×

โลกใกล้ถึงจุดจบ? ฮอว์คิงย้ำชัด “ออกจากโลกนี้ได้แล้ว”

22.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins read
  • สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นักฟิสิกส์ทฤษฎี และนักจักรวาลวิทยาได้ออกมาย้ำอีกครั้งว่า มนุษย์ควรจะย้ายออกจากโลกนี้ได้แล้ว โดยกระตุ้นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องออกไปสำรวจอวกาศและระบบสุริยะจักรวาลแห่งอื่นๆ มากขึ้น
  • โครงการ ‘Breakthrough Starshot’ ภายใต้ความร่วมมือของฮอว์คิง, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ​และเศรษฐีชาวรัสเซีย มีความตั้งใจในการสร้างยานสำรวจขนาดเท่า ‘แสตมป์ไปรษณีย์’ เพื่อช่วยลดระยะเวลาของการเดินทางในอวกาศ
  • เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 ที่ผ่านมา NASA ได้ออกแถลงการณ์ค้นพบครั้งสำคัญ หลังตรวจเจอระบบสุริยะจักรวาลอีกแห่งที่มีดาวเคราะห์ขนาดเท่าๆ กับโลกถึง 7 ดวงด้วยกล้องโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นระบบสุริยะจักรวาลขนาดใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ที่เคยมีการค้นพบมา โดยดาวเคราะห์ 3 ดวงจาก 7 ดวง ตั้งอยู่ในโซนที่คาดว่าน่าจะสามารถอยู่อาศัยได้

     ดูเหมือนว่ามนุษย์อย่างเราและโลกใบนี้คงจะถึงเวลาบอกลากันจริงๆ จังๆ เสียที หลังล่าสุด สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นักฟิสิกส์ทฤษฎี และนักจักรวาลวิทยาได้ออกมาย้ำอีกครั้งว่า มนุษย์ควรจะย้ายออกจากโลกนี้ได้แล้ว

     และยังเชื่ออีกด้วยว่าการถอนตัวจาก ‘ข้อตกลงปารีส’ เรื่องการควบคุมสภาวะเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างใหญ่หลวง

     ทั้งนี้ภายในเทศกาล ‘STARMUS’ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเฉลิมฉลองให้กับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และศิลปะในเมืองทรอนด์ไฮม์ ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ฮอว์คิงได้ประกาศคำเตือนต่อหน้าฝูงชนและธารกำนัลไว้ว่า มนุษย์ควรจะออกจากโลกใบนี้ได้แล้ว!

     เขาบอกว่า “พื้นที่อยู่อาศัยของเรากำลังจะหมดลง และสถานที่เดียวที่เราจะไปได้ก็คือโลกอีกใบ นี่คือช่วงเวลาที่เราต้องออกสำรวจค้นหาระบบสุริยะจักรวาลอีกแห่ง การกระจายตัวกันออกไปอาจเป็นหนทางเดียวในการช่วยพวกเราจากตัวของพวกเราเอง ผมเชื่อว่ามนุษย์ควรออกจากโลกใบนี้”

     นอกจากนี้เจ้าตัวยังเรียกร้องให้ชาติต่างๆ ส่งนักบินอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารในปี 2020 และ 2025 ตามลำดับ

     “โครงการสำรวจอวกาศใหม่ที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานจะช่วยกระตุ้นและปลุกคนรุ่นใหม่ให้สนใจศาสตร์ที่หลากหลาย เช่น ดาราศาสตร์และจักรวาลวิทยา เมื่อไรก็ตามที่พวกเราได้สร้างรอยประทับครั้งใหม่เช่นการไปเยือนดวงจันทร์ เมื่อนั้นเราจะนำคนและประเทศต่างๆ ไปเผชิญกับการค้นพบครั้งสำคัญและเทคโนโลยีใหม่ๆ การเดินทางออกจากโลกจะต้องหารือแนวทางสากลร่วมกัน ซึ่งทุกๆ คนควรเข้ามามีส่วนร่วม เราต้องช่วยกระตุ้นความตื่นเต้นให้เหมือนช่วงที่ออกไปสำรวจอวกาศในยุค 60s”

     โดยนักจักรวาลวิทยาคนดังได้ตั้งโรดแมป 4 ข้อที่จะทำให้เผ่าพันธ์ุมนุษย์อยู่รอดได้นานขึ้นดังนี้

     1. ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของการสำรวจอวกาศ

     2. พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เราเดินทางในจักรวาลได้ไกลและเร็วขึ้น

     3. ค้นหาดาวเคราะห์ที่พอจะอยู่อาศัยได้มากกว่าโลกใบนี้ที่เรารู้จัก

     4. หาวิธีเอาตัวรอดในสภาวะที่สิ่งเเวดล้อมบนดาวเคราะห์ไม่เอื้ออำนวยเช่น ดาวอังคารหรือโลก (ในอนาคต)

ระลึกไว้เสมอว่าให้เงยหน้ามองขึ้นไปบนดวงดาวไม่ใช่ก้มมองเท้า พยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เห็น สงสัยว่าอะไรทำให้จักรวาลดำรงอยู่

Photo: Pixabay

 

ฮอว์คิงจัดการกับความเชื่อที่ว่า ‘เผ่าพันธ์ุมนุษย์และโลกไม่จีรังยั่งยืน’ อย่างไร?

     นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฮอว์คิงเชื่อว่าเวลาของมวลมนุษยชาติใกล้ถึงคราวอวสาน เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปลายปี 2016 ฮอว์คิงก็เคยออกมาเตือนไว้ว่า มนุษย์มีเวลาเพียง 1,000 ปีในการตั้งถิ่นฐานใหม่ (ที่ไม่ใช่โลกใบนี้) โดยมีภัยคุกคามอย่าง การก่อการร้ายด้วยนิวเคลียร์, การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร, ความแปรปรวนของสภาวะอากาศ และการรุกล้ำของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่อาจจะทำให้มนุษย์ล้าหลังในที่สุด

     เขากล่าวว่า “แม้ว่าโอกาสที่โลกจะถึงจุดจบอาจยังไม่เกิดในเร็ววัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันอาจจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ 1,000 ปี หรือ 10,000 ปีข้างหน้า เราจึงควรกระจายกันออกสำรวจดาวดวงอื่น เพื่อที่เมื่อเวลานั้นมาถึง มันจะไม่ใช่จุดจบของมนุษย์”

     อย่างไรก็ตาม ในบทสัมภาษณ์ระหว่างฮอว์คิง และ The Independent เขายังทิ้งท้ายเชิงให้ความหวังไว้ว่า “ระลึกไว้เสมอว่าให้เงยหน้ามองขึ้นไปบนดวงดาวไม่ใช่ก้มมองเท้า พยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เห็น สงสัยว่าอะไรทำให้จักรวาลดำรงอยู่ เพราะความอยากรู้อยากเห็นเป็นสิ่งที่คุณสามารถทำและประสบความสำเร็จได้เสมอ แม้ว่าสิ่งๆ นั้นดูเหมือนจะยากเพียงใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือการที่คุณต้องไม่ยอมแพ้”

     นอกจากนี้ Vox ยังเปิดเผยอีกว่า เมื่อปีที่แล้วทั้งฮอว์คิง, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และเศรษฐีชาวรัสเซีย ได้รวมพลังกันริเริ่มโครงการ ‘Breakthrough Starshot’ ด้วยการส่งยานสำรวจขนาดเท่า ‘แสตมป์ไปรษณีย์’ ไปที่ระบบดาว Alpha Centauri ซึ่งอยู่ใกล้กับโลกในระดับต้นๆ ที่ระยะทาง 4.37 ปีแสง (ประมาณ 41.1 ล้านล้านกิโลเมตร)

     ว่ากันว่าโปรเจกต์นี้จะกินระยะเวลาพัฒนาถึง 2-3 ทศวรรษข้างหน้า แต่ก็คุ้มค่า เพราะแลกมาซึ่งการลดระยะเวลาการสำรวจอวกาศ โดยเชื่อว่ายานขนาดเท่าแสตมป์ไปรษณีย์ลำนี้อาจทำให้การเดินทางในอวกาศเป็นไปด้วยระยะทาง 100 ล้านไมล์ (161 ล้านกิโลเมตร) ต่อ 1 ชั่วโมง ซึ่งจะลดระยะเวลาการเดินทางไปถึงระบบดาว Alpha Centauri ให้เหลือเพียง 20 ปี

     “เมื่อถึงเวลานั้น เราจะสามารถส่งข้อมูลและภาพของดาวที่น่าจะกลายเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยใหม่กลับมายังโลกได้ และน่าจะส่งผลสำคัญที่ยิ่งใหญ่ต่ออนาคตของมวลมนุษยชาติ” นักจักรวาลวิทยาเผย

การหาคำตอบว่า ‘เราอยู่คนเดียวหรือไม่?’ เป็นความสำคัญทางวิทยาศาสตร์ในลำดับต้นๆ

Photo: NASA

 

ระบบสุริยะจักรวาลอีกแห่งมีจริงหรือไม่?

     เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 ที่ผ่านมา NASA ได้ออกแถลงการณ์ค้นพบครั้งสำคัญ หลังตรวจเจอระบบสุริยะจักรวาลอีกแห่งที่มีดาวเคราะห์ขนาดเท่าๆ กับโลกถึง 7 ดวงด้วยกล้องโทรทัศน์

     ‘TRAPPIST-1เป็นระบบสุริยะจักรวาลที่ตั้งอยู่ห่างจากโลกออกไปถึง 40 ล้านปีแสง ถือเป็นระบบสุริยะจักรวาลขนาดใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ที่เคยมีการค้นพบมา โดยดาวเคราะห์ 3 ดวงจากจำนวนทั้งหมด 7 ดวง ซึ่งตั้งอยู่ในโซนที่สามารถอยู่อาศัยได้ และยังคาดการณ์อีกด้วยว่าน่าจะมีทรัพยากรจำพวกของเหลวอย่างน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก

     โธมัส ซูร์บูเชน (Thomas Zurbuchen) ผู้ดูแลระบบร่วมคณะกรรมการภารกิจทางวิทยาศาสตร์ในวอชิงตันบอกว่า

     “การค้นพบในครั้งนี้จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการสำรวจสิ่งเเวดล้อมที่เหมาะต่อสิ่งมีชีวิต สถานที่ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัย การหาคำตอบว่า ‘เราอยู่คนเดียวหรือไม่?’ เป็นความสำคัญทางวิทยาศาสตร์ในลำดับต้นๆ ซึ่งการค้นพบดาวเคราะห์ที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยในจำนวนมากเช่นนี้เป็นครั้งแรก ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการไปถึงเป้าหมายดังกล่าว”

 

Photo: Pixabay

 

‘โลกใบใหม่’ เรามีทางเลือกอื่นหรือเปล่า?

     นอกจาก TRAPPIST-1 และระบบดาว Alpha Centauri ที่ดูมีความใกล้เคียงที่สุดต่อการจะเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยใหม่ของมนุษย์ โครงการอย่าง ‘SpaceX’ และ ‘Asgardia’ ก็น่าจะสร้างความหวังต่ออนาคตให้เราได้ไม่มากก็น้อย

     สำหรับ SpaceX ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) นักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกันชื่อดัง พวกเขามีความพยายามอย่างหนักในการสำรวจและตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร โดยมัสก์ได้วางเป้าหมายไว้ว่าปี 2023 นี้ SpaceX ของเขาจะเดินทางไปสำรวจดาวอังคารได้อย่างลุล่วง

     ขณะที่ Asgardia ของนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ดร. อิกอร์ อาชูเบย์ลี (Igor Ashurbeyli) คือโปรเจกต์ในการตั้งประเทศใหม่นอกโลกแห่งแรก (ประเทศจำลอง) ด้วยความตั้งใจในการสร้างสังคมสงบสุข โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2016

     และหากนับจนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2017 Asgardia ของอาชูเบย์ลี ก็มีผู้ร่วมลงทะเบียนเป็นประชากรมากกว่า 211,000 คน จาก 217 ประเทศ โดยสมาชิกส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 18-35 ปี

     เรย์เวน ซิน (Rayven Sin) ศิลปินชาวฮ่องกงที่อาศัยในฮ่องกง หนึ่งในสมาชิกของ Asgardian กล่าวว่า “ฉันอยากจะเห็นว่าหากมนุษย์มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้อย่างเต็มที่ มันจะเป็นอย่างไร สังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้ ทุกๆ อย่างดูเหมือนจะเป็นเรื่องของทุนนิยมและคอมมิวนิสต์ไปเสียหมด เต็มไปด้วยความขัดแย้ง

     “ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ฉันหวังจะได้เห็นว่าหากเรามีวิถีความเป็นอยู่ที่ต่างออกไป มีชีวิตที่ดีขึ้นและทางเลือกที่มากขึ้นมันจะเป็นอย่างไร”

     จากจุดเริ่มต้นของ Asgardia ที่ดูคล้ายว่าจะเป็นแค่ประเทศในจินตนาการ ล่าสุดอาชูเบย์ลีได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าพวกเขาจะปล่อยดาวเทียม Asgardia-1 ออกจากโลกไปสู่อวกาศในวันที่ 12 กันยายนที่จะถึงนี้ โดยภายในดาวเทียมลำดังกล่าวบรรจุข้อมูลและรูปภาพขนาดมหาศาลของสมาชิก Asgardia เพื่อสร้างประเทศจำลองที่พลเมืองทุกคนมีสิทธิในการแสดงความเห็นเท่าเทียมกัน

     อาชูเบย์ลีให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า “เราอยากจะให้โอกาสทุกคนในการแสดงออกอย่างเท่าเทียม สามารถทำอะไรก็ได้เพื่อป้องกันตัวเอง”

     แม้การตั้งอาณานิคมแห่งใหม่และการเดินหน้าเสาะหาดาวเคราะห์ที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยนอกโลกดูจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวเราเกินไปเสียหน่อย แต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่ทำให้ Asgardia ได้รับความนิยมเฉกเช่นการสร้างประเทศจำลองให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกันก็ดูจะเป็นเรื่องที่ตรงกับความต้องการของมนุษย์ในยุคปัจจุบันไม่น้อย

 

อ้างอิง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising