ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ นักแสดงและนักร้องที่เรารู้จักกันดี มีความเกี่ยวข้องกับนิทรรศการนี้อยู่บ้าง
ในฐานะ ‘เหลน’ ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ คือใคร?
คนที่ไม่สนใจประวัติศาสตร์อาจไม่รู้ว่าท่านเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๔ ของรัชกาลที่ ๕
ทรงเป็นนักศึกษาวิชาทหารที่สอบไล่ได้ที่ ๑ และทำคะแนนได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก Corps de Pages ณ ประเทศรัสเซีย
ทรงจัดตั้งกิจการการบิน และส่งนายทหาร ๓ นายไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการวางรากฐานกำลังทางอากาศไทย และได้รับการยกย่องเป็น ‘พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย’
ทรงเป็นพระราชโอรสองค์โปรดของรัชกาลที่ ๕
ขณะเดียวกันก็เป็นพระราชโอรสที่สร้างความขัดเคืองพระทัย เนื่องจากทรงเสกสมรสกับ ‘ฝรั่ง’
นี่คือบางมิติของชีวิตสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ใน ‘จักรพงษ์นิทรรศน์’ ซึ่งมีทั้งเรื่องราวน่ายินดี เศร้าโศก และโชคชะตา
เฉกเช่นมนุษย์คนหนึ่งจะพบเผชิญในช่วงชีวิต
การกลับมาของเอกสารและจดหมายที่หายไป
ในโลกทุกวันนี้ เราสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ได้ในอินเทอร์เน็ต
เช่น ทรงประสูติเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๖
หรือทรงมีชื่อเล่นว่า ‘ทูลกระหม่อมเล็ก’
และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำความรู้จักสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
แต่ถ้าคุณอยากรู้จักและใกล้ชิดมากกว่านี้
‘จักรพงษ์นิทรรศน์’ นิทรรศการที่แสดงเรื่องราวผ่านพระราชหัตถเลขา (จดหมาย) ลายพระหัตถ์ เอกสาร และสิ่งของหายากต่างๆ ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
น่าจะช่วยให้คุณเห็นภาพได้ชัดขึ้น
ชัดทั้งในแง่พระประวัติ ผลงาน รวมถึงประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของสยามในขณะนั้น
และความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่าง ‘ลูกชาย’ และ ‘พ่อ’ ผ่านจดหมายที่ทั้งสองเขียนถึงกันราว ๒๒๕ ฉบับ ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙ เมื่อครั้งเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษเพื่อเล่าเรียนภาษาอังกฤษ ตราบจนรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๕๓
“เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๑๕ ปี คุณแม่ป่วยหนักและกำลังจะเสียชีวิตที่บ้านในมณฑลคอร์วอลล์ ข้าพเจ้ายังจำภาพที่แม่กำลังจัดเรียงเอกสารเหล่านี้ในกล่องและพยายามจัดพระราชหัตถเลขาและลายพระหัตถ์เหล่านี้ ราว ๑๔ ปีหลังจากนั้น ข้าพเจ้ามาพำนักในกรุงเทพฯ โดยกำลังค้นข้อมูลสำหรับหนังสือเรื่อง ‘แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม’ ซึ่งตอนนั้นข้าพเจ้าเริ่มรู้ว่ามีเอกสารบางฉบับได้สูญหายไป”
หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ หรือ ‘คุณแม่ฮิวโก้’ ซึ่งเป็น ‘หลาน’ ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เขียนถึงที่มาของพระราชหัตถเลขาลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ ๕ และ ‘คุณปู่’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการไว้ในคำนำหนังสือ ถึง ลูกชายเล็ก ซึ่งจัดพิมพ์และเปิดตัวครั้งแรกพร้อมกับนิทรรศการครั้งนี้
ส่วนเอกสารที่สูญหายไปได้ปรากฏอีกครั้งเมื่อมีข่าวการประมูลของสำนักการประมูลคริสตีส์ ในกรุงลอนดอน เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘
หลังทราบข่าว หม่อมราชวงศ์นริศราได้พยายามทุกวิถีทางในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ และทำการอายัดการประมูลได้สำเร็จ
‘บริษัทประมูลระดับโลกยอมอ่อนข้อ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ประกาศระงับการประมูลพระราชหัตถเลข ร.๕ และเอกสารประวัติศาสตร์ของไทยอย่างเป็นทางการแล้ว’
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘
ปัจจุบันเอกสารทางประวัติศาสตร์ชุดนี้ถูกเก็บรักษาเป็นอย่างดีที่หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
คุณสามารถชมเอกสารบางส่วนได้ใน ‘จักรพงษ์นิทรรศน์’ หรืออ่านข้อความในพระราชหัตถเลขาทั้งหมดได้ใน ถึง ลูกชายเล็ก หนังสือที่เปิดเผยเกร็ดและเบื้องลึกประวัติศาสตร์สยาม ผ่านข้อความในจดหมายที่รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เขียนถึงกัน
เหมือนเช่นเรื่องราวบางตอนในจดหมายนี้…
ถึงเล็ก… ‘พ่อคิดถึงเล็กแลบ่นถึงตลอดทาง’
ในพระราชหัตถเลขาที่เขียนถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ รัชกาลที่ ๕ มักขึ้นต้นด้วยคำว่า
‘ถึงเล็ก’
ข้อความในพระราชหัตถเลขาหลายฉบับแสดงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพ่อในฐานะพระเจ้าแผ่นดินกับพระราชโอรส
นอกจากจำนวนจดหมายที่เขียนถึงกันหลายร้อยฉบับ และระยะเวลาที่เขียนหากันอย่างสม่ำเสมอ
ข้อความในจดหมายที่ยกมานี้เป็นพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๕ เขียนขึ้นระหว่างเสด็จประพาสเกาะชวา ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเสด็จพระราชดำเนินไปสิงคโปร์ เพื่อทรงส่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เดินทางไปศึกษาต่อในสหราชอาณาจักร เหมือนเช่นที่ทรงส่งพระราชโอรสองค์อื่นๆ ไปศึกษาในยุโรป เพื่อให้ชนชั้นปกครองตะวันตก (โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศสที่กำลังออกล่าอาณานิคม) เห็นว่าคนไทยก็ปกครองบ้านเมืองตนเองได้ไม่แพ้ฝรั่ง
นี่คือครั้งแรกที่ ‘พ่อ’ และ ‘ลูกชาย’ อยู่ห่างกัน
และเป็นหลักฐานที่แสดงว่า รัชกาลที่ ๕ โปรดพระราชโอรสองค์นี้เพียงใด
Hotel van Horek Garoet
๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๙
ถึงเล็ก
พ่อไม่มีเวลาที่จะลืมเสียได้เลย ยิ่งไปขี่ม้าคราวใด ต้องบ่นถึงเล็กทุกครั้ง ได้รับหนังสือเขียนที่โกลัมโบนี่ พ่อชอบใจในถ้อยคำที่เล่าได้ให้ใครๆ ดู เขาชมว่า เล็กแต่งหนังสือดี…
จุฬาลงกรณ์
(ถึง ลูกชายเล็ก, หน้า ๒๒)
เรือพระที่นั่งมหาจักรี
๓๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๕
ถึงเล็ก
…แต่มาในเรือนี้ กินข้าวไม่ได้มาสองวัน แต่เริ่มเสียเมื่อถึงสะมารังสองวัน รวมเป็นสี่วัน ดูโรเรไปหน่อย กลัวจะผอมเสีย วันนี้ค่อยฟื้นขึ้น พ่ออ้วนสบายแข็งแรงขึ้นมาก ขึ้นม้าคล่องกว่าเมื่อไปราชบุรีหลายเท่าแลขี่ม้าวันยังค่ำ ไม่สู้เหน็ดเหนื่อย ท้องก็ดีเป็นปกติ แต่ถ้าถูกข้าวถูกพริกเข้าไปมากๆ ชวนจะท้องเสีย อาหารอย่างโก้หร่าน ดูสบายกว่า เว้นแต่ถ้าไม่อร่อยก็กินไม่ได้เลย
จดหมายนี้ยืดยาวมากแล้วขอจบที พ่อคิดถึงเล็กแลบ่นคิดถึงตลอดทาง ลืมบอกไปอย่างหนึ่งว่า ได้เข้าไปใกล้เขาจักรภูวโนที่แขวงบันยูมาส (Banyumas) เรียกว่า ‘เขาลูกชายเล็ก’
จุฬาลงกรณ์ ปร.
(ถึง ลูกชายเล็ก, หน้า ๔๔)
ความรักที่พระราชบิดาไม่ทรงโปรด
หลังทูลกระหม่อมเล็กเดินทางไปศึกษาที่อังกฤษได้หนึ่งปี พ.ศ. ๒๔๔๐ รัชกาลที่ ๕ ก็ออกเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก และได้เสด็จเยี่ยม ‘พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แห่งรัสเซีย’ ซึ่งเป็นพระสหายแต่เมื่อครั้งพระเจ้าซาร์ฯ เสด็จเยือนเมืองไทยเมื่อ ๗ ปีก่อน (พ.ศ. ๒๔๓๓)
การพบกันของสหายรักทั้งสองพระองค์ครั้งนั้น พระเจ้าซาร์ฯ ได้ทรงชักชวนด้วยไมตรีจิตให้รัชกาลที่ ๕ ส่งพระราชโอรสมาศึกษาในประเทศรัสเซีย ซึ่งพระองค์ยินดีอุปการะเสมือน ‘พระญาติ’ ในราชวงศ์โรมานอฟ
หนึ่งปีให้หลัง (มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๑) รัชกาลที่ ๕ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก ณ ประเทศรัสเซีย โดยหารู้ไม่ว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นความรักของทูลกระหม่อมเล็กกับ ‘สตรีฝรั่ง’ ที่พระองค์ไม่ทรงปรารถนาให้เกิดขึ้น
ระหว่างศึกษาวิชาทหารที่ประเทศรัสเซีย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ได้พบรักกับ แคทยา เดสนิตสกายา พยาบาลชาวรัสเซีย และวางแผนจะใช้ชีวิตด้วยกัน
ถึง น้อง
บ่ายวันนี้ พี่ยุ่งมากและไม่สามารถส่งโทรเลขหาน้องได้ จึงเขียนจดหมายมาหาแทน โปรดมาที่บ้านเอลิซาเวต้าอีวานอฟน่าเพื่อทานอาหารเย็นด้วยกัน เธอจะมีความสุขมาก เพราะเธอคอยถามพี่ว่า น้องของพี่จะมาเมื่อไหร่ตลอดเวลาเลย สำหรับพี่แล้ว น้องก็รู้อยู่แล้วว่า พี่ชอบมีน้องอยู่เป็นเพื่อนมากแค่ไหน จริงๆ แล้ว อยากเจอตอนนี้เสียเลยด้วยซ้ำ…
พี่
(ถึง ลูกชายเล็ก, ลายพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าจักรพงษ์มีถึงแคทยา ปลาย พ.ศ. ๒๔๔๘ – ต้น พ.ศ. ๒๔๔๙ หน้า ๓๗๘)
ให้ห้วงแห่งรัก ทั้งสองตกลงใจแต่งงานกันที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยมิได้กราบทูลให้พระราชบิดาทรงทราบ เนื่องจากรัชกาลที่ ๕ ไม่ทรงปรารถนาให้พระราชโอรสมีคู่เป็น ‘ฝรั่ง’
พ.ศ. ๒๔๔๙ เมื่อสำเร็จการศึกษา สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เสด็จฯ กลับสยาม ได้ทรงพาหม่อมแคทยากลับเมืองไทย แต่ด้วยความที่รู้ใจพระราชบิดา จึงทรงให้หม่อมแคทยาพักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นการชั่วคราว และเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพียงพระองค์เดียว
ทว่าในโลกไม่มีความลับใดที่ปิดได้มิด ไม่นานก็มีข่าวลือมายังกรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงทราบเรื่องก็ทรงกริ้วเป็นที่สุด
๑๖ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๕
ถึงเล็ก
พ่อได้รับหนังสือที่มีมานั้น ได้อ่านด้วยใจหวั่นไหวเป็นอันมาก ในอาการที่พ่อเปนเช่นนั้น ไม่ใช่เปนแต่เพราะความโกรธ ที่จริงมีความเศร้าเสียใจมากกว่าโกรธ เพราะเหตุว่า ความรักของพ่อไม่อยู่แก่ตัวประการใด เล็กย่อมทราบหมดแล้ว ธรรมดารักย่อมปรารถนาแต่จะเหนความเจริญของคนที่รัก เมื่อมาเหนคนซึ่งเปนที่รักตั้งอยู่ในฐานะที่น่าเก้อขวย ก็ย่อมนึกกระดากกระเคืองใจแทน แลย่อมมีความปรารถนาจะให้เปนที่นิยมนับถือ แลเปนที่มั่นใจของคนทั้งปวง มาเห็นตกอยู่ในที่คนไม่นิยมฤาหนักใจไป จนไม่วางใจ เพราะเหนว่า เอาแต่ใจตน ไม่นึกถึงการที่มีผล เปนคุณฤา เปนโทษ ปราศจากวิจารณ…
…การซึ่งมิได้บอกให้รู้ว่า คิดอย่างไร เหมือนกับนิ่งโกรธ ก็เพราะเหนว่า เล็กไม่ต้องการจะฟัง อีกประการหนึ่งพ่อก็เปนผู้ชาย เคยรักเคยคลั่งผู้หญิงมาเหมือนกัน ย่อมรู้ใจกันอยู่ว่า การที่จะหักหาญ มันยากที่จะได้ผลดีจึงได้แต่นิ่ง กำหนดใจไปว่า เมื่อใดจะรู้สึกตัวว่า ดำเนิรอยู่ในทางที่ไม่พึงปรารถนาเพราะไม่เป็นคุณแก่ตัว…
จุฬาลงกรณ์
(ถึง ลูกชายเล็ก, หน้า ๓๘๘)
พระราชหัตถเลขาระหว่างรัชกาลที่ ๕ และพระราชโอรสในช่วงนี้มีถ้อยความแห่งความโกรธ ไม่พอพระราชหฤทัย และทรงมีไปถึงกันไม่บ่อยนัก
‘พ่อไม่ได้พบนาน ก็ออกจะคิดถึง’ ความสัมพันธ์ที่มิอาจตัดขาด
กระทั่งเวลาผ่านไปราว ๒ ปี มรสุมที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งนั้นดูเหมือนจะอ่อนกำลังลง
พ.ศ. ๒๔๕๒ รัชกาลที่ ๕ ทรงมีปฏิกิริยาที่อ่อนลง เริ่มทรงปรึกษาสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดงานเลี้ยงพระราชทานเลี้ยงราชวงศ์ต่างประเทศ
๒๖ กุมภาพันธ์ ร.ศ .๑๒๗
เล็ก
ถึงจะมีเคืองมีฉุนเป็นครั้งคราว พ่อไม่ได้พบนาน ก็ออกคิดถึงเช่นที่บอกนั้น ถ้าหากว่า จะเปนได้ วันเสารให้มากินเข้าด้วยวิกละครั้ง จะเปนที่สบายใจดี
สยามินทร์
(ถึง ลูกชายเล็ก, หน้า ๓๙๔)
อีกหนึ่งปีต่อมา (พ.ศ. ๒๔๕๓) จากที่ไม่ทรงรับพระนัดดาองค์ใหม่เป็นหลานอย่างเปิดเผย ในที่สุดรัชกาลที่ ๕ ก็โปรดให้พระนัดดาเข้าเฝ้า
พระนัดดาที่หมายถึงนี้คือ ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์’ (ตาของฮิวโก้) ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ ๒ ขวบ
“วันนี้ฉันได้พบกับหลานชายของเธอ ดูน่ารักน่าเอ็นดูเหมือนพ่อ ฉันรู้สึกรักและหลงใหลคนนี้ตั้งแต่แรกเห็น เพราะถึงอย่างไรนี่ก็เป็นสายเลือดเชื้อไขของฉันเอง”
ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและลูกชายเริ่มกลับฟื้นคืนขึ้นอีกครั้ง แต่ทว่าในปีเดียวกันนั้น กลับมี ‘ข่าวร้าย’ ที่ไม่มีใครคาดคิดเกิดขึ้น
จดหมายฉบับสุดท้าย
๓๐ กันยายน ร.ศ. ๑๒๙
ลูกชายเล็ก
ส่งใบสอบไล่ของเอียดเล็กมานั้น ได้ดูแล้ว ซึ่งได้ความรู้มากขึ้นเท่าใด พ่อยิ่งดีใจเท่านั้น ข้อซึ่งบกพร่องบางอย่างด้วยสันดานเองนั้น ก็เปนจนใจอยู่ แต่ยังได้อย่างหนึ่ง ก็ยังดี
สยามินทร์
(ถึง ลูกชายเล็ก, หน้า ๔๒๐)
นี่คือข้อความในพระราชหัตถเลขาฉบับสุดท้ายของรัชกาลที่ ๕ ที่เขียนถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
‘เอียดเล็ก’ ที่กล่าวถึงในจดหมายคือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ‘น้องชายของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ’
โดยจดหมายฉบับนี้เป็นฉบับที่เขียนตอบกลับ หลังสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเขียนมารายงานผลการศึกษา พร้อมแนบใบตอบในการสอบไล่วิชาของ ‘เอียดเล็ก’ ทั้ง ๔ วิชาคือ พงศาวดารโรมัน, พงศาวดารการประเทศอิตาลี, กฎหมายนานาประเทศ และวิชาฟิสิกส์
ราว ๓ สัปดาห์ต่อมา หรือ ๒๓ วัน นับจากวันที่ลงในจดหมายฉบับสุดท้าย รัชกาลที่ ๕ ก็เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
ปิดฉากการติดต่อกันผ่านจดหมายระยะเวลา ๑๔ ปีที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย
ส่วนสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ หลังเรียนจบจากรัสเซียก็เข้ารับราชการตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ก่อนจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นลำดับ พร้อมกับจัดการระเบียบแบบแผน แนวทาง หลักสูตรในด้านการทหาร (โดยเฉพาะทหารบก) ให้เป็นเยี่ยงอารยประเทศ ซึ่งเป็นไปตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๕ ที่หวังให้พระราชโอรสไปเรียนเมืองฝรั่งเพื่อกลับมาพัฒนาชาติบ้านเมือง
ดูเหมือนจะมีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่ขัดพระราชประสงค์อย่างรุนแรง คือการมีพระชายาเป็น ‘ฝรั่ง’
ถามว่าทำไมรัชกาลที่ ๕ ถึงทรงกริ้วยิ่งนัก
หนังสือ ลอกคราบเสด็จพ่อ ร.๕ โดย ส.ศิวรักษ์ เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
…สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถนั้นเล่า ก็ทรงแหวกแนวไปเสกสมรสกับนางต่างด้าว ซึ่งในสมัยนั้นถือกันว่าเป็นการแปรพักตร์ในทางจงรักภักดีไปเอาเลย…
(ลอกคราบเสด็จพ่อ ร.๕, หน้า ๓๓)
ถึงแม้ในช่วงหลังของชีวิตสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ จะมีเรื่องขัดพระราชหฤทัยพระราชบิดา แต่ความรู้สึกเบื้องลึกในหัวใจของลูกชายที่สูญเสียพ่อคงเอ่อล้นด้วยความอาลัย
เหมือนเช่น ‘ประโยค’ ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ มักจะทรงเขียนไว้ในจดหมายถึงพระราชบิดาเสมอๆ ระหว่างศึกษาอยู่ต่างประเทศ
‘…ข้าพระพุทธเจ้ามีความสุขสบายดีและมีความระลึกถึงทูลกระหม่อมอยู่เสมอ…’
ข้าพระพุทธเจ้า
จักรพงษ์
อนิจจาความรักในวังปารุสก์
หม่อมแคทยา แม้จะเป็นชายาพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ด้วยความที่เป็น ‘ฝรั่ง’ เธอจึงไม่ได้รับการยอมรับ และมีชีวิตเฉกเช่น ‘เจ้าที่ไม่ใช่เจ้า’
ตลอดระยะเวลา ๔ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๙-๒๔๕๓) จากวันที่หม่อมแคทยาเข้ามาในสยาม และใช้ชีวิตร่วมกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ณ วังปารุสกวัน จนถึงวันที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต เธอไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระราชบิดาของสวามีอย่างสะใภ้หลวงเลยสักครั้ง
แม้ชีวิตในวังของหม่อมแคทยาจะผ่านไปด้วยความราบรื่น แต่ลึกลงไปในจิตใจใครจะรู้
ปีทั้งปี หม่อมแคทยาแทบไม่ได้ย่างเท้าออกจากวัง เว้นแต่ไปนั่งรถยนต์เล่นในยามค่ำคืน
ข้อจำกัดนานัปการ เพราะความเป็น ‘ฝรั่ง’ ซึ่งขัดต่อโบราณราชประเพณี ทำให้เจ้าฟ้าชายทรงเห็นพระทัยหม่อมแคทยา และทรงทำทุกอย่างเพื่อให้เธออยู่อย่างเป็นสุขและสะดวกสบาย
ด้านหม่อมแคทยาเองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย ทั้งเรื่องกิริยามารยาทแบบชาววัง และเรียนรู้ภาษาไทยจนถึงขั้นอ่านออกเขียนได้
ความกดดันที่เพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อยทั้งจากภายในและภายนอก โดยเฉพาะการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ (พ.ศ. ๒๔๖๐) หม่อมแคทยาเริ่มมีสุขภาพเสื่อมโทรมลง แท้งติดกัน ๒ ครั้ง เธอจึงขอเดินทางไกลไปพักกายและใจอยู่ที่ปักกิ่งกับพี่ชาย
เมื่อไม่มีชายา สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถก็ทรงมีโอกาสได้คุ้นเคยกับสตรีจากวังอื่นมากขึ้น
หนึ่งในนั้นคือหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ รพีพัฒน์ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พี่ชายต่างมารดา) ซึ่งขณะนั้นอายุ ๑๖ ปี
ความรักที่เคยหวานชื่นกลับมีรสชาติเป็นอื่น
พ.ศ. ๒๔๖๒ หม่อมแคทยาได้หย่าขาดกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
ปิดฉากชีวิตคู่ ๑๒ ปี
รสหวานของความรักครั้งเก่าเหลือเพียงความทรงจำที่ถูกบันทึกไว้ในจดหมาย เมื่อคราวทั้งสองแรกพบกัน
ถึง แคทยาเนื้อคู่ของพี่
…ที่รัก อีกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น น้องจะเป็นแคทยาของพี่คนเดียว และจะเป็นสุดที่รักของพี่ไปตลอดกาล
เล็กของน้อง
เป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ผู้น่าชังของน้องด้วย
(ถึง ลูกชายเล็ก, ลายพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าจักรพงษ์มีถึงแคทยา ปลาย พ.ศ. ๒๔๔๘ – ต้น พ.ศ. ๒๔๔๙ หน้า ๓๘๑)
ช่วงหลังแห่งชีวิต
หลังหย่ากับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ หม่อมแคทยาที่เดินทางไปหาพี่ชายที่ปักกิ่ง ก่อนจะย้ายไปพำนักที่เซี่ยงไฮ้ได้กลับไปใช้นามสกุลเดิม ใช้ชื่อว่า ‘มาดามเดสนิทสกี้’
อาศัยค่าเลี้ยงดูเดือนละ ๑๐๐ ปอนด์อันน้อยนิดที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ประทานให้เป็นค่าเลี้ยงดูหลังหย่าร้าง เช่าบ้านเล็กๆ หนึ่งหลัง ใช้ชีวิตลำพังอย่างเข้มแข็ง
ด้านสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ หลังหย่าร้างก็ทรงใช้ชีวิตกับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ รพีพัฒน์ อย่างเปิดเผย แล้วก็ไม่เคยได้พบกับหม่อมแคทยาอีกเลย กระทั่งเกิดเหตุให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เสด็จทิวงคต ระหว่างเสด็จประพาสทะเลฝั่งแหลมมลายูกับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศได้เพียงวันเดียว ก็มีพระอาการประชวรเป็นไข้ตลอดทาง กลายเป็น ‘โรคปอดบวม’ พระอาการกำเริบหนักมิอาจทานทน จนเสด็จทิวงคตในวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓
เมื่อรู้ข่าว ‘มาดามเดสนิทสกี้’ หรือหม่อมแคทยา ได้เดินทางกลับมาร่วมงานพระศพ แล้วพบว่าโอรสของเธอ (พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์) อยู่ในความดูแลของ ‘กระหม่อมลุง’ (รัชกาลที่ ๖)
การกลับมาสยามครั้งนี้ นอกจากได้พบหน้าลูกชายแล้ว มาดามเดสนิทสกี้ได้รับเงินส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมจากมรดกของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ด้วยพระเมตตาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖
และมาดามเดสนิทสกี้ตัดสินใจทิ้งอดีตทุกอย่างในสยามให้จบสิ้นไปพร้อมกับการเสด็จทิวงคตของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
เธอเริ่มต้นชีวิตใหม่กับวิศวกรชาวอเมริกันชื่อ ‘แฮรี่ สโตน’ ตลอดชีวิตของมาดามเดสนิทสกี้ต่อจากนี้ก็มีทั้งความสุขและทุกข์เช่นเดียวกับมนุษย์ปุถุชน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความสุขอย่างยิ่งของเธอคือการเดินทางไปอังกฤษ เพื่อพบโอรสซึ่งย่างเข้าวัยหนุ่ม
ต่อมาเธอและสามีได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปารีส เพื่อจะได้พบพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ที่จะข้ามมาพักด้วยกันในช่วงปิดเทอม
กระทั่งอังกฤษเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง มาดามเดสนิทสกี้ได้เดินทางกลับไปอเมริกา ซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ในช่วงแรกของชีวิตคู่ ก่อนจะถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่ออายุ ๗๑ ปี
ส่วนด้านหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ หลังจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเสด็จทิวงคตได้หนึ่งปี ก็ได้เสกสมรสใหม่กับหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงเห็นชอบ
และให้หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ คืนมรดกทั้งหมดกลับไปให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เสียก่อน จึงให้เสกสมรสได้
พ.ศ. ๒๔๗๕ ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ๗ วัน (๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕) หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศก็มาด่วนสิ้นชีพิตักษัย ขณะมีอายุเพียง ๒๙ ปี
‘จักรพงษ์’ หลัง พ.ศ. ๒๔๗๕
พ.ศ. ๒๔๗๕ คือชนวนของเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจครั้งใหญ่ของการเมืองไทยจากกษัตริย์และขุนนางสู่คณะราษฎร
นอกจากนี้ยังเป็นจุดเปลี่ยนเล็กๆ ของตระกูลจักรพงษ์
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งทรงเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงตั้งพระทัยจะไม่รักสตรีต่างชาติ เนื่องจากรัชกาลที่ ๗ รับสั่งมาทางจดหมายว่า อย่าทำตามที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ พระบิดาทรงทำ คือการแต่งงานกับสตรีต่างด้าว
ทว่าเรื่องหัวใจนั้นยากจะห้าม เหมือนที่เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ร้องในเพลง คนจะรักกัน
‘ห้ามน้ำไม่ไหล ห้ามไฟไม่ให้มีควัน ห้ามอาทิตย์ห้ามดวงจันทร์ หยุดแค่นั้นค่อยห้ามดวงใจ’
(คนจะรักกัน, ผู้แต่ง – พยงค์ มุกดา)
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงพบและหลงรักหม่อมเอสิสะเบธ (นามเดิม คือ Elisabeth Hunter) เมื่อครั้งไปเรียนศิลปะวาดภาพ หลังเสด็จไปดินเนอร์ร่วมกัน (ในโต๊ะดินเนอร์ครั้งนั้นมี ๔ คน อีก ๒ คนคือ พระองค์เจ้าพีระ และสตรีร่วมห้องเรียนนางหนึ่ง)
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น อีกนัยหนึ่งเป็นเหตุให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงรู้สึกเป็นอิสระจากภาระหน้าที่ตามพระราชประเพณี จึงตัดสินใจเสกสมรสกับหม่อมเอสิสะเบธ
เมื่อเสกสมรส พระองค์ทรงดำริที่จะไม่มีบุตร อาจเพราะทรงรู้ว่าลูกที่เกิดจากการแต่งงานกับคนต่างชาติจะพบปัญหาต่างๆ นานา
เช่นข้อความในจดหมายฉบับหนึ่งที่พระองค์ทรงเขียนถึงหม่อมเอสิสะเบธ
‘ถ้าเผื่อเราแต่งงานกัน อย่ามีลูกกันเลย เพราะเด็กที่เกิดมาหลายเชื้อชาติ จะมีปัญหาตลอด’
แต่หลังเสกสมรส ๑๘ ปี (พ.ศ. ๒๔๙๙) หม่อมเอลิสะเบธที่ขณะนั้นมีอายุ ๔๑ ปี ก็ตั้งครรภ์หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์
จากนั้นอีก ๒๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๒๔) หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ ก็ตั้งครรภ์และให้กำเนิด จุลจักร จักรพงษ์ ที่ต่อมาคนไทยรู้จักกันในฐานะนักแสดง นักดนตรี ชื่อ ‘ฮิวโก้’ (และยังมีลูกชายอีกคนหนึ่งชื่อ ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์)
และให้หลังอีก ๓๖ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐) หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ คือผู้จัด ‘จักรพงษ์นิทรรศน์’ ณ ตำหนักสวนจิตรลดาในวังปารุสก์
‘วังปารุสก์’ ที่ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ สร้างให้เป็นรางวัลแด่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ หลังสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศรัสเซีย
ต่อมารัชกาลที่ ๖ ทรงเรียกกลับคืนมาเป็นของพระมหากษัตริย์ ภายหลังสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเสด็จทิวงคต
ก่อนตกเป็นของคณะราษฎร เป็นที่ทำการสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ที่พักของพระยาพหลพลพยุหเสนา (ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงแก่อสัญกรรม) ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕
และเป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์กรมตำรวจ และกองบัญชาการตำรวจนครบาลในปัจจุบัน
ส่วนตำหนักสวนจิตรลดาซึ่งตั้งอยู่ในเขตวังปารุสก์ และเป็นที่จัด ‘จักรพงษ์นิทรรศน์’ นี้ ครั้งหนึ่งก็เคยถูกใช้เป็นสถานที่แข่งขันรายการ ‘อัจฉริยะข้ามคืน’ ตอนล้านที่ 5
การได้มาเดินชม ‘จักรพงษ์นิทรรศน์’ นิทรรศการที่เล่าเรื่องราวชีวิตของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ตั้งแต่ประสูติจนทิวงคต (พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๔๖๓) นอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินด้านความรู้และเกร็ดในประวัติศาสตร์แล้ว
ยังย้ำเตือนให้เห็น ‘ความจริง’ ของชีวิตและโชคชะตา ที่เวลาพร้อมพาและพรากทุกอย่างไปจากเรา
อำนาจ เงินตรา เกียรติยศ ชื่อเสียง ล้วนไม่จีรังและไม่เคยอยู่ค้ำฟ้า
แต่น่าแปลกที่ดูเหมือนมนุษย์จะไม่เคยได้เรียนรู้ความจริงข้อนี้ผ่านประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แต่ยังคงไล่คว้าห้ำหั่นเพื่อยื้อแย่งเอา ‘มายา’ นั้นมาเป็นของตัว
อ้างอิง:
- ถึง ลูกชายเล็ก บรรณาธิการโดย หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ และไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์
- ๑๐ ปัญญาชนสยาม เล่มที่ ๑ โดย สายชล สัตยานุรักษ์
- ลอกคราบเสด็จพ่อ ร.๕ โดย ส.ศิวรักษ์
- วิกิพีเดีย – สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
- วิกิพีเดีย – หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก
- วิกิพีเดีย – หม่อมเจ้าชวลิตโอภาศ รพีพัฒน์
- วิกิพีเดีย – พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- วิกิพีเดีย – วังปารุสกวัน
- วิกิพีเดีย – หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์
- วิกิพีเดีย – จุลจักร จักรพงษ์
- ‘จักรพงษ์นิทรรศน์’ จัดแสดงวันนี้ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เปิดให้เข้าชม วันพุธ-ศุกร์ เวลา ๑๐.๐๐-๑๖.๐๐ น., วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา ๑๐.๐๐-๑๘.๐๐ น. (หยุดวันจันทร์และอังคาร) เข้าชมฟรี!
- หนังสือ ถึง ลูกชายเล็ก จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ (River Books) ที่เน้นพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย ก่อตั้งโดยหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์