ในวาระครบรอบ 117 ปีชาตกาล ของนายปรีดี พนมยงค์ และเป็นปีที่ 85 ของระบอบประชาธิปไตยที่นายปรีดีมีส่วนในการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศสยาม เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนในปีเดียวกัน ทำให้ราษฎรกลายมาเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ
แต่การเดินทางของประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลาน ผ่านอุปสรรคขวากหนาม ผ่านมือเผด็จการมาจนถึงวันนี้ มีผู้แสดงทัศนะว่ายังน่าเป็นห่วงอยู่มาก
แม้หลายคนอาจจะเคยศึกษาเรื่องราวชีวิตของนายปรีดีมาแล้ว ไม่ว่าจะจากแหล่งข้อมูลใดก็ตาม แต่หนึ่งในแหล่งข้อมูลที่จะถ่ายทอดเรื่องราวและตัวตนของนายปรีดีให้เราได้รู้และเข้าใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘ทายาท’ ที่เป็นสายเลือดของปรีดีเอง
ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 6 คนของนายปรีดี ปัจจุบันเป็นศิลปินแห่งชาติ ครู ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู สละเวลาให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘พ่อ’ ให้คนรุ่นหลังและผู้สนใจได้รู้จักนายปรีดีอีกครั้งหนึ่ง
มีคนถามคุณพ่อว่าไม่อยากกลับเมืองไทยเหรอ คำตอบคือคิดถึงเมืองไทยและอยากกลับมาตลอดเวลา
แต่ถ้ากลับมาแล้วบ้านเมืองวุ่นวาย ก็ยอมเสียสละที่จะไม่กลับ
มรดกที่ ‘ปรีดี’ ในฐานะพ่อ ได้ส่งต่อให้กับลูกจนถึงวันนี้คืออะไร
มรดกสำคัญที่คุณพ่อทิ้งไว้ให้คือการทำงานรับใช้ชาติและราษฎรไทยอย่างซื่อสัตย์สุจริต เป็นมรดกทางความคิดที่มีค่ามากกว่ามรดกทางทรัพย์สิน ซึ่งคุณพ่อก็ไม่มีอยู่แล้ว
ตลอดชีวิตของครู คิดว่าสังคมมีความคาดหวังกับ ‘ทายาท’ ของปรีดีอย่างไรบ้าง
ครูดุษเป็นลูก เป็นทายาททางสายเลือด ก็พยายามดำเนินรอยตามอุดมการณ์เพื่อส่วนรวมของคุณพ่อ ยังมีทายาทอีกประเภทหนึ่งคือทายาททางอุดมการณ์ที่มีอยู่ไม่น้อยในสังคมไทย พวกเขาเป็นเมล็ดพันธุ์พืชแห่งประชาธิปไตย และจะเติบโตงอกงามต่อไปในอนาคต ครูดุษจึงฝากความหวังไว้กับทายาททางอุดมการณ์รุ่นใหม่นี้
คิดว่าคนในประเทศนี้มองตัวตนของปรีดีเป็นแบบไหนกันแน่
มองกันได้หลายด้าน โบราณบอกว่า ‘คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ’ คนที่ยกย่องเชิดชูก็มี คนที่ใส่ร้ายป้ายสีก็มี แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคนว่าควรจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ใช้หลักกาลามสูตรของพระพุทธเจ้าเป็นดีที่สุด
ทุกสิ่งมันต้องเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรหยุดอยู่กับที่ บางสิ่งมันเปลี่ยนแปลงในทางที่ก้าวหน้า
บางสิ่งก็เปลี่ยนแปลงถอยหลังกลับ อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกงล้อของประวัติศาสตร์ต้องหมุนไปข้างหน้า
จุดแข็งของปรีดีคือความซื่อสัตย์สุจริต พอจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมได้ไหม
ความซื่อสัตย์สุจริต และการไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นโดยใช้ตัวเองเป็นตัวอย่างในการกระทำ เห็นได้จากการดำเนินชีวิต ไม่คดโกง ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว
ท่านปัญญานันทภิกขุ แสดงธรรมในพิธีไว้อาลัย ปาล พนมยงค์ พี่ชาย ว่าคุณพ่อไม่เคยรับเบี้ยประชุมในฐานะกรรมการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด นี่อาจจะเป็นตัวอย่างเล็กๆ ตัวอย่างหนึ่ง
ตอนที่คุณพ่อเสียชีวิต มีเงินเหลือเพียงเล็กน้อย ที่ดินสักหนึ่งตารางวาก็ไม่มี เราก็ภูมิใจที่มีแค่นี้
มีคนเคยกล่าวว่านายปรีดีเป็น ‘คนดีที่เมืองไทยไม่ต้องการ’ ครูมีความคิดเห็นอย่างไร
คนที่รักความเป็นธรรมส่วนหนึ่ง รวมทั้งผู้เขียนกลอนบทนี้ต้องการจะสื่อสารกับสังคมว่า ‘คนดี’ มีนิยามที่ต่างกัน ผลที่ได้รับจากสังคมก็ต่างกัน ยิ่งในปัจจุบัน คำนิยามของคนดีทำให้คนสับสนไขว้เขว เพราะต่างก็อ้างกันว่าเป็นคนดีไปหมด
เมื่อ พ.ศ. 2492 คุณพ่อได้รับเกียรติจากสถาบันสมิธโซเนียน นำชื่อของท่านไปตั้งเป็นชื่อนกปรีดี (Chloropsis Aurifrons Pridii) ที่พบบนดอยอ่างขาง ซึ่งเป็นนกตัวแรกของโลกที่สถาบันฯ ให้เกียรติกับคนไทย ต่อมาก็มีการตั้งชื่อนกอีกตัวที่พบบริเวณใกล้เคียงว่านกเสรีไทย เพื่อเป็นเกียรติแก่นายปรีดีในฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทยที่ ต่อสู้กับญี่ปุ่น ผู้รุกรานในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
พ.ศ. 2543 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ยกย่องเชิดชูเกียรตินายปรีดี พนมยงค์ ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
มีบทเพลงชื่อ คนดีมีค่า เนื้อเพลงตอนหนึ่งที่ให้คำนิยามของ ‘คนดี’ ได้ชัดเจนค่ะ
“ใครคือคนดีมีค่า อาจแค่คนธรรมดาฟ้าส่ง เมื่อเกิดบรรเจิดบรรจง ยืนยงเพราะคุณความดี…”
เหตุใดปรีดีถึงเป็นคนที่น่ากลัวสำหรับคนบางกลุ่ม
อาจจะเพราะว่าคนเหล่านั้นกลัว ‘คนดี’ ที่หมายถึงคนที่เป็นผู้สร้างสิ่งดีๆ ทำประโยชน์ให้แก่สังคม เขาอยากอยู่กับสิ่งเก่าๆ ตลอดไป
ชื่อปรีดีถูกสร้างให้เป็นปีศาจแห่งยุคสมัย เปรียบเสมือนตัวละคร สาย สีมา ในเรื่อง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นปีศาจที่หลอกหลอนสังคมเก่าที่ผุกร่อนและเน่าเฟะ ปรีดีอาจจะเป็นตัวแทนของสิ่งใหม่ สังคมใหม่ โลกใหม่ ดังนั้นคนที่ยึดติดกับโลกเก่าย่อมไม่พอใจ
ธรรมศาสตร์ตอนนี้ก็เปลี่ยนไปนะ จากเดิมเป็นตลาดวิชา
เพราะคุณพ่อสร้างธรรมศาสตร์ไว้เพื่อให้โอกาสการศึกษาสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเงินให้ได้มาเรียน
แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว มันเปลี่ยนไป
สิ่งที่ปรีดีได้วางรากฐานไว้ ครูมองว่ามาจนถึงวันนี้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง
ความเป็นประชาธิปไตยคือรากฐานสำคัญที่ผู้ก่อการ พ.ศ. 2475 ได้วางไว้ให้แก่สังคมไทย
แต่ทุกสิ่งมันต้องเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรหยุดอยู่กับที่ บางสิ่งมันเปลี่ยนแปลงในทางที่ก้าวหน้า บางสิ่งก็เปลี่ยนแปลงถอยหลังกลับ อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกงล้อของประวัติศาสตร์ต้องหมุนไปข้างหน้า เหมือนเราขับรถไปข้างหน้า บางทีมันก็ถอยหลัง หรืออาจจะไปชนอะไรบ้าง แต่ท้ายที่สุดรถก็จะไปถึงที่หมาย เพียงแต่เมื่อไรเท่านั้นเอง
คุณพ่อเขียนเอาไว้ชัดเจนในหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม ไปหาอ่านเอานะคะ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เคยบอกว่า ท่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นสามเณร
ครูอยู่ในวัยแย้มฝาโลงแล้ว ชีวิตนี้อาจจะไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
แต่มีบางคนพยายามฝืนกฎอนิจจัง พยายามควบคุมการเปลี่ยนแปลง
ในโลกใบนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง มนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่มีใครอยู่เป็นอมตะ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดยั้งวันและเวลาไว้ เพราะนี่คือความเป็นอนิจจังของสังคม
ประวัติศาสตร์มีอำนาจอย่างไร
ประวัติศาสตร์ของชาติที่ยังด้อยพัฒนาในโลกนี้ ใครขึ้นมามีอำนาจ คนนั้นก็เป็นคนเขียนประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างประเทศจีน เหมาเจ๋อตุง เป็นผู้นำสูงสุด มีหลิวเส้าฉี โจวเอินไหล และจูเต๋อ เป็นผู้นำคู่ใจที่ร่วมกันต่อสู้จนได้รับชัยชนะจากรัฐบาลก๊กมินตั๋ง แต่ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ผู้มีอำนาจสมัยนั้นเปลี่ยนประวัติศาสตร์ใหม่ กลายเป็นว่านายพลหลินเปียว เป็นผู้นำคู่ใจของเหมาเจ๋อตุง เปลี่ยนกันง่ายๆ แบบนี้เลย
ในเมื่อประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้มีอำนาจเช่นนี้ ก็ย่อมรับใช้อำนาจรัฐนั้นๆ เสมอไป
มีเกร็ดเกี่ยวกับปรีดีที่เราไม่ค่อยทราบกันไหม
เมื่อคุณพ่อแต่งงานกับคุณแม่จนมีลูกเล็กๆ 2 คน วันหนึ่งคุณพ่อบอกคุณแม่ว่า จะกลับไปบวชที่วัดพนมยงค์ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) วันที่ 23 มิถุนายน 2475 คุณแม่ไปส่งคุณพ่อที่สถานีรถไฟหัวลำโพง วันรุ่งขึ้นเวลาตีห้าของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นที่มาของจดหมายที่คุณพ่อเขียนถึงคุณแม่ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2475 ความตอนหนึ่งว่า
“…ขอโทษอย่างมากที่ต้องพูดปดวันนั้นว่าจะไปอยุธยา เพราะถ้าบอกความจริงก็เกรงว่าจะมาจากบ้านไม่ได้ แล้วผลร้ายก็จะเกิดขึ้นเป็นแม่นมั่น…”
อีกประโยคหนึ่งในจดหมายคือ “…ขอให้เธอนึกว่าฉันบวช เพราะก่อนนั้นฉันเคยถามเธอแล้วว่า ถ้าฉันบวชสัก 6 เดือน เธอจะว่าอย่างไร เธอก็ตอบเต็มใจ การที่ทำครั้งนี้ยิ่งเสียกว่าการบวช เราได้กุศลผลบุญที่ทำให้ชาติ ย่อมได้สืบต่อไปถึงบุตรหลาน ภรรยาก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วย…”
อีกเรื่องหนึ่งคือคุณพ่อได้พกหนังสือ ธรรมะคู่ชีวิต กฎบัตรพุทธบริษัท ที่พุทธทาสภิกขุส่งไปให้จากสวนโมกข์ฯ เก็บไว้กับตัวในกระเป๋าเสื้อนอกตลอดช่วงสุดท้ายของชีวิต นี่ก็คงเป็นเรื่องแปลกสำหรับนักการเมืองทั่วไป
ความปรารถนาที่ปรีดีจะทำอะไรเพื่อบ้านเมือง แต่สุดท้ายก็ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน ครูสัมผัสความรู้สึกของพ่อได้ว่าอย่างไร
คุณพ่อห่วงใยบ้านเมืองตลอดเวลา เคยเขียนจดหมายเสนอข้อคิดเห็นบางประการในการบริหารบ้านเมือง แต่ไม่ได้รับการตอบรับ
เมื่อไปอยู่ฝรั่งเศส ลูกศิษย์ลูกหาและคนในแวดวงต่างๆ พากันเดินทางไปเยี่ยมมากมาย ช่วงนั้นคุณพ่อมีความสุขมาก มีคนถามคุณพ่อว่าไม่อยากกลับเมืองไทยเหรอ คำตอบคือคิดถึงเมืองไทยและอยากกลับมาตลอดเวลา แต่ถ้ากลับมาแล้วบ้านเมืองวุ่นวาย ก็ยอมเสียสละที่จะไม่กลับ แล้วสุดท้ายคุณพ่อก็ได้กลับเมืองไทย แต่เป็นเพียงอัฐิธาตุของท่านที่คืนสู่ธรรมชาติ เราได้นำไปทิ้งทะเลทั้งหมดตามคำสั่งของคุณพ่อ
ธรรมศาสตร์กับปรีดีวันนี้เป็นอย่างไร
ธรรมศาสตร์ตอนนี้ก็เปลี่ยนไปนะ จากเดิมเป็นตลาดวิชา เพราะคุณพ่อสร้างธรรมศาสตร์ไว้เพื่อให้โอกาสการศึกษาสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเงินให้ได้มาเรียน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว มันเปลี่ยนไป
ข้อต่อมาคือ นักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นเก่าในสมัยที่คุณพ่อเป็นผู้ประศาสน์การ ได้รับการปลูกฝังให้เรียนรู้แนวคิดประชาธิปไตย และเน้นความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์
หลังจากยุติการเป็นตลาดวิชา ธรรมศาสตร์ก็มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ
เมื่อปรีดีถูกยกให้เป็นสิ่งสักการะบูชา ครูคิดอย่างไร
คุณพ่อสอนลูกไม่ให้เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ คนที่ไปกราบไหว้บูชารูปปั้นคุณพ่อเขาอาจจะต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ก็ไม่ว่ากัน แต่อยากจะแนะนำว่า การยึดถือวิถีชีวิตของปรีดีเป็นตัวอย่างในการทำความดีเป็นเรื่องดีที่สุด
การเมืองไทยไม่สร้างสรรค์ ตอบได้ประโยคเดียวค่ะ
แล้วเป็นเหตุผลที่ท่านผู้หญิงพูนศุข ไม่เชื่อเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ หรือเปล่า
คุณแม่ได้เขียนคำสั่งเสียที่ว่า “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น…” ท่านเขียนไว้ตอนอายุ 86 ปี และเสียชีวิตในสิบปีให้หลังเมื่ออายุ 96 ปี เป็นคำสั่งเสีย ไม่ใช่พินัยกรรม ลูกก็ไม่ได้ถามว่าหมายความว่าอะไร หลายคนตีความกันไปต่างๆ นานา มีทั้งมองในแง่บวกและแง่ลบ
ลูกตอบแทนคุณแม่ไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นของนอกกาย ทุกคนตายไปแล้วมันก็เหมือนกันหมด เอาอะไรไปไม่ได้ทั้งสิ้น รวมทั้งชื่อเสียงและเกียรติยศด้วย จึงไม่ควรยึดติด
เชื่อว่าเกียรติยศสูงสุดของคุณแม่คือการที่ได้เป็นภรรยานายปรีดี พนมยงค์ ที่รับใช้ชาติและราษฎรไทยอย่างซื่อสัตย์สุจริตตลอดชีวิต
ต้องต่อสู้ทางการเมืองมาตลอดเวลา มองการเมืองอย่างไร
การเมืองไทยไม่สร้างสรรค์ ตอบได้ประโยคเดียวค่ะ
ปรีดีมองการเมืองอย่างไร
ตอบแทนไม่ได้ คนรุ่นใหม่ควรไปหาหนังสือที่คุณพ่อเขียนไว้มาอ่านแล้ววิเคราะห์เอาเอง
ทราบว่าครูเชี่ยวชาญด้านดนตรีและเป็นศิลปินแห่งชาติด้วย สิ่งนี้ส่งผลกับชีวิตครูอย่างไร
ไม่ถึงกับเชี่ยวชาญหรอกค่ะ พอรู้เรื่องบ้างแบบงูๆ ปลาๆ แต่ทำงานด้วยใจรัก ด้วยความรับผิดชอบ และมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างผลงานใหม่ๆ อยู่เสมอ
ชีวิตที่เรียบง่ายก็ยังดำเนินต่อไปตามปกติ มีดนตรีมาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้มีสุขภาพใจและสุขภาพกายดีพอสมควร การได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติช่วยให้มีหลักประกันการรักษาพยาบาล มีสิทธิพิเศษบ้างในการสร้างผลงานดนตรี
มีความสุขกับการใช้ดนตรีเพื่อรับใช้สังคม เพราะดนตรีให้อะไรมากกว่าความบันเทิง ดนตรีคุณภาพสร้างสัญชาตญาณใฝ่ดีแก่มนุษย์ ทำให้คิดดี พูดดี และทำดี
ในวัยแย้มฝาโลงเช่นนี้ ครูดุษก็ยังเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมือง
ฝันเห็นประชาธิปไตย ฝันเห็นการอยู่ดีกินดี ไม่ประทุษร้ายซึ่งกันและกัน
ชีวิตของดุษฎี พนมยงค์ เป็นแบบไหนในวัยย่างเข้าเลขแปด
ในวัยแย้มฝาโลงเช่นนี้ ครูก็ยังเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมือง ฝันเห็นประชาธิปไตย ฝันเห็นการอยู่ดีกินดี ไม่ประทุษร้ายซึ่งกันและกัน ฝันเห็นสันติสุขที่น่าจะเกิดขึ้นในโลกมนุษย์นี้
ครูพยายามทำความดี ละเว้นความชั่ว เพราะความดีจะทำให้เราภูมิใจกับชีวิต ทำหน้าที่ที่ควรทำครบถ้วนกับคนที่รัก กับสังคม และประเทศชาติ แล้วก็จะไม่เสียใจ
ถ้ามีคนที่เคยเข้าใจปรีดีแล้ววันหนึ่งความเข้าใจเขาเปลี่ยนไปรู้สึกอย่างไร
ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ยึดติด ไม่ถือโกรธด้วย เพียงแต่แปลกใจว่า สำหรับบางคนทำไมเขาเปลี่ยนไป สัจจะย่อมเป็นอมตะ ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ครูดุษอายุปูนนี้แล้ว คงไม่มีโอกาสได้เห็นความจริงอันงดงาม และสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย
ปรีดีชอบเพลงแนวไหน และชอบอาหารอะไร
ชอบทั้งเพลงไทยเดิมและเพลงสากล สำหรับเพลงไทยชอบเพลง ขับไม้บัณเฑาะว์ สายสมร และ อัสดงคต ได้แนะนำให้พระเจนดุริยางค์นำเอาเพลงเหล่านี้ที่ลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกเป็นโน้ตเอาไว้ มาปรับปรุงเรียบเรียงเสียงประสานเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก
สำหรับเพลงสากลก็ชอบเพลงประเภทอุปรากร เพลงที่ชอบมากคือเพลงฝรั่งเศสชื่อว่า J’ai Deux Amours, Mon Pays Et Paris หรือเพลง สองรักของฉัน รักหนึ่งคือบ้านเกิดเมืองนอน อีกรักหนึ่งคือปารีส ส่วนคุณแม่เล่นเปียโน ชอบฟังเพลงคลาสสิก
ส่วนเรื่องอาหาร คุณพ่อชอบทำมาก และทำได้รสชาติดีด้วย เมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อน คุณพ่อทำแกงเผ็ดโดยใช้นมแทนกะทิ เป็นการประยุกต์ที่ไม่ตายตัว และยังทำอาหารฝรั่งได้อีกหลายอย่าง ขนมก็ทำได้อย่างขนมขี้หนู และขนมชั้น เป็นต้น
คุณพ่อพูดว่าสัจจะเป็นอมตะ
ปรีดีขับรถไหม
ขับรถไม่เป็นนะ ไปอยู่เมืองจีน 21 ปี พูดภาษาจีนไม่เป็น เจ้าของบ้านต้องมีล่ามประจำตัว มีทหารเป็น ทส. (นายทหารคนสนิท) พกปืนตามไปอารักขาทุกที่ เขาดูแลดีมาก ในระดับรัฐมนตรีของส่วนกลาง มีรถประจำตัว มีคนขับ มีพ่อครัว มีแม่บ้าน มีล่าม บ้านพักใหญ่โตบริเวณกว้างขวาง (เพราะเคยเป็นอดีตสถานกงสุลอังกฤษประจำกวางโจว หน้าประตูก็มีทหารติดอาวุธผลัดละ 2 คน เฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง
คุณพ่อและคุณแม่พบรักกันอย่างไร
คุณพ่อเป็นญาติห่างๆ กับคุณแม่ ตอนมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ สมัยนั้นไม่มีหอพัก เด็กต่างจังหวัดไม่อาศัยวัดอยู่ก็ต้องอาศัยบ้านญาติผู้ใหญ่ คุณตาคุณยายมีลูก 12 คน เป็นสาวสวยอยู่ในวัยไล่เลี่ยกัน 7 คน คุณแม่เล่าให้ฟังว่าคุณพ่อสังเกตเห็นคุณแม่ชอบอยู่ใกล้ชิดผู้ใหญ่ สนใจติดตามการพูดคุยของผู้ใหญ่ คุณพ่อจึงมองว่าเด็กสาวคนนี้ท่าทางฉลาด พอคุณพ่อเรียนจบจากเมืองนอกกลับมาเมืองไทย ก็ตัดสินใจให้คุณปู่ (นายเสียง) มาสู่ขอคุณแม่ คิดดูสิว่าคุณปู่เป็นคนต่างจังหวัด เป็นชาวนา ต้องมาสู่ขอลูกสาวพระยานี่มันยิ่งใหญ่มากนะ คุณพ่อบอกว่าคุณปู่ประหม่าเล็กน้อย เมื่อตกลงกันแล้วคุณตาอนุญาตให้คุณพ่อพาคุณแม่ไปดูละครครั้งเดียวเท่านั้นก่อนแต่งงาน และทุกอย่างอยู่ในสายตาผู้ใหญ่ตลอด
นี่เป็นจุดเริ่มต้นของตำนานความรักระหว่างคุณพ่อกับคุณแม่ที่งดงามยั่งยืนตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต