“สวัสดี”
ย้อนกลับไปในวันที่ 29 มิถุนายน 2007 นั่นคือวันแรกที่ผู้ใช้งานทั่วโลกมีโอกาสได้สัมผัสสมาร์ตโฟนเครื่องแรกจากบริษัท Apple ในชื่อ ‘iPhone’ นวัตกรรมชิ้นเอกจาก สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ประธานบริหารสูงสุดของบริษัทในเวลานั้นที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงและปฏิวัติวงการมือถือไปตลอดกาล
11 ปีผ่านไป iPhone ในวันที่ไร้เงาผู้ตัดสายสะดืออย่างจ็อบส์ยังคงยืนหยัดอยู่บนตลาดสมาร์ตโฟนได้อย่างมั่นคง และเป็นที่ยอมรับถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพ และการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมสมาร์ตโฟนผ่านการออกผลิตภัณฑ์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 15 รุ่น (นับรวมรุ่น s และรุ่น Plus)
แม้ว่าในระยะหลังๆ Apple และ iPhone ภายใต้การนำทัพโดย ทิม คุก (Tim Cook) จะออกอาการเป๋ๆ ให้เห็นอยู่บ้าง แต่ที่สุดแล้วพวกเขาก็ยังเกาะอยู่ในกลุ่ม ‘ผู้นำ’ วงการสมาร์ตโฟนมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 ในปี 2016 ที่ทำยอดขายสมาร์ตโฟนได้สูงสุดถึง 78.3 ล้านเครื่อง แซงหน้าผู้นำของตลาดอย่าง Samsung ได้เป็นผลสำเร็จ (77.5 ล้านเครื่อง) และในปีที่ผ่านมา Samsung และ Apple มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 20.8% และ 14.5% ตามลำดับ
เพื่อร่วมฉลองให้กับวันครบรอบกว่า 1 ทศวรรษของ iPhone เราได้สรุปสิ่งที่สมาร์ตโฟนเครื่องนี้ได้สร้างผลกระทบและปรากฏการณ์ต่อวงการโทรศัพท์มือถือทั่วโลกออกมาคร่าวๆ เพื่อตอบคำถามที่ว่า เหตุใดสมาร์ตโฟนที่มีหน้าจอกว้างๆ และปุ่มโฮมเพียงปุ่มเดียวถึงได้รับความนิยมมากมายเช่นนี้?
https://www.youtube.com/watch?v=9hUIxyE2Ns8
ชมการเปิดตัว iPhone รุ่นแรกของ Apple โดยสตีฟ จ็อบส์
ปฏิวัติวงการโทรศัพท์มือถือแบบยกชุด!
หน้าจอสัมผัสขนาดใหญ่คุณภาพสูง, ไร้แป้นพิมพ์แบบ Qwerty, มือถือประกอบแบบปิด (ถอดเปลี่ยนแบตฯ เองไม่ได้), ปัญญาประดิษฐ์ในโทรศัพท์ จอเครื่องไร้ขอบพร้อมรอยบาก ระบบแสกนใบหน้า ฯลฯ คือตัวอย่างนวัตกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้สร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อวงการโทรศัพท์มือถือโลกมานับครั้งไม่ถ้วน
ถ้าย้อนกลับไปในวันที่สตีฟ จ็อบส์ ขึ้นพูดคีย์โน้ตเปิดตัว iPhone รุ่นแรกเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2007 ในงาน Macworld Conference & Expo ที่ Moscone Center ในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย คุณจะพบว่าการนิยามสมาร์ทโฟนเครื่องนี้เป็น ‘การปฏิวัติโทรศัพท์มือถือ’ (revolutionary mobile phone) ไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่เกินจริงแต่อย่างใด
ในช่วงเวลาดังกล่าวรูปแบบโทรศัพท์มือถือที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่จะต้องมาพร้อมกับตัวเครื่องที่หนาเทอะทะ, หน้าจอแสดงผลแบบกะทัดรัด (ส่วนใหญ่มักจะไม่เกิน 3 นิ้ว) ขาดไม่ได้เลยคือ แป้นคีย์บอร์ดแบบ Qwerty ที่บางรุ่นก็มีขนาดเล็กเสียเหลือเกิน ขณะที่โทรศัพท์มือถือที่มีหน้าจอสัมผัสส่วนใหญ่ก็ต้องมาพร้อมกับปากกา Stylus เนื่องจากความแม่นยำของระบบสัมผัสยังคงทำได้ไม่ดีพอ กระทั่ง Apple ได้ฤกษ์เปิดตัว iPhone สู่สายตาชาวโลก กรอบข้อจำกัดของสมาร์ตโฟนในยุคนั้นก็ค่อยๆ พังทลายลงเรื่อยๆ
iPhone รุ่นแรกมาพร้อมหน้าจอสัมผัสคุณภาพสูงขนาด 3.5 นิ้วที่จดสิทธิบัตรเทคโนโลยีแบบ multi-touch ทำให้ผู้ใช้งานสามารถสัมผัสจอเครื่องได้มากกว่า 1 นิ้ว, คีย์บอร์ดแบบซอฟต์แวร์ที่ปรับเปลี่ยนได้ตามการใช้งาน, ปุ่มโฮมเพียงปุ่มเดียว, ระบบปฏิบัติการแบบ iOS และการประกอบแบบปิด ถึงขนาดที่นิตยสาร Time ยกให้มันเป็นสิ่งประดิษฐ์สุดยอดประจำปีดังกล่าว และทำให้เกิดช่องว่างทางความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับแบรนด์โทรศัพท์เจ้าอื่นๆ ที่ครองตลาดในช่วงนั้นอย่าง Palm, Nokia, Motorola หรือ BlackBerry
การเปิดตัว iPhone ในครั้งนั้นส่งผลให้เกิดการปฏิวัติต่อวงการโทรศัพท์มือถือในตลอดช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาไปมากโข แน่นอนว่าค่ายผู้พัฒนาโทรศัพท์มือถือหลายเจ้าต่างก็ได้รับผลกระทบจากการเปิดตัวของ iPhone หนักเบาต่างกรรมและวาระกันไป และนับจนถึงปัจจุบันที่แม้ว่าความนิยมของแบรนด์โทรศัพท์มือถือเหล่านั้นจะเริ่มเจือจางลงไป (Nokia เพิ่งจะได้รับการคืนชีพ) iPhone ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ดี
แม้ในช่วงหลังๆ จะมีนวัตกรรมไม่เข้าท่าอยู่บ้าง เช่น การตัดช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร ออกไป แล้วเปลี่ยนเป็นพอร์ต Lightning (ค่ายสมาร์ทโฟนบางรายดันทำตามเสียด้วย!) แต่เมื่อมองในเชิงภาพรวม ผลิตภัณฑ์โทรศัพท์จาก Apple ก็ยังมีภาษีเป็นต่อเจ้าอื่นพอสมควร จากการเปิดเผยของบริษัทรับให้คำปรึกษาในเชิงธุรกิจอย่าง Brand Keys ที่ทำการสำรวจความจงรักภักดีของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์จำนวน 740 แบรนด์ใน 38 หมวดหมู่ ได้ยกให้ Apple มาเป็นอันดับหนึ่งในหมวดสมาร์ตโฟน
Photo: JOHANNES EISELE/AFP
ระบบปฏิบัติการ iOS คัดกรองคู่แข่งที่แท้จริงให้เหลือเพียงหนึ่ง
ก่อนที่ iPhone และระบบปฏิบัติการ iOS (เกือบใช้ชื่อ OS X) จะเปิดตัวเมื่อปี 2007 ผู้บริโภคอย่างเราสามารถเลือกใช้ระบบปฏิบัติการบนมือถือได้อย่างอิสระมากมาย ทั้ง Symbian, Palm, Windows และ BlackBerry แต่ปัญหาที่ตามมาคือความไม่เสถียร รวมถึงระบบปฏิบัติการที่ไม่ได้สร้างความสะดวกไปในทิศทางเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม ขัดกับการใช้อุปกรณ์ชนิดอื่นๆ
กระทั่งการมาถึงของ iOS ระบบปฏิบัติการบน iPhone หลายๆ สิ่งก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อ Apple ออกแบบระบบปฏิบัติการแบบปิดที่สร้างความสะดวกสบายทั้งในเชิงการใช้งาน หรือการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ (ในเครือ Apple เช่น Mac, MacBook) ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อยู่หมัด ทั้งยังมีการปรับปรุงระบบให้เสถียรขึ้นผ่านการปล่อยอัพเดตระบบเวอร์ชันใหม่ๆ ออกมาโดยตลอด
ในปี 2008 ระบบปฏิบัติการบนมือถืออย่าง Android จาก Google ถือกำเนิดขึ้น โดยชูจุดเด่นการเป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิดที่เชื้อเชิญให้นักพัฒนาทั้งหลายได้ประลองฝีมือกันอย่างอิสระ ก่อนที่ทั้งสองจะกลายเป็นคู่แข่งที่ห้ำหั่นกันมาอย่างดุเดือดจวบจนถึงปัจจุบัน พลอยทำให้ระบบปฏิบัติการมือถือเจ้าอื่นๆ ได้รับความนิยมดิ่งลงจนบางค่ายต้องปิดตัวลงไปในที่สุด
ข้อมูลจากศูนย์วิจัย Gartner ประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2016 ที่ผ่านมา Android มีสัดส่วนผู้ใช้งานทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 352 ล้านคน และมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 81.7%, iOS มีสัดส่วนผู้ใช้งานทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 77 ล้านคน และมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 17.9% ส่วน Windows Mobile มีสัดส่วนผู้ใช้งานทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคน และมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 0.3%
เมื่อเปรียบเทียบสถิติผู้ใช้งานในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (ไตรมาส 4 ปี 2015) จะพบว่า Android มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นคิดเป็น 1% (80.7%) ขณะที่ iOS ก็เพิ่มขึ้นจากเดิม 0.2% (17.7%) อย่างไรก็ดีหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ Android ได้รับความนิยมถล่มทลายเช่นนี้เนื่องจากระบบปฏิบัติการของเจ้าหุ่นกระป๋องสามารถรองรับการใช้งานกับสมาร์ตโฟนได้หลายค่าย ขณะที่ iOS นั้นรองรับแค่ iPhone เท่านั้น
Photo: ROBYN BECK/AFP
ตลาดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ทรงอำนาจ โอกาสแจ้งเกิดของนักพัฒนาหน้าใหม่
App Store ช่องทางการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของผู้ใช้งานในระบบปฏิบัติการ iOS และ macOS นับเป็นตลาดช้อปปิ้งแอปฯ ที่อำนวยความสะดวกและเกมขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมอย่างมหาศาล มีทิศทางในการเติบโตอย่างรวดเร็ว
https://www.youtube.com/watch?v=FC0pT9xg1oI
เมื่อเดือนมีนาคมปี 2017 เว็บไซต์เก็บสถิติอย่าง Statista เผยว่าแอปพลิเคชันใน App Store มีจำนวนสูงถึง 2.2 ล้านแอปฯ ต่างจากช่วงที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2008 ที่มีแอปฯ ให้ดาวน์โหลดเพียง 500 แอปฯ เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยเพิ่มเติมโดย Cult of Mac อีกด้วยว่ารายรับของ Apple จากช่องทาง App Store เพียงอย่างเดียวในครึ่งปีแรกของ 2017 สูงถึง 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่ารายรับทั้งปี 2007 ของบริษัท Apple ถึง 40% (มีรายรับสุทธิ 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
ขณะที่ Forbes คาดการณ์ไว้ว่าตลอดทั้งปี 2017 ที่ผ่านมา พวกเขาน่าจะฟันรายได้จาก App Store ได้มากถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่นักพัฒนาจะกวาดรายได้ไปมากกว่า 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลอดเวลาที่ App Store เปิดให้บริการ นักพัฒนาแอปฯ ทั้งหลายมีรายได้เข้ากระเป๋ามากถึง 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว!
ภายในงาน WWDC 2017 ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ทิม คุก ยังได้กล่าวถึงนักเรียนพัฒนาโปรแกรมของ Apple โดยยกตัวอย่างนักเรียนที่อายุน้อยที่สุดอย่างเจ้าหนู โยมา โซเรียนโต (Youma Sorianto) อายุ 10 ขวบ จากประเทศออสเตรเลีย ที่มีแอปฯ เป็นของตัวเองอยู่ใน App Store มากถึง 5 แอปพลิเคชัน และคุณยายโมซาโกะ (Mosako) อายุ 82 ปี ที่เปิดตัวแอปฯ แรกจากการพัฒนาของเธอไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าตลาดพัฒนาแอปฯ ของพวกเขามีอิทธิพลมหาศาลเพียงใด ทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรและนักพัฒนาแอปฯ ให้มีประสิทธิภาพในเวลาเดียวกัน
การนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในโทรศัพท์มือถือ
“คุณจะให้ฉันช่วยอะไร?”
ซีรี (Siri) หรือที่เรามักเรียกติดปากว่า ‘สิริ’ เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่เริ่มต้นเป็นผู้ช่วยส่วนตัวของผู้ใช้งานอุปกรณ์ของ Apple มาต้ังแต่ปี 2011 รวมถึงโทรศัพท์มือถืออย่าง iPhone (เริ่มต้นใช้ใน iPhone 4s) ผลงานของศูนย์ศึกษาปัญญาประดิษฐ์ SRI International นับเป็นค่ายผู้ผลิตสมาร์ตโฟนเจ้าแรกๆ ที่นำผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์มาบรรจุลงบนโทรศัพท์มือถือ
ด้วยน้ำเสียงและเอกลักษณ์ที่คุ้นเคย ทำให้ช่วงหนึ่งคนไทยส่วนใหญ่ใช้ Siri มาเป็นเพื่อนช่วยคลายเหงา, สอนต่อมุกร้องเพลง ท่องกลอน และหยิบจับไปทำเป็นมีมต่างๆ กระทั่งทำให้ผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์อย่างมันเชี่ยวชาญและพัฒนาขึ้นจนชาญฉลาดทุกวี่ทุกวัน โดยปัจจุบันสามารถสื่อสารได้มากกว่า 21 ภาษาในสำเนียงที่ต่างกันมากมาย รวมถึงยังเป็นผู้ช่วยส่วนตัวผ่านความสามารถในการจัดการต่างๆ ได้อย่างครบวงจร ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้มากยิ่งขึ้น
ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนเมษายนปีที่แล้ว ค่ายคู่แข่งอย่าง Samsung ก็เพิ่งจะเปิดตัวผู้ช่วยอัจฉริยะ Bixby บนแพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือตามหลังออกมา แต่ก็ใช่ว่า Apple จะชะล่าใจได้เพราะแม้จะเปิดตัวมาได้เกือบ 6 ปี แต่ Siri ก็ยังถูกค่อนขอดด้านการใช้งานที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ 100% อยู่เสมอ
ครั้งหนึ่ง ฌอน โอเคน (Sean O’Kane) นักเขียนจากเว็บไซต์ The Verge เคยกล่าวผ่านบทความในทำนองที่ว่า Siri และ Apple มีปัญหาในการฟังคำสั่งของผู้พูด หรือบ่อยครั้งที่เข้าใจคำสั่งแต่ก็ประมวลผลออกมาได้ยืดยาดอยู่ดี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ของมันอาจจะส่งผลกระทบในอนาคตได้ เมื่อมองจากสถานการณ์ที่ดุเดือดของตลาดปัญญาประดิษฐ์ ณ ปัจจุบันที่มีคู่แข่งอย่าง Amazon Alexa, Microsoft’s Cortana และ Google Assistant เกิดขึ้นมา อย่างไรก็ดี Apple ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาข้อบกพร่องของ Siri แต่อย่างใด เพราะพวกเขาก็ยังพัฒนาให้มันดีขึ้นอยู่เสมอในทุกๆ วัน
Photo: TOSHIFUMI KITAMURA/AFP
สร้างผลกระทบต่อผู้ใช้ในแง่ใดบ้าง
นอกเหนือจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงการเทคโนโลยีแล้ว Apple และ iPhone ยังได้สร้างผลกระทบเชิงสังคมและพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก จากการพัฒนาขีดจำกัดและยกระดับประสิทธิภาพสมาร์ตโฟนของพวกเขา
ปรากฏการณ์ไอโฟนได้สร้างโดมิโนเอกเฟกต์ไว้มากมาย ทั้งการแข่งขันที่ดุเดือดจนทำให้ค่ายผู้พัฒนาโทรศัพท์มือถือทั้งหลายหันมาให้ความสำคัญกับการออกผลิตภัณฑ์รุ่นเรือธงมากขึ้น แทนที่การหว่านแหออกผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เป็นจำนวนมากเช่นในอดีต รวมถึงแข่งกันสร้างนวัตกรรมที่โดดเด่นออกมาอยู่ตลอดเวลา
ในมุมมองเชิงค่านิยมของคนในสังคมไทย ผู้ใช้โทรศัพท์ iPhone ก็มักถูกตีค่าว่ามีฐานะดีกว่าผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนยี่ห้ออื่นๆ เนื่องจากราคาวางจำหน่ายที่ค่อนข้างสูง ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันสมาร์ตโฟนเรือธงจากหลากหลายแบรนด์ก็มีราคาสูงไม่แพ้กัน ตลอดจนปรับรูปโฉมให้โทรศัพท์มือถือกลายเป็น ‘Fashionable Device’ มากขึ้นจากการออกแบบตัวเครื่อง จนเกิดอุตสาหกรรมจำหน่ายอุปกรณ์มือถือค้าปลีกที่คึกคักเป็นจำนวนมาก เช่น ร้านขายเคส หรือร้านติดฟิล์ม เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือถูกพัฒนาจนถึงขีดสุด ผู้บริโภคจึงเสพติดการใช้งานโทรศัพท์สมาร์ตโฟนมากขึ้น ทั้งระบบทัชสกรีนที่ยอดเยี่ยม, การพัฒนาแอปฯ, ด้านการสื่อสาร เช่น FaceTime หรือ iMassage ขณะที่ค่ายผู้ให้บริการสัญญาณมือถือก็รับไม้ต่อออกแพ็กเกจเสริมการใช้งานต่างๆ ควบคู่ไปกับการขายสมาร์ตโฟนในปัจจุบัน รวมถึงในช่วงระยะหลังๆ อุปกรณ์จำพวกแบตเตอรีสำรอง (Power Bank) ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
และหากมองไปที่อุตสาหกรรมวงการเพลง iPhone ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้เครื่องเล่นเพลงแบบพกพาได้รับความนิยมถดถอยลง (โค่นได้แม้กระทั่งเครื่องเล่นเพลงในครอบครัวอย่าง iPod ก็ทำมาแล้ว) โดยเฉพาะการออกบริการสตรีมมิงเพลง Apple Music ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันไปแบบพลิกฝ่ามือเลยทีเดียว
หนึ่งทศวรรษแห่งความสำเร็จ กับก้าวต่อไปที่เปรียบเสมือนบทพิสูจน์
เมื่อมองจากการเดินทางตลอด 11 ปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของ iPhone มาโดยตลอด คือการเป็น ‘ผู้นำด้านนวัตกรรม’ และผู้ปฏิวัติวงการมือถือ แม้ในช่วงระยะหลังๆ ที่ ทิม คุก ขึ้นมารับหน้าที่กุมบังเหียน Apple ต่อจากสตีฟ จ็อบส์ นิยามดังกล่าวดูจะดร็อปลงไปพอสมควร ยิ่งเมื่อปล่อยผลิตภัณฑ์ iPhone รุ่นใหม่ครั้งใด การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดมักจะเป็นลักษณะทางกายภาพมากกว่า เช่น วัสดุเครื่อง สีใหม่ๆ หรือความจุ หาใช่นวัตกรรมเจ๋งๆ อย่างที่เคยมีเหมือน iPhone ยุคจ็อบส์
ในแง่หนึ่งเราอาจจะมองได้ว่า iPhone ถือกำเนิดขึ้นมาในยุคที่เทคโนโลยีสมาร์ตโฟนยังด้อยพัฒนาอยู่ Apple จึงหยิบจับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนพลิกแพลงใส่ในโทรศัพท์มือถือได้อย่างสร้างสรรค์ จนได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก ต่างจากในปัจจุบันที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเทคโนโลยีสมาร์ตโฟนเข้าสู่ยุคที่ใกล้ถึงทางตัน ไม่มีนวัตกรรมอะไรให้พัฒนาไปไกลกว่านี้ได้อีกแล้ว
แต่เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทั้งที ผู้คนส่วนใหญ่และสาวก Apple จึงอดคาดหวังนวัตกรรมเจ๋งๆ หรือสิ่งประดิษฐ์ล้ำยุคจากพวกเขาไม่ได้ และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่ iPhone 8 และโดยเฉพาะ iPhone X รุ่นฉลอง 10 ปี iPhone ที่มาพร้อมหน้าจอรอยบากไร้ขอบ ไร้ปุ่มโฮม, ระบบแสกนใบหน้า Face ID หรืออนิโมจิแสนน่ารักจะกวาดรายได้ให้กับ Apple เป็นกอบเป็นกำ ที่สำคัญรูปลักษณ์บางอย่างเช่นหน้าจอไร้ขอบรอยบากก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้สมาร์ทโฟนค่ายอื่นๆ เริ่มเดินรอยตาม
แม้ราคาเริ่มต้นของ iPhone X จะเฉียดหลักครึ่งแสน (40,500 บาท) แต่เพราะตัวเครื่องมีความสวยงาม ฟีเจอร์ต่างๆ น่าสนใจ ประกอบกับความพิเศษในโอกาสฉลองครบรอบ 10 ปี ทั้งหมดจึงส่งผลให้ความนิยมของมันพุ่งขึ้นสูงต่อเนื่องและมีส่วนช่วยให้ยอดขายบริษัทเติบโตไปในทางที่ดี เมื่อบวกรวมกับปัจจัยต่างๆ แวดล้อมก็ต้องยอมรับว่า iPhone X เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ Apple กลายเป็นบริษัทจากสหรัฐอเมริการายแรกที่มีมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์ทะลุหลักล้านล้านเหรียญสหรัฐได้สำเร็จเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ขณะที่ iPhone รุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวในช่วงคืนนี้ (ตรงกับเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกาช่วงสายของวันพุธที่ 12 กันยายน) ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะยึดโมเดลของ iPhone X มาพัฒนาต่อ
ถ้าทศวรรษที่ผ่านมาคือปฐมบทแห่งความสำเร็จของ iPhone ปีต่อๆ ไปก็คงเป็นปีแห่งบทพิสูจน์และการทดสอบครั้งสำคัญของพวกเขาเช่นเดียวกัน!
‘เลื่อนเพื่อรอรุ่นต่อไป?’
อ้างอิง:
- www.businesswire.com/news/home/20170131006472/en/Strategy-Analytics-Global-Smartphone-Shipments-Hit-Record
- content.time.com/time/specials/2007/article/0,28804,1677329_1678542,00.html
- www.gartner.com/newsroom/id/3609817
- www.digitaltrends.com/apple/apple-brand-loyalty-2017/
- info.brandkeys.com/acton/attachment/943/f-0071/1/-/-/-/-/2017%20CLEI%20-%20Table%20of%20Categories%20and%20Winners.pdf
- www.statista.com/statistics/276623/number-of-apps-available-in-leading-app-stores/
- www.cultofmac.com/489758/2017-app-store-revenue-crushes-apples-entire-2007-earnings/
- www.forbes.com/sites/chuckjones/2017/06/02/apples-app-store-could-generate-over-10-billion-in-revenue-this-year/#640a15dc2710
- en.wikipedia.org/wiki/Siri
- www.recode.net/platform/amp/2017/6/26/15821652/iphone-apple-10-year-anniversary-launch-mobile-stats-smart-phone-steve-jobs
- www.theverge.com/2016/6/14/11925076/siri-apple-wwdc-ios-updates-voice-recognition