×

ข้าหลวงใหญ่ UNHCR ถามประยุทธ์ ทำไมไม่มีการนิยามคำ ‘ผู้ลี้ภัย’ ในกฎหมายไทย

11.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เดินทางมาเยือนประเทศไทย และพบกับนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย
  • UNHCR กำลังดำเนินการเตรียมส่งผู้ลี้ภัยจากไทยกลับเมียนมาอีก 200 คน
  • ฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ยืนยัน ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และเขตเมืองอื่นๆ รวมแล้วราว 7,000 คน

 

     เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2017 ฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เดินทางมาเยือนประเทศไทย และพบกับนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเยี่ยมผู้ลี้ภัยในประเทศไทย หลังจากเยือนเมียนมาเป็นเวลา 6 วัน เพื่อพูดคุยกับนางอองซานซูจีเกี่ยวกับปัญหาไร้สัญชาติที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ โดยยืนยันว่า ขณะนี้เมียนมากำลังเตรียมพร้อมในการรับผู้ลี้ภัยจากประเทศไทย อย่างเช่น ที่อยู่อาศัยและสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งตอนนี้ UNHCR กำลังดำเนินการเตรียมส่งผู้ลี้ภัยจากไทยกลับเมียนมาอีก 200 คน อย่างไรก็ตามนายฟิลิปโปกล่าวว่า ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ให้มีการบังคับให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับเมียนมาหากพวกเขาไม่สมัครใจ เพราะยังมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่ไม่พร้อมกลับเมียนมาเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจ

 

 

   จากสถานการณ์ข้างต้นนายฟิลิปโปจึงย้ำว่า การช่วยเหลือเร่งด่วนในรัฐยะไข่นั้นเป็นเพียงการช่วยเหลือระยะสั้น การช่วยเหลือระยะยาวคือการให้สัญชาติกับชนกลุ่มน้อย ขณะที่องค์กรเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในไทยอย่าง Asylum Access มองว่า หากไทยยังไม่สามารถส่งผู้ลี้ภัยทั้งหมดกลับเมียนมาได้ ไทยควรให้สิทธิเสรีภาพกับพวกเขา และพัฒนาคนกลุ่มนี้ด้วยการให้การศึกษา และการฝึกฝนด้านทักษะต่างๆ เพราะพวกเขานับเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเช่นกัน รวมถึงองค์กรอย่าง Amnesty เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งออกแนวทางคัดกรองผู้ลี้ภัย ด้วยการนิยามคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ ในกฎหมาย เพื่อทำให้รัฐบาลสามารถจำแนกประเภทของผู้อพยพเข้าประเทศไทยได้อย่างแม่นยำ เพราะขณะนี้ในกฎหมายไทยยังไม่มีนิยามคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ แต่ใช้คำว่า ‘ผู้หนีภัยการสู้รบ’ ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นในการประชุมผู้นำโลกในนครนิวยอร์กว่า จะเร่งให้มีกระบวนการคัดกรองผู้ลี้ภัยโดยเร็วที่สุด

 

 

     ขณะที่ปัญหาผู้ลี้ภัยเขตเมือง (Urban Refugee) ที่ก่อนหน้านี้มีข้อมูลจากองค์กร Asylum Access ที่ได้จากการทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยว่า กรุงเทพฯ มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ประมาณ 8,000 คน เดินทางมาจากหลายประเทศมากกว่า 40 แห่ง ทั้งปากีสถาน, โซมาเลีย, ซีเรีย, อิรัก, เวียดนาม, ปาเลสไตน์ ฯลฯ นายฟิลิปโปยืนยันว่า ขณะนี้กรุงเทพฯ มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ราว 7,000 คน ลดลงจากปีที่แล้วประมาณ 1,000 คน โดยประมาณ 4,000 คนที่ได้การรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ขณะที่ที่เหลืออีกราว 3,000 คนนั้นกำลังอยู่ในขั้นตอนการแสวงหาสถานะผู้ลี้ภัย

 

 

     ด้านอองซานซูจีที่ปฏิเสธไม่ให้สหประชาชาติเข้าตรวจสอบการก่ออาชญากรรมของหน่วยความมั่นคงของเมียนมาต่อชนกลุ่มน้อยในโรฮีนจาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐทั้งสังหาร ข่มขืน และทรมานชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ โดยให้เหตุผลว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาของสหประชาชาติครั้งนี้ไม่ได้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง นายฟิลิปโปเปิดเผยว่า อองซานซูจียังต้อนรับคณะกรรมการชุดอื่นของสหประชาติ อย่างเช่น UNHCR แม้จะปฏิเสธความร่วมมือของสหประชาชาติที่จะเข้าไปสืบสวนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่

 

 

     นายฟิลิปโป ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เข้ามารับตำแหน่งแทนนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2017 ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ

     อ่านเกี่ยวกับวิกฤตผู้ลี้ภัยจากโลกถึงไทยต่อได้ที่ วิกฤตผู้ลี้ภัยทั่วโลกและไทย: ผู้ลี้ภัยในค่ายถึงในกรุงเทพฯ คือโจทย์ที่รัฐไทยต้องตอบ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X