×

ความเจริญของชาติ VS วิถีชุมชน: เหมืองโปแตชกับชาวบ้านอำเภอวานรนิวาส

03.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • (เสียงจากผู้ติดตาม) “ถ้ามองย้อนไปในอดีต อีสานถือเป็นพื้นที่แห่งการต่อสู้ตั้งแต่กบฏผีบุญ ถึงแม้จะถูกเรียกว่าเป็น ‘กบฏ’ แต่จริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้เพียงแต่ต้องการเรียกร้องให้รัฐมาดูแลช่วยเหลือ มาถึงยุคหนึ่งก็ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของคอมมิวนิสต์ และปัจจุบันก็ถูกมองว่าการต่อสู้ของชาวบ้านขัดผลประโยชน์ของชาติ”
  • (เสียงจากชาวบ้าน) “ผมก็จะร้องไปยังรัฐบาลจีน เพราะรัฐบาลจีนบอกคนของเขาเสมอว่า ถ้าไปหากินที่ประเทศของใครก็อย่าทำให้พี่น้องของเขาเดือดร้อน ผมก็จะย้อนกลับไปว่า แล้วที่พวกคุณทำผิดกฎหมายไทย พวกคุณจะว่ายังไง”
  • (เสียงจากนายทุน) “ผมถามว่าทุกวันนี้ยังมีบ้านไหนเอาควายไถนาไหม จะจับกบจับเขียดกินไปตลอดชีวิตใช่ไหม วิถีชีวิตเปลี่ยนไม่ต้องกลัวหรอก มั่นใจว่าเป็นประโยชน์กับชาวบ้านหรือประเทศแน่นอน”

     จากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมความรู้และการสร้างความตระหนักในการเสนอข่าวที่เคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และได้ร่วมลงพื้นที่เพื่อรับทราบข้อมูลปัญหาเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 25-28 กรกฎาคมที่ผ่านมา (ก่อนจะเกิดสถานการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่)

     ทำให้ทีมข่าว THE STANDARD ได้เห็นภาพและมุมคิดหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการต่อสู้ของชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยกับพลังของทุนจากต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาหลายคนต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งเป็นการฟ้องเพื่อต้องการให้คนในพื้นที่หยุดเคลื่อนไหว หรือหยุดแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาหยุดเรียกร้องสิทธิของตนเองแต่อย่างใด

 

 

อีสาน ดินแดนนักสู้

     นายประทีป มีคติธรรม ผู้ติดตามแผนพัฒนาในภาคอีสาน ได้ให้สัมภาษณ์กับเราถึงประเด็นที่อีสานกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอิทธิพลของทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจโลกต่อการพัฒนาในภาคอีสาน

     “ถ้ามองย้อนไปในอดีต อีสานถือเป็นพื้นที่แห่งการต่อสู้ตั้งแต่กบฏผีบุญ ถึงแม้จะถูกเรียกว่าเป็น ‘กบฏ’ แต่จริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้เพียงแต่ต้องการเรียกร้องให้รัฐมาดูแลช่วยเหลือ มาถึงยุคหนึ่งก็ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของคอมมิวนิสต์ และปัจจุบันก็ถูกมองว่าการต่อสู้ของชาวบ้านขัดผลประโยชน์ของชาติ

     “ผลประโยชน์ของชาติคืออะไร แล้วชาวบ้านจะได้อะไร ตัวเลขการพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญขนาดนั้นเลยหรือไม่ ตัวอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีทั้งนักลงทุนใหญ่ นักลงทุนข้ามชาติ แล้วชาวบ้านแถวนั้นได้อะไรมาบ้าง ได้น้อยกว่าเสียหรือเปล่า

     “การเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกจะทำให้การพัฒนามีความรอบคอบและชอบธรรมมากกว่านี้ การแก้ปัญหา รวมถึงการเยียวยาผลกระทบที่ตามมาจะตรงจุดมากกว่า ทุกวันนี้เราบอกว่าชาวบ้านไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง แต่ชาวบ้านจะเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตั้งแต่แรก การมีส่วนร่วมในที่นี้อาจจะไม่ใช่ในการแสดงความคิดเห็นต่อต้าน แต่คือการรับรู้ นอกจากข้อดีแล้วต้องได้รับรู้ข้อเสีย และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจบ้าง แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านรู้รายละเอียดเท่าไร มากพอไหม

     “ปฏิเสธไม่ได้ว่าทิศทางการค้าการลงทุนในระดับอาเซียนและระดับโลกมีอิทธิพลต่อการพัฒนาในภาคอีสานอย่างมาก โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS ที่ได้วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาการค้าการลงทุนเอาไว้แล้ว และกำลังถูกสานต่อด้วยโครงการ One Belt One Road ภายใต้การนำของประเทศจีน โดยรูปธรรมที่ออกมา เช่น การก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ การตั้งนิคมอุตสาหกรรมชายแดน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจากประเทศลาว หรือการเข้ามามีบทบาทของนักลงทุนจากประเทศจีน แน่นอนว่าในมุมมองด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ นี่คือโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หากไม่ดำเนินการอะไรเลยก็อาจจะตกกระแส”

 

 

การมีส่วนร่วมคือทางออก

     “อย่างไรก็ตาม บทเรียน นโยบาย หรือโครงการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือภาคเอกชนมีสองด้านเสมอ ในด้านบวก ในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะดีนัก นี่คือการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และสำหรับชาวบ้าน ชุมชนท้องถิ่นอาจจะได้รับประโยชน์จากการจ้างงานในพื้นที่ คนในท้องถิ่นไม่ต้องอพยพไปใช้แรงงานยังกรุงเทพมหานครและโรงงานในภาคตะวันออก และเป็นโอกาสในการหาช่องทางการประกอบอาชีพใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย การปลูกพืชผล การผลิตส่งให้แก่โรงงาน เป็นต้น แต่หลายคนก็ยังมีคำถามว่าคนในท้องถิ่นจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาแท้จริงมากน้อยเพียงใด

     “แต่ในด้านลบ การพัฒนาก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียที่ดินจากการเวนคืนหรือขับไล่ออกจากที่ดินเพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนา การแย่งชิงน้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร การเปลี่ยนแปลงสังคมเกษตรไปสู่การทำเกษตรเชิงพาณิชย์ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการผลิตในภูมิภาคอีสานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมไปถึงหากมีการก่อสร้างก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมหรือโรงงานอุตสาหกรรมก็อาจก่อให้เกิดปัญหามลภาวะตามมาได้เช่นกัน ดังบทเรียนที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ที่เคยมีบทเรียนผลกระทบจากโครงการพัฒนาในอดีต เช่น กรณีการก่อสร้างเขื่อนต่างๆ ในอีสาน ภายใต้โครงการโขง-เลย-ชี-มูล ซึ่งบางโครงการยังต้องแก้ไขปัญหามาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน หรือปัญหาผลกระทบจากมลภาวะของโรงงานอุตสาหกรรม และเมื่อเกิดปัญหาแล้วก็ไม่สามารถเยียวยาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ บทเรียนเหล่านี้ก่อให้เกิดคำถามและความไม่ไว้วางใจต่อรัฐ รวมถึงโครงการพัฒนาในเชิงธุรกิจของภาคเอกชนว่า พวกเขาจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด

     “รัฐจะพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปทางไหน อีสานจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างนี่คือสิ่งที่เราต้องตั้งคำถาม รัฐควรให้ความชัดเจนมากกว่านี้ ที่ผ่านมาชาวบ้านเดือดร้อน รัฐควรจะเป็นผู้มาช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา หรือแม้แต่เยียวยา แต่ทุกวันนี้ชาวบ้านอยู่กับใคร ยังดีที่ชาวบ้านในอีสานมีพลังการรวบรวมมวลชนและตั้งกลุ่มขึ้นมาขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เช่น กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส” นายประทีปกล่าวย้ำ

     หลังจากการได้รับฟังและสัมภาษณ์ข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว ทาง กสม. ก็ได้พาเราลงพื้นที่ที่มีการปักปันที่ดินเพื่อสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของแร่โปแตชในอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เมื่อเราไปถึง ชาวบ้านพร้อมให้การต้อนรับและให้ข้อมูลของผลกระทบที่ได้รับ และเรามีแขกพิเศษคือทหารในนามของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ คอยสังเกตการณ์อยู่ด้วยทุกพื้นที่

 

 

ผมจะเรียกร้องกับประเทศจีน

     นายปรีชา สุทธิวงศ์ ตัวแทนชาวบ้านแหลมทอง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร กล่าวถึงความคับข้องใจและแนวทางการต่อสู้ว่า

     “ผมเสียเงินไปหลายรอบให้เจ้าหน้าที่มาทำรังวัดเพื่อพิสูจน์ว่า การมาสำรวจแร่ของบริษัทไชน่า หมิงต๋า บุกรุกที่ของผม รวมทั้งแจ้งความและร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัด แต่การมาทำรังวัดของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ทำเพื่อพิสูจน์ทราบชัดเจนว่าพื้นที่เป็นของใครกันแน่และกลับไปทันที ทำให้ผมคิดว่าจุดที่วางแท่นเป็นการรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของผม

     “ทันทีที่ผมพิสูจน์ได้ว่าพื้นที่วางแท่นเจาะเป็นที่ของผม ผมก็จะร้องไปยังรัฐบาลจีน เพราะรัฐบาลจีนบอกคน (ประชาชน) ของเขาเสมอว่า ถ้าไปหากินที่ประเทศของใครก็อย่าทำให้พี่น้องของเขาเดือดร้อน ผมก็จะย้อนกลับไปว่า แล้วที่พวกคุณทำผิดกฎหมายไทย พวกคุณจะว่ายังไง ตัวผมจะรอเสร็จคดีจากนี้ก่อน ผมก็จะไปที่สถานกงสุลจีน จังหวัดขอนแก่น เพื่อร้องเรียน” นายปรีชาทิ้งท้าย

     ขณะที่ มะลิ แสนบุญศิริ หรือ ‘แม่มะลิ’ ของชาววานรนิวาส เปิดเผยด้วยภาษาพื้นถิ่นอีสานว่า ‘อุกอั่ง’​ ซึ่งหมายถึง ความคับแค้นใจ ความอัดอั้นตันใจที่มีต่อเรื่องนี้ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐหรือเอกชนไม่เคยบอกรายละเอียดของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ชาวบ้านจึงมีแต่ความวิตกกังวลและถูกละเมิดสิทธิในที่ดินตนเองหลายครั้ง คนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องก็ต้องถูกข่มขู่ แต่ก็ยืนยันว่าจะต่อสู้ ไม่ต้องการให้มีเหมืองโปแตชในพื้นที่อีกต่อไป “เราคำนึงถึงอนาคตลูกหลาน ป่าไม้ ทรัพยากรในวันข้างหน้า ความไม่ไว้วางใจรัฐนั้นมีอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เขามองเราเป็นชาวไร่ชาวนา ไม่ค่อยให้การช่วยเหลือ เราก็ต้องสู้ตามวิถีทาง ตามกฎหมายที่มีต่อไป”

 

 

ทุกการเปลี่ยนแปลงมีผู้ได้และผู้เสีย แต่เราก็ต้องทำ

     หลังจากที่เราได้ลงพื้นที่เพื่อคุยกับชาวบ้านที่คัดค้านกรณีเหมืองแร่โปแตชแล้ว ทางทีมงาน THE STANDARD ก็ได้ต่อสายไปถึง นายธัญญพัฒน์ หวังวงศ์สิริ ผู้จัดการของบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อที่จะรับฟังข่าวสารอีกด้าน

     “โปแตช หรือเหมืองแร่โปแตช ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับโลกนี้ ต่างประเทศทำเหมืองแร่โปแตชมากว่าร้อยปี ทุกวันนี้ปุ๋ยที่เราใช้ก็นำเข้าจากประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา แคนาดา เยอรมนี ถามว่าท้องที่แถวนั้นได้รับผลกระทบไหม ก็ยอมรับว่าได้รับผลกระทบ แต่มันก็มีกระบวนการแก้ไขปัญหาให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด มีกระบวนการเยียวยาชดเชยต่างๆ ผมถามว่าทุกวันนี้ยังมีบ้านไหนเอาควายไถนาไหม จะจับกบจับเขียดกินไปตลอดชีวิตใช่ไหม

     “วิถีชีวิตเปลี่ยน ไม่ต้องกลัวหรอก พื้นที่ของอำเภอวานรนิวาสมีประมาณ 1,001 ตารางกิโลเมตร ใช้พื้นที่สัก 1 ตารางกิโลเมตรหรือแค่ 0.1% จะเป็นอะไรไป อีกอย่างหนึ่ง โครงการนี้เป็นการร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน เป็นการพัฒนาผลประโยชน์ของชาติ” นายธัญญพัฒน์เสริมย้ำ

     ทีมงาน THE STANDARD จึงได้ถามเพิ่มเติมว่าการเปลี่ยนแปลงที่ว่ามานั้นเป็นประโยชน์กับชาติอย่างไรบ้าง เขาตอบว่า

     “มั่นใจว่าเป็นประโยชน์กับชาวบ้านหรือประเทศแน่นอน ชาวบ้านจะเห็นด้วยเรื่อยๆ เข้ามาเรื่อยๆ ถ้าชาวบ้าน 90% ไม่เอาเราจริงๆ ป่านนี้เราคงไม่สามารถตั้งบริษัทอยู่ในสกลนครได้แล้ว

     “ทำไมเราไม่สร้างโอกาสทางการท่องเที่ยวให้มีการเที่ยวเหมืองแร่ ขายสินค้าต่างๆ และเพิ่มผลประโยชน์ให้กับวงการเกษตรด้วยการผลิตปุ๋ยจากแร่โปแตชเอง เพื่อที่จะให้ปุ๋ยที่เกษตรกรใช้มีราคาถูกลง ร้านค้า ร้านอาหารก็ตั้งขึ้นได้ ไม่ก็มั่งคั่งขึ้น การคมนาคม ถนนก็มีคุณภาพขึ้น ทุกสิ่งล้วนเป็นการพัฒนา ไม่อยากให้ชาวบ้านกลัวการเปลี่ยนแปลง อยากให้ชาวบ้านเปิดใจ และเราจะทำประชาพิจารณ์หรือประชามติเมื่อจะขอประทานบัตรทำเหมืองแร่แน่นอน” นายธัญญพัฒน์ทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงมั่นใจ

 

 

     แม้เรื่องนี้จะยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร แต่ก็ทำให้เราได้ฉุกคิดว่า การพัฒนาประเทศโดยอ้างวาทกรรม ‘เป็นประโยชน์ต่อชาติ’ เพื่อใช้เป็นใบอนุญาตให้ประกอบกิจการต่างๆ นั้นเกิดขึ้นมาตลอด ไม่ใช่แค่ประเด็นเหมืองแร่นี้เท่านั้น

     คำถามสำคัญก็คือ สิ่งนี้อาจจะเป็นภาพสะท้อนของรัฐในฐานะตัวกลางที่ต้องนำพา ‘ประโยชน์ของชาติ’ ให้ไปด้วยกันกับ ‘ประโยชน์ของชุมชน’ ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ จึงได้เกิดความขัดแย้งขึ้น ซึ่งในบางกรณี รัฐยังเป็นหนึ่งในคู่แย้งเองด้วย

     อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ถือเป็นประเด็นที่น่าจับตาต่อไปว่าแต่ละภาคส่วนจะเดินหน้าอย่างไร โดยเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบันจะเข้ามาจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร จะใช้ดาบอาญาสิทธิ์ เช่น ‘ม. 44’ ที่จัดการครอบจักรวาลในทุกประเด็นของสังคมหรือไม่ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านกลัวที่สุด

 

 

FYI
  • กรณีเหมืองแร่โปแตช เหตุเกิดเมื่อช่วงประมาณปี 2519-2520 กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการเจาะสำรวจแร่ที่อำเภอวานรนิวาส, อำเภอพรรณานิคม, อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พบแร่โปแตชชนิด Carnallite และ Sylvite
  • หลังจากนั้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้พื้นที่แอ่งสกลนครและแอ่งโคราชเป็นพื้นที่เพื่อการสำรวจ ทดลอง ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแร่ตามมาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510
  • ในเวลาต่อมา นายกรัฐมนตรี (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้ชักชวนให้จีนมาลงทุนโครงการเหมืองแร่โปแตชในไทย โดยได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2540
  • เมื่อวันที่16 พฤษภาคม 2547 บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชในอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จำนวน 12 แปลง เนื้อที่จำนวน 120,000 ไร่
  • ปี 2559 มีประชาชนสวมเสื้อสำนึกรักบ้านเกิดและหยุดเหมืองแร่โปแตช มารวมตัวที่ กม. 2 ถนนวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร และที่อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ประมาณ 2,000 คน เพื่อแสดงพลังว่าไม่ต้องการเหมืองแร่ นำโดย น.ส.สกุณา สาระนันท์ แกนนำกลุ่มรักษ์วานร, นายปรีชา สุทธิวงศ์ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลวานรนิวาส เพื่อคัดค้านการได้การได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ ซึ่งจะหมดอายุในปี 2563
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X