หลังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา สถานการณ์แรงงานต่างด้าวในไทยเต็มไปด้วยความสับสน มีการอพยพเคลื่อนย้าย ‘แรงงาน’ กลับสู่ถิ่นฐานประเทศต้นทางจำนวนหลายหมื่นคน สาเหตุต้นๆ ที่นำมาสู่ปรากฎการณ์นี้คือกฎหมายได้กำหนดค่าปรับ รวมถึงบทลงโทษที่รุนแรงกับลูกจ้างและนายจ้างที่ทำผิดกฎหมาย
นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสิบกว่าวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุมและเรียกร้องให้มีการออกมาตรการเพื่อชะลอการบังคับใช้บางมาตราใน พ.ร.ก. ดังกล่าว กระทั่งนำมาสู่การออกมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้ 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และ มาตรา 122 โดยจะมีผลย้อนไปถึงวันที่ 23 มิถุนายน
ล่าสุดในวันนี้ (5 กรกฎาคม) กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ได้เปิดให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นผ่านเวทีการเสวนาเรื่อง พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ปวงชนชาวไทยได้อะไร ณ ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
“เราไม่ปฏิเสธการใช้แรงงานต่างด้าว เพราะถึงอย่างไรไม่พอใช้แน่นอน”
-วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน
การออก พ.ร.ก. เป็นไปเพื่อความจำเป็นเร่งด่วน เพราะหลายรัฐบาลพยายามดำเนินการเรื่องนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมามีการเปิดลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลายครั้ง สิ่งที่มักเกิดขึ้นในทุกครั้งคือมีการขอให้ขยายกรอบเวลาไปเรื่อยๆ แต่ครั้งนี้กระทรวงแรงงานยึดนโยบายที่ประเทศได้วางไว้ คือการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวต้องให้ความสำคัญในมุมของประเทศทางตะวันตก ประเทศคู่ค้าทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็มองว่าเรายังขาดการบริหารจัดการที่ดี
ที่ผ่านมาในอดีตเราเคยมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ 2 ฉบับ คือเมื่อปี 2551 และปี 2559 (ออกเป็น พ.ร.ก.) สะท้อนให้เห็นว่าเเรงงานต่างด้าวเข้าประเทศจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบอย่างเร่งด่วน ซึ่งฉบับปัจจุบันเป็นการรวมเอา 2 ฉบับนี้มารวมกันเพื่อให้การจัดการเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ และแรงงานจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย เราไม่ต้องการให้ประเทศตกอยู่ในสถานะที่ต้องถูกประเมินหรือกล่าวหาแบบนี้ต่อไป และเราไม่ปฏิเสธการใช้แรงงานต่างด้าว เพราะถึงอย่างไรก็ไม่พอใช้แน่นอน นี่คือความจำเป็นในการออก พ.ร.ก.
การออก พ.ร.ก. ในครั้งนี้ ส่วนใหญ่มักจะมองไปที่การกำหนดค่าปรับ รวมถึงบทลงโทษที่รุนแรงกับลูกจ้างและนายจ้างที่ทำผิดกฎหมาย แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีข้อดีที่กระทรวงแรงงานเรียนให้ทราบคือ พ.ร.ก. ฉบับนี้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอยู่ 4 ด้าน คือ
ด้านที่ 1 ส่งเสริมให้เกิด Doing Business และการลงทุน ให้อำนาจรัฐมนตรี ประกาศงานบางลักษณะที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือระเบียงเศรษฐกิจ
ด้านที่ 2 ให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศห้ามทำงานบางลักษณะที่สงวนไว้สำหรับคนไทย ห้ามแรงงานต่างด้าวทำ
ด้านที่ 3 กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดค่า levy Fee หรือค่าธรรมเนียมของคนต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในไทยตามประเภทงานที่กำหนดจากนายจ้าง
ด้านที่ 4 ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดว่างานประเภทใดที่ต้องได้รับการจัดสรรจำนวนคนต่างด้าวเข้าทำงาน (โควตา) ทั้งนี้ยกเว้นกลุ่มบีโอไอ
กฎหมายฉบับนี้ไม่เน้นการลงโทษลูกจ้าง แต่เน้นการลงโทษด้าน demand คือ นายจ้าง หากนายจ้างตั้งใจจ้างงานอย่างถูกกฎหมาย มีสำนึกเพื่อส่วนรวม ทุกคนจ้างแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมายหมดก็จะไม่มีปัญหา ที่เหนือกว่ากฎหมายคือสำนึกของคนที่จะยอมรับกฎหมาย ทำให้ถูกกฎหมาย สังคมไหนกฎหมายมาก กฎหมายซับซ้อน ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของคนในสังคม กฎหมายน้อยก็คือมีแต่คนดีๆ อยู่ในสังคม มีแต่คนมีคุณธรรม ขอให้หันหน้ามาช่วยกันทำให้ถูกกฎหมาย หาทางให้เกิดคุณธรรมสำหรับการจ้างงาน
แนวทางการดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.ก. ขอประกาศตรงนี้ว่า หากพบคนกรมการจัดหางาน คนกระทรวงแรงงาน ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องกรณีแรงงานต่างด้าว ขอย้ำว่าจะไม่ช่วย แต่จะซ้ำ เอาให้หนัก และเราลืมมองไปหรือเปล่าว่ายิ่งตั้งตัวเลข (ค่าปรับในการลงโทษ) ให้สูงมากเท่าไร มันสะท้อนว่าคนไทยไร้วินัยในการทำเรื่องเหล่านี้ให้ถูกกฎหมาย และต้องขอบคุณคนที่ทำให้เรื่องนี้ถูกกฎหมาย
แต่ปัญหาใหญ่ในปัจจุบันคือการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เปลี่ยนนายจ้างไม่ตรง แต่วันนี้หลัง พ.ร.ก. ประกาศใช้ มีคนมาขอเปลี่ยน work permit ให้ตรงหลายหมื่นรายแล้ว
ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลก็รับฟังว่าจะกระทบแรงงานประเภทใดบ้าง ม.44 ที่ออกมาเป็นการประกาศเพื่อยกเว้นบทลงโทษ ไม่ได้ยกเว้นบทความผิด ยังคงมีความผิดเหมือนเดิม แต่ไม่มีการลงโทษ ชะลอบทลงโทษไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 มองอีกมุม ในช่วง 180 วันจนถึงสิ้นปี อาจจะมีคนที่จะกระทำความผิดเพิ่มหรือเปล่า เพราะรู้ว่าตัวเองไม่ถูกลงโทษ เรื่องนี้มีบวก มีลบ แต่อย่างน้อยทำให้สบายใจ ภายใต้กรอบเวลา 6 เดือน และ ม.44 กำหนดให้รัฐมนตรีออกประกาศเพื่อจัดการในเรื่องนี้
โดยในเบื้องต้น กรมการจัดหางานเตรียมมาตรการรองรับ โดยจะเปิดศูนย์แจ้งการใช้แรงงานต่างด้าว เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้างต่างด้าว ได้ยืนยันความเป็นลูกจ้างนายจ้างกัน และกรมการจัดหางานจะคัดกรองเพื่อขออนุญาตทำงานต่อไป ซึ่งจะเปิดในทุกจังหวัดของประเทศ และในกรุงเทพฯ อีก 10 ศูนย์ในช่วงระยะเวลาประมาณ 15 วัน
นอกจากนี้ยังมีมาตรการยืดเวลาการขออนุญาตทำงานสำหรับแรงงานต่างด้าวที่ตรวจสัญชาติแล้ว และได้ CI พร้อมกับตรวจลงตราวีซ่าทำงานแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตทำงานก็สามารถขออนุญาตทำงานได้ โดยกลุ่มแรงงานในกิจการทั่วไป สามารถขอใบอนุญาตทำงานได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 และกลุ่มแรงงานในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแรงงาน
“บางส่วนรู้สึกว่ากฎหมายเป็นการไล่เขาออกจากประเทศทางอ้อม”
– สมพงศ์ สระแก้ว ผอ. มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ผู้อยู่ในแวดวงแรงงานมากว่า 20 ปี
จากการคลุกคลีกับแรงงานข้ามชาติมา 20 ปี ทำให้มองเห็นปัญหาใหญ่ๆ อยู่ 3 เรื่องคือ
1. ปัญหาแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ภาคการเกษตร และประมง
2. การละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น การจ่ายค่าจ้าง ค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการคุกคามถึงชีวิตและทรัพย์สิน อุบัติเหตุที่เกิดกับแรงงานก็มีทั้งผู้ประกอบการที่รับผิดชอบ ไม่รับผิดชอบ และรับผิดชอบ แต่ก็รับผิดชอบไม่หมด (รับผิดชอบแค่ค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น)
3. ปัญหาที่ไทยถูกให้คะแนนในรายงานการค้ามนุษย์ในระดับ Tier 2 Watchlist (เทียร์ 2 เฝ้าระวังเป็นพิเศษ) จาก Tier 3 ที่เราถูกตีตรามา 2 ปี เพราะปัญหาการค้ามนุษย์ที่สะสมจากทั้งภาคการประมงที่ผิดกฎหมายมีถึงประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ แรงงานบนฝั่งที่ถูกบังคับ แรงงานติดหนี้ และสถานประกอบการที่แรงงานถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่สะสมมานาน และเราตามแก้ไขปัญหาเรื่อยมา ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวหลักล้านคนมีทั้งที่มีพาสปอร์ต วีซ่า และระลอกใหม่ที่เกิดจากการทำ MOU ของทั้งสองรัฐบาล แต่ที่เหลืออีกจำนวนหนึ่งอยู่ในสภาพที่ผิดกฎหมาย ประเด็นหลัก เช่น ไม่ได้ต่ออายุของวีซ่า หรือใบอนุญาตทำงาน (work permit )
พอพระราชกำหนดฉบับใหม่ได้ประกาศใช้ กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายชัดเจน และทำให้มีทั้งแรงงานถูกกฎหมายที่ต้องการจะปรับตัว แต่กลไกของรัฐตอนนี้ก็ไม่เอื้ออำนวย เพราะกฎหมายยังไม่มีความชัดเจน บางส่วนจึงพร้อมที่จะเดินทางออกนอกประเทศ เพราะรู้สึกว่ากฎหมายเป็นการไล่เขาออกจากประเทศทางอ้อม 200,000 คนที่ออกไปแล้วจะกลับมาด้วยสัญญาแบบ MOU ใหม่ที่รัฐบาลทั้งสองประเทศได้ทำร่วมกันไหม
อุตสาหกรรมที่เสียหายรุนแรงมากคืออุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมาก กฎหมายที่ออกมาทำให้มีคนที่เดือดร้อนแน่นอน โดยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ นายจ้าง แรงงานต่างด้าว และเศรษฐกิจของคนไทยในระดับฐานราก เช่น คนขายวัตถุดิบหรืออาหารที่อยู่บริเวณใกล้กับที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าว เพราะแรงงานที่ถูกตีตราว่าผิดกฎหมายไม่กล้าออกมาจากที่พัก เนื่องจากกลัวเรื่องความผิดและบทลงโทษของกฎหมาย
ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือเรื่องเงินเก็บสำรอง เพราะหารายได้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นแรงงานเถื่อน ตัวอย่างให้เห็นตอนนี้ก็มีที่หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ที่เงียบเพราะไม่มีคนทำงาน นายจ้างเอาลูกจ้างไปซ่อน ภาคบริการก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ
ประเด็นที่สำคัญของแรงงานต่างด้าวในภาคบริการอีกเรื่องหนึ่งคือ การนิยามความหมายระหว่างคำว่า ‘กรรมกร’ และ ‘ลูกจ้าง’ ของแรงงานต่างด้าวในภาคบริการ นายจ้างเป็นผู้ได้รับผลกระทบนี้ เพราะเกิดจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐข้อหาใช้แรงงานผิดประเภท เพราะความคลุมเครือว่าแรงงานต่างด้าวควรจะเป็นลูกจ้างหรือเพียงแค่กรรมกร ทำให้เกิดการทุจริตและรับสินบนตามมาได้
ส่วนตัวก็หวังว่าทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้สูงสุด เพราะเรากลัวเรื่องระบบอุปถัมภ์ การเรียกส่วนที่จะเกิดขึ้น เช่น กฎหมายมีโทษปรับ 400,000-800,000 บาท เจ้าหน้าที่ก็อาจจะเรียกรับ 4,000 บาท เป็นต้น และหวังว่าจะมีการร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอื่นๆ ในการร่วมกันขับเคลื่อน พัฒนา และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในวันข้างหน้าต่อไป
“ผู้ประกอบการไม่มีปัญหามากนัก แต่ปรับตัวไม่ทัน เพราะกะทันหันมาก”
– พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ในฐานะผู้ประกอบการ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ประเทศไทยเกิดประเด็นปัญหาเรื่องการถูกจัดอันดับการค้ามนุษย์มาสิบกว่าปีแล้ว เพราะแรงงานของไทยทุกวันนี้มีอุปสงค์มากกว่าอุปทาน เราต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 ประเทศไทยเติบโตในทุกด้านอย่างมากตั้งแต่ตอนนั้น แต่กลับกัน อัตราการเกิดต่ำลง การศึกษาก็สูงขึ้น คนจึงอยากจะทำแต่งานดีๆ ไทยจึงขาดแรงงานพื้นฐาน มาจนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับปัจจุบันที่บอกว่าต้องการการเติบโต โดยเน้นการส่งออก การท่องเที่ยว และเมกะโปรเจกต์ แต่เราจะหาแรงงานที่ไหนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
มีการกล่าวว่า นายจ้างไม่มีจิตสำนึกที่ดีจึงยังกระทำการผิดกฎหมายอยู่ แต่มีกรณีที่นายจ้างขึ้นทะเบียนให้กับลูกจ้างเรียบร้อยแล้ว แต่ลูกจ้างก็หนีจากนายจ้างเก่า เพื่อไปทำงานกับนายจ้างหรือร้านใหม่ที่ให้รายได้ดีกว่าวงจรที่เป็นอยู่อย่างนี้
บทลงโทษที่รุนแรงทำให้เกิดผลกระทบและความหวาดระแวงอย่างหนักต่อผู้ประกอบการ จึงต้องการให้รัฐระงับประเด็นเหล่านี้ให้ได้ก่อน
ความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ผู้ประกอบการไม่มีปัญหามากนัก แต่ปรับตัวไม่ทัน เพราะกะทันหันมาก แม้เศรษฐกิจจะเป็นสิ่งที่เรารับรู้เรื่องแรก แต่ต้องรอดูผลที่ตามมา แต่ที่มองว่ารุนแรงตอนนี้คือด้านสังคม เพราะเมื่อกฎหมายบอกว่าแรงงานเหล่านั้นผิดกฎหมาย เขาก็ต้องกลับไป แล้วบ้านที่มีแรงงานต่างด้าวเลี้ยงดูเด็ก เลี้ยงดูผู้สูงอายุก็ได้รับความเดือดร้อน
ส่วนตัวพอใจในมาตรการเหล่านี้ แต่ก็ต้องรอดูภาพรวมในสังคมว่าเป็นอย่างไร ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าสภาพจริงหลังจากออกกฎหมายจะเป็นอย่างไร ก็ต้องแก้ไขปัญหาและรอดูผลตอบกลับกันต่อไป เพราะประเด็นปัญหานี้ไม่ได้มีเพียงแค่นายจ้างและลูกจ้าง แต่ยังมีกระทรวงแรงงาน รัฐบาล หรือหน่วยงานของประเทศต้นทางของแรงงาน รวมถึงภาคองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO)
“ปัญหาใหญ่มากที่สุดคือความเป็นราชการของหน่วยงานราชการ”
– แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม
ประเด็นที่ต้องทำให้ชัดเจนคือ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจนถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องเนื้อหาของ พ.ร.ก. เป็นเรื่องของการใช้ พ.ร.ก. และการบริหารจัดการการใช้กฎหมาย ปัญหาคือการประกาศใช้ลักษณะนี้เหมาะหรือไม่ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว จะจัดการให้ระบบเศรษฐกิจหรือให้ภาคการผลิตมีแรงงานพอใช้อย่างไร ซึ่งคงต้องใช้วิธีการหลายอย่าง รวมทั้งกฎหมายด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกหรือความเรียบร้อยในการหาแรงงานมาให้สังคมพอใช้
ที่สำคัญคือต้องไม่หลงประเด็น มีเพียงการพูดกันว่าบทลงโทษแรงมาก เมื่อมีการบังคับใช้ สิ่งที่ออกไปคือสังคมไม่ได้รับรู้เนื้อหา แต่ไปรับรู้เรื่องบทลงโทษที่หนัก ทำให้เกิดความแตกตื่น กระทบกระบวนการผลิตอย่างชัดเจน และหากไม่มีความพยายามเยียวยาหรือผ่อนปรน ผลของการใช้กฎหมายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือมันทำให้เกิดคำถามว่ามีแรงงานเพียงพอหรือไม่ในระบบการผลิต
เราพยายามอธิบายการแก้ปัญหาเหล่านี้เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาตามมาตรฐานระหว่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เพื่อไม่ให้ตกเทียร์ ต้องกลับมาดูว่าการใช้แรงงานของเราเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ไม่ใช่แค่เรื่องการออกกฎหมาย หรือแก้กฎหมายอย่างเดียว
การที่เราออกกฎหมายหลายฉบับระหว่างถูกคาดโทษจากเทียร์ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะเขาสนใจว่าเรามีการบริหารจัดการ หรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
ส่วนตัวมองว่าถ้ามีอัตราการลงโทษสูงเท่าไร ราคาค่าหนีกฎหมาย เลี่ยงกฎหมายก็แพงเท่านั้น แต่เราต้องไปดูว่าการไม่ทำตามกฎหมายมันมีสาเหตุมาจากอะไร ถ้าปฏิบัติตามกฎหมายมันแพง คนก็เลือกไม่ทำตามฎหมายในราคาที่ถูกกว่า เพราะในธุรกิจขนาดเล็ก การทำให้ถูกกฎหมายมันแพงสำหรับเขา
โจทย์คือจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ถูกกฎหมาย มันถูกลง สะดวก เร็ว และง่าย ถึงวันนี้ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ปัญหาใหญ่มากที่สุดคือความเป็นราชการของหน่วยงานราชการ มันยากไปหมดสำหรับคนเดินดินธรรมดา เวลาพูดถึงปวงชน เห็นใช้อยู่แต่ในรัฐธรรมนูญ ที่บอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
เวทีวันนี้ไม่มีตัวแทนแรงงานต่างด้าว ไม่มีตัวแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีปัญหา เราต้องมาพูดเรื่องจริง ต้องมีพื้นที่ให้พวกเขาด้วย
จริงหรือไม่ที่การออกกฎหมายนี้เพื่อให้พ้นไปจากไอยูยู และทริปรีพอร์ต แล้วจริงหรือไม่ที่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง ต้องตอบตรงนี้อย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้เราสามารถโฟกัสปัญหาที่จะแก้ไขได้ถูก เพราะความแตกตื่นมันเอื้อต่อการติดสินบน
ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้ช่วยให้เรามีเครดิตเพิ่มขึ้นในการประเมิน มันซ้ำเติมธุรกิจและเศรษฐกิจ รวมทั้งซ้ำเติมความมั่นคงอยู่เหมือนกัน ต้องหาทางจนกว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะสมดุล
“กฎหมายไม่มีความเป็นธรรมกับใครเลย”
– นายซา ทุย ส่วย (Sai Tun Shwe) ตัวแทนของแรงงานข้ามชาติในสมุทรปราการ
แม้กฎหมายจะเน้นไปที่นายจ้าง แต่ก็กระทบถึงลูกจ้างด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หากลูกจ้างมีปัญหากับนายจ้างเก่าก็ส่งผลกระทบต่อนายจ้างใหม่กับลูกจ้าง เพราะนายจ้างเก่าสามารถกลั่นแกล้งโดยการไม่เซ็นยินยอมให้ลูกจ้างเปลี่ยนนายจ้างได้ ลูกจ้างก็จะผิดกฎหมายโดยทันที
และยังเสริมอีกว่ากฎหมายไม่ละเอียดพอ และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง บทลงโทษไม่มีข้อเปรียบเทียบ ไม่ใช่ว่าจะใส่ค่าปรับเท่าไรก็ใส่ กฎหมายไม่มีความเป็นธรรมกับใครเลยแม้นายจ้างกับลูกจ้างจะสุจริตก็เกิดปัญหาขึ้นได้
“รัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติ ให้แรงงานที่ลงทะเบียนสามารถเปลี่ยนแปลงนายจ้างได้”
-Mr. Phil Robertson จาก Human Rights Watch (รองผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชนสากลแห่งภาคพื้นเอเชีย)
มีความเห็นว่ากฎหมายฉบับใหม่ทำให้ผู้อพยพที่เป็นแรงงานเป็นเสมือนอาชญากร หากพวกเขาไม่มีเอกสารแสดงตน ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้ว่ากฎหมายจะทำให้แรงงานอพยพหลายหมื่นคนต้องหนี แสดงให้เห็นถึงการไม่เรียนรู้อะไรเลยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจากบทเรียนเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 ที่ผู้ประกอบการและแรงงานชาวกัมพูชารู้สึกหวาดกลัวจนเกิดการอพยพกลับกว่า 200,000 คน
แต่ปัญหาในเวลานี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแรงงานกัมพูชาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแรงงานประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ทั้งหมด การปฏิบัติต่อแรงงานอพยพด้วยประเด็นความมั่นคงของชาติคือ นโยบายที่นำไปสู่ความเสียหาย และนี่คือสิ่งที่เรากำลังเห็นกันอยู่
รัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติให้แรงงานที่ลงทะเบียนสามารถเปลี่ยนแปลงนายจ้างได้ ให้เสรีภาพในการเคลื่อนย้ายแก่แรงงาน และให้แรงงานสามารถรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานเหมือนกับที่คนไทยสามารถกระทำได้