×

เยอรมนีคว้าแชมป์คอนเฟดฯ 2017 ครั้งแรก! รัสเซียพร้อมเป็นเจ้าภาพบอลโลกหรือไม่?

03.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ‘อินทรีเหล็ก’ เยอรมนีคว้าแชมป์ฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพครั้งแรกหลังเอาชนะชิลีในรอบชิงไป 1-0
  • บุนเดสลีกา ลีกสูงสุดของเยอรมนีแสดงความแข็งแกร่งของทีมชาติด้วยการแบ่งทีมชาติชุดใหญ่ได้ถึง 4 ชุด ซึ่งแต่ละชุดประกอบไปด้วยนักเตะที่มีชื่อชั้นทั้งหมด
  • รัสเซียมีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ แต่ยังประสบปัญหาแฟนบอลเจ้าถิ่นไม่เข้าสนามเพื่อเชียร์ทีมชาติรัสเซีย
  • VAR สอบผ่านในด้านอุปกรณ์ แต่ยังมีปัญหาในระบบการใช้งาน

     ฟุตบอลทีมชาติเยอรมนีฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2017 ได้สำเร็จ หลังเอาชนะชิลีแชมป์ทวีปอเมริกาใต้ โคปาอเมริกาไป 1-0 จากลูกยิงของ ลาร์ส สตินเดิล ตอกย้ำความเป็นมหาอำนาจในโลกฟุตบอล และแชมป์โลกสมัยล่าสุด

 

ลาร์ส สตินเดิล ยิงประตูชัยให้กับเยอรมนีในชิงฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2017

Photo: Franck Fife/AFP

 

     โดยเส้นทางการแข่งขันครั้งนี้ เยอรมนีเอาชนะออสเตรเลียในเกมแรกไป 3-2 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ก่อนจะเสมอกับชิลีไป 1-1 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน และปิดท้ายรอบแบ่งกลุ่มด้วยการเอาชนะแคเมอรูนไป 3-1 ผ่านเข้ารอบรองในฐานะแชมป์กลุ่มมาพบกับเม็กซิโก ซึ่งเยอรมนีก็เอาชนะไปได้ 4-1 ก่อนจะโคจรมาพบชิลีอีกครั้ง และเอาชนะไปได้ 1-0 คว้าแชมป์ฟุตบอลรายการนี้ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

     แต่สิ่งที่น่าแปลกใจยิ่งกว่าคือ เยอรมนีครั้งนี้เลือกใช้นักเตะหน้าใหม่เกือบทั้งทีม และพักนักเตะหลัก ซึ่งเพจทางการของบุนเดสลีกา ลีกสูงสุดของเยอรมนี ได้ออกมาข่มชาติอื่นด้วยการโพสต์รูปนักเตะทีมชาติเยอรมนีในปัจจุบัน สามารถแบ่งได้ถึง 4 ทีม ซึ่งถือว่าเป็นทีมที่แข็งแกร่งมาก ทำให้ โยอาคิม เลิฟ หัวหน้าผู้ฝึกสอนมีตัวเลือกอย่างเหลือเฟือในปี 2018 อย่างแน่นอน

 

แผนนักเตะทีมชาติเยอรมนี ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ทีมที่มีความแข็งแกร่งทุกทีม

Photo: Bundesliga Official/Facebook

 

Photo: Patrik STOLLARZ/AFP

 

ผลสอบรัสเซียในฐานะเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018

     เป็นวัฒนธรรมการทดสอบเจ้าภาพฟุตบอลโลกไปแล้วกับฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ โดยก่อนการแข่งขันครั้งนี้มีหลายฝ่ายเฝ้าติดตามเจ้าภาพรัสเซียเป็นพิเศษ โดย The Guardian สื่อออนไลน์ในประเทศอังกฤษ ได้ส่งผู้สื่อข่าวไปที่ประเทศรัสเซีย เพื่อรายงานความพร้อมของเจ้าภาพในครั้งนี้

     ชอน วอลเกอร์ หนึ่งในนักข่าวที่ใช้ชีวิตอยู่ในมอสโก ประเทศรัสเซีย ได้เดินทางไปร่วมการแข่งขันฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพและรายงานว่า บรรยากาศในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในเกมที่เจ้าบ้านรัสเซียพบกับนิวซีแลนด์ เขาได้พบกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มที่สนามบินและสถานีรถไฟ เพื่อช่วยเหลือให้คำแนะนำเส้นทางไปสนามแก่นักท่องเที่ยวและแฟนกีฬา รวมถึงยังมีป้ายภาษาอังกฤษในพื้นที่ของเมืองที่จัดการแข่งขัน เพื่อนำไปสู่สถานที่สำคัญในมอสโก  และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเจ้าภาพมีความพยายามที่จะปรับปรุงการคมนาคม และการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้คนที่เดินทางเข้ามาชมการแข่งขันครั้งนี้

     แต่สนามปีเตอร์อารีนา ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งบริษัททรานส์สทรอย ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการนี้มีปัญหาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การสร้างเสร็จช้ากว่ากำหนด รวมถึงแรงงานเกาหลีเหนือเสียชีวิต โดยบางส่วนของสนามเริ่มมีสนิมขึ้นหลังจากเปิดใช้งานเพียงไม่กี่เดือน รวมถึงมีรูรั่วบนหลังคาในระหว่างการแข่งขันนัดแรกของคอนเฟเดอเรชันส์คัพ นอกจากนี้ คริสเตียโน โรนัลโด ศูนย์หน้าทีมชาติโปรตุเกสที่เดินทางมาแข่งขันในครั้งนี้ ก็ได้ออกมาตำหนิว่าหญ้าในสนามสูงเกินไป

     แต่ทั้งหมดนั้นอาจจะถูกลืมได้ เนื่องจากระหว่างทางเดินเข้าสนาม แฟนบอลจะพบอาสาสมัครที่เต็มใจพาแฟนบอลท่องเที่ยวในเมือง และให้คำแนะนำตลอดทาง

     “รัสเซียมีชื่อเสียงว่าเป็นประเทศที่เคร่งเครียดและหัวรุนแรง แต่เราคิดว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้จะแสดงให้ทุกคนเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง” เซอร์จี้ โปรแกรมเมอร์วัย 37 ปี จากเมืองโซชิ ที่เข้าชมการแข่งขันรอบรองชนะเลิศระหว่างเม็กซิโกกับเยอรมนีกล่าว

     ขณะที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้บอกกับผู้สื่อข่าวของ The Guardian ว่า เธอได้รับคำแนะนำกึ่งบังคับจากครูของเธอให้เป็นอาสาสมัคร แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่นักข่าวผู้นี้พบเห็นก็เป็นรอยยิ้มที่ดูจริงใจจากอาสาสมัครทุกคน

     และสิ่งสำคัญที่น่าตกใจที่สุดคือ กองเชียร์ในสนาม ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกหากแฟนบอลของเยอรมนีหรือโปรตุเกสอาจจะไม่เดินทางมาชมการแข่งขัน เนื่องจากรายการนี้เปรียบเสมือนการทดลองสนามสำหรับฟุตบอลโลกในปี 2018 แต่แฟนบอลเจ้าถิ่นรัสเซียกลับไม่ได้เข้าชมการแข่งขันเยอะเท่าที่ควร เห็นได้ชัดในเกมที่ทีมชาติรัสเซียลงสนาม มีแฟนบอลเข้าชมไม่เต็มความจุ

     ส่วนแฟนบอลต่างชาติที่เดินทางมาชมการแข่งขัน รวมถึงนักข่าวอย่าง ดิเอโก้ ซาเอส ที่จ่ายค่าแท็กซี่ประมาน 650 เหรียญสหรัฐ เพียงแค่เดินทางจากสนามบินเข้ามาในตัวเมