×

‘รัฐ-ศาสนา’ ในวันที่ความสัมพันธ์ถูกตั้งคำถาม

07.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ปัญหาหนึ่งของพุทธศาสนาในประเทศไทยคือ ‘การปิดกั้นตัวเอง’ จากการแข่งขันกับระบบคุณค่าอื่นๆ ที่กำลังท้าทายการดำรงอยู่ของตนในรัฐสมัยใหม่
  • คนตะวันตกไม่ได้สนใจเรื่องศาสนาหรือศึกษาพุทธศาสนาที่ความเป็นศาสนา เขาสนใจแค่ว่าพุทธศาสนาสอนอะไร และการทำสมาธิช่วยอะไรเขาได้บ้างในสภาพสังคมที่มีความเป็นปัจเจกสูง มีภาวะซึมเศร้าและการหย่าร้างสูง เขาเพียงมองหาเครื่องมือบางอย่างที่จะมาช่วยให้ปัญหาของพวกเขาได้รับการเยียวยา
  • ในบริบทของโลกตะวันตกไม่ได้มีข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์ว่าเราควรจะปฏิบัติต่อศาสนาอย่างไร ควรจะเป็นพุทธแบบไหน เพราะเรามีสิทธิที่จะเลือก
  • การผลักดันให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในเมียนมาทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นในสังคม เป็นการทำลายจิตวิญญาณของการเป็นสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนา

     สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับข้อถกเถียงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในมิติต่างๆ มีความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐกับกลุ่มทางศาสนา เช่น รัฐเข้าไปแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ในประเด็นเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช รวมถึงแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่สำเร็จ ขณะเดียวกันในรัฐธรรมนูญก็มีความพยายามที่จะบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ อีกทั้งฝ่ายศาสนาเองก็พยายามที่จะเรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการกับศาสนาโดยการสนับสนุนอะไรบางอย่าง ทั้งในส่วนที่เป็นทุนทรัพย์หรือการจัดตั้งบางองค์กรขึ้นมา จนนำไปสู่คำถามที่ว่า

     รัฐกับศาสนาสัมพันธ์กันอย่างไร

     คุณค่าในโลกศตวรรษที่ 21 เป็นแบบไหน

     และรัฐกับศาสนามีส่วนสัมพันธ์กับคุณค่าในโลกศตวรรษที่ 21 อย่างไร

     The Standard พบคำตอบของคำถามข้างต้นในการประชุมวิชาการด้านปรัชญาและศาสนาในหัวข้อ ‘ศาสนากับรัฐ’ ในวาระครบรอบ 50 ปี คณะอักษรศาสตร์ และครบรอบ 25 ปี ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ วิจักขณ์ พานิช คนรุ่นใหม่ที่ศึกษาเรื่องวิถีพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่

และชาญณรงค์ บุญหนุน พิธีกร 

ขอบคุณภาพจาก: ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

รัฐกับศาสนา ความสัมพันธ์ของการแบ่งสรร ‘อำนาจ’

     “ผมคิดว่าที่รัฐต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนา เหตุผลมันนิดเดียวเท่านั้นเองคือศาสนามีนักบวช นักบวชคือกลุ่มคนที่มีองค์กรที่เข้มแข็งพอๆ กันกับรัฐ เช่น กลุ่มโต๊ะครูผู้สอนศาสนา หรือองค์กรของ ‘อุลามาอฺ’ ทั้งในมลายูและภาคใต้ของไทย ซึ่งตัวรัฐเองแทบจะไม่มีองค์กรที่ละเอียดอ่อนและแผ่กว้างมากพอเมื่อเทียบกับองค์กรศาสนาทั้งหลายในรัฐ หรือหลายๆ ครั้ง ในยุโรปสมัยกลางก็มีองค์กรศาสนาที่เข้มแข็งมากกว่ารัฐเสียด้วยซ้ำ ฉะนั้นรัฐมีความสัมพันธ์กับศาสนาด้วยเหตุผลทั้งหมดคือจะแบ่งสรรอำนาจกันอย่างไร”

     นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ พูดถึงความจำเป็นที่รัฐโบราณจะต้องเข้าใกล้ศาสนามากยิ่งขึ้นในมิติของอำนาจ โดยมองว่าพลังของกลุ่มองค์กรนักบวชทำให้ศาสนานั้นแข็งแกร่งขึ้น อีกทั้งองค์กรเหล่านี้ยังเข้าไปมีอิทธิพลและทำหน้าที่บางอย่างที่รัฐในขณะนั้นไม่สามารถทำได้ดีเท่า จึงเป็นเหตุให้รัฐต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด

“วิธีการเดียวที่รัฐจะจัดการกับองค์กรทางศาสนาได้ก็คือการทำอย่างที่รัฐได้ทำไปแล้ว นั่นคือการเข้าไปเป็นผู้สนับสนุน และอ้างว่าตัวเองก็นับถือศาสนานั้นเหมือนกัน”

 

‘ศาสนา’ สถาบันที่กำลังอ่อนแอและล่มสลาย?

     นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองว่าความอ่อนแอของศาสนาในโลกตะวันตกก่อตัวขึ้นมาเนิ่นนานก่อนหน้าที่เราจะปฏิรูปพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมไทย พร้อมทั้งอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ศาสนาค่อยๆ เสื่อมและหมดอำนาจลงเรื่อยๆ

     “ผมไม่อยากจะพูดว่าองค์กรสงฆ์ในโลกปัจจุบันมันอ่อนแอลง ยิ่งในโลกตะวันตก ผมว่ามันอ่อนแอลงมาก

     “จริงๆ แล้วคำว่า ‘ศาสนา’ (Religion) ไม่ได้แปลว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า คำๆ นี้ไม่มีในภาษาไทยหรือแทบจะเกือบทุกภาษาในโลกตะวันออกเลยก็ว่าได้ แล้ววันหนึ่งฝรั่งก็นำเอาคำนี้เข้ามา และเราก็พยายามปรับตัวเองให้เข้ากับมัน ให้ดูเหมือนว่าเราเองก็มีศาสนาเหมือนกันนะ และเราก็พยายามแปลงทุกอย่างที่เกี่ยวกับศาสนาให้เข้ากับศาสนาแบบเดียวกับฝรั่ง ทั้งๆ ที่ศาสนาฝรั่งที่นำเข้ามามันอ่อนแอเต็มที”

     สาเหตุที่ทำให้ศาสนาในโลกตะวันตกอ่อนแอคือลัทธิล่าอาณานิคมและการปฏิวัติอุตสาหกรรม

     “เหตุผลที่ทำให้ศาสนาอ่อนแอคือลัทธิล่าอาณานิคม ในสมัยหนึ่ง พวกผู้ดีจะให้ลูกชายคนโตเป็นผู้สืบทอดมรดก ตำแหน่ง หรือสิทธิอำนาจทั้งหลายจากพ่อ ส่วนลูกคนเล็กก็ส่งไปบวชในคณะสงฆ์เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจบางอย่างผ่านองค์กรนั้นๆ แต่พอคุณเริ่มมีอาณานิคมในต่างประเทศ กลายเป็นว่าอนาคตของลูกชายคนเล็กไม่จำเป็นต้องพึ่งศาสนาแล้ว คุณจึงส่งลูกไปรับราชการในพื้นที่อาณานิคมแทน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการล่าอาณานิคมจึงทำให้องค์กรสงฆ์หรือนักบวชอ่อนแอลง

     “อีกประการหนึ่งคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมเปิดโอกาสให้กับชีวิตคน ดังนั้นการบวชพระสำหรับองค์กรสงฆ์หรือศาสนาในตะวันตกส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากกว่า”

     นอกจากนี้ รัฐสมัยใหม่ที่มีกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้เข้าไปเบียดขับและแทนที่องค์กรต่างๆ ทางศาสนาที่ครั้งหนึ่งเคยมีอิทธิพลและทำหน้าที่ในส่วนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการศึกษา การจัดทำทะเบียนราษฎร์ การจัดเก็บภาษี เป็นต้น

     “ในสมัยก่อน เวลาเราอยากรู้ว่าคนในท้องถิ่นมีใครบ้าง แต่งงานกันเมื่อไร คุณต้องไปดูที่โบสถ์หรือวัดที่ทำการจดต้นตระกูลของคนไว้ แต่ขอโทษที เดี๋ยวนี้เราไปที่ว่าการอำเภอ ซึ่งจดได้ดีกว่าโบสถ์ ดีกว่าพวกพราหมณ์ด้วย การศึกษาที่รัฐเป็นคนจัดการสามารถแทนที่ศาสนาได้หมด อย่างในโลกตะวันตก รัฐเก็บภาษีได้เก่งกว่าองค์กรศาสนาเสียอีก (เช่น กรมสรรพากร) เพราะฉะนั้นการพึ่งองค์กรนักบวชจึงไม่ค่อยมีความจำเป็นแล้ว

     “ดังนั้นผมเข้าใจว่าการมองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในเชิงอำนาจ รัฐสมัยใหม่มันเติบโตขึ้นมาก แล้วก็ทำให้ศาสนาที่เคยเข้มแข็งนั้นอ่อนแอลง เหมือนกับว่ารัฐสมัยใหม่ไม่ต้องการศาสนา จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้มันอีกต่อไป

     “แต่ศาสนาจะอ้างถึงคุณค่าของตนเองอยู่ 2 อย่างคือ ศีลธรรมในจิตใจผู้คน (การนึกถึงผู้อื่น) และการมีเป้าหมายในชีวิต (นิพพาน) แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่มีคู่แข่งอีกเยอะมากในสนามแข่งขัน เช่น การเห็นแก่ผู้อื่น คุณเป็นคอมมิวนิสต์ก็ได้ คุณเป็นประชาธิปไตยก็ได้ หรือแม้แต่ความใฝ่ฝันที่อยากจะประกอบอาชีพนั้นอาชีพนี้ก็ถือว่าเป็นเป้าหมายในชีวิตได้เหมือนกัน เป็นต้น”

     หลังจากฉายปัญหาศาสนาในภาพใหญ่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ย้อนกลับมามองปัญหาและความอ่อนแอของพุทธศาสนาในเมืองไทย

     “ปัญหาใหญ่ของพุทธศาสนาในประเทศไทยคือการปิดกั้นตัวเอง และสาเหตุที่เขาไม่อยากแข่งขันกับระบบคุณค่าอื่นๆ นอกจากการที่ตัวเองไม่ได้มีพลังมากพอแล้ว อาจจะเป็นเพราะว่าเขาได้รับการปกป้องคุ้มครองมากเกินไป”

 

‘รัฐ-ศาสนา’ ควรสัมพันธ์กันแบบไหนในศตวรรษที่ 21

     เมื่อศาสนาแบบเดิมไม่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ คำถามใหญ่คือศาสนาควรจะปรับตัวและดำรงอยู่กับรัฐอย่างไรในโลกศตวรรษที่ 21 ศ. ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า การจะตามหา ‘หน้าต่าง’ สักบานเพื่อเป็นทางเลือกหรือทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นอาจต้องเริ่มจากการย้อนกลับไปศึกษาสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นระบบ

     ‘อำนาจรัฐกับบรมธรรม’ (คำว่า ‘บรมธรรม’ ในที่นี้หมายถึง การอ้างความจริงบางอย่างที่อยู่เหนือไปจากโลกที่เรารับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสหรือการชั่ง ตวง วัดแบบวิทยาศาสตร์) หรือรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐในมุมมองของศ. ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ มี 3 แบบ

     “แบบที่ 1 ดิฉันเข้าใจว่าวิธีคิดในโลกโบราณ ไม่ว่าจะตะวันออกหรือตะวันตก ส่วนใหญ่มองว่าอำนาจรัฐกับบรมธรรมเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่ารัฐพาไปสู่บรมธรรม ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือประวัติศาสตร์ยุโรปยุคกลาง

     “แบบที่ 2 วิธีมองว่ารัฐเป็นฆราวาส เป็น secular ไม่เกี่ยวกับบรมธรรม รัฐเป็นกระบวนการ กติกา สถาบัน ที่มนุษย์ที่มีเหตุผลมาตกลงร่วมกันเพื่อหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกันได้ ไม่เกี่ยวกับความเป็นจริงสูงสุดที่เหนือไปจากโลกประจักษ์ที่เราเห็น อย่างรัฐฝรั่งเศสหรืออินเดียในปัจจุบันที่บอกตัวเองอย่างชัดเจนว่าเป็นรัฐฆราวาส ไม่เกี่ยวกับศาสนา โดยวางระยะห่างกับทุกศาสนาเท่ากัน

     “แบบที่ 3 คือแบบผสมผสาน คือรัฐไทยก็ไม่ได้อ้างว่าตนเองเป็นรัฐศาสนา แต่องค์ประมุขจะต้องเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ดูแลทุกศาสนา และตัวประมุขจะต้องเป็นพุทธ แต่ว่ารัฐเป็นพุทธด้วยหรือเปล่า ดิฉันก็ไม่ค่อยแน่ใจ”

     ศ. ดร. สุวรรณา มองว่ารัฐสมัยใหม่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอ้างบรมธรรมหรือการอ้างศาสนา แต่ได้วางอยู่บนฐานคุณค่าอีกชุดหนึ่ง โดยเฉพาะภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. 1789) สโลแกนอย่าง ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ สะท้อนว่าทั้ง 3 คำวางอยู่บนฐานคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ไม่ได้เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าหรือโลกที่เหนือไปจากประสบการณ์ของมนุษย์เลย แต่เป็นความพยายามในการสร้างรัฐสมัยใหม่แทนที่รัฐศักดินาสวามิภักดิ์ที่ยึดโยงอยู่กับศาสนาบนพื้นฐานความสัมพันธ์และฐานคุณค่าอีกรูปแบบหนึ่ง

     ถึงตรงนี้ ศ. ดร. สุวรรณา ได้ชวนมองความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐกับศาสนาให้กว้างขึ้นไปอีก โดยมองแบบปรัชญาจีนโบราณ (500-300 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ที่แบ่งได้กว้างๆ 3 แบบคือ แบบขงจื๊อ แบบเต๋า และแบบนิตินิยม (Legalist)

     “แบบขงจื๊อ เป็นความพยายามที่จะมองว่าอำนาจรัฐเข้มข้น แต่จำเป็น อ่อนละมุน และมีเมตตา ขงจื๊อเสนออุปลักษณ์ใหม่ในการมองความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและลักษณะอำนาจของผู้ปกครองว่า อำนาจรัฐคือสายลมที่พัดผ่านยอดหญ้า ยอดหญ้าย่อมลู่ตามลม โดยมองว่าอำนาจรัฐน่าจะพัฒนามาจากความสัมพันธ์แบบบิดา-บุตร ที่มีความอ่อนละมุน

     “แบบเต๋า มองว่ารัฐคือโจรปล้นทรัพย์ จึงขออำนาจรัฐในแบบอ่อนจางที่สุด ไปไกลๆ อย่ามายุ่ง การก้าวก่ายจากอำนาจรัฐคือปัญหา

     “แบบนิตินิยม เห็นว่าอำนาจรัฐต้องเข้มข้น โหดเหี้ยม กำกับทุกอณูของชีวิต และไม่เกี่ยวกับจริยธรรม การที่ผู้ปกครองหลั่งน้ำตาเมื่อต้องลงโทษประชาชนตามกฎหมายเป็นการแสดงมนุษยธรรมที่น่าชื่นชม แต่ไม่ได้ช่วยให้เกิดระเบียบแต่อย่างใดทั้งสิ้น มนุษยธรรมอาจจะทำให้ผู้ปกครองน้ำตาตก ลังเลที่จะลงโทษ แต่กฎหมายกำหนดชัดว่าจะต้องลงโทษตามที่บัญญัติไว้”

     ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐกับศาสนาที่เหมาะกับศตวรรษที่ 21 ควรเป็นแบบใด การจะหาคำตอบหรือ ‘หน้าต่าง’ ที่เป็นทางออกหรือทางเลือกให้กับคำถามข้างต้น ศ. ดร. สุวรรณา กล่าวว่าเราต้องช่วยกันสร้างหน้าต่างบานนั้นขึ้นมาด้วยการถามตัวเองว่า ที่สุดแล้วเราต้องการให้รัฐและศาสนามีความสัมพันธ์แบบใด

 

พุทธศาสนาในสังคมตะวันตกร่วมสมัย

     พุทธศาสนาเข้าสู่โลกตะวันตกในยุคที่ทิเบตถูกจีนโจมตีและศาสนาในโลกตะวันตกอ่อนแอ วิจักขณ์ พานิช คนรุ่นใหม่ที่ศึกษาเรื่องวิถีพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่ได้เดินทางไปศึกษาศาสนาของโลกตะวันตกในช่วงนั้นพอดี วิจักขณ์ชี้ว่า พุทธศาสนาในตะวันตกต่างจากพุทธศาสนาในสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง

     “ผมเริ่มไปศึกษาศาสนาในโลกตะวันตกช่วงที่ทิเบตถูกจีนโจมตี แล้วศาสนาพุทธจากทิเบตกำลังค่อยๆ กระจายตัวไปที่อินเดียและโลกตะวันตก สิ่งที่ตะวันตกรับเอาไปจากตะวันออกหรือจากทิเบตในยุคนั้นได้กลายเป็นศาสนาพุทธที่เจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนั้นๆ มาจนทุกวันนี้ โดยรับเอา ‘การปฏิบัติทางศาสนธรรม’ เข้าไปในช่วงที่ศาสนาในโลกตะวันตกอ่อนแออยู่แล้ว นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมศาสนาพุทธที่เข้าไปในโลกตะวันตกยุคนั้นถึงเข้าไปอย่างประจวบเหมาะ เพราะเป็นยุคที่คนในสังคมไม่ได้รู้สึกแล้วว่าศาสนามันตอบโจทย์อะไรทั้งทางสังคมและในชีวิตของเขา แล้วพอมีการปฏิบัติทางจิตวิญญาณที่เข้าไปเติมบางสิ่งบางอย่างที่พวกเขารู้สึกขาด มันจึงตอบโจทย์อะไรบางอย่างแก่พวกเขา

     “จริงๆ แล้วคนตะวันตกที่สนใจเรื่องพวกนี้เขาไม่ได้สนใจเรื่องศาสนา ไม่ได้ศึกษาศาสนาพุทธที่ความเป็นศาสนาเลย เพียงแต่สนใจว่าศาสนาพุทธสอนอะไร และการทำสมาธิมันช่วยอะไรเขาได้บ้าง เพราะเขาจะมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และการหย่าร้างสูง ในสภาพสังคมที่มีความเป็นปัจเจกสูง เขาจะหาเครื่องมืออะไรที่จะมาช่วยให้เรื่องเหล่านี้ได้รับการเยียวยาแก้ไข

     “ในบริบทของโลกตะวันตกไม่ได้บังคับหรือมีกฎเกณฑ์ว่าเราควรจะปฏิบัติต่อศาสนาอย่างไร ควรจะเป็นพุทธแบบไหน จึงมีความรู้สึกว่ามันเปิดอยู่ เรามีสิทธิที่จะเลือก มันเป็นความรู้สึกที่ว่าเราไม่ได้เริ่มจากการจำเป็นต้องมีศาสนา ศาสนาไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็น เราเข้าไปอยู่ในบริบทสังคมที่ทำให้เรื่องพวกนี้ไม่ได้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคุณ แต่ถ้าคุณเริ่มสนใจมันปุ๊บ เท่ากับคุณได้เลือกแล้วว่าสิ่งนั้นมันสำคัญต่อคุณ”

 

พุทธศาสนาเมืองไทย เครื่องมือสร้างชาติ และพุทธธรรมที่กำลังจะหายไป

     ในโลกตะวันตก พุทธศาสนาคือหนึ่งในทางเลือก แต่ในเมืองไทย วิจักขณ์มองว่าสถานะของพุทธศาสนาอยู่ในทางตรงกันข้าม

     “ไอเดียของศาสนาที่เข้ามาในบริบทของไทย เรารับเข้ามาในช่วงที่ศาสนาของตะวันตกอ่อนแอและกำลังหมดความสำคัญลงไปเพื่อมาสร้างอัตลักษณ์ในช่วงที่เราสร้างรัฐชาติ

     “ถ้ามีคนกลุ่มใหญ่มองว่าศาสนาจำเป็นต่อรัฐ ถามว่าผมมองอย่างไร ผมก็จะต้องถามต่อไปว่ารัฐแบบไหน ถ้าเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยหรือรัฐที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เขาก็จะส่งเสริมเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม เรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างที่บอก ตัวศาสนาแบบนั้นล้าหลังไปแล้ว มันไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แต่ที่เรารู้สึกว่าศาสนาพุทธจำเป็นต่อรัฐก็เพราะมันคือรัฐแบบเก่า รัฐที่เรารู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องของการใช้สติปัญญา รัฐที่ไม่ได้ส่งเสริมให้คนมีอำนาจในตัวเอง

     “ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ทำให้เกิดความนิ่ง และทำให้การเดินทางของพุทธธรรมหายไป เราจะมีความรู้สึกว่าแบบนี้ดีแล้ว ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราอยู่ในโลกตะวันตก เวลาศาสนาพุทธอยู่ในบริบทอีกแบบหนึ่ง มันจะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทั้งในเรื่องการตีความคำสอน การศึกษาคัมภีร์ การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้เรียน ไม่มีคำสอนแบบใดแบบหนึ่งเป็นมาตรฐาน แบบนี้ถูก-ผิด หรือแบบนี้พุทธแท้-พุทธเทียม ซึ่งมันมีการเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา จึงเหมือนว่าพุทธบ้านเราไม่พร้อมที่จะเข้าไปเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ

     “หรือท้ายที่สุด เราก็จะพยายามตีความหรือตัดสินความทุกข์ของผู้คนในสมัยใหม่ด้วยภาษาแบบเก่า สมมติว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้า เขาก็จะมีวิธีการอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ได้พยายามจะเข้าใจคุณ แต่กลับทำให้คุณเข้าใจศาสนานั้นมากขึ้นแทน”

 

กรณีศึกษาจากเมียนมา ควรหรือไม่ที่จะบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

     ศาสนากับการเมืองในพม่า: ว่าด้วยการทำให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ (1948-1962) โดยลลิตา หาญวงษ์ งานเขียนชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้กันทางมุมมองและความคิดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในสังคมพุทธที่มีบริบทที่อาจจะเรียกได้ว่าใกล้เคียงกับสังคมไทยมากที่สุด

     บทบาทของพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่มีต่อการเมืองเมียนมาในช่วง 10 ปีหลังจากเมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของอู นุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของเมียนมา ได้น้อมนำพุทธศาสนาให้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรัฐเมียนมาสมัยใหม่ขึ้น พร้อมถอดรื้ออิทธิพลของระบอบอาณานิคม รวมถึงวัฒนธรรมตะวันตกที่ได้ลดทอนคุณค่าทางอัตลักษณ์และพุทธศาสนาในเมียนมาไปอย่างมาก พร้อมกับเข็นนโยบายสร้างรัฐพุทธในอุดมคติที่ผสมผสานเข้ากับรัฐแบบฆราวาส อีกทั้งทุ่มงบประมาณมหาศาลในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 6 เพื่อกรุยทางไปสู่การสถาปนาพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ถึงแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ในเมียนมาจะเป็นชาวพุทธ แต่การผลักดันดังกล่าวก็ได้รับเสียงคัดค้านอย่างหนัก โดยฝ่ายคัดค้านเกรงว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นชนวนนำไปสู่การลุกฮือของชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่นๆ

     นโยบายที่พยายามจะผสมผสานพุทธศาสนาเข้ากับการปกครองในสังคมเมียนมาจึงสิ้นสุดลงพร้อมกับการรัฐประหารในปี 1962 โดยกองทัพเมียนมา ภายใต้การนำของนายพลเน วิน ที่มีจุดยืนในการสร้างรัฐสมัยใหม่ที่ควรมุ่งหน้าพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภาและให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการผลักดันให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ

     ความสัมพันธ์ของรัฐและศาสนาในเมียนมามีการไหลเลื่อนตามบริบททางสังคมและช่วงเวลา การรัฐประหารของนายพลเน วิน นับว่าเป็นจุดสิ้นสุดยุคเฟื่องฟูของพุทธศาสนาในเมียนมาสมัยใหม่ และนำประเทศเข้าสู่วิถีระบอบสังคมนิยมในเวลาต่อมา ถึงแม้ว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นและตกอยู่ภายใต้เผด็จการมาอย่างยาวนานเกือบ 5 ทศวรรษ แต่พุทธศาสนาในเมียนมาก็ยังคงมีบทบาทและอำนาจเป็นอย่างมาก แม้นายพลเน วิน จะพยายามแยกศาสนาออกจากการเมืองก็ตาม สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าพุทธศาสนาในเมียนมายังคงเป็นแกนหลักที่ถูกนำมาใช้อธิบายพลวัตทั้งทางสังคมและการเมืองของเมียนมาได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  

     “การทำให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติของเมียนมาทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง แทนที่จะเป็นความขัดแย้งของคนที่นับถือศาสนาพุทธกับคนที่ไม่ได้นับถือ แต่กลายเป็นว่าเป็นความขัดแย้งของคนในรัฐบาลกับคนอีกฝั่งหนึ่งที่มองว่าการทำสิ่งนี้จะก่อให้เกิดความแตกแยกภายในชาติได้กลายเป็นประเด็นละเอียดอ่อนในเมียนมา แล้วดิฉันก็ไม่เคยเห็นว่าเมียนมาจะเรียกร้องให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติอีก ถึงแม้ว่าเราจะมีภาพว่าสังคมเมียนมาเป็นสังคมที่เคร่งครัดในศาสนาก็ตาม” ลลิตา หาญวงษ์ ให้ความเห็น

 

     ในวันที่ความสัมพันธ์ของรัฐและศาสนาในประเทศไทยถูกตั้งคำถาม เพราะเริ่มไม่สัมพันธ์กับผู้คนและโลกในศตวรรษที่ 21

     การพยายามสร้างกรอบกำหนดเกณฑ์บางอย่าง เช่น การแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ในประเด็นเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช การพยายามที่จะบัญญัติพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติ หรือการที่ฝั่งศาสนาเรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการดูแลเพื่อหวังให้เอื้อผลประโยชน์บางอย่าง

     เป็นไปได้หรือไม่ว่าสิ่งเหล่านี้กำลังทำให้พุทธศาสนาในสังคมไทยอ่อนแอลงอย่างคาดไม่ถึง

 

Photo: kan Sangtong, AFP

FYI
  • อุลามาอฺ เป็นคำมาจากภาษาอาหรับ แปลว่า ผู้รู้ เป็นนักวิชาการที่ทำหน้าที่ให้ความรู้และให้คำปรึกษาทางด้านศาสนาอิสลาม
  • อู นุ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของเมียนมา ภายหลังจากการประกาศเอกราชจากอังกฤษ (ค.ศ. 1948) และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเมียนมา เพราะเขาเชื่อว่าพุทธศาสนาจะทำให้เมียนมามีอัตลักษณ์ที่เข้มแข็งร่วมกัน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X