×

ทำความรู้จัก ‘ไลฟ์โค้ช’ อาชีพที่ใครๆ ก็พร้อมจะหมั่นไส้ได้ตลอดเวลา!

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • ไลฟ์โค้ช (Life Coach) หรือโค้ชชีวิต หมายถึงผู้ที่มีศาสตร์ในการไกด์แนวทางคนและคอยเป็นที่ปรึกษาให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหาและการไปสู่เป้าหมายชีวิต โดยใช้เครื่องมือการตั้งคำถามเพื่อสะท้อน (Reflective) แนวทางต่างๆ กลับไปยังตัวผู้ที่รับการโค้ช เสมือนเป็นกระจกเงาบานหนึ่ง
  • ศาสตร์ของไลฟ์โค้ชมีความเกี่ยวพันกับหลักการของวิทยาศาสตร์ทางอารมณ์ในเรื่องการเข้าใจตัวเอง (Intrapersonal Intelligence) ซึ่งเป็นหนึ่งในสององค์ประกอบของพฤติกรรมทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ควบคู่กับการเข้าใจคนรอบข้าง (Interpersonal Intelligence)
  • ในเชิงหลักจิตวิทยา ไลฟ์โค้ชเป็นอาชีพที่ตอบโจทย์ทฤษฎีสามเหลี่ยมลำดับขั้นความต้องการขั้นพื้นฐานของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy) ได้ทุกประการ ทั้งการเป็นอาชีพอิสระที่รายได้ดี ได้รับการยอมรับจากคนที่เชื่อถือและได้ช่วยเหลือผู้คน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่คนจำนวนไม่น้อยอยากจะหันมาประกอบอาชีพไลฟ์โค้ชกันมากขึ้น
  • การนำศาสตร์ไลฟ์โค้ชเรื่องการเข้าใจตัวเองและการวางเป้าหมายในชีวิตมาบูรณาการเข้ากับระบบการศึกษาไทยอาจจะช่วยแก้ปัญหาเด็กไทยโตไปแต่ไม่รู้อยากจะทำอะไรให้รู้จักตัวเองมากขึ้น

     ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า ‘ไลฟ์โค้ช’ (Life Coach) คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับคนทำอาชีพนี้?

     “อาชีพที่ใครๆ ก็พร้อมจะหมั่นไส้ได้ตลอดเวลา”

     บอย-วิสูตร แสงอรุณเลิศ นักพูด นักเขียน เจ้าของเพจ Boy’s Thought หนึ่งในผู้ที่เชื่อมั่นในศาสตร์ไลฟ์โค้ช พูดกับเราถึงความเห็นที่เขาคิดว่าคนทั่วไปน่าจะมีต่ออาชีพไลฟ์โค้ช เพราะการที่ต้องทำให้คนเชื่อถือ ดูเป็นที่พึ่งพา และช่วยเหลือคนได้ตลอดเวลา ย่อมแลกมาด้วยอารมณ์ความรู้สึกเช่นนั้นของคนนอกที่มองเข้ามา

     จะด้วยสาเหตุด้านภาพลักษณ์ การพีอาร์โฆษณาอย่างโหมกระหน่ำบนโซเชียลมีเดีย การเกิดขึ้นของโค้ชเป็นจำนวนมหาศาลจนล้นทะลักตลาดในปัจจุบัน หรือกรณีที่หลายคนตั้งข้อสังเกตกันว่าไลฟ์โค้ช ‘บางกลุ่ม’ ใช้วิชาชีพต่อยอดมูลค่าทางการตลาดให้กับตัวเองเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัว จัดคอร์สสัมมนาโค้ชเป็นหน้าฉากแฝงการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ทุกข้อพิพาทล้วนแล้วแต่แต่งแต้มเติมสีให้ไลฟ์โค้ชถูกมองด้วยสายตาเชิงลบอย่างเลี่ยงไม่ได้

     หากมองกันแบบเปิดใจและเป็นกลาง ‘ไลฟ์โค้ช’ ที่ประกอบอาชีพด้วยเจตนารมณ์อยากช่วยเหลือผู้คนก็ยังมีอยู่ ที่สำคัญผู้ที่จะเป็นไลฟ์โค้ชอย่างถูกต้องก็จำเป็นจะต้องผ่านหลักสูตรการศึกษาและอบรมจนได้ใบรับรองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจ (Cognitive and Decision Sciences) เองก็ยังเชื่อว่าไลฟ์โค้ชเป็นศาสตร์ที่ช่วยเหลือมนุษย์ได้จริงๆ

     THE STANDARD จึงอยากพาคุณไปทำความรู้จักกับไลฟ์โค้ชให้มากขึ้น ว่ารูปแบบวิธีการทำงานของคนประกอบอาชีพนี้เป็นอย่างไร มีที่มาที่ไปเช่นไร น่าเชื่อถือจริงหรือไม่ และเหตุใดจึงเป็นอาชีพที่ถูกตั้งข้อสังเกตได้มากถึงขนาดนี้

     ก่อนที่จะตัดสินใจอีกครั้งว่าอาชีพนี้เป็นอย่างไรในสายตาของคุณ

 

บอย-วิสูตร แสงอรุณเลิศ นักพูด นักเขียน เจ้าของเพจ Boy’s Thought

 

‘ไลฟ์โค้ช’ คือใคร?

     ก่อนจะทำความรู้จักว่าไลฟ์โค้ชเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหนอย่างไร ก็คงจะต้องอธิบายถึงที่มาที่ไปของคำว่า ‘โค้ช’ กันเสียก่อน

     วิสูตร แสงอรุณเลิศ อธิบายว่าเดิมทีในอดีต คำว่าโค้ชมีที่มาจากรากศัพท์ของคำว่า ‘รถม้า’ (ถ้านึกไม่ออกลองดูโลโก้กระเป๋าแบรนด์เนม Coach) เพราะฉะนั้นคำว่าโค้ชจึงไม่ได้หมายถึงการสั่งสอนคนให้ทำในสิ่งต่างๆ แต่เป็นการพาคนจากจุดหนึ่งไปยังเป้าหมายปลายทางที่ผู้โดยสารจะเป็นคนกำหนดเอง โค้ชมีบทบาทเป็นแค่พาหนะรับใช้เท่านั้น ก่อนที่ต่อมาความหมายจะเริ่มเพี้ยนออกไปเรื่อยๆ ตามการใช้งาน

     ด้าน แครธริน ทรงพัฒนะโยธิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจ (Cognitive and Decision Sciences) และเจ้าของผลงานหนังสือ Genius ทางอารมณ์ เสริมว่าคำว่า “โค้ช” เพิ่งจะถูกนำมาใช้แทนคำว่าติวเตอร์สอนความรู้คนเมื่อประมาณศตวรรษที่ 19 ที่เมืองออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยในระยะหลังๆ คำว่าโค้ชถูกนำมาใช้กับศาสตร์ด้านกีฬามากขึ้น

     “มันเกิดการตั้งข้อสังเกตกันว่าการที่โค้ชตัดสินใจลาออกจากทีมกีฬาทีมใดทีมหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อผลการแข่งขันที่ดีขึ้นหรือแย่ลงได้ทั้งหมด เขาเลยเข้าไปศึกษาว่าโค้ชมีวิธีการสอนและเทรนนักกีฬาของตนอย่างไร เพื่อให้ได้ผลการแข่งขันที่ต้องการ หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการนำทฤษฎีของโค้ชมาแตกแยกย่อยประยุกต์ใช้กับศาสตร์ในด้านอื่นๆ เช่น ด้านธุรกิจหรือด้านการค้นหาเป้าหมายในชีวิตจนกลายมาเป็นโค้ชหลากหลายประเภทเหมือนที่เราเห็นในปัจจุบัน”

     ขณะที่ไลฟ์โค้ช (Life Coach) หรือโค้ชชีวิต ก็หมายถึงผู้ที่มีศาสตร์ในการไกด์แนวทางคนและคอยเป็นที่ปรึกษาให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหาและการไปสู่เป้าหมายชีวิต โดยใช้เครื่องมือการตั้งคำถามเพื่อสะท้อน (Reflective) แนวทางต่างๆ กลับไปยังตัวผู้ที่รับการโค้ช ซึ่งจะเป็นคนตอบคำถามทั้งหมดด้วยตัวเอง โค้ชจะไม่มีสิทธิบอกหรือแนะนำให้คนอื่นทำตามความคิดของตัวเองแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น กรณีไปปรึกษาไลฟ์โค้ชว่าเกิดความทุกข์เพราะอยากมีรายได้เพิ่ม โค้ชจะไม่ได้แนะนำให้ไปขายของออนไลน์ หรือเปิดกิจการร้านน้ำแข็งใสบิงซู แต่จะใช้คำถามไกด์แนวทางคนที่มาปรึกษาว่ามีความสามารถและความถนัดในด้านใด จะเอาความสามารถที่มีไปต่อยอดใช้ทำอะไรได้บ้าง

     ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น โค้ชจะทำหน้าที่เสมือนเป็นกระจกเงาสะท้อนตัวตนและวิธีแก้ไขปัญหาให้คนส่อง แน่นอนว่าตัวเราเองก็เป็นโค้ชให้ตัวเองได้ เพราะคนเราทุกคนมีคำตอบในใจให้ตัวเองเสมอ แต่ด้วยปัญหาที่กำลังเผชิญจึงทำให้หลงลืมการตั้งคำถามกับตัวเอง รวมถึงกลไกการปิดกั้นความรู้สึกที่มนุษย์มักจะพยายามไม่รื้อฟื้น ย้อนคิดถึงเรื่องราวที่ทำให้ตัวเองรู้สึกแย่หรือสิ่งที่ไม่อยากจำ

     หรือแม้แต่ พ่อ, แม่, เพื่อน, พี่น้อง, ครูบาอาจารย์ หรือคนที่เราเคารพนับถือก็สามารถเป็นไลฟ์โค้ช เพื่อนคู่คิด มิตรที่ปรึกษาให้กับเราได้หมด แต่เนื่องจากมนุษย์ส่วนใหญ่ยามสวมบทที่ปรึกษามักจะข้ามสเต็ปไปนั่งแท่น ‘ผู้พิพากษา’ มากกว่า ไม่ได้เป็นการสะท้อนแนวคิดให้กับคนที่เข้ามาปรึกษาแต่เน้นการตัดสินและบอกวิธีแก้ปัญหาที่ตัวเองเชื่อว่าถูกตามประสบการณ์ของตน บ่อยครั้งจึงพบว่าแนวทางแก้ปัญหาของแต่ละคนย่อมได้ผลไม่เหมือนกัน ไลฟ์โค้ชจึงมีหน้าที่ตอบโจทย์สะท้อนวิธีแก้ปัญหาเฉพาะบุคคล

     ทั้งนี้ผู้ที่จะใช้คำเรียกแทนตัวเองว่าไลฟ์โค้ชได้ก็ต้องผ่านการศึกษาตามหลักสูตรและการอบรมตามชั่วโมงที่กำหนด กระทั่งได้รับใบรับรองการเป็นโค้ชจากสถาบันที่ขึ้นตรงและได้รับการรับรองมาตรฐานจาก ICF (International Coach Federation) หรือสหพันธ์โค้ชนานาชาติ โดยทั่วๆ ไปหลักสูตรการเรียนเป็นไลฟ์โค้ชจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาเฉลี่ยตั้งแต่ 1 ปีครึ่งเป็นต้นไป มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่หลักแสนบาท

 

‘เข้าใจตัวเอง-หาเป้าหมายชีวิต’ หนึ่งในเศษเสี้ยวของหลักการทางวิทยาศาสตร์

     จะว่าไปรูปแบบของหลักการของไลฟ์โค้ชบางส่วนก็มีความเกี่ยวข้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์อยู่เหมือนกัน เพราะแครธรินเล่าให้เราฟังว่าหลักการของไลฟ์โค้ชมีความเกี่ยวพันกับหลักการวิทยาศาสตร์ทางอารมณ์ในเรื่อง ‘การเข้าใจตัวเอง’ (Intrapersonal Intelligence) ซึ่งเป็นหนึ่งในสององค์ประกอบของพฤติกรรมทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ควบคู่กับการเข้าใจคนรอบข้าง (Interpersonal Intelligence)

     เธอบอกว่า “ที่เราสังเกตจากศาสตร์ไลฟ์โค้ชในทุกวันนี้คือการเน้นทำความเข้าใจกับตัวเองเป็นหลัก เป็นเสี้ยวหนึ่งของหลักการทางวิทยาศาสตร์ในด้านความฉลาดทางอารมณ์ ส่วนใหญ่ไลฟ์โค้ชจะเน้นไปที่เรื่องการระดมสมองหาเป้าหมายในชีวิต เช่น ถ้าอยากประสบความสำเร็จจะต้องทำอย่างไร อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถประสบความสำเร็จ เรื่องพวกนี้คือครึ่งเสี้ยวของวุฒิภาวะทางอารมณ์ทั้งนั้น”

     อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ต้องใช้คำว่า ‘บางส่วน’ ของไลฟ์โค้ชเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เพราะแครธรินมองว่า NLP (Neuro-Linguistic Programming: กระบวนการศึกษาภาษาพูดและภาษากายที่มีผลต่อระบบประสาท) ที่นับรวมเป็นหนึ่งในศาสตร์ด้านไลฟ์โค้ชยังจัดเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

     “ความต่างของสิ่งที่เราเรียน (ปริญญาโทด้าน Cognitive and Decision Sciences – วิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจ) และศาสตร์ไลฟ์โค้ชคือเรื่องของความเป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ เราต้องอ่านงานวิจัยที่มีการรับรองอย่างเป็นทางการจากประชาคมวิทยาศาสตร์ (Scientific Community) เพื่อหาหลักการต่างๆ และทฤษฎีที่มีการพิสูจน์แล้วมายืนยัน ขณะที่ NLP คือศาสตร์ที่ยังไม่ได้รับการรับรองตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ ถ้าเปรียบเทียบก็คล้ายกับโหราศาสตร์ที่อาจจะยังไม่สามารถพิสูจน์ถึงความถูกต้องของผลลัพธ์ ขณะที่วิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ความถูกต้องของผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำ 100% ด้วยหลักทางฟิสิกส์และชีววิทยา

     “แต่ถามว่าคนที่เรียนหลักการและทฤษฎีจะจบออกมาเป็นโค้ชที่เก่งเสมอไปไหม มันก็ไม่ใช่ เพราะเขาอาจจะสอบตกภาคปฏิบัติหรือการนำไปสอนคนอื่น ขณะที่โค้ชที่ไม่ได้เรียนตามหลักวิทยาศาสตร์พวกนี้มาไม่ได้ชำนาญด้านทฤษฎี แต่ก็อาจจะเก่งในการเปลี่ยนชีวิตคนให้ดีขึ้นได้ด้วยการโค้ช”

 

รายได้มหาศาล และความต้องการของตลาดที่ชอบพอกัน

     เมื่อเจาะไปถึงสาเหตุความนิยมของตลาดไลฟ์โค้ช หากมองในมุมของวิสูตร  เขาเชื่อว่าทัศนคติของคนไทยที่มีต่อจิตแพทย์มีส่วนไม่น้อยที่ทำให้วงการไลฟ์โค้ชบูม เพราะเมื่อคนส่วนใหญ่เกิดความเครียดสะสมหรือมีปัญหาชีวิตกลับไม่กล้าพาตัวเองเข้าไปพบหรือขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ เนื่องจากกลัวว่าคนอื่น (และตัวเอง) จะมองตัวเองว่าไม่ปกติ หรือเป็นบ้า! ขณะที่การเลือกไปพบไลฟ์โค้ชกลับให้ความรู้สึกของการไปสัมมนามากกว่าการบำบัดรักษา

     ฝั่งแครธรินบอกว่า “มนุษย์เรามีหลายประเภท บางคนเกิดมาแล้วอาจจะมีความสามารถในการเข้าใจตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาคอยบอกว่าทำอะไรแล้วถึงจะมีความสุข ขณะที่บางคนอาจจะต้องค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร อยากทำอะไร จนบางรายอายุ 30 ปีกว่าๆ แล้วก็ยังหาไม่เจอ เพราะมนุษย์เรามีหน้าตักความต้องการและทักษะที่ต่างกัน การต้องการความช่วยเหลือจึงมากน้อยต่างกันไป โค้ชประเภทต่างๆ จึงเกิดขึ้นมามากมายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น เช่น โค้ชช่วยหาเป้าหมาย โค้ชเสริมกลยุทธ์ และโค้ชเสริมทักษะเฉพาะด้าน ทำให้ตลาดไลฟ์โค้ชเป็นหนึ่งในตลาดที่ความต้องการของผู้บริโภคและผู้ผลิตมีปริมาณมากพอๆ กัน”

     และตามหลักจิตวิทยาก็ยังมีทฤษฎีสามเหลี่ยมลำดับขั้นความต้องการขั้นพื้นฐานของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy) ที่อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham  Maslow) นักจิตวิทยาชื่อดังผู้ล่วงลับได้คิดค้นขึ้นมา ซึ่งแครธรินมองว่าไลฟ์โค้ชเองก็เป็นอาชีพที่ตอบโจทย์ตามหลักจิตวิทยาดังกล่าวได้ครบถ้วนทุกประการ ทั้งส่วนฐานสามเหลี่ยม Physiological Needs และ Safety and Security เรื่องของอาหารและความปลอดภัย (เป็นอาชีพอิสระที่มีรายได้ดี) ลำดับถัดมา Love/Belonging และ Self-Esteem คือการได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และการได้รับการยอมรับ (ได้รับความเชื่อถือและการยอมรับจากคนถูกโค้ช) และส่วนของยอดสามเหลี่ยม Self-Actualization คือการทำดีให้กับสังคม (ได้ช่วยเหลือคน) จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนอยากมาเป็นไลฟ์โค้ชกันมากขึ้น

