ไม่แปลกอะไรที่เราแทบนึกถึงยุคที่ปราศจากอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือไม่ออกแล้ว นี่คือผลลัพธ์จากการที่เทคโนโลยีใหม่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตเรา (disruptive technology) สมาร์ตโฟนพาเรากระโดดข้ามไปสู่โลกดิจิทัล และ disrupt แทบทุกอุตสาหกรรมภายในไม่กี่ปี ดังที่เราได้เห็นการดิ้นรนเอาตัวรอดของธุรกิจค้าปลีก ธนาคาร บริษัทประกัน และอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งนับว่าเป็น ‘การพลิกโฉมครั้งประวัติศาสตร์’
ใครอยู่รอดก็มีโอกาสชี้ชะตาอนาคตใหม่
แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนำไปสู่ประเด็นคำถามว่า ‘เราจะอยู่อย่างไรในยุคโกลาหลเช่นนี้’
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าตัวแปรใหม่มีความซับซ้อนกว่า ทรงอิทธิพลยิ่งกว่าอินเทอร์เน็ต และคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำ
จากการจัดอันดับ 10 เทคโนโลยีก้าวหน้าที่น่าจับตาแห่งปีค.ศ. 2017 โดย MIT Technology Review เผยว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เริ่มทำบางสิ่งซึ่งโปรแกรมเมอร์ไม่ได้สอนด้วยการเรียนรู้แบบ Reinforcement Learning ขณะที่ World Economic Forum เปิดประเด็นว่าปีค.ศ. 2017 คือปีแห่งปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง
เรายังต้องกลัว AI ครองโลกกันอยู่ไหม ใครว่าชนชั้นกลางไม่ตกงาน การควบคุมหุ่นยนต์จำเป็นแค่ไหน The Standard ได้ถกเถียงประเด็นร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทาง AI และ Big Data ร่วมด้วยนักประดิษฐ์หุ่นยนต์ เจ้าของสตาร์ทอัพ และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ
นี่คือบทสรุปเทรนด์สำคัญที่เราไม่อยากให้คุณพลาด
AI เริ่มเข้ามาทดแทนกระทั่งอาชีพที่ไม่ใช่แรงงานไร้ทักษะ เช่น ทนายความ ซึ่งไม่ได้แปลว่า AI จะมาแทนที่ทนายนะครับ แต่จะเข้ามาช่วยให้คำแนะนำทนายได้ เพื่อให้ผลลัพธ์ของเขาแม่นยำยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันเราสามารถฝึกให้ AI ศึกษาเคสของคนไข้ และเป็น second opinion ให้หมอได้
Photo: fbf8.com
ยุคที่ AI อยู่ในมือของทุกคน
คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ Facebook และ Google ชูประเด็นความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ขึ้นมาเป็นไฮไลต์งานประชุมครั้งใหญ่ของบริษัทในปีนี้
ในงานประชุม F8 Developer Conference เดือนเมษายนที่ผ่านมา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และทีมงานนำ AI มาอยู่ใกล้ตัวคนมากขึ้นในรูปแบบแชตบ็อต (Chatbot) บน Messenger มีผู้ช่วยส่วนบุคคล ‘M’ ที่เหมือนกับ Siri ทว่าฝ่ายที่เปิดตัวแรงกว่ากลับเป็น Google เมื่อซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ซีอีโอแห่ง Alphabet ประกาศบนเวทีงาน Google I/O 2017 ว่าเรากำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคของมือถือมาสู่ ‘AI First’ เป็นที่รู้กันว่า Google ถือโปรเจกต์พัฒนา AI เต็มมือเป็นทุนเดิม หากไม่นับ AlphaGo ที่ชนะเคอ เจี๋ย (Ke Jie) มือหนึ่งของวงการเกมโกะไปทั้งหมด 3 เกม และตัดสินใจวางมือในที่สุด Google ยังเอาใจภาคธุรกิจด้วยการนำ AI และ Machine Learning เข้ามายกระดับบริการ Cloud Platform เช่น Cloud Speech API ที่สามารถแยกแยะเสียงได้กว่า 80 ภาษา นอกจากนี้ยังส่ง Google Lens ที่สามารถแยกแยะภาพได้ออกมาแก้ตัวแทน Google Glass ด้วย
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเล็กน้อยในบรรดาโปรเจกต์ของบริษัทเทคฯ ทั่วโลกที่พยายามนำ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา อย่างเช่น กองทัพรถไร้คนขับของ Uber และ Tesla หรือ Neuralink สตาร์ทอัพน้องใหม่ของอีลอน มักส์ (Elon Musk) ที่พัฒนาระบบเชื่อมต่อสมองเข้ากับ AI
Photo: empolis.com
ดร. สเตฟาน เวสส์ (Stefan Wess) ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และซีอีโอ Empolis บริษัทชั้นนำทางด้าน Big Data ในเยอรมนี กล่าวกับ THE STANDARD ว่า ชัยชนะของ AlphaGo ในปีที่แล้วถือเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่และเขย่าความคิดของนักวิชาการ AI ทั้งวงการไปโดยสิ้นเชิง
“ผมเคยคิดว่าเราอาจต้องใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีแบบนั้นได้สำเร็จ มันมีความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เคยมีมนุษย์คนไหนทำได้ขนาดนี้มาก่อน แม้แต่ตอนที่ DeepBlue ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของ IBM เอาชนะแกร์รี คาสปารอฟ (Garry Kasparov) แชมป์หมากรุกโลกในปี ค.ศ. 1997 เกมหมากรุกมีข้อจำกัดในการคำนวณความเป็นไปได้ ขณะที่เกมหมากล้อมจะซับซ้อนและใช้ความคิดสร้างสรรค์มากกว่านั้น
“ตอนนี้ไอโฟนสามารถจดจำและแยกแยะวัตถุในรูปได้ มันเรียนรู้ว่ารูปไหนเป็นรูปรถโดยที่ไม่มีใครสอนว่ารถมีหน้าตาเป็นอย่างไร จากการเห็นและวิเคราะห์ภาพเป็นล้านๆ ทั้งรถ สุนัข ชายหาด บ้าน รถไฟ ระบบการเรียนรู้ของมันค่อนข้างคล้ายกับการทำงานของสมองมนุษย์ นี่คือเทคโนโลยี AI ที่อยู่ในมือของเรา
“ถ้าย้อนมองพัฒนาการตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เรามีหุ่นยนต์ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้าน และกำลังสร้างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ทั้งนี้เพราะว่าเทคโนโลยีมันฉลาดขึ้นและจะฉลาดยิ่งขึ้นไปอีก เราจำเป็นต้องสื่อสารกับมัน และมันก็เรียนรู้วิธีสื่อสารกับเราเช่นกัน ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าเราจะมีหุ่นยนต์เป็นเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า”
ทุกวันนี้ทหาร ตำรวจพูดคุย ส่งเอกสาร และข้อมูลที่เป็นความลับของประเทศทางไลน์กัน ซึ่งเซิร์ฟเวอร์ไลน์อยู่ในญี่ปุ่น กลายเป็นว่าข้อมูลมันถูกเข้าถึงได้หมดเลย ไม่มีการเข้ารหัส (encryption) ไม่มีระบบป้องกัน นี่แค่บนมือถือเองนะครับ ถ้าเกิดเป็นหุ่นยนต์ที่พูดคุยกับคนได้ล่ะ นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากเราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (digital infrastructure) ที่รองรับเรื่องพวกนี้ สุดท้ายใครสักคนก็จะล้วงความลับไป ทำให้เรากลายเป็นเมืองขึ้นโดยไม่รู้ตัว
Photo: Exmachina, Movie
เทรนด์โลกด้านธุรกิจจะหมุนไปหา AI
หากมองภาพรวมของเทรนด์โลกที่เกิดขึ้นในเวลานี้ อาร์ต-ทัชพล ไกรสิงขร ผู้ร่วมก่อตั้งและ CTO บริษัท ConvoLab สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่มุ่งให้บริการด้าน AI ชี้ว่า การมาถึงของปัญญาประดิษฐ์จะส่งอิทธิพลต่อธุรกิจอย่างมหาศาล
1. ถึงเวลาจัดระเบียบ Big Data
ซึ่งก็คือการแปลงข้อมูลที่กระจัดกระจายบนโลกออนไลน์ หรือ unstructured data เช่น โซเชียลมีเดีย กระทู้บนเว็บบอร์ด ให้เป็นข้อมูลที่จัดเก็บเป็นระเบียบ (structured data) และใช้ประโยชน์ทางธุรกิจได้จริงๆ ซึ่งปัจจุบันภาคธุรกิจนำมาใช้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของข้อมูลทั้งหมดเท่านั้น
เช่น AI สามารถให้คำแนะนำนักลงทุนในเรื่องการวิเคราะห์ตลาดหุ้นจากการอ่านข้อมูลบทความทั้งหมด (ซึ่งทำได้ในปริมาณเยอะและไวกว่าคน) และดูอารมณ์ตลาด (sentiment) ว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร หรือใช้วิเคราะห์นิสัยและวิธีการรับมือกับลูกค้า call center
“เราไม่รู้หรอกว่าลูกค้าที่โทรเข้ามาเป็นคนใจร้อน ใจเย็น หรือชอบเหวี่ยง เราก็จะเริ่มเอา AI เข้ามาจับปัญหานี้ ให้มันเรียนรู้นิสัยจากการสนทนาว่าคนนี้ค่อนข้างใจร้อนนะ เขาอ่อนไหวกับเรื่องแบบไหน และต้องระวังอย่างไร หรือวิธีรับมือที่ดีที่สุดควรเป็นอย่างไร นี่คือการนำ AI มาจัดการข้อมูลให้เป็นระเบียบและวิเคราะห์ง่ายขึ้น”
2. หมดยุค ‘หมอเดา’
ในยุคของการแข่งขันกันด้วยข้อมูล ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าสัญชาตญาณหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยให้ธุรกิจพ้นปากเหวทุกครั้ง AI จะช่วยอุดช่องโหว่ของแผนธุรกิจด้วย predictive analytics ที่คาดการณ์พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งใช้ predictive analytics ศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินซื้อของเพื่อหาสินค้า 2 ประเภทที่คนนิยมซื้อด้วยกันบ่อยที่สุด (เพื่อจัดวางสินค้าแยกกันให้คนเดินเยอะ) ผลปรากฏว่าเป็นเบียร์และผ้าอ้อม พนักงานจึงจัดวางสินค้า 2 อย่างนี้แยกกันเพื่อให้คนเดินทั่วถึง
3. ให้ระบบอัตโนมัติทำงานแทน
นอกจากรถยนต์ไร้คนขับ แชตบ็อต (Chatbot) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยดูแลตอบปัญหาลูกค้า แต่ก็มีแนวโน้มสูงว่าระบบอัตโนมัติจะเข้ามาทดแทนหน้าที่บางอย่างของอาชีพชนชั้นกลาง เช่น ฝ่ายบริการลูกค้าและประชาสัมพันธ์ หรือแม้แต่ทนายความ
“AI เริ่มเข้ามาทดแทนกระทั่งอาชีพที่ไม่ใช่แรงงานไร้ทักษะ เช่น ทนายความ เพราะมันสามารถอ่านและวิเคราะห์เอกสารทางกฎหมายที่มีลักษณะเป็น structured data ได้ แล้วตีความกฎหมายแทนทนายได้เลย ซึ่งไม่ได้แปลว่า AI จะมาแทนที่ทนายนะครับ แต่จะเข้ามาช่วยให้คำแนะนำทนายได้ เพื่อให้ผลลัพธ์ของเขาแม่นยำยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันเราสามารถฝึกให้ AI ศึกษาเคสของคนไข้ และเป็น second opinion ให้หมอได้ เช่น ถ้าเจอคนไข้เป็นมะเร็งที่ปอดขนาดเท่านี้ อายุเท่านี้ เป็นผู้หญิงเอเชียแบบนี้ จากสถิติแล้วควรจะรักษาแบบไหนจึงจะมีเปอร์เซ็นต์รอดมากที่สุด”
เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาชีวิตเราให้ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สาธารณสุขหรือสิ่งแวดล้อม เราอาจคิดค้นวิธีรักษามะเร็งแบบใหม่ได้จากการบูรณาการ AI กับเทคโนโลยีชีวภาพ หรือช่วยตัดสินใจในสถานการณ์คับขันที่ไม่มีใครรู้คำตอบ แต่ถ้ามีคนนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การควบคุมอาวุธและรถถัง เราอาจต้องเผชิญกับด้านมืดของเทคโนโลยีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Photo: GREG BAKER, AFP/Profile
กองทัพ AI สัญชาติจีนกำลังมา ไทยพร้อมแค่ไหน
นับจากนี้เราจะได้เห็นความเคลื่อนไหวด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของประเทศจีนกันมากขึ้น หลังรัฐบาลประกาศจะยกระดับการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีตามยุทธศาสตร์ ‘Made in China 2025’
ปัจจุบันบริษัทไอทียักษ์ของจีน เช่น Baidu และ Tencent กำลังทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับงานวิจัยและสตาร์ทอัพที่มุ่งพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ พร้อมกับดึงบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน ด้านสตาร์ทอัพ Didi ผู้ให้บริการรถร่วมเดินทาง ride-sharing กำลังสร้างแล็ปวิจัยรถยนต์ไร้คนขับเช่นกัน บริษัท iResearch Consulting Group ประเมินว่ามูลค่าตลาด AI ของจีนน่าจะแตะ 9.1 พันล้านหยวน หรือ 4.5 หมื่นล้านบาทไทยภายในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเพราะรัฐบาลจีนต้องการดันประเทศเป็นแพลตฟอร์มที่มีทรัพยากรด้าน AI พร้อมสรรพ
แรงกระทบที่ตามมาจึงน่าจะเข้าขั้น ‘สะเทือน’ ทั้งโลกก็เป็นได้ แม้แต่แอนดรูว์ อึง (Andrew Ng) ผู้เชี่ยวชาญ Deep Learning ผู้ก่อตั้ง Google Brain และเคยทำงานให้กับ Baidu ยังยอมรับว่า AI ของ Baidu นั้นฉลาดมาก
ดร. มหิศร ว่องผาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ HiveGround ที่มุ่งผลิตเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มองว่าประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจาก AI ต่างชาติ แต่ที่น่ากังวลกว่าคือหุ่นยนต์ที่มีระบบการเรียนรู้แบบ AI
“ไม่ช้าก็เร็วเราต้องใช้ AI กันอยู่แล้ว แต่เราต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนในฐานะคนใช้งานที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงว่า AI จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเราได้ยังไง มันคิดอะไร ด้วยเหตุผลอะไร และอย่างไร ไม่อย่างนั้นสุดท้ายเราก็ได้ใช้ AI ของจีน ญี่ปุ่น อเมริกา เราก็จะมีพฤติกรรม แนวคิด วิธีการเหมือนกันกับเขา สุดท้ายมันก็จะโยงกลับมาเรื่องความมั่นคงของประเทศ
“ทุกวันนี้ทหาร ตำรวจพูดคุย ส่งเอกสาร และข้อมูลที่เป็นความลับของประเทศทางไลน์กัน ซึ่งเซิร์ฟเวอร์ไลน์อยู่ในญี่ปุ่น กลายเป็นว่าข้อมูลมันถูกเข้าถึงได้หมดเลย ไม่มีการเข้ารหัส (encryption) ไม่มีระบบป้องกัน นี่แค่บนมือถือเองนะครับ ถ้าเกิดเป็นหุ่นยนต์ที่พูดคุยกับคนได้ล่ะ นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากเราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (digital infrastructure) ที่รองรับเรื่องพวกนี้ ซึ่งถ้ามองแบบสุดโต่งแล้ว สุดท้ายใครสักคนก็จะล้วงความลับไป ทำให้เรากลายเป็นเมืองขึ้นโดยไม่รู้ตัว
Photo: Robot-dreams-com
ภัยหรือผู้ช่วยอัจฉริยะ วิกฤติหรือความหวังในยุคโกลาหล
เมื่อเราตั้งคำถามยอดฮิตตลอดกาลของยุคนี้ว่า AI จะเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์หรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญทุกคนที่เราสัมภาษณ์มีความเห็นตรงกันว่า มีความเป็นไปได้ที่ AI จะเป็นภัยอันตรายกับคน แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะยับยั้งการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยที่เป็นประโยชน์
ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ของหุ่นยนต์ Pepper ภายใต้บริษัท Hoomano เซบาสเตียน กาญง (Sebastien Cagnon) มองว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนเลิกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ แสดงให้พวกเขาเห็นว่าหุ่นยนต์ทำอะไรได้บ้าง และพยายามพัฒนาโปรเจกต์ในทิศทางที่ถูกต้อง ทั้งนี้ความแตกต่างทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมยังมีส่วนทำให้ชาวตะวันตกมองว่าหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เป็นภัยคุกคาม ซึ่งสะท้อนผ่านภาพของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์
ทางดร. มหิศร ว่องผาติ อธิบายว่า ปัจจุบันเรามีประเภทของ AI ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง สามารถคิดและตัดสินใจทำบางอย่างเหมือนกับมนุษย์ เช่น AlphaGo แต่ AI ที่มีความสามารถทั่วไปเทียบเท่ากับมนุษย์ (Generic AI) นั้นยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฉลาดเหมือนกับคน
“นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับ AI เชื่อกันว่า ตอนนี้ความฉลาดของ AI ทั่วไปอยู่ในระดับเดียวกับมด และน่าจะต้องใช้เวลากับความพยายามเยอะมากเพื่อให้มันกลายเป็นหนู แต่อาจจะเร็วมากในการกลายเป็นคนโง่ที่สุดในโลก ทีนี้ความแตกต่างระหว่างคนที่โง่ที่สุดในโลกกับคนที่ฉลาดที่สุดในโลกมีระยะห่างกันแค่ไหน เราอาจเหลือเวลานิดเดียวที่มันจะพัฒนาเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในโลก หลังจากนั้นมันจะทำสำเนาตัวเองและกลายเป็นว่าคนทั่วโลกอยู่ใต้เส้นความฉลาดของมันทันที
“ถามว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร ตอบยากครับ เพราะว่ามันมีนักวิจัยอยู่ 2 แบบ คือพวกนักวิจัยเสียงดัง เช่น Google และ Microsoft ที่ทุกคนรู้ว่าทำอะไรอยู่ กับพวกนักวิทยาศาสตร์เพี้ยนสุดเก่งที่แอบพัฒนา AI แล้วมันอาจจะพัฒนาไปถึงจุดสูงสุดโดยที่ไม่มีใครรู้ ไม่มีเวลาเตรียมตัว นี่คือแนวคิดแบบเอ็กซ์ตรีมที่มีความเป็นไปได้ แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมและมองการณ์ไกลถึงผลกระทบทางสังคม มันคือการวางแผนล่วงหน้าที่บ้านเราไม่ค่อยเก่งกัน”
ดร. สเตฟาน เวสส์ กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์มอบทั้งโอกาสและความเสี่ยงเช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆ และอาจวิวัฒน์ไปถึงจุดที่เกินจะคาดเดาหรือควบคุม แต่เขาเชื่อว่า AI คือความหวังของมนุษย์
“เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาชีวิตเราให้ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สาธารณสุขหรือสิ่งแวดล้อม เราอาจคิดค้นวิธีรักษามะเร็งแบบใหม่ได้จากการบูรณาการ AI กับเทคโนโลยีชีวภาพ มีเครื่องจักรที่วิเคราะห์ประมวลผลเอกสารทุกฉบับ งานวิจัยทุกชิ้น และข้อมูลผู้ป่วยทุกรายเพื่อหาทางรักษาโรค หรือช่วยตัดสินใจในสถานการณ์คับขันที่ไม่มีใครรู้คำตอบ เทคโนโลยีนี้เปรียบเสมือนแว่นขยายที่ช่วยให้คนรุ่นก่อนค้นพบคำตอบบางอย่างที่ไม่เคยรู้
“แต่ถ้ามีคนนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การควบคุมอาวุธและรถถัง เราอาจต้องเผชิญกับด้านมืดของเทคโนโลยีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
เรามาถึงจุดที่ต้องตระหนักถึงปัญหาทางจริยธรรมกันมากขึ้น ผมรู้จักนักกฎหมายในสหรัฐอเมริกาที่ทำงานเกี่ยวกับกฎหมายด้านจริยธรรมสำหรับพนักงานที่ไม่ใช่มนุษย์ ผมหมายถึงเครื่องจักร เราจำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้า ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นอีกนานแค่ไหนก็ตาม
Photo: wikimedia commons
ความท้าทายทางจริยธรรมและภาพลวงตาของนิยายไซไฟ
เมื่อต้นปี รัฐสภายุโรปได้พิจารณาร่างกฎหมายควบคุมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หลังจากเล็งเห็นว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายที่ครอบคลุมอุบัติเหตุและผลกระทบจากรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ประเภทหนึ่ง รวมทั้งควรกำหนดมาตรฐานจริยธรรมควบคุมการพัฒนา AI โดยกำหนดสถานะให้เป็นบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นกระแสตื่นตัวเรื่องการควบคุม AI ครั้งยิ่งใหญ่ทีเดียว
เควนติน คูเปอร์ (Quentin Cooper) นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังจากสหราชอาณาจักร ดีกรีปริญญาโทด้านจิตวิทยาและปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยเอดินบะระ มาร่วมแสดงทัศนะกับเราในประเด็นดังกล่าวว่า จริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และนักวิทยาศาสตร์ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาเสมอ
“เรามาถึงจุดที่ต้องตระหนักถึงปัญหาทางจริยธรรมกันมากขึ้น ผมรู้จักนักกฎหมายในสหรัฐอเมริกาที่ทำงานเกี่ยวกับกฎหมายด้านจริยธรรมสำหรับพนักงานที่ไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่เอเลี่ยนนะครับ ผมหมายถึงเครื่องจักร เราจำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้า ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นอีกนานแค่ไหนก็ตาม เราควรรู้ว่าจะต้องรับมือกับอะไร แม้แต่ในวงการชีววิทยา นักวิทยาศาสตร์ยังถกเถียงกันเรื่องการศึกษาจำแนกประเภทของสิ่งมีชีวิต ไวรัสถือเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ เช่นเดียวกัน ถ้าเครื่องจักรพัฒนาไปถึงจุดที่ผนวกเข้ากับนาโนเทคโนโลยีได้ เราอาจสร้างนาโนบ็อต (nanobot) ที่สามารถทำสำเนาตัวเองได้ มันจะจัดเป็นสิ่งมีชีวิตด้วยหรือเปล่า
“แต่สุดท้ายแล้วเราอาจร่างกฎหมายและจริยธรรมไม่ทันเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปเร็วมาก”
เขายังแนะนำว่าประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมหุ่นยนต์ รวมทั้งประเทศไทย อาจเริ่มต้นที่จุดประเด็นการพูดคุยสนทนาให้คนรับรู้และเข้าใจก่อน
“สิ่งที่ยอดเยี่ยมของวงการวิทยาศาสตร์ก็คือ ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไร นักวิทยาศาสตร์มักจะมีช่องทางลับไว้สื่อสารกันเอง เช่น สมัยสงครามเย็น นักวิทยาศาสตร์รัสเซียยังมีช่องทางสื่อสารกับนักวิทยาศาสตร์อเมริกัน แม้ว่าสถานการณ์จะตึงเครียดมากก็ตาม”
อย่างไรก็ดี คูเปอร์ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันผู้คนส่วนมากนั้นติดภาพจำของปัญญาประดิษฐ์ในภาพยนตร์และนิยายวิทยาศาสตร์มากเกินไป แม้แต่นักวิจัยเองก็หลงระเริงไปกับเงินทุนที่ไหลเข้าสู่งานวิจัย AI แต่ในความเป็นจริง AI ยังพัฒนาไปไม่ถึงจุดที่มันควรจะเป็นด้วยซ้ำ
“เรามาถึงจุดที่ AI ยังไม่ก้าวหน้าในเรื่องการรู้คิดแบบมนุษย์ เราเคยให้ความสำคัญกับการฝึกให้ AI เป็นเซียนหมากรุกหรือหมากล้อม พอมันโค่นแชมป์โลกได้ เราก็คิดว่ามันมีทักษะเป็นเลิศ แต่การสอนให้หุ่นยนต์เดินขึ้นบันไดหรือชงชาสักแก้วเป็นเรื่องยากกว่านั้นเยอะ
“ดังนั้นการสอนให้เครื่องจักรฉลาดเหมือนคน เราต้องคิดถึงสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราฉลาด ทักษะความสามารถขั้นสูงที่เราเคยมองว่ามันยาก เช่น หมากล้อม จริงๆ แล้วมันควรจะเป็นการเตะบอล หรือว่ายน้ำ ซึ่งเป็นทักษะที่ยากสำหรับหุ่นยนต์
“เราเดินเข้าไปจับมือทักทายกับคนกันเป็นปกติ แต่ถ้าคุณอยากให้หุ่นยนต์อาซิโมของญี่ปุ่นเดินไปเชกแฮนด์กับคนในห้องก็ต้องมีคนโปรแกรมมันก่อน ซึ่งเราไม่เคยคิดว่าการเชกแฮนด์เป็นทักษะขั้นสูงด้วย แต่มันเป็นเช่นนั้นสำหรับหุ่นยนต์ ผมคิดว่ามนุษย์มีจินตนาการที่น่าทึ่งนะ เรามีนิยายวิทยาศาสตร์ ปัญหาสำคัญของพวกนักวิจัยก็คือ พวกเขามักจะอ้างว่าจะสร้างความก้าวหน้าครั้งใหญ่ แล้วเงินทุนก็แห่กันมาลงที่โปรเจกต์ AlphaGo ซึ่งผมคิดว่า AI น่าจะทำได้แบบนั้นตั้งนานแล้วด้วยซ้ำ เพราะเราเคยเห็นอะไรทำนองนี้ในทีวีมาเยอะแล้ว คนเลยมักจะเชื่อว่าเราก้าวหน้าไปไกลกว่าสิ่งที่เราทำได้ในความเป็นจริง”
นี่คือทัศนะจำนวนหนึ่งที่เราได้รวบรวมจากการสนทนาพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ต่างๆ เพื่อสรุปเป็น key trends สำคัญที่ควรรู้และเตรียมตัวให้พร้อม เพราะ disruption รอบนี้น่าจะมีอำนาจมากพอที่จะพลิกโลกทั้งใบได้ ดังที่แอนดรูว์ อึง กล่าวว่า “AI คือนิยามใหม่ของไฟฟ้า (AI is the new electricity) ที่เคยพลิกโฉมหลายอุตสาหกรรมเมื่อ 100 ปีก่อน และกำลังจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมหลักของโลก ตั้งแต่การแพทย์ การคมนาคม ธุรกิจบันเทิง และการผลิต” อีกทั้งเราต้องไม่ลืมระวังภัยคุกคามทางโลกไซเบอร์ เช่น มัลแวร์และบ็อตที่เป็นเครื่องมือก่อการร้ายที่แอบแทรกซึมเข้ามากับของใช้ในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่ในรถไร้คนขับ
ถ้าไม่เตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ เราอาจเป็นฝ่ายเสียเปรียบในทุกทาง
อ้างอิง:
– www.ald.softbankrobotics.com
– www.bloomberg.com/news/articles/2016-10-27/a-japanese-billionair
– www.softbank.jp/en/corp/group/sbr
– www.softbank.jp/corp/d/group_news/press_20170520_01_en.pdf
วันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา AlphaGo ปิดฉากอำลาวงการหมากล้อมอย่างเป็นทางการ แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าทีมนักวิจัย DeepMind จะกลับมาพร้อมกับโครงการใหม่เมื่อไร เดมิส ฮัสซาบิส (Demis Hassabis) ผู้ร่วมก่อตั้งและร่วมบริหารบริษัท DeepMind เปิดเผยว่าทีมงานมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่ารออยู่ และกำลังพัฒนาระบบอัลกอริทึมขั้นสูงของ General AI เขาเชื่อว่า AI จะมีบทบาทสำคัญทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และ AlphaGo เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตอันใกล้เท่านั้น