×

ยกเลิกดูงานเมืองนอก! สปท. ไฟเขียว ตัดงบ ส.ส.-ส.ว. ไปดูงานเมืองนอกเกลี้ยง!

03.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins read
  • ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบ 88 เสียง และไม่เห็นชอบ 12 เสียง ต่อรายงานการปฏิรูปการปฏิบัติงานในรัฐสภา ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง
  • สาระสำคัญที่ผ่านความเห็นชอบคือ ให้ยกเลิกการจัดสรรงบประมาณการศึกษาดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการ และให้มีการยกเลิกการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ส่วนตัวแบบพกพาให้แก่สมาชิกรัฐสภา

     นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งนำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าควบคุมอำนาจบริหารบ้านเมืองเป็นปีที่สาม การเดินทางไปศึกษาดูงานยังต่างประเทศเป็นนโยบายที่ พล.อ. ประยุทธ์ ให้ความสำคัญ และถือเป็น ‘กฎเหล็ก’ ที่ทุกหน่วยราชการต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ถูกนำเสนอบนหน้าสื่อหลายครั้ง พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้งบประมาณที่ตรงกับวัตถุประสงค์หรือไม่

     ล่าสุด คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. มีมติตัดงบ ‘ดูงาน’ ต่างประเทศ และงบจัดซื้อแท็บเล็ตแจกฟรี ด้วยมติเห็นชอบ 88 เสียง ไม่เห็นด้วย 12 เสียง

     ซึ่งจากนี้จะต้องส่งรายงานฉบับนี้รวมทั้งข้อสังเกตไปยังคณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ. ประยุทธ์​ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร รวมทั้งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

การปฏิบัติงานของฝ่ายนิติบัญญัติที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการทั้งสองสภา และสมาชิกรัฐสภาจะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาดูงานต่างประเทศ (ไปเที่ยว) โดยใช้ภาษีอากรของประชาชน เป็นเงินจำนวนมากในทุกๆ ปีงบประมาณ

‘ถ้าจะไปดูงานต้องเป็นกิจจะ ไม่ใช่ไปเที่ยว’ สปท. เสนอยกเลิกจัดงบทัวร์นอก

     น่าจะเป็นอีกเรื่องที่ต้องหยิบยกมาพูดกัน เพราะปัญหาดูงานเมืองนอกเดินมาจนถึงขั้นวางกรอบการปฏิรูปในเรื่องนี้ ล่าสุด คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ได้เสนอรายงาน ‘การปฏิรูปการปฏิบัติงานในรัฐสภา’ เข้าสู่ที่ประชุมแล้ว ความน่าสนใจของรายงานฉบับนี้ประกอบด้วยแผนการและวิธีการปฏิรูปใน 3 ด้านคือ การปฏิบัติงานของสมาชิกรัฐสภา การปฏิบัติงานของหน่วยงานสังกัดรัฐสภา และ ข้อเสนอแนะในส่วนของรัฐสภาแห่งใหม่

     หากโฟกัสไปที่แผนการปฏิรูปการปฏิบัติงานของรัฐสภา รายงานของคณะกรรมาธิการได้เสนอให้มีการ ยกเลิกการจัดสรรงบประมาณการศึกษาดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการ โดยชี้ให้เห็นสภาพของปัญหานี้ว่า การปฏิบัติงานของฝ่ายนิติบัญญัติที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการทั้งสองสภา และสมาชิกรัฐสภาจะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาดูงานต่างประเทศ (ไปเที่ยว) โดยใช้ภาษีอากรของประชาชน เป็นเงินจำนวนมากในทุกๆ ปีงบประมาณ โดยไปทุกสมัยประชุม และไปกันทุกกรรมาธิการ ซึ่งปรากฏว่าสมาชิกเป็นคณะกรรมาธิการมากกว่าหนึ่งคณะ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณที่มาจากภาษีอากรของประชาชนทุกๆ ปี และไม่สามารถประเมินผลความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณดังกล่าวได้ ทำให้รัฐสภาหรือหน่วยงานในประเทศนั้นต้องต้อนรับคณะกรรมาธิการจากประเทศไทยหลายคณะ ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตมายังรัฐสภา รวมทั้งทำให้เจ้าหน้าที่ของสถานทูตไทยประจำประเทศต่างๆ ต้องมีภาระในการต้อนรับดูแล อันทำให้เสียเวลางานราชการของสถานทูตไปอีกจำนวนมาก

     รายงานฉบับนี้ยังได้เสนอแนวทางการปฏิรูปแก้ไขไว้ว่า ให้ยกเลิกการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศของสมาชิกทั้งสองสภา และการเดินทางไปประชุมองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ หรือเดินทางไปร่วม ประชุมทวิภาคีระหว่างรัฐสภาต่างประเทศ ให้ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการเดินทางไปราชการโดยเคร่งครัด

     ในการอภิปรายของในวันนี้ (3 ก.ค.) มีสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปหรือ สปท. บางคนลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ อาทิ     

     ดุสิต เครืองาม อภิปรายว่า การไปดูงานต่างประเทศทำให้กรรมาธิการได้รับความรู้และข้อมูลเชิงลึกจากสถานที่จริง เป็นการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ และเป็นการละลายพฤติกรรมให้สมาชิกสามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น

     ขณะเดียวกันหากรัฐสภาไม่จัดสรรงบประมาณให้สมาชิกไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ในอนาคตอาจมีภาคเอกชนเสนอตัวเป็นสปอนเซอร์ให้ทุนไปต่างประเทศแทน ซึ่งจะทำให้รัฐสภาเสียภาพลักษณ์

     ดังนั้น รัฐสภาจึงควรคงงบประมาณการศึกษาดูงานต่างประเทศไว้ แต่กำหนดระเบียบการบริษัทเอกชนประมูลการจัดทัวร์อย่างเข้มงวด มีตารางกิจกรรมอย่างชัดเจน ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบอย่างจริงจัง และให้มีการจัดทำรายงานผลการดูงานมานำเสนอต่อรัฐสภา

     กษิต ภิรมย์ ยืนยัน การไปดูงานต่างประเทศเสียเวลา และเสียงบประมาณภาครัฐ ถ้าอยากจะรู้ข้อมูลจากประเทศไหน ก็ให้สถานทูตจากประเทศนั้นๆในกรุงเทพฯ มาให้ข้อมูลแทน แต่หากมีความจำเป็นจะต้องไปดูงานจริง ต้องทำให้เป็นกิจจะลักษณะ ไม่ใช่ไปเที่ยว และรบกวนเวลางานของเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในต่างประเทศ

การไปดูงานต่างประเทศทำให้กรรมาธิการได้รับความรู้และข้อมูลเชิงลึกจากสถานที่จริง เป็นการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ และเป็นการละลายพฤติกรรมให้สมาชิกสามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น

ตัดงบซื้อแท็บเล็ตแจก เพราะ ‘ใช้เล่นมากกว่าทำงาน’

     ทั้งนี้ในที่ประชุมยังมีการเสนอรายงาน อีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ ให้มีการยกเลิกการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ส่วนตัวแบบพกพาให้แก่สมาชิกรัฐสภา

     รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอสภาพปัญหาไว้ว่า เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ในการดำเนินการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ส่วนตัวแบบพกพาให้แก่สมาชิกรัฐสภาทุกคน เพื่อใช้ประโยชน์ ในการปฏิบัติราชการ เช่น ใช้ค้นหาข้อมูล กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ติดต่อการทำงานระหว่างสมาชิกรัฐสภากับคณะกรรมาธิการและเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

     แต่โดยข้อเท็จจริงจะมีสมาชิกบางคนเท่านั้นที่นำมาใช้เพื่อปฏิบัติงานอย่างแท้จริง อีกทั้งในปัจจุบันเครื่องโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาทุกคนมีใช้ มีประสิทธิภาพใช้งานอย่างหลากหลายเช่นเดียวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ส่วนตัวแบบพกพาที่สำนักงาน เลขาธิการทั้งสองสภาจัดให้การจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ส่วนตัวแบบพกพาให้แก่สมาชิกรัฐสภาไม่ได้มีการนำมาใช้งานอย่างจริงจัง ให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป จึงเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

     จึงเสนอว่า ให้มีการยกเลิกการจัดสรรงบประมาณจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ส่วนตัวแบบพกพาให้แก่สมาชิกรัฐสภา เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาทุกคนมีเครื่องโทรศัพท์มือถือที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพเท่ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ส่วนตัวแบบพกพา ที่สำนักงานเลขาธิการทั้งสองจัดให้ และให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดทำแอปพลิเคชันเพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติราชการให้แก่สมาชิกรัฐสภา เช่น การค้นหาข้อมูล กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ติดต่อการทำงานระหว่างสมาชิกรัฐสภากับคณะกรรมาธิการ และเจ้าหน้าที่ โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และทันสมัย

     สภาพปัญหาและข้อเสนอดังกล่าว ดูเหมือนจะพิจารณาจากการทำหน้าที่ของสภาในหลายชุดที่ผ่านมา ทั้งส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งการเสนอให้ยกเลิกจัดสรรงบประมาณในการไปศึกษาดูงานต่างประเทศไปเลย ก็ดูจะเป็นการแก้ปัญหาแบบสุดโต่งทีเดียว

หากมีความจำเป็นจะต้องไปดูงานจริง ต้องทำให้เป็นกิจจะลักษณะ ไม่ใช่ไปเที่ยว

ห้ามไปดูงานต่างประเทศ นโยบายอันดับต้นๆ ของ ‘บิ๊กตู่’

     การพิจารณาทบทวนการเดินทางไปศึกษาดูงานยังต่างประเทศ คือนโยบายต้นๆ ที่ถูกประกาศจาก พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมให้คณะทำงานทุกภาคส่วน รวมถึงข้าราชการทุกกระทรวง กรม กอง จนถึงหน่วยงานท้องถิ่น รัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายการ ‘ดูงาน’ อย่างเคร่งครัด

ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหานี้ ครม. ได้ออกมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 โดยถูกบันทึกเป็นหนังสือลงวันที่ 5 มีนาคม 2558 ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ส่งถึง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ในเวลานั้น) รองนายกฯ รัฐมนตรี และหน่วยงานต่างๆ ระบุว่า

ครม. เห็นว่าเพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณภาครัฐในการเดินทางไปศึกษาดูงาน การจัดประชุมอบรม สัมมนาในต่างประเทศ และสามารถนำเงินงบประมาณดังกล่าวไปใช้ในแผนงานโครงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงมีมติให้ทุกส่วนราชการถือปฏิบัติ ดังนี้

     1. ให้หัวหน้าส่วนราชการ (กระทรวง กรม) หรือเทียบเท่า ผู้บริหารของส่วนราชการทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น กรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ นิติบุคคลที่รัฐถือหุ้น งดเว้นการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ยกเว้นกรณีเข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนาตามพันธกรณี ข้อตกลงระหว่างประเทศหรือหลักสูตรการศึกษาที่ได้กำหนดไว้แล้ว โดยหากมีความจำเป็นให้ขออนุมัติต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นรายกรณี และให้รวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรีทราบเป็นรายเดือน ทั้งนี้ ขอความร่วมมือหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ปฏิบัติในแนวทางเดียวกันด้วย

     2. หากหน่วยงานเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาดูงาน อบรม หรือสัมมนา ให้ปรับเปลี่ยนเป็นการศึกษาดูงานภายในประเทศแทน โดยเฉพาะการศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ หรือให้พิจารณาเชิญวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาบรรยาย ซึ่งจะได้ประโยชน์และเป็นการประหยัดงบประมาณยิ่งขึ้น

     3. ให้กระทรวงการคลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ข้าราชการเดินทางด้วยเครื่องบินในชั้นโดยสาร ดังนี้

     3.1 ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (อธิบดีหรือเทียบเท่าผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการ เอกอัครราชทูต รองปลัดกระทรวง) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ ให้เดินทางภายในประเทศในชั้นประหยัดและเดินทางต่างประเทศในชั้นธุรกิจ

     3.2 ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ประเภทอำนวยการ ระดับสูง ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ให้เดินทางทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในชั้นประหยัด ทั้งนี้ ในระหว่างที่กระทรวงการคลังดำเนินการปรับปรุงระเบียบฯ ให้ข้าราชการถือปฏิบัติตามแนวทางข้างต้นตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

     นี่คือตัวอย่างรูปธรรมของการใช้อำนาจทางกฎหมายให้หน่วยงานต่างๆ ถือปฏิบัติตามมติครม. อย่างเคร่งครัด ยังไม่นับรวมถึงการที่ พล.อ. ประยุทธ์ ออกมาให้สัมภาษณ์ กำชับหลายต่อหลายครั้งถึงมาตรการเหล่านี้ และยังมีผู้เสนอให้ออก ม.44 กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการไปดูงานยังต่างประเทศด้วย แต่ที่ผ่านมาก็กลับเกิดเหตุการณ์ในหลายกรณีเช่น

 

กรณีฉาว ‘ดูงานต่างประเทศ’

     ปรากฏเป็นข่าวคราวอยู่หลายหน สำหรับกรณีการเดินทางไปศึกษาดูงานยังต่างประเทศ อาทิเช่น

     เดือนเมษายน ปี 2559 ได้มีการเผยแพร่หนังสือร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งอ้างว่าเป็นพนักงาน กกต. ผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ในหมู่นักการเมือง ผู้บริหารสำนักงาน กกต. ข้าราชการหน่วยงานอื่น รวมถึงผู้สื่อข่าว โดยมีใจความสำคัญระบุถึงนายกฯ ที่ได้เคยสั่งการห้ามข้าราชการไปดูงานต่างประเทศเพราะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินนั้น  แต่คณะกรรมการ กกต. ตีความแล้วบอกว่า ท่านห้ามเฉพาะข้าราชการ แต่ กกต. ไม่ใช่ราชการ ฉะนั้นจึงไปได้ และจากนั้นมาคณะกรรมการ กกต. ไปดูงานต่างประเทศกันเป็นว่าเล่น โดยอาศัยดูงาน 1 วัน และเที่ยว 5-8 วัน โดยขนทีมที่ปรึกษาไปเกือบทั้งหมดทุกครั้ง เสียค่างบประมาณครั้งละ 2-5 ล้านบาททุกครั้ง ขณะที่ กกต. ได้ชี้แจงโดยยืนยันว่า การเดินทางไปต่างประเทศของ กกต. ร่วมกับนักศึกษา พตส. ทั้ง 4 ประเทศ เป็นการไปดูงานการเลือกตั้ง ที่ทางอนุกรรมการจัดทำหลักสูตรและผู้บริหารสถาบันได้มีการพิจารณาโดยยึดหลักว่า ประเทศที่จะเดินทางไปนั้นต้องมีการจัดการเลือกตั้ง

     อีกกรณีก็คือ มีเพจหนึ่งในเฟซบุ๊กออกมาเผยภาพการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศของ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) โดยเพจดังกล่าวได้ระบุข้อความ ‘หน่วยงานใต้จมูกนายกฯ ดูงานตรวจราชการที่ Universal Studios’ เดือดร้อน สปน. ต้องรีบออกมาชี้แจงถึงการเดินทางไปดูงานในครั้งนั้นว่า เป็นโครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ช่วยผู้ตรวจราชการมืออาชีพ ปีงบประมาณ 2560 ระหว่างวันที่ 12-15 มกราคม จำนวน 4 วัน ที่ประเทศสิงคโปร์มาแสดงยืนยัน โดยมีเนื้อหาของเอกสารเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ‘การศึกษาดูงานมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระบบการตรวจราชการและระบบการบริหารจัดการ โดยนำมาปรับใช้ในการตรวจราชการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น’

     และยืนยันถึงการเดินทางไปยูนิเวอร์แซล สตูดิโอว่า เป็นการเดินทางไปดูวันที่เดินทางกลับ ซึ่งเป็นวันหยุดและรอขึ้นเครื่องกลับในเวลา 21.00 น. โดยไปดูระหว่างเวลา 10.00-14.00 น. ซึ่งเป็นช่วงว่าง คณะที่ไปศึกษาดูงานจึงเข้าไปดูเพื่อศึกษาการบริการจัดการแหล่งท่องเที่ยว โดยไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มจากโครงการแต่อย่างใด และยืนยันทุกโครงการได้ประโยชน์และสามารถชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นของการศึกษาดูงานได้

     และที่เห็นจะเป็นข่าวฮอตมากที่สุด เป็นกระแสวิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์ กรณีที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ เดินทางไปประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN-US Defense Informal Meeting) ระหว่างวันที่ 29 กันยายนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2559 ณ มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ว่าเป็นการใช้งบประมาณอย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะค่าเดินทางที่สูงเกินจริง วงเงินกว่า 20 ล้านบาท นั่งเครื่องการบินไทยแบบเหมาลำ พร้อมคณะผู้ติดตาม 38 คน

     “ยืนยันว่าการเดินทางครั้งนี้ไม่ได้ไปเที่ยว ลงเครื่องเสร็จก็ไปทำงาน และเดินทางกลับ ส่วนอาหารที่ทานก็เป็นอาหารไทยธรรมดา เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ไม่ได้มีอาหารพิเศษมาจากที่ไหน” พล.อ. ประวิตร กล่าว

     ขณะที่ พล.ต. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า มีความจำเป็นในการต้องเช่าเหมาลำ เนื่องจากไม่มีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ ส่วนราคาเช่าเหมาลำนั้น เป็นราคากลางที่ไม่เคยมีการกำหนดมาก่อน จึงต้องให้บริษัทการบินไทย ประมาณการค่าใช้จ่ายให้ตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ และมองเป็นเรื่องดีที่ประชาชนตื่นตัวในการตรวจสอบภาครัฐ

     นี่เป็นเพียงปรากฏการณ์บางส่วนที่สะท้อนให้เห็นถึงปฏิกิริยาที่มีต่อการใช้งบประมาณภาครัฐในการเดินทางไปศึกษาดูงานยังต่างประเทศ ยังมีอีกมากมายทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ ท้องถิ่น หรือแม้แต่องค์กรอิสระ กระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้วย

     อย่างไรก็ตาม พล.อ. ประยุทธ์ เคยให้สัมภาษณ์ต่อกรณีการไปดูงานต่างประเทศ เมื่อกุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมาว่า

     “ต้องมาตีกรอบกันว่าควรจะทำอย่างไร จะได้ชัดเจนขึ้น จะบอกว่าไม่ให้ดูอะไรกันเลยมันก็ลำบาก เพราะหลายประเทศเขาก็มีการดูกันอยู่”

     แน่นอนว่าหาก ครม. ที่มี พล.อ. ประยุทธ์​ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร เห็นชอบกับการตัดงบดูงานครั้งนี้ และบรรจุการปฏิรูปกรณีไปดูงานต่างประเทศอย่างจริงจัง กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด และตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้ก็คือสมาชิกรัฐสภา อันประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. ที่กำลังจะเข้ามาทำหน้าที่ในอนาคตนั่นเอง

 

ภาพประกอบ: narissara k.

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising