×

‘หุ่นยนต์ยักษ์’ จากเศษเหล็กเหลือใช้ ฝีมือศิลปินไทย สร้างรายได้มหาศาล

21.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ไพโรจน์ ถนอมวงษ์ ศิลปินไทย วัย 43 ปี ผลิตหุ่นยักษ์คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนและฮีโร่ชื่อดังจากเศษเหล็กเหลือใช้ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับเขาอย่างมหาศาล โดยที่หุ่นแต่ละตัวสนนราคาเริ่มตั้นตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนบาท
  • เขาเปิด ‘บ้านหุ่นเหล็ก’ เป็นของตัวเองที่อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง เพื่อให้ผู้ที่สนใจเดินทางมาเยี่ยมชมและฝึกปรือวิชาสร้างหุ่นเศษเหล็กจากเขา

     สมัยเด็กๆ เชื่อว่าใครหลายคนน่าจะเคยอ่านหนังสือการ์ตูน ดูแอนิเมชันฮีโร่จนเกิดเป็นความชื่นชอบในระดับที่มากน้อยแตกต่างกันไป และสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตให้กับแต่ละคนไม่เหมือนกัน

     สำหรับ ‘ไพโรจน์ ถนอมวงษ์’ ศิลปินไทย วัย 43 ปี เขาเองก็เคยเป็นเด็กที่ชื่นชอบคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนฮีโร่มาก่อน โดยเริ่มต้นจากการสะสมโมเดลฟิกเกอร์ตัวการ์ตูนต่างๆ ก่อนที่เมื่อโตขึ้นเขาจะสร้างโมเดลหุ่นขนาดยักษ์ด้วยกำลังของตัวเอง

 

 

ความหลงใหลที่นำไปสู่ช่องทางประกอบอาชีพและรายได้มหาศาล

     ปัจจุบัน ไพโรจน์ได้เปลี่ยนแปลงความชื่นชอบและความหลงใหลที่ตนมีในวัยเด็กให้กลายเป็นช่องทางประกอบอาชีพมาเป็นระยะเวลากว่าสิบปี ผ่านการนำเศษเหล็กเหลือใช้หมดสภาพและขึ้นสนิมจากวัสดุอย่างซากรถยนต์เก่ามาหลอมประกอบเป็นโมเดลหุ่นยักษ์คาแรกเตอร์ชื่อดัง เช่น หุ่นเหล็กสไปเดอร์แมน, หุ่นเหล็กทรานส์ฟอร์เมอร์ส, หุ่นเหล็กฮัลค์ หรือจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ โดยที่บางตัวยังมาพร้อมกับกลไกในการขยับเคลื่อนไหวได้ด้วย

     หุ่นแต่ละตัวสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล สนนราคาอยู่ที่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและระยะเวลาในการสร้าง

 

 

     นอกจากนี้เขายังเปิด ‘บ้านหุ่นเหล็ก’ เป็นของตัวเองที่ถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้แวะมาเยี่ยมเยียน รวมถึงเป็นศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรมจากเศษเหล็ก เพื่อเผยแพร่ความรู้และทักษะความสามารถในการสร้างหุ่นเหล็กให้กับผู้ที่อยากประกอบอาชีพนี้

 

 

วัดพระแก้วมียักษ์เฝ้าประตู วัดตะเคียนก็มียักษ์ทรานส์ฟอร์เมอร์ส!

     หนึ่งในหุ่นยักษ์คาแรกเตอร์ยอดฮิตที่ไพโรจน์สร้างขึ้นจนชำนาญหนีไม่พ้น ‘หุ่นทรานส์ฟอร์เมอร์ส’ เพราะด้วยวัตถุดิบต้นแบบที่เป็นรถ รวมถึงความนิยมของคาแรกเตอร์ คนจึงให้ความสนใจกับหุ่นในตระกูลนี้เป็นจำนวนมาก กระทั่งวัดตะเคียน ในจังหวัดนนทบุรี ยังนำหุ่นเหล็กยักษ์จำนวน 3 ตัวไปตั้งภายในพื้นที่

     หลวงพี่วิเชียร จากวัดตะเคียน ให้สัมภาษณ์อย่างติดตลกไว้ว่า “หุ่นที่เห็นอยู่ไม่ได้มีจุดประสงค์เกี่ยวกับเรื่องวิญญาณแต่อย่างใด แต่เป็นหุ่นที่ช่วยแก้เบื่อให้เด็กๆ ที่เดินทางมาวัดกับผู้ปกครอง”

 

 

     ขณะที่เจ้าของผลงานอย่างไพโรจน์ให้สัมภาษณ์กับ AFP ว่า นอกจากหุ่นและตัวการ์ตูนต่างๆ แล้ว ล่าสุดก็เริ่มแตกแขนงไปเป็นการทำเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ รถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ โดยสินค้าหรือหุ่นยนต์ที่คนชอบในแต่ละยุคก็จะไม่เหมือนกัน เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เอเลี่ยนและพรีเดเตอร์จะเป็นตัวที่คนชอบ แต่ปัจจุบันก็คงหนีไม่พ้นทรานส์ฟอร์เมอร์ส

 

 

     เขาบอกว่า “ช่วงแรกๆ สิ่งที่ผมทำคือการลองผิดลองถูก แต่ที่เห็นทุกวันนี้คือสิบกว่าปีมาแล้ว เลยดูเหมือนว่ามันง่าย ราคาของหุ่นแต่ละตัวจะเริ่มต้นตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนบาท แล้วแต่ความยากง่ายของมัน บอกค่อนข้างยากว่าตัวไหนราคาเท่าไร เพียงแต่เราต้องดูจากระยะเวลาที่เราทำงานด้วย อย่างบางตัวทำภายในหนึ่งเดือนเสร็จ บางตัวทำสองเดือนเสร็จ ราคาก็ต่างกัน

    “ถ้าปัจจุบัน คนไทยจะรู้จักพวกงานไม้แกะสลักทางภาคเหนือที่มีมานานแล้ว แต่ผมว่าบ้านเราเพิ่งจะมีงานที่ทำเป็นโรบอตหุ่นยนต์ได้ไม่นาน ฉะนั้นในรุ่นผมเองก็คงทำได้จนถึงเวลาหนึ่ง แต่ถ้ามีคนสนใจชิ้นงาน เราก็อยากถ่ายทอดให้คนอื่นทำเป็นด้วย อยากให้งานแบบนี้คงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ทำสถานที่ตรงนี้ให้เป็นที่รู้จัก และทำให้คนรู้จักจังหวัดอ่างทองมากขึ้น”

 

 

     หากคุณสนใจผลงานหุ่นเหล็กของไพโรจน์ หรืออยากฝึกปรือวิชาการสร้างหุ่นจากเศษเหล็กเหลือใช้จากเขา สามารถเดินทางไปได้ที่ ‘บ้านหุ่นเหล็ก’ ถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง หรือติดต่อสอบถามได้จากลิงก์นี้ www.facebook.com/BanHunLek

 

Photo: LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X