆ่าเป้าหมายเพียงคนเดียว แต่หลายครั้งที่บุคคลในครอบครัวเข้ามาในวงจรนี้เพราะอาจเป็นผู้เห็นเหตุการณ์หรือรับรู้บางเรื่อง จึงจงใจที่จะ ‘ฆ่าเพื่อปิดปาก’ ซึ่งเป็นวิธีการปกติของนักฆ่าหรือมือปืนรับจ้าง เพื่อให้ตนเองรู้สึกปลอดภัยจากการถูกสาวถึงตัว
“ความโหดร้ายของการฆ่าคือมีเหยื่อผู้บริสุทธิ์ ที่ไม่รู้เรื่องด้วย เช่น เด็ก ผู้หญิง หรือผู้สูงอายุ แต่ก็ต้องมาจบชีวิต อย่างกรณีผู้ใหญ่วรยุทธ อาจจะรู้ตัวว่าตนเองถูกปองร้าย แต่ครอบครัวอาจไม่รู้ ส่วนพวกที่ลงมือก็ไม่สนอยู่แล้วว่าวิธีการจะโหดเหี้ยมไหม เพราะอย่างที่อธิบายว่า เขารู้สึกว่ามันเป็นอาชีพ เขาฆ่าเพื่อเงิน
“ส่วนการบีบให้ผู้ตายต้องลงมือฆ่าคนในครอบครัวก็เป็นวิธีการที่ค่อนข้างร้ายแรง เป็นการทรมานจิตใจ ท้าทายต่อสำนึกภายใน”
เวลา-คนรอบข้าง จะเยียวยาผู้รอดชีวิตให้ก้าวข้ามความทุกข์ในใจ
เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้น มีผู้รอดชีวิตจากเงื้อมมือของแก๊งฆ่านี้ 3 ราย ขณะนี้ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัยในร่างกาย แต่แน่นอนว่าผลกระทบทางจิตใจย่อมร้ายแรงมหาศาลเช่นเดียวกัน
ในเรื่องนี้ พันตำรวจโทหญิง แพทย์หญิงอัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล หรือหมอแอร์ จิตแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ มีข้อห่วงใยและให้คำแนะนำต่อบาดแผลทางจิตใจว่า ต้องให้ร่างกายปลอดภัยก่อนในลำดับแรก ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้เจ้าหน้าที่จะต้องเข้ามาดูแลอยู่แล้ว ส่วนเรื่องจิตใจนั้น กรณีแบบนี้ถือว่าเป็นการได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง อาจจะรู้สึกเครียด เสียใจ เศร้า ตกใจ สับสน มีภาวะทางจิตเวชที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งเรียกว่า Acute Stress Disorder คือ อาการผิดปกติทางจิตเมื่อเกิดเหตุสะเทือนใจเวลาที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตเฉียดตาย ซึ่งอาจมีหลายอารมณ์เกิดขึ้นกับคนคนนั้น และต้องดูแลสภาพจิตใจต่อไป หรืออาจเกิด Posttraumatic Stress Disorder คือภาวะกระทบกระเทือนจิตใจหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ ก็ต้องช่วยกันประคับประคองเฝ้าระวัง
“ถ้าหากพยายามตั้งหลักแล้ว แต่จิตใจไม่ดีขึ้น ก็ต้องให้จิตแพทย์เข้ามาช่วยตรงนี้ ซึ่งการเยียวยาจะขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของแต่ละคนว่าปกติมีสภาวะอารมณ์แบบใด คนรอบข้างและคนในครอบครัวมีส่วนอย่างมากที่จะช่วยให้เขาผ่านพ้นความทุกข์ในใจเหล่านี้ด้วยการให้กำลังใจ จับมือ และยืนเคียงข้างเพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ และเวลาจะเยียวยารักษาเขาได้เองในที่สุด”
ภาพประกอบ: narissara k.
อ้างอิง:
- นสพ. เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560