×

น้ำท่วมคราวนี้ฝีมือใคร ภัยธรรมชาติ หรือการจัดการ

31.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ดร. สุทัศน์ วีสกุล มองว่าในปัจจุบันมีการรายงานสถานการณ์น้ำจากหลากหลายหน่วยงาน แต่สิ่งที่ขาดอยู่ตอนนี้คือ ทีมวิเคราะห์ท้องถิ่น ที่จะนำข้อมูลจากส่วนกลางไปเสริมกับข้อมูลท้องถิ่นแล้ววิเคราะห์ ประเมิน เพื่อขยายไปสู่การเตือนภัยในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างเฉพาะเจาะจง
  • ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ มองว่าเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงระบบการเตือนภัยที่ล้มเหลวของกรมชลประทาน เนื่องจากไม่มีแผนรับมือภัยพิบัติจากเขื่อนที่ชัดเจน ขณะที่ประเทศไทยมีเขื่อนกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ
  • ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา มองว่ายังเร็วไปที่จะวิเคราะห์และถอดบทเรียนจากน้ำท่วมคราวนี้ พร้อมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีสมาธิในการทำงานแก้ไขปัญหาก่อนดีกว่า

     3 วันมาแล้วที่สถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานยังคงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างต่อเนื่อง แม้ปริมาณน้ำฝนจะลดลงแล้ว แต่ในหลายพื้นที่ยังคงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะใน 12 จังหวัด ที่ยังคงมีปริมาณน้ำท่วมขังรอการระบายลงแม่น้ำอีกเป็นจำนวนมาก

     ในช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นความพยายามช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้จากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และภาคเอกชน ที่ร่วมมือร่วมใจกันอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้

 

 

     ขณะเดียวกันก็ออกตัวอย่างชัดเจนว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นภัยธรรมชาติอย่างแท้จริง ต่างจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่เกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด

     นำมาสู่คำถามว่า จริงหรือไม่ที่น้ำท่วมครั้งนี้เป็นฝีมือของภัยธรรมชาติเพียงอย่างเดียว หรือแท้จริงแล้วการบริหารจัดการก็อาจจะมีส่วนเช่นกัน

ครั้งนี้ฝนตกเยอะมาก 254 มิลลิเมตรถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติ ถึงแม้จะออกแบบระบบป้องกันหรือระบายน้ำ แต่ก็คงไม่ได้ใช้ค่านี้ในการออกแบบ ยังไงก็ต้องท่วม

 

ภัยธรรมชาติที่เกินรับมือ

     สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดจากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่าจากพื้นที่เกิดอุทกภัยและน้ำไหลหลาก รวม 42 จังหวัด ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 30 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 12 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ยโสธร มุกดาหาร พิจิตร พระนครศรีอยุธยา อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และหนองคาย

 

 

     ส่วนในรายงานสรุปสถานการณ์น้ำประจำวันของกรมชลประทานระบุว่า สกลนครยังคงมีน้ำท่วมขังในอำเภอเมือง ระดับน้ำสูง 1.50 เมตร ขณะที่กาฬสินธุ์ยังมีน้ำท่วมในอำเภอเมือง ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และร่องคำ รวมพื้นที่ประมาณ 59,000 ไร่ เช่นเดียวกับมหาสารคามที่มีน้ำท่วมในเขตชลประทาน 33,000 ไร่ และร้อยเอ็ด ใน อ.เสลภูมิ ที่มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำติดริมน้ำอีก 15,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมเพื่อเร่งระบายน้ำ

 

 

     ดร. สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์น้ำท่วมในเวลานี้ว่า ผลจากพายุเซินกาทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง 2-3 วัน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 ลุ่มแม่น้ำหลักของประเทศ คือ ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำชี ที่มีปริมาณฝนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมที่ตัวเมืองเพชรบูรณ์ สกลนคร และอีกหลายจังหวัดที่อยู่ในลุ่มน้ำโขง

     โดยเฉพาะสกลนครที่มีน้ำท่วมหนักมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักถึง 254 มิลลิเมตร ประกอบกับมีน้ำจากเทือกเขาภูพาน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือไปประมาณ 15 กิโลเมตร และมีฝนตกหนักถึง 100 มิลลิเมตร ทำให้สกลนครกลายเป็นพื้นที่รับน้ำไปเต็มๆ เมื่อบวกกับการที่ตัวเมืองมีการพัฒนา ส่งผลให้เส้นทางน้ำตามธรรมชาติไม่ชัดเจน สุดท้ายจึงไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน

     แต่ปัจจุบันสถานการณ์ในสกลนครถือว่าดีขึ้นมากแล้ว เพราะระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝนเริ่มลดปริมาณลงเรื่อยๆ ที่ต้องทำตอนนี้คือเร่งระบายน้ำจากปริมาณฝนเมื่อ 2-3 วันก่อนเท่านั้น ส่วนหลังจากนี้ไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคมยังไม่มีสัญญาณของพายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทย คาดว่าสถานการณ์น่าจะคล้ายกับปี 2542 ที่มีดีเปรสชัน 2 ลูก แต่ไม่เข้าไทย

 

 

     “ประเด็นหลักคือพายุเซินกา ถือเป็นพายุลูกแรกในรอบ 2-3 ปีนี้ที่เข้ามาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และสลายพลังงานที่ประเทศไทย เพราะฉะนั้นถึงแม้พายุลูกนี้จะสลายพลังงานไปแล้ว แต่ก็วนเวียนอยู่ในประเทศไทยนาน เพราะมีขนาดใหญ่ และเคลื่อนที่ช้า ทำให้ปริมาณฝนสะสมมีสูง”

     ดังนั้นเมื่อให้วิเคราะห์ว่าปัจจัยไหนมีผลมากกว่ากันระหว่างภัยธรรมชาติ กับการบริหารจัดการ ดร. สุทัศน์ จึงมองว่าภัยธรรมชาติครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ยากจะรับมือ

     “โดยสรุปคือครั้งนี้ฝนตกเยอะมาก 254 มิลลิเมตรถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติ ถึงแม้จะออกแบบระบบป้องกันหรือระบายน้ำ แต่ก็คงไม่ได้ใช้ค่านี้ในการออกแบบ ยังไงก็ต้องท่วม เพียงแต่อาจจะท่วมและระบายเร็วขึ้นเท่านั้น”

     แต่ถึงอย่างนั้นจะโทษภัยธรรมชาติอย่างเดียวก็คงไม่ถูกต้อง เพราะการบริหารจัดการที่ดีก็สามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์ลงไปได้เช่นกัน

เท่าที่เข้าใจ ผมไม่เคยเห็นเขื่อนไหนมีแผนรับมือกับภัยพิบัติจากเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นน้ำล้นสันเขื่อน หรือเขื่อนวิบัติ อย่าลืมว่าประเทศไทยมีเขื่อนขนาดใหญ่ 33 แห่ง เขื่อนขนาดกลาง 367 แห่ง และเขื่อนขนาดเล็กอีก 4,000 แห่ง ต่อไปมีพายุเกิดขึ้นที่ไหน เขื่อนเหล่านี้ก็จะมีความเสี่ยงทั้งหมด

 

มีข้อมูล แต่ขาดการวิเคราะห์ จุดอ่อนการจัดการที่ต้องแก้ไข

     ในปัจจุบันมีการรายงานสถานการณ์น้ำจากหลากหลายหน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA หรือแม้แต่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรเอง แสดงให้เห็นว่ามีข้อมูลจากส่วนกลางเป็นจำนวนมากที่จะนำไปสู่การเตือนภัยอย่างทันท่วงทีกับประชาชนได้

 

 

     แต่สิ่งที่ขาดอยู่ตอนนี้คือสิ่งที่ ดร. สุทัศน์เรียกว่า ‘ทีมวิเคราะห์ท้องถิ่น’ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการป้องกันสถานการณ์น้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อๆ ไป

     “ปัจจุบันเรามีข้อมูลจากส่วนกลางที่ส่งไปยังภูมิภาคหรือจังหวัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก อย่าง สสนก. เองก็มีการวิเคราะห์ภาพรวมในทุกๆ เช้า และมีการเตือนภัยไปในระดับจังหวัด แต่สิ่งที่ยังขาดคือทีมวิเคราะห์ท้องถิ่นที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นไปวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ต่อ เพราะนอกจากจะมีความรู้เรื่องสภาพพื้นที่แบบเฉพาะเจาะจงแล้ว คนในท้องถิ่นยังจะให้ความเชื่อถือมากกว่าข้อมูลส่วนกลางด้วย เหมือนคนในบ้านเตือนกันเอง”

     โดยทีมวิเคราะห์ท้องถิ่นดังกล่าวควรเป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน เช่น ปกครองจังหวัด โยธาธิการจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจงทำให้การประเมินสถานการณ์ทำได้อย่างชัดเจนมากกว่าการรอข้อมูลจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว

     ซึ่งเมื่อท้องถิ่นทราบข้อมูลจากส่วนกลางแล้วนำไปเสริมด้วยข้อมูลของท้องถิ่นเอง ก็จะทำให้ความเข้มข้นในการเตือนภัยมีมากขึ้น นอกจากนี้ทีมวิเคราะห์ดังกล่าวยังสามารถทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตในการทำการเกษตรของแต่ละพื้นที่ได้อีกด้วย

     นอกเหนือไปจากการวิเคราะห์ข้อมูลและเตือนภัยแล้ว ดร. สุทัศน์ ยังแนะนำว่าสิ่งที่ควรทำอย่างเร่งด่วนหลังน้ำลดคือการฟื้นฟูลำน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นระบบการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว

     “ลำน้ำเหล่านี้เนื่องจากเป็นลำน้ำสาธารณะ บางครั้งอาจจะมีชาวบ้านที่ถือโฉนดพื้นที่ใกล้เคียงก่อสร้างบ้านเรือนรุกล้ำเข้าไปจนทำให้ลำน้ำสาธารณะมีขนาดแคบลง ทำให้การระบายน้ำทำได้ไม่ดี ทางที่ดีหลังน้ำลดก็ควรมีการสำรวจว่าลำน้ำที่มีอยู่มีจำนวนเท่าไหร่ ใช้ได้ดีเท่าไหร่ มีการรุกล้ำเท่าไหร่ แล้วปรับปรุงให้มีสภาพใช้งานได้ เรื่องนี้สามารถทำได้ทันที ใช้เงินน้อย แต่ต้องเหนื่อยหน่อย เพราะต้องไปรบกับชาวบ้าน”

 

 

ระบบเตือนภัยที่ล้มเหลว

     นอกจากปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติแล้ว วิกฤตน้ำท่วมสกลนครส่วนหนึ่งยังเกิดมาจากคันกั้นนำ้ในเขื่อนห้วยทรายขมิ้นที่ชำรุดเสียหาย ทำให้มีปริมาณน้ำบางส่วนไหลลงมาสมทบเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนด้วย

     สำหรับกรณีนี้ ดร.สุทัศน์ มองว่าปริมาณน้ำในเขื่อนที่ไหลทะลักออกมาอาจมีส่วนที่ทำให้น้ำท่วมสูงขึ้น แต่ไม่น่ามากนักเมื่อเทียบกับปริมาณฝนที่ตกลงมา หลังจากนี้คงต้องวิเคราะห์และคำนวณตัวเลขต่อไปว่ามีผลมากน้อยแค่ไหน

     ขณะที่ ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะผู้เรียกร้องให้มีการจัดทำแผนรับมือความเสี่ยงภัยพิบัติจากเขื่อนมาโดยตลอดระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงระบบการเตือนภัยที่ล้มเหลวของกรมชลประทาน

     “ในกรณีนี้คนในท้องถิ่นยืนยันว่าไม่มีการแจ้งเตือนภัยใดๆ ทั้งสิ้น ขนาดเขื่อนชำรุดไปแล้ว น้ำท่วมหนัก กรมชลประทานยังแถลงว่าเขื่อนแค่มีน้ำกัดเซาะ ซึ่งถ้ามีการแจ้งเตือนก่อน ถึงน้ำจะยังท่วมก็จริง แต่ทรัพย์สิน หรือรถยนต์ของประชาชนก็คงไม่ได้รับความเสียหายขนาดนี้เพราะสามารถขนย้ายได้ทัน”

 

 

     นอกจากนี้ ดร. ไชยณรงค์ ยังเปรียบเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นกับเขื่อนโอโรวิลล์ ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าทางน้ำล้น หรือสปิลล์เวย์ของเขื่อนแตกเป็นรูโหว่ขนาดใหญ่ และเสี่ยงต่อการพังทลาย ทำให้มีการแจ้งเตือน และอพยพคนอย่างทันท่วงที

     “เหตุการณ์นั้นเราจะเห็นเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเต็มถนน ปิดถนนหลวง ปิดเส้นทางสัญจร สั่งอพยพคนไปอยู่ในที่ปลอดภัย บอกว่ามีเส้นทางไหนบ้างที่จะสัญจรได้โดยไม่เป็นอันตราย จนกว่าจะมั่นใจว่าแก้ปัญหาได้แล้ว จึงอพยพคนกลับ แต่เราไม่ได้ทำแบบนั้น ถ้าทำแบบนั้นเราคงไม่เห็นรถยนต์จมอยู่ใต้น้ำเยอะขนาดนี้แน่นอน

     “เท่าที่เข้าใจ ผมไม่เคยเห็นเขื่อนไหนมีแผนรับมือกับภัยพิบัติจากเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นน้ำล้นสันเขื่อน หรือเขื่อนวิบัติ อย่าลืมว่าประเทศไทยมีเขื่อนขนาดใหญ่ 33 แห่ง เขื่อนขนาดกลาง 367 แห่ง และเขื่อนขนาดเล็กอีก 4,000 แห่ง ต่อไปมีพายุเกิดขึ้นที่ไหน เขื่อนเหล่านี้ก็จะมีความเสี่ยงทั้งหมด แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่มีแผนการรับมือที่ถูกต้อง” ดร. ไชยณรงค์ ตั้งคำถามต่อกรมชลประทานในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลเขื่อนเป็นจำนวนมาก

 

 

 

     ขณะที่ ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ GISTDA มองว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะวิเคราะห์ถึงปัญหาและบทเรียน เพราะสิ่งที่ต้องเร่งทำตอนนี้คือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

     “ตอนนี้หน่วยงานต่างๆ เขากำลังทำงานกันอยู่ เราจะไปวิจารณ์หรือออกความเห็นตอนนี้คงไม่เหมาะ เพราะพูดไปก็ยังทำอะไรไม่ได้ ต้องรอให้เหตุการณ์จบก่อน ถึงจะมาวิเคราะห์บทเรียนในระยะยาว ไม่ต้องห่วง เราเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้หมดแล้วว่าน้ำมายังไง ไปยังไง วิเคราะห์ตอนนี้มันผิดที่ ผิดทาง ผิดเวลา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาได้มีสมาธิในการทำงานแก้ไขปัญหาก่อนดีกว่า”

     หลังน้ำลดคราวนี้ยังมีสิ่งที่เราต้องทำอีกมาก นอกจากจะฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแล้ว การหันหน้ามาช่วยกันถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะถ้าบทเรียนนั้นจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตลักษณะนี้ในอนาคตได้อีก

 

Photo: สกลนคร ซิตี้/facebook

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising