×

หุ่นยนต์จะกลืนชาติ!? ดร. มหิศร ว่องผาติ มองโอกาสและวิกฤติของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยในยุค 4.0

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • เมืองไทยไม่มีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเป็นของตัวเอง จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นส่วนมาก จึงต้องหาทางแก้โจทย์ให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดบริษัทที่มีความสามารถด้านหุ่นยนต์ในไทยได้ เพื่อลดความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจ
  • ปัญหาที่น่ากังวลมากที่สุดคือ ผลกระทบทางวัฒนธรรม เพราะหุ่นยนต์บริการจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราในอนาคต ถ้าหากหุ่นยนต์เหล่านั้นไม่ได้ถูกโปรแกรมมาให้เข้าใจอัตลักษณ์ของคนไทย รากเหง้าของเราอาจจะถูกกลืนหายไป
  • ไทยมีโอกาสพัฒนาหุ่นยนต์บริการมากกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เพราะยังมีคู่แข่งน้อย ถือเป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาการหุ่นยนต์
  • หุ่นยนต์จะฉลาดขึ้นและเข้ามาแทนที่หลายอาชีพที่มีรูปแบบการทำงานซ้ำๆ และการผลิตเชิงอุตสาหกรรม

     หุ่นยนต์อาจโลดแล่นแค่ในจินตนาการของใครหลายคน แต่วันนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคที่หุ่นยนต์ทำงานแทนคน โดยเฉพาะรูปแบบงานที่ต้องทำซ้ำๆ และอาศัยความแม่นยำสูง จากรายงานปี 2016 โดย International Federation of Robotics (IFR) ชี้ว่าช่วงปี 2010-2014 ยอดขายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นถึง 27% ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม (ยกเว้นยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 20% และ 15%) และคาดว่าในปี 2017 การใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมจะมีมากถึง 2.32 ล้านตัวทั่วโลก และ 41,000 ตัวในไทย ขณะที่หุ่นยนต์บริการจะเป็นที่ต้องการเท่าทวีคูณในสังคมผู้สูงอายุเพื่อเป็นเพื่อนคลายเหงาและคอยดูแลช่วยเหลือมนุษย์

     ตลอดการสัมภาษณ์ ดร. มหิศร ว่องผาติ หรือ ช้าง ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และผู้ก่อตั้งบริษัท HiveGround สตาร์ทอัพที่มุ่งผลิตเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ย้ำกับเราว่าถ้าไม่เริ่มลงทุนกับหุ่นยนต์ตั้งแต่ตอนนี้ โดยเฉพาะหุ่นยนต์บริการซึ่งมีโอกาสในตลาดมากกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ประเทศไทยจะต้องรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ และที่น่ากังวลมากที่สุดคือ ผลกระทบด้านวัฒนธรรมที่อาจจะกลืนอัตลักษณ์ของเราในอีกไม่กี่สิบปี

     แม้ว่ารัฐบาลไทยจะพยายามผลักดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ให้เป็นหนึ่งใน 5 อุตสาหกรรมอนาคตหรือ New S-Curve ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพราะเล็งเห็นว่ามีศักยภาพเป็นทุนเดิม โดยเฉพาะฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและไฟฟ้า แต่น่าสงสัยว่าทำไมประเทศไทยจึงมีบริษัทเทคฯ ด้านหุ่นยนต์แค่ไม่กี่ราย ทั้งที่มีข่าวเยาวชนไทยคว้าแชมป์การแข่งขันหุ่นยนต์บนเวทีระดับโลกแทบทุกปี และโรงงานส่วนใหญ่เริ่มใช้หุ่นยนต์ แขนจักรกล และระบบอัตโนมัติ (Automation) มากขึ้นก็ตาม

     เพราะเรามีกำลังคนไม่พอ มองข้ามการต่อยอดธุรกิจ หรือขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงเป็นอย่างไร วินาทีนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังทุ่มงบประมาณกับการลงทุนพัฒนาหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ไบโอเทคโนโลยี และนวัตกรรมล้ำสมัยอีกนับไม่ถ้วน เพื่อเตรียมเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ The Fourth Industrial Revolution ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังพูดถึง

     จะพร้อมหรือไม่ บทสัมภาษณ์นี้ตอกย้ำว่าหุ่นยนต์กำลังไล่ล่าอนาคตของเรา

เรายังไม่เห็นโรดแมปใหญ่ของการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีขั้นแอดวานซ์ เทคโนโลยีไฮเทคในประเทศเลย มีแต่โรดแมปเต็มไปหมด มันคือถนน 8 เลนที่ขุดขึ้นมา ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละเลนจะไปทางไหน คนที่จะกระโดดลงมาช่วยสร้างถนนไม่รู้ว่าจะช่วยสร้างยังไง

 

ตอนนี้ภาพรวมของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในโลกเป็นอย่างไรบ้าง

     หุ่นยนต์มันเป็นเทรนด์ของโลกจริงๆ ซึ่งมองได้ 3 มุมคือ เศรษฐกิจ วิศวกรรม และสังคม ในมุมเศรษฐกิจคือ หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพการทำงานสูงกว่าคน โดยเฉพาะการทำงานซ้ำๆ มีความแม่นยำกว่า ผลิตงานอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพสูงกว่า เพราะคนมันเหนื่อยล้าได้ ทีนี้เราจะสร้างหุ่นยนต์ได้อย่างไร ก็ต้องคำนึงถึงด้านวิศวกรรม หุ่นยนต์แต่ละแบบมีความยากง่ายต่างกัน ทั้งในส่วนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ในแง่ของผลกระทบเชิงสังคมก็เช่นว่าหุ่นยนต์จะมาแทนแรงงานคนไหม นี่คือภาพรวมคร่าวๆ

     เราแบ่งหุ่นยนต์ได้เป็น 2 ประเภทคือ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (industrial robots) กับหุ่นยนต์บริการ (service robots)

     หุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อการผลิต เช่น ผลิตรถยนต์ วงจร และสินค้าอุตสาหกรรมทุกอย่าง ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยใช้ในโรงงานรถยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีละ 15-20% สั่งเข้ามา 4,000-5,000 ตัว จริงๆ แล้วมันเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกเขียนโปรแกรมล่วงหน้าให้ทำงานซ้ำไปเรื่อยๆ ไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย และจะกลายเป็น commodity หรือของที่หาซื้อทั่วไปได้ไม่ยาก แต่ส่วนที่ยากก็คือให้มันทำงานที่เราต้องการ เช่น เขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ให้ช่วยผลิตทองหยอดหรือขนมหม้อแกงที่ตอนนี้ยังต้องใช้แรงงานคน

     ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ สมมติว่างานติดตั้ง​หุ่นยนต์​อุตสาหกรรม​จน​ใช้งาน​ได้​มูลค่า​ที่​ลูกค้า​จ่าย​คือ​ 100% จะ​สามารถ​แบ่ง​เป็น​มูลค่า​ของ​ตัว​หุ่นยนต์​เอง​ประมาณ​ 30% และ​ค่า​ความ​รู้​ความ​สามารถ​ของ​บริษัท​ที่​ติดตั้ง​หุ่นยนต์​อีก​ 70% บ้าน​เรา​ไม่มี​หุ่นยนต์​อุตสาหกรรม​เป็น​ของ​ตัวเอง ​จะ​ทำ​อย่างไร​ให้​ 70% ที่​เหลือ​สามารถ​เกิดใน​ไทย​ได้ ​เพราะ​เป็น​ส่วน​ที่​ต้อง​ใช้​ความ​รู้​ความ​สามารถและ​ประสบการณ์​เยอะ​ครับ​ และ​ต่างประเทศ​ค่อนข้าง​ได้​เปรียบ​เพราะ​ทำ​มา​นาน​และ​เยอะ​กว่า​

     อย่างน้อยที่สุดเพื่อให้เงินที่ภาคอุตสาหกรรมจ่ายไปยังอยู่ในบ้านเราบ้าง ไม่ใช่ว่าออกนอกประเทศหมด

 

สัดส่วนของผู้ผลิตหุ่นยนต์ในประเทศไทยตอนนี้มีประมาณเท่าไร

     เท่าที่ผมรู้จักคือ พี่พชร (พชร แซ่โง้ว ผู้บริหารบริษัท ยูนิคัล เวิร์คส์) เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามพัฒนาและผลิตเองในไทยอย่างจริงจัง

     สิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้หุ่นยนต์ที่ซื้อมาสามารถทำงานอุตสาหกรรมของบ้านเราได้ ทำทองหยิบ ทองหยอด เชือดไก่ หั่นสับปะรด เพราะหุ่นยนต์เหล่านี้ทำงานพวกอุตสาหกรรมรถยนต์ได้อยู่แล้ว เพราะประเทศผู้ผลิตอย่างเยอรมนี ญี่ปุ่น อเมริกาเป็นคน integrate เข้าในระบบ เทสลาใช้หุ่นยนต์เกือบทั้งโรงงาน แต่แทบไม่มีหุ่นยนต์ที่ใช้ได้ในอุตสาหกรรมของไทยเลย ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูป อุตสาหกรรมเย็บผ้า งานประณีต แล้วถ้าหากเราซื้อหุ่นยนต์จากญี่ปุ่นเข้ามาทดแทนแรงงานคนเพื่อทำของไปขายญี่ปุ่น แล้ววันหนึ่งญี่ปุ่นลงมาทำอุตสาหกรรมเดียวกับเรา แต่ทำในฟิลิปปินส์ เราจะสู้ญี่ปุ่นได้ไหม

     ตอนนี้ยอดขายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกมันโตมหาศาลอยู่แล้ว รายงานของ IFR ระบุตัวเลขชัดเจนว่าประเทศไหนที่มีอัตราส่วนการแทนที่ของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมต่อแรงงาน 10,000 คน เมืองไทยยังถือว่าต่ำอยู่ แต่เกาหลีใต้อยู่ที่ประมาณ 531 ต่อ 10,000 คน (ข้อมูลปี 2015) และถ้าเราไม่สามารถสร้าง Unique Integration Technology หรือต่อยอดหุ่นยนต์ธรรมดาให้เป็นหุ่นยนต์พิเศษที่ใช้ในบ้านเราได้ อุตสาหกรรมของเราก็น่าจะมีปัญหา


ทำไมแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาจึงเสี่ยงที่จะถูกหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

     เพราะหุ่นยนต์เก่งขึ้นเรื่อยๆ และจะแย่งงานคนที่มีทักษะระดับต่ำ เช่น แรงงานจีนในโรงงานประกอบชิ้นส่วนไอโฟนมีหน้าที่ไขน็อตตัวเดียวใน 3 ชั่วโมง แรงงานประเภทนี้จะถูกหุ่นยนต์เข้าแทนที่ เพราะประสิทธิภาพการทำงานสู้หุ่นยนต์ไม่ได้ ขณะที่คนทำงานไฮเทคหรืองานระดับสูงจะไม่ตกงาน เช่น งานออกแบบ งานพัฒนา งานวิจัย

     ถ้าหุ่นยนต์ราคาถูกลง เราสามารถแทนที่แรงงาน 100 คนด้วยหุ่นยนต์ 100 ตัวได้ทันที ให้มันไขน็อตตลอด 24 ชั่วโมงก็ได้ ทุกวันนี้โรงงานไม่ต้องการจ้าง ‘คน’ แล้ว เพราะถ้าเขาขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศ แล้วพนักงาน 3,000 คนรวมตัวกันสไตรก์ โรงงานก็เจ๊ง แต่ถ้าเขาใช้หุ่นยนต์ก็ไม่จำเป็นต้องมี 3,000 คนนั้น เช่นเดียวกันถ้าถึงจุดหนึ่งที่ค่าแรงของเราพุ่งไปชนสิงคโปร์เมื่อไร ซึ่งตอนนี้สูงกว่าไทยประมาณ 5-6 เท่า ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ใช้หุ่นยนต์แล้ว

     ส่วนอาชีพที่ใช้ทักษะน้อยกว่าควรจะได้รับการศึกษาและย้ายมาอยู่ภาคบริการ และฝึกฝนให้ดีขึ้น พวกเขาควรจะมีชีวิตที่ดีขึ้น พนักงานแมคโดนัลด์ พนักงานขับรถ พนักงานเก็บขยะควรจะดีเหมือนกับคนญี่ปุ่น แต่แน่นอนว่าอาชีพที่ทำงานซ้ำไปซ้ำมาก็จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์เหมือนกัน

ที่จริงการนำหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงานมันก็มีอีกแง่มุมหนึ่งคือ ทำให้ชีวิตคนง่ายขึ้น คนฉีดยาฆ่าแมลงหรือแรงงานราคาถูกเขาก็เสี่ยงชีวิตแทนเราอยู่ ไม่ได้แปลว่าชีวิตเขาต้องจมอยู่กับงานแย่ๆ เขาควรจะมีชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสทำงานที่มีค่ามากกว่านั้นกับตัวเอง กับสังคม

 

แล้วทำไมเราต้องหันมาพัฒนาหุ่นยนต์บริการ

     หุ่นยนต์บริการแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ หนึ่ง Professional Use ส่วนใหญ่ใช้ทางการทหาร เช่น อากาศยานไร้คนขับ มีคนบังคับบ้าง ใช้ระบบอัตโนมัติบ้าง

     สอง Consumer Use คือหุ่นยนต์อัตโนมัติในบ้าน เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Roomba ถ้าวันหนึ่งมันพูดได้ขึ้นมาก็อาจกลายเป็นผู้ช่วยส่วนตัว (Personal Assistant Robot) ซึ่งจะมีเรื่องมุมมองทางสังคมเพิ่มเข้ามาด้วย เช่น เวลาคนไทยทักทายกัน เราสวัสดี หรือถามว่ากินข้าวมาแล้วหรือยังใช่ไหม

     แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหุ่นยนต์ที่เราเช่ามาอยู่ด้วยในชีวิตประจำวันไม่ได้พูดแบบคนไทย แต่พูดแบบคนจีน หรือมีพฤติกรรมแบบคนญี่ปุ่น คนรุ่นเราอาจอยู่กับหุ่นยนต์สัก 30-40 ปี รุ่นพ่อแม่เราอาจจะสัก 10-20 ปี แต่คนรุ่นลูกรุ่นหลานเขาต้องอยู่กับมันไปอีก 60 ปี เขาต้องคุยกับหุ่นยนต์ที่ไม่ได้พูดหรือเข้าใจวัฒนธรรมของคนไทย สิ่งเหล่านี้มันจะหายไปแน่นอน ถ้าหุ่นยนต์ไม่ได้ถามคนรุ่นนั้นว่ากินข้าวแล้วหรือยัง ยิ่งต่อไปพนักงานต้อนรับและอีกหลายอาชีพจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ทั้งหมด ถ้าหากหุ่นยนต์ไม่ได้ถูกโปรแกรมและทำให้เป็นคนไทยโดยคนไทย น่าคิดว่ามันจะส่งผลกระทบในเชิงสังคมไหม หรือถ้าเราแฮปปี้ที่จะเป็นเมืองขึ้นทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ก็โอเค ก็พูดภาษาญี่ปุ่นภาษาอังกฤษกันไป แต่อัตลักษณ์ของเราอาจจะหายไปเพราะหุ่นยนต์ก็ได้ ถ้าเราไม่มีความสามารถในการจัดการกับมันเลย

 

รัฐบาลไทยมาถูกทางแล้วหรือยัง สำหรับการสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

     ความรู้สึกส่วนตัวของผมคือรัฐบาลถูกสัก 30-40% โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกนโยบายแล้วให้ผู้เชี่ยวชาญทำ แต่ส่วนใหญ่เขาจะมองภาพของการสร้างรายได้ก่อน เขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สุด แต่ประเด็นคือเราไม่มีเวลาเหลือ AI (Artificial Intelligence) มันมาเร็วมาก ถ้าเราจะทำอันนี้ให้ได้ก่อน แล้วค่อยทำอย่างอื่นทีหลัง สุดท้ายแล้วเราก็จะติดหล่มเดิมคือ เราจะทำอะไรไม่ได้ในภาคหุ่นยนต์บริการ คุณพอจะนึกภาพออกไหม ตอนนี้เราใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม เราผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเองไม่ได้แล้ว ซื้อมาใช้อย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราต้องบูรณาการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมให้เข้ากับบ้านเราให้ได้ ตอนนี้ยังไม่ค่อยมีคนทำหุ่นยนต์บริการมากเท่าไร อย่างน้อยที่สุดเรายังสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีนี้ได้อยู่ ก่อนที่เศรษฐกิจมันจะไม่ตอบโจทย์ ทำไปก็เจ๊ง แล้วยังมีประเด็นเรื่องเซนซิทีฟทางสังคมที่ไม่ได้ถูกผนวกเข้าไปในกระบวนการคิดอีก

     ถ้าคุณไม่ใส่หลักคิดนี้ลงไป 3-5 ปี เตรียมตัวโดนกลืนชาติได้เลย

 

ซึ่งรัฐบาลเองก็ยังไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้

     ผมคิดว่า 30-40% ที่รัฐบาลมองนั้นต้องทำอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา แต่อีก 60% ที่มันไม่มีอะไรในวันนี้ แต่ถ้าคุณไม่ทำตอนนี้ อีก 5-10 ปีเจอแน่ๆ ไม่ต้องห่วง

     ในแง่ของกฎหมายเองก็ไม่มี เขายังไม่คิดถึงเรื่องนี้ด้วยซ้ำ แต่เมืองนอกจะเริ่มพูดถึงศีลธรรมการใช้หุ่นยนต์กันมากขึ้น

เรายังไม่เห็นโรดแมปใหญ่ของการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีขั้นแอดวานซ์ เทคโนโลยีไฮเทคในประเทศเลย มีแต่โรดแมปเต็มไปหมด มันคือถนน 8 เลนที่ขุดขึ้นมา ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละเลนจะไปทางไหน คนที่จะกระโดดลงมาช่วยสร้างถนนไม่รู้ว่าจะช่วยสร้างยังไง

 

แล้วเราควรเริ่มต้นจากอะไร เช่น การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน

     เริ่มที่บุคคลดีกว่า เราต้องกระตุ้นให้สังคมหันมามองหุ่นยนต์ในเชิงสังคมและวัฒนธรรมมากขึ้น เพราะตอนนี้คนไม่ได้ตระหนักว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาอยู่ในชีวิตเรา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการใช้ชีวิตในอนาคตมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่กลับไม่มีใครพูดถึงเลย เช่น คนญี่ปุ่นจะทำแอนิเมชันให้คนเห็นภาพของหุ่นยนต์ตั้งแต่แรก แต่เราไม่มีวัฒนธรรมอย่างนั้น

ความรู้สึกส่วนตัวของผมคือรัฐบาลถูกสัก 30-40% แต่ส่วนใหญ่เขาจะมองภาพของการสร้างรายได้ก่อน ประเด็นคือเราไม่มีเวลาเหลือ AI มันมาเร็วมาก สุดท้ายแล้วเราก็จะติดหล่มเดิมคือ เราจะทำอะไรไม่ได้ในภาคหุ่นยนต์บริการ

 

เราจำเป็นต้องมีคนสร้างหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นด้วยไหม

     ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกด้านหุ่นยนต์นะครับ ควรจะมีสายอาชีวะ เครื่องกลบ้าง เราอยากได้มืออาชีพด้านการสร้างหุ่นยนต์เข้ามาทำงานด้วย หุ่นยนต์มันคือการออกแบบ มีรายละเอียดที่ต้องลงลึกและพัฒนาให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา

 

ตอนนี้บริษัท HiveGround ทำอะไรบ้าง

     เราเริ่มเปิดบริษัทปี 2011 และขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาเราผลิตหุ่นยนต์เฉพาะทางหรือ Professional Service Robot เช่น โดรนการเกษตร ทำแผนที่ อากาศยานไร้คนขับ ยานดำน้ำอัตโนมัติสำหรับสำรวจท่อใต้อ่าวไทย ตอนนี้กำลังทำโปรเจกต์พัฒนาหุ่นยนต์บริการร่วมกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์เจ้าหนึ่ง

     ที่จริงการนำหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงานมันก็มีอีกแง่มุมหนึ่งคือ ทำให้ชีวิตคนง่ายขึ้น คนฉีดยาฆ่าแมลงหรือแรงงานราคาถูกเขาก็เสี่ยงชีวิตแทนเราอยู่ ไม่ได้แปลว่าชีวิตเขาต้องจมอยู่กับงานแย่ๆ เขาควรจะมีชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสทำงานที่มีค่ามากกว่านั้นกับตัวเอง กับสังคม ด้วยการให้ความรู้และเปลี่ยนเป้าหมายให้เขาทำงานภาคบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า ชาวนาที่เคยเสี่ยงชีวิตกับการพ่นยาฆ่าแมลงสามารถย้ายมาเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมโดรนแทนก็ได้ เขาจะทำงานได้มากขึ้น มีรายได้สูงขึ้น พอมีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น ผลผลิตก็เพิ่ม

     เป้าหมายต่อไป เราก็อยากเป็นบริษัทที่บริหารจัดการ 2 ด้าน คือ หนึ่ง Motion หรือหุ่นยนต์ซึ่งมี data flow อยู่ข้างในมหาศาลจากการเก็บภาพ เสียง ใบหน้า ดังนั้น การจัดการข้อมูลต้องมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญหุ่นยนต์ต้องใช้ได้ในเชิงธุรกิจ มีการควบคุมเรื่องกฎหมายและรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน

     สอง Information ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานที่พูดคุยกับหุ่นยนต์ ผ่านการประมวลผลและใช้งานอย่างถูกต้อง

 

เด็กๆ ที่สนใจเกี่ยวกับหุ่นยนต์ควรจะเริ่มต้นยังไง

     ถ้าสนใจจริงๆ ผมว่าหุ่นยนต์ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับหุ่นยนต์เสมอไป ตัวหุ่นยนต์มันมีทั้งเครื่องกล ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ การเขียนโปรแกรม ลองจับสักแง่มุมหนึ่งก่อนก็ได้ ถ้าเป็นเด็กเล็ก อาจจะเล่นเลโก้หรือตัวต่อต่างๆ แล้วดูว่าชอบอะไรเป็นพิเศษ ลองหาความเชี่ยวชาญเฉพาะจุด แต่อย่าลืมองค์ประกอบรวม เพราะหุ่นยนต์เป็นสหศาสตร์ที่สามารถบูรณาการความรู้ได้หมด ทั้งศิลปะ ไฟฟ้า เครื่องกล คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ไปจนถึงการปฏิสัมพันธ์กับคน แต่ถ้าสุดท้ายแล้วไม่ชอบ มันก็เป็นโอกาสที่จะได้ทดลองซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุด

     ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ใช้งานก็ต้องเปิดรับเทคโนโลยี ถ้าเป็นคนทำก็ต้องมองว่าทำแล้วมันจะมาช่วยคุณได้อย่างไร คุณมี pain point อะไร อยากได้คนมาช่วยทำอะไร แล้วถ้าเป็นหุ่นยนต์ ชีวิตจะดีขึ้นกว่าไหม วิธีนี้อาจจะง่ายกว่าการหาหุ่นยนต์มาโดยที่ไม่รู้จะทำอะไร

 

อ้างอิง:

     – www.goo.gl/7rkekc

     – www.diw.go.th/

     – www.goo.gl/Ddfksj

 

FYI
  • จากการสำรวจผู้ประกอบการ 94 ราย โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยด้วยระบบอัตโนมัติปี 2558 พบว่าอุตสาหกรรมไทยมีกลุ่มที่ควรปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์ คิดเป็น 85% ทั้งนี้ มีแค่ 50% ของกลุ่มตัวอย่างสำรวจที่พร้อมปรับเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติภายใน 1-3 ปี และส่วนใหญ่เป็นบริษัทใหญ่
  • กรมโรงงานฯ เปิดเผยว่ากลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และแขนกลเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต หรือ New S-Curve ปัจจุบันมีโรงงานที่จดทะเบียนประกอบกิจการจำนวน 11 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุนรวม 302.33 ล้านบาท
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X