     ยิ่งเมื่อพูดถึงรายได้และผลตอบแทนที่โค้ชจะได้รับก็คงต้องใช้คำว่า ‘มหาศาล’ เลยทีเดียวหากเทียบกับสายอาชีพประเภทอื่น ส่วนใหญ่การโค้ชแบบตัวต่อตัวจะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นตั้งแต่ชั่วโมงละ 10,000 บาทขึ้นไป ขณะที่โค้ชบางรายก็มักจะเน้นขายคอร์สเป็นแพ็กเกจระยะยาว กล่าวคือ ต้องซื้อเป็นแพ็กเกจ 10 ชั่วโมงเป็นต้นไป จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเม็ดเงินจำนวนมหาศาลมีส่วนในการเย้ายวนผู้คนให้อยากหันมาประกอบอาชีพนี้กันมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ผสมปนเปทั้งโค้ชที่รู้จริงมีความสามารถ โค้ชขั้นฝึกหัด หรือแม้แต่โค้ชที่มองปัจจัยเรื่องเงินเหนือสิ่งอื่นใด จนทำให้คนวงนอกที่ไม่ได้สนใจในศาสตร์นี้เกิดความเข้าใจผิดและพากันเหมารวมอาชีพไลฟ์โค้ชว่าเข้าข่ายการมอมเมาคน ไม่ต่างจากกลุ่มก้อนลัทธิความเชื่ออะไรทำนองนั้น

     ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการด้านการกำหนดเรตราคากลางของการขายคอร์สไลฟ์โค้ชแต่อย่างใด เพราะจัดเป็นรูปแบบอาชีพที่คล้ายกับงานบริการหรืองานจำพวกตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของผู้บริโภคเป็นหลัก ปัจจัยของจำนวนเงินรายได้ที่โค้ชแต่ละคนจะได้รับจึงขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและความสุขของผู้ที่เข้ารับการโค้ช

     รวมถึงยังยังไม่มีองค์กรใดที่เข้ามากำกับดูแลควบคุมผู้ประกอบการในสายอาชีพนี้เหมือนสมาคมวิชาชีพด้านอื่นๆ เพราะถึงแม้จะมีองค์กรเฉพาะทางอย่างสหพันธ์โค้ชนานาชาติ หรือ ICF แต่ก็เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่แค่เพิกถอนหรือออกใบอนุญาตในการเป็นโค้ชเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบวิธีการทำงานของโค้ชหรือควบคุมการจัดเก็บเงินรายได้ของผู้ประกอบวิชาชีพนี้ ทำให้กลายมาเป็นช่องโหว่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มผู้ไม่หวังดีบางกลุ่มใช้เป็นช่องทางแสวงหาผลกำไรจนเกิดเป็นกรณีปัญหาและข้อพิพาทมากมายในสังคม

     ทุกวันนี้วงการไลฟ์โค้ชนับเป็นวิชาชีพที่เฟื่องฟูและได้รับความนิยมมาก  เช่นนั้นการจะมีสมาคมหรือหน่วยงานใดก็ตามที่มีหน้าที่ควบคุมกำกับมาตรฐานการทำงานในวิชาชีพไลฟ์โค้ชให้เป็นระบบระเบียบโปร่งใส เพื่อคัดกรองและยกระดับอาชีพไลฟ์โค้ชให้ถูกตามครรลองก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย เพื่อที่คนในสังคมจะได้เกิดความรู้ความเข้าใจ และทัศนคติที่เปลี่ยนไปต่อผู้ที่ประกอบอาชีพนี้

     ส่วนประเด็นเกณฑ์มาตรฐานและไม้บรรทัดที่จะใช้วัดไลฟ์โค้ชแต่ละคนเมื่อถึงเวลานั้นก็คงจะต้องหารือกันอีกที

 

แครธริน ทรงพัฒนะโยธิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจ

 

เหมาะสมหรือไม่ หากเปลี่ยนสัมมนาเป็นพื้นที่จับคู่ทางธุรกิจ

     นอกจากประเด็นเรื่องรายได้และการเกิดขึ้นของโค้ชเป็นจำนวนมากที่กำลังกลายเป็นข้อพิพาทให้คนในสังคมได้ตั้งข้อถกเถียงกัน กรณีของไลฟ์โค้ชที่นำวิชาชีพและความน่าเชื่อถือของตัวเองไปต่อยอดทำธุรกิจการค้า หรือกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าจัดพื้นที่สัมมนาขึ้นมาเป็นหน้าฉากของพื้นที่จับคู่ทางธุรกิจก็นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย

     “เหมาะสมหรือไม่เมื่อไลฟ์โค้ชจะทำธุรกิจ โดยใช้พื้นเพความน่าเชื่อถือในวิชาชีพมาต่อยอดฐานนิยม” เราถามคำถามเดียวกันนี้กับทั้งวิสูตร และ โค้ชจิมมี่-พจนารถ ซีบังเกิด ไลฟ์โค้ชรุ่นบุกเบิกของไทยและผู้ก่อตั้งสถาบันพัฒนาโค้ช Jimi The Coach ซึ่งทั้งคู่ก็ให้ความเห็นเหมือนๆ กันว่า ‘ไม่ผิด’

     วิสูตรมองว่าคนที่เลือกซื้อ เชื่อ และสนับสนุนก็ย่อมผ่านการใคร่ครวญและการตัดสินใจมาดีแล้ว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเป็นไลฟ์โค้ชก็ต้องกินต้องใช้และมีรายได้ มันจึงขึ้นอยู่กับผู้บริโภคมากกว่าว่าตัดสินใจจ่ายเงินด้วยความรู้สึกหรือเหตุผล ถ้าเขาคิดว่าเงินที่จ่ายไปแลกมาด้วยความสบายใจและความพออกพอใจของตัวเอง คนอื่นๆ ก็ไม่มีสิทธิไปตัดสินเขา

     ขณะที่พจนารถบอกว่า “มันอยู่ที่การตัดสินใจของผู้บริโภคหรือคนที่เขาเชื่อ จริตคนเรามันไม่เหมือนกัน จะผิดอย่างเดียวคือในกรณีคนเป็นโค้ชมีเจตนาจะหลอกเงินคนจริงๆ เห็นเขารวยก็หวังจะเอาประโยชน์จากเขา ลึกๆ แล้วคนเป็นโค้ชแต่ละคนย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าตัวเองจริงใจหวังจะช่วยคนแก้ปัญหาหรือหวังแค่เงิน”

     ในฐานะของคนนอกวงการ เราย่อมรู้สึกไม่ต่างจากใครหลายคนว่าการกระทำของไลฟ์โค้ชบางรายเหมาะสมแค่ไหนกับตำแหน่งที่แปะกำกับไว้หน้าชื่อ ลองจินตนาการเล่นๆ หากอาจารย์วิชาวิทยาศาสตร์ทำธุรกิจขายเครื่องรางของขลังให้กับลูกศิษย์ แม้จะไม่ผิดในเชิงหลักปฏิบัติเพราะมนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีในการเลือกเชื่อถือตามปัจเจก แต่ในเชิงจรรยาบรรณวิชาชีพการเป็นครูย่อมเลี่ยงไม่ได้กับการตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ซึ่งผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดก็คือตัวนักเรียนหรือผู้บริโภคนั่นเอง

     ส่วนประเด็นพื้นที่สัมมนาคอร์สไลฟ์โค้ชกลายเป็นหน้าฉากการจับคู่ทางธุรกิจ หลายๆ ฝ่ายที่เราได้พูดคุยมองว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญเสียมากกว่า เนื่องจากการเจาะตลาดและกลุ่มเป้าหมายของโค้ชแต่ละคนต่างกัน โค้ชบางคนเน้นจับตลาดล่าง โค้ชให้คนฐานะยากจนในชุมชนแออัด ขณะที่บางรายอาจจะขยับขึ้นไปจับกลุ่มผู้บริโภคตลาดไฮเอนด์ที่มีรายได้และกำลังซื้อสูง ผู้ที่เข้าร่วมคอร์สสัมมนาโค้ชแต่ละคนจึงมีฐานะอาชีพที่แตกต่างกันออกไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คอร์สสัมมนาไลฟ์โค้ชจะเป็นการคัดกรองผู้เข้าร่วมสัมมนาที่มีความใกล้เคียงกัน กระทั่งบางรายที่คุยกันถูกคอก็จับมือกันเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ

     ฝั่งวิสูตรเองก็ได้ให้คำนิยามในการจำแนกไลฟ์โค้ชออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ ‘ประทัด’ ที่เรียกร้องความสนใจเก่ง ชวนให้คนลุ่มหลงอะไรบางอย่าง สังเกตได้ง่ายๆ ว่ามักจะนำ ‘ความรวย’ มาหลอกล่อ เพราะเป็นวิธีที่เรียกคนได้เยอะ และเป็นสาเหตุของมุมมองเชิงลบที่มีต่อวงการไลฟ์โค้ช ส่วนอีกฝั่งคือ ‘ประทีป’ ที่หมายถึง ดวงไฟ ไลฟ์โค้ชประเภทนี้จะไม่ได้เก่งเรื่องการเรียกร้องความสนใจ แต่อยากจะให้คนได้ยกระดับปัญญา โดยมีข้อสังเกตโค้ชง่ายๆ 3 วิธีคือ มีความรู้จริง ประสบความสำเร็จในชีวิต และสามารถยืนระยะความสำเร็จดังกล่าวได้ยาวนาน

     และยังบอกอีกด้วยว่า “วงการโค้ชในไทยตอนนี้ไม่ต่างอะไรจากฟองสบู่ที่รอวันระเบิด มีโค้ชต่างๆ เกิดขึ้นมาเต็มไปหมด วงการไลฟ์โค้ชมันโตเร็วเกินไปจึงเป็นธรรมชาติสำหรับฟองสบู่ที่สุดท้ายก็จะทำลายตัวเอง อีกไม่นานคนก็จะหมดความสนใจกันเอง เพราะคนที่สนใจก็เรียนไปหมดทุกคอร์สจนไม่มีอะไรให้เรียน ท้ายที่สุดไลฟ์โค้ชก็จะได้รับความนิยมแค่ระดับปานกลาง ไม่ได้เฟื่องฟูมากมายอย่างที่เราเห็นเฉกเช่นปัจจุบัน”

 

ใช้ศาสตร์ไลฟ์โค้ชในห้องเรียนอาจดีกับระบบการศึกษา เพราะช่วยให้เด็กเข้าใจตัวเอง

     ในช่วงท้ายของบทสนทนาระหว่างเรากับวิสูตร แอ๊ด-พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ บรรณาธิการภาพถ่ายประจำสำนักข่าว THE STANDARD ก็จุดประเด็นที่ชวนคิดไม่น้อย เมื่อเจ้าตัวสงสัยว่าการศึกษาไทยจะเป็นเช่นไรหากคุณครูและอาจารย์สามารถนำทักษะไลฟ์โค้ชมาช่วยต่อยอดการสอนเด็กนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาแนะแนวที่แปรสภาพตัวเองเป็น ‘คาบว่าง’ เพื่อแก้ปัญหาที่เด็กไทยหลายรายมักจะหาตัวเองไม่เจอว่าโตขึ้นไปอยากจะเป็นอะไรนอกจากแค่เป็นผู้ใหญ่!

     “เป็นคำถามที่ดีมากเลยนะ ผมว่าจริงๆ ครูแนะแนวที่ถูกต้องนี่สามารถเป็นไลฟ์โค้ชได้เลยนะ”

     วิสูตรชื่นชมคำถามพร้อมรอยยิ้ม “ผมก็เคยคิดเรื่องนี้เหมือนกัน ไม่ใช่แค่ครูวิชาแนะแนวหรอก แต่ผมว่าครูทุกคนเลยน่าจะมีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการสอนที่สนุกทำให้เด็กอยากเรียน ไม่ต้องสอนให้เด็กมีความรู้ แต่สอนให้เขาเป็นคนชอบเรียนรู้ ถ้าครูได้มาเรียนศาสตร์ไลฟ์โค้ชก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีนะ เรียนทักษะการสอนเพื่อทำให้เด็กสนใจการเรียนและแนวทางการไกด์เด็กเพื่อไปหาเป้าหมาย

     “ผมเชื่อว่าเราหลายๆ คนเป็นผลผลิตของความไม่รู้ว่าตัวเราเองชอบอะไร หรืออยากเรียนอะไรนะ อย่างผมเองยอมรับว่าจบวิศวะมาทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ชอบและรู้สึกว่าโคตรทุกข์เลย แต่เราดันเป็นเด็กเรียนดีซึ่งมีทางเลือกแค่ 2 ทาง ถ้าไม่ใช่วิศวะก็ต้องเรียนแพทย์ บางครั้งเวลาที่เด็กอยากจะเรียนอะไร พ่อแม่ผู้ใหญ่บางคนก็อาจจะไม่เข้าใจอีก มันเหมือนคนส่วนใหญ่ที่มักทึกทักกันไปว่าเด็กเรียนเก่งต้องเรียนแค่สายวิทย์ฯ เท่านั้น คำถามก็คือมันใช่เหรอวะ? ความจริงคือเราต้องเข้าใจกันใหม่ว่าโลกใบนี้มันมีความฉลาดหลายแบบ ซึ่งผมว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ต้องรื้อระบบการศึกษากันทั้งประเทศเลยทีเดียว”
     ประเด็นเรื่องไลฟ์โค้ชกับระบบการศึกษายิ่งทวีคูณความน่าสนใจเข้าไปอีกขั้น หลังแครธรินยกเคสตัวอย่างวิธีการสอนของห้องเรียนในต่างประเทศที่มีส่วนผสมของศาสตร์ไลฟ์โค้ชแบบเจือจางในเรื่องวิธีการเข้าใจตนเองและการตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง

     เธอยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับห้องเรียนของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มาเล่าให้เราฟัง โดยนักศึกษาชั้นปี 1 ทุกคนจะได้รับโจทย์ภาคบังคับเขียนเรียงความว่า ในอนาคตอีก 50 ปีข้างหน้า พวกเขาอยากจะเห็นตัวเองเป็นอะไร อยากมีอะไรในชีวิต โดยอาจารย์ก็จะถามไกด์เด็กแต่ละคนอีกทีว่ากว่าจะไปถึงจุดที่ต้องการได้คิดว่าจะต้องทำอย่างไร ต้องมีเงินเท่าไร เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กคิดถึงเป้าหมายอย่างมีหลักการและหัดวางแผน  รวมถึงสร้างกลยุทธ์ของตัวเองว่า อีกประมาณ 30 ปีต่อจากนี้พวกเขาจะต้องทำอย่างไรเพื่อเดินไปหาเป้าหมายให้ใกล้เคียงที่สุด ไม่ได้คิดแบบลอยๆ เพ้อฝัน

     และถึงแม้ว่าในชีวิตจริงทุกๆ อย่างที่วางแผนไว้อาจจะพังไม่เป็นท่า เพราะเกิดปัจจัยแวดล้อมที่ไม่คาดคิดมากมาย แต่อย่างน้อยที่สุดเด็กก็จะได้รับการกระตุ้นตัวเองและมองเห็นอนาคตตัวเองอย่างมีระบบ

     แครธรินบอกว่า “เรื่องพวกนี้เป็นหลักสูตรที่มีสอนในระบบการศึกษาต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยเราอาจจะยังไม่เคยเห็นว่ามีการสอนให้เด็กเขียนเรียงความคุยกับตัวเอง ซึ่งเราเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ช่วยแก้ปัญหาได้เปราะหนึ่งสำหรับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะประกอบอาชีพอะไร เพราะเขาก็จะมีวิธีการสอนเด็กให้คุยกับตัวเองเพื่อวิเคราะห์ว่าอะไรคือความสุขของเขา ทักษะอะไรที่เป็นจุดอ่อน จุดแข็ง จะใช้จุดแข็งของตัวเองไปต่อยอดทำอะไรได้บ้าง ไลฟ์โค้ชในไทยบางคนจึงเอาหลักสูตรแนวนี้ไปใช้สอนคน และมีส่วนที่ทำให้ศาสตร์ไลฟ์โค้ชในไทยบูม เพราะเป็นวิธีการสอนและความรู้ที่คนไทยไม่เคยได้รับจากสถานศึกษาส่วนใหญ่มาก่อน”

     หลังรับฟังความเห็นจากทั้งวิสูตรและแครธริน เราพบว่าตัวเองเผลอพยักหน้าเห็นด้วยโดยที่ไม่รู้ตัวอยู่หลายครั้ง อาจไม่ใช่เพราะมั่นใจ 100% ว่าไลฟ์โค้ชจะช่วยยกระดับการศึกษาไทยได้ แต่เชื่อว่ามีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหาคลำหาเป้าหมายในชีวิตไม่เจอ ไม่รู้ว่าตัวเองโตขึ้นไปอยากเป็นอะไร อยากทำอาชีพใด นี่ต่างหากที่น่าจะเป็นการบ้านให้ผู้มีอำนาจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจและเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง แต่จะมีการนำศาสตร์ไลฟ์โค้ชมาบูรณาการใช้หรือไม่ นั่นคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

     เมื่อติดตามกันจนถึงบรรทัดนี้ หลายคนอาจได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับไลฟ์โค้ชในอีกมุมหนึ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน ไลฟ์โค้ชก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ในสังคมที่มีทั้งคนที่เข้ามาด้วยใจรักและคนที่หวังผลประโยชน์แอบแฝง ท้ายที่สุดแล้วสังคมไทยจะมองอาชีพนี้ดีขึ้นหรือแย่ลงเช่นไร ความรู้สึกของคุณจะเปลี่ยนไปหรือไม่ มันก็คงขึ้นอยู่กับการกระทำของคนที่เรียกตัวเองว่าไลฟ์โค้ช และมุมมองความเชื่อของแต่ละคน

     แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของใคร หรือตัดสินชี้ถูกผิดกับความเชื่อของคนอื่นได้ เพราะจริตความคิดความชอบของมนุษย์ทุกคนล้วนแตกต่างกันออกไป และจะไม่มีวันเหมือนกันอย่างแน่นอน แต่อย่างน้อยที่สุด การเลือกเชื่อถือในสิ่งใดก็ตามแบบพอดีๆ มีเหตุผลและมีสติตลอดเวลาก็น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

     แล้วคุณล่ะ คิดอย่างไรกับไลฟ์โค้ช?

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising