×

“ถ้าอยากให้สังคมดีขึ้น เราต้องทำอะไรสักอย่าง” คลองเตยในสายตาฝรั่ง ไม่ใช่แค่สลัม แต่คือที่สร้างชีวิตคน

27.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • กว่า 25 ปีที่ ซิสเตอร์โจน อีแวนส์ ได้อุทิศเวลาและชีวิตเพื่อชาวคลองเตย กระทั่งต้องวางมือจากภารกิจด้วยปัญหาสุขภาพ หวนคืนสู่ดินแดนบ้านเกิด แต่ยังมีฝรั่งที่ชื่อว่า มิสเตอร์บัง บินข้ามน้ำข้ามทะเลจากนิวยอร์ก มาสานต่อสิ่งที่เขาทำไว้
  • มิสเตอร์บัง รับไม้ต่อภารกิจนี้มา 7 ปีแล้ว เขาบอกว่า “อยากให้พวกคุณได้มาดู ได้มาสัมผัสว่าความจริงเป็นอย่างไร” เพื่อตอบคำถามว่า ‘คลองเตย’ ในภาพที่แท้จริงคืออะไรกันแน่
  • เกรียงไกร พละสนธิ จากเด็กยากจนที่ได้รับโอกาส ปัจจุบันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คือเพชรที่ถูกเจียระไน จากความช่วยเหลือของซิสเตอร์ จนวันนี้เขากลายเป็นที่พึ่งหลักของครอบครัว

     เมื่อพูดถึง ‘คลองเตย’ ภาพแรกที่หลายคนนึกถึง มักจะเป็นภาพชุมชนที่ เต็มไปด้วยปัญหายาเสพติดและมีสภาพเป็นสลัมเสื่อมโทรม

     แต่ใครจะรู้บ้างว่าภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ว่านี้ มีหนึ่งชีวิตที่อุทิศ เพื่ออีกหลายต่อหลายชีวิตในชุมชนแห่งนี้

     ซิสเตอร์ผู้หนึ่งมองเห็นโอกาส โอกาสในการเปลี่ยนแปลง โอกาสในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่ขึ้นชื่อว่าแออัดที่สุดในประเทศ

     สมญา ‘นางฟ้า’ ที่ได้รับจากการทุ่มเทชีวิตเพื่อภารกิจนี้ของ ‘ซิสเตอร์โจน อีแวนส์’ น่าจะไม่ผิดนัก เมื่อเทียบกับสิ่งที่เธอทำเพื่อชาวคลองเตยหรือชุมชนโรงหมูมากว่า 25 ปี

 

 

     แม้ทุกวันนี้ซิสเตอร์จะกลับไปอยู่บ้านเกิด เพราะปัญหาด้านสุขภาพ แต่ยังมีอาสาสมัครที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากทวีปอื่นเพื่อสานต่อภารกิจของนางฟ้า เขาคือฝรั่ง ผู้มีนามว่า ‘Mr.Milos Bang’ (มิลอส บัง) ซึ่งเกิดที่ยูโกสลาเวีย และไปใช้ชีวิตอยู่ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

     THE STANDARD ติดต่อหาเขาภายหลังเราได้อ่านเรื่องราวของซิสเตอร์เพื่อขอติดตามการทำงานของเขาในหนึ่งวัน และสนทนาหาความหมายของการรับไม้ต่อภารกิจนี้

เราทุกคนล้วนมีพรสวรรค์ที่เราได้รับมา นั่นคือความเห็นอกเห็นใจกัน

แม้เราจะต่างที่มา ต่างภาษาหรือวัฒนธรรม

 

ตามติดภารกิจฝรั่ง ผู้รับไม้ต่อจากนางฟ้า

     จากการติดตามชีวิตตลอดทั้งวันศุกร์ของมิสเตอร์บัง ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงเที่ยงครึ่งวันนี้ คือการเดินทางออกไปห้างสรรพสินค้า เพื่อซื้อข้าวสารอาหารแห้ง รวมทั้งวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการประกอบอาหาร เพื่อนำไปแจกให้กับผู้คนในชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เรียกว่า RICE RUN เป็นข้าวสารถุงหนึ่งร้อยถุงซึ่งหนักถึงครึ่งตันเลยทีเดียว กับน้ำมันและปลากระป๋องในจำนวนที่สมส่วนกัน เพื่อให้สามารถทำอาหารได้พอดี

 

 

     จากนั้นเรานัดเจอเขาอีกทีในช่วงเวลา 16.30-17.30 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาในการแจกจ่ายสิ่งของ โดยใช้เวลารวมแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น จากนั้นเขาจึงมีเวลาว่างเพื่อมานั่งสนทนากับเรา

           

 

ไม่ได้ตั้งใจจะเข้ามาทำตั้งแต่ทีแรก

     เขาเล่าให้เราฟังว่า “แรกเริ่มที่เดินทางมากรุงเทพฯ ผมไม่ได้ตั้งใจจะมาเป็นอาสาสมัครเลย แต่พอผมเริ่มได้รู้จักซิสเจอร์โจน อีแวนส์ และสิ่งที่เธอได้ทำผมรู้สึกประทับใจอย่างมาก

     “แม้เธอจะเป็นแม่ชี (ครู) สอนศาสนา แต่เธอไม่เคยพูดถึงเรื่องพระเจ้ากับเราเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่สิ่งที่เธอทำได้แสดงให้เราเห็นและรู้สึกถึงความตั้งใจในความดีและสิ่งที่เธอทำจริงๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมตัดสินใจมาช่วยเธอสานต่อภารกิจ (แม้ผมจะเป็นฝรั่งที่มาจากประเทศตะวันตก แต่ผมอ่านปรัชญาของศาสนาพุทธตั้งแต่อายุ 16 ปีด้วยซ้ำ)”

 

 

     เหตุผลที่มิสเตอร์บังตัดสินใจมาสานต่อภารกิจนี้ แม้ซิสเตอร์จะกลับไปแล้ว เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาซิสเตอร์ได้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนหลายด้าน (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา อาหารหรือนม) และตลอด 20 กว่าปี ทำให้มีผู้สนับสนุนจากประเทศของซิสเตอร์ (ออสเตรเลีย) จำนวนมาก

     แม้ซิสเตอร์จะต้องกลับไปเพราะเหตุผลด้านสุขภาพ แต่ผู้คนเหล่านั้นที่เคยสนับสนุนก็ยังพร้อมที่จะสนับสนุนต่อไป

     “ทำไมผมจะไม่ทำต่อล่ะ”

     นั่นคือเหตุผลที่เขาตอบเรา ถึงการเลือกที่จะทำเพื่อช่วยเหลือคนที่นี่ต่อ

ถ้าเราอยากให้สังคมดีขึ้น เราต้องทำอะไรสักอย่างให้เกิดขึ้น

 

ถ้าเราอยากเห็นโลกที่ดี อย่ารอคอย จงทำมันขึ้นมา

     “เวลาที่เราเห็นเพื่อนมนุษย์หิวหรืออดมื้อกินมื้อแล้วเขาได้กินอิ่มเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข นั่นคือความเป็นมนุษย์ที่ธรรมชาติให้เรามา เราทุกคนล้วนมีพรสวรรค์ที่เราได้รับมา นั่นคือความเห็นอกเห็นใจกัน แม้เราจะต่างที่มา ต่างภาษาหรือวัฒนธรรม” เขาเริ่มต้นอธิบายถึงความรู้สึกนึกคิดในใจที่ลงลึกเข้าไปอีก

     “ผมใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่รู้สึกว่าคนในสังคมขาดมิตรภาพ ขาดการเชื่อมโยงกัน แต่คนไทยเป็นคนที่เป็นมิตรสูงมากและใจดีกับผม ผมเลยรู้สึกว่าในเมื่อผมมาอาศัยอยู่ที่นี่แล้วผมสามารถทำอะไรได้สักอย่างเพื่อให้สังคมดีขึ้น ทำไมผมจะไม่ทำล่ะ ในโลกตะวันตกเราเชื่อว่าถ้าเราอยากให้สังคมดีขึ้น เราต้องทำอะไรสักอย่างให้เกิดขึ้น

     “อย่างที่คุณเห็น เราเพียงแค่ใช้เวลาทุกวันศุกร์เพียงแค่ 4 ชั่วโมงในฐานะกลุ่มคนต่างชาติเล็กๆ ที่อยากเห็นสังคมไทยดีขึ้น ลองคิดดูว่านมที่เราได้ให้เขาไปทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ทำให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย ข้าวที่เราให้เขาไปทำให้เขากินอิ่มทุกมื้อ ไม่ต้องอดมื้อกินมื้อ จุดเล็กๆ จุดนี้ที่เราทำอาจจะก่อให้เกิดประโยชน์หรือสร้างโอกาสให้กับชีวิตใครสักคนก็ได้      

 

 

     “ผมไม่มีอะไรจะฝากทิ้งท้ายในแนวเชิญชวนให้พวกคุณมาทำอาสาสมัครแบบพวกเรา แต่พวกเราอยากให้พวกคุณได้มาดู ได้มาสัมผัสว่าความจริงเป็นอย่างไร และคุณอยากจะให้สังคมที่เราอยู่เป็นอย่างนั้นจริงๆ ไหมมากกว่า จากนั้นคุณคงจะตอบคำถามของตัวเองได้” เขาย้ำกับเราว่านี่ไม่ใช่การทิ้งท้ายบทสนทนา

ผมมักจะถูกถามว่ารอดมาได้อย่างไรกับสภาพแวดล้อมแบบนั้น มันอยู่ที่ใจ

 

     ด้วยระยะเวลาอันยาวนานที่ซิสเตอร์อุทิศและอาศัยอยู่ในชุมชนนี้ นอกจากที่เราจะออกตามหาผู้สานต่อภารกิจของเธอ ระหว่างทางเราได้พบกับ ‘เกรียงไกร พละสนธิ’ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ เขาคือผลผลิตและรูปธรรม จากความพยายามในการสร้างชีวิต ซึ่งได้รับโอกาสจากนางฟ้าผู้นี้ และทุกวันนี้เขาก็ยังใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนคลองเตย

 

เพชรในตม จากเด็กในสลัมมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

     “เขาช่วยผมตั้งแต่เด็กสมัยอยู่ในชุมชนโรงหมู ผมจำได้ว่าตอนที่อาศัยอยู่ในชุมชนค่อนข้างยากจน จนต้องมาขอความช่วยเหลือจากซิสเตอร์ตั้งแต่ ป.4 โดยมีเรื่องเงินรายอาทิตย์ อาหารกลางวัน หนังสือ เครื่องแต่งกาย ค่าเดินทาง” คือเรื่องราวเริ่มต้นที่เขาเปิดเผยเรื่องราวของชีวิตในวัยเด็กให้เรารับรู้

     “มันเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มาก เพราะสมัยนั้นรัฐบาลยังไม่ได้ทำ แม้แต่ตอนเราจบปริญญา ซิสเตอร์ก็ยังช่วยเหลือค่าชุดครุยให้กับเรา นอกจากค่าใช้จ่ายด้านปัจจัยแล้ว ซิสเตอร์ยังช่วยเหลือเรื่องคำปรึกษา คอยช่วยเหลือและแนะนำเราในเรื่องการศึกษาเสมอ คนที่เข้าไป มีทั้งเดือดร้อนจริงๆ กับฉวยโอกาส บางคนพอถึงปากซอยก็ถอดสร้อยทองและทำทีเป็นเดือดร้อนก็มี แต่เราไม่ใช่อย่างนั้นและก็ต้องการให้สิ่งที่ซิสเตอร์เสียไปนั้นคุ้มค่าด้วย”

     เกรียงไกร ได้รับการสนับสนุนด้านปัจจัย เพื่อโอกาสทางการศึกษาจากซิสเตอร์ตั้งแต่ประถม จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท แม้ว่าวันนี้เขาจะเป็นเพียงอาจารย์มหาวิทยาลัยอัตราจ้าง ซึ่งกำลังรอคอยการได้รับบรรจุในอนาคต แต่จากจุดสตาร์ทในชีวิตที่ต้นทุนต่ำ จึงเป็นความสำเร็จในชีวิตที่เกินความคาดหมาย แต่ก็เพราะความพยายามของเขาเองด้วยที่ส่งให้เขามีเส้นชัยดังที่เห็นในวันนี้

 

พื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน การมองความสำเร็จจึงแตกต่าง

     “แม้ยาเสพติดจะยังไม่ได้หมดไป แต่ก็ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นระดับหนึ่ง” เกรียงไกรเล่าถึงสภาพชุมชนของเขาในปัจจุบัน

     “ผมมักจะถูกถามว่ารอดมาได้อย่างไรกับสภาพแวดล้อมแบบนั้น มันอยู่ที่ใจเรา สิ่งเสพติดไม่เคยยุ่ง เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ คนอื่นมักจะมองว่าเราคือคนที่มาจากชุมชน สลัม และมักจะตราหน้าว่าเราติดยา แต่มันยังมีเพชรอีกหลายๆ เม็ดที่ยังอยู่

     “คลองเตยเป็นอีกที่หนึ่งถึงแม้ไม่ใช่ที่ที่ดีที่สุด ถ้าเราเดินเข้าไปจริงๆ เขาก็ค้าขาย เปิดร้านค้าเล็กๆ หาเช้ากินค่ำไปวันๆ สิ่งที่ซิสเตอร์ช่วย อาจจะไม่ได้ไปช่วยเขาทั้งหมดหรือเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาได้ แต่เขาก็ช่วยลดภาระคนในชุมชนได้ ช่วยให้คนชักหน้าไม่ถึงหลังแก้ปัญหาได้

     “แม้คำว่าความสำเร็จของเราอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่หรือเหมือนกับความคิดของคนทั่วไป แต่ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จในแบบของเรา ประสบความสำเร็จในแง่ที่สามารถดำรงชีวิตได้ จากคนคนหนึ่งที่อาจจะเป็นภาระครอบครัว พอได้รับโอกาสก็กลายมาเป็นที่พึ่งของครอบครัวแทน” เกรียงไกรเล่าทิ้งทายอย่างภาคภูมิใจ          

FYI
  • การมาสานต่อของมิลอส บัง ต่อจากซิสเตอร์ ทำให้คนในชุมชนคิดว่าเขาเป็นบาทหลวง เผยแผร่ศาสนาและต่างพากันเรียกว่า ‘คุณพ่อ’ ซึ่งแม้แต่คุณมิลอสก็ยังไม่รู้
  • RICE RUN คือโครงการแจกข้าวสารอาหารแห้ง ส่วน MILK RUN คือการแจกนมผงให้กับเด็กๆ ด้วยความคิดว่าคนที่มีรายได้น้อยได้ทานแต่คาร์โบไฮเดรต จึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและมีประโยชน์ด้วย โดยสองกิจกรรมนี้จะทำสลับกันไปในแต่ละสัปดาห์
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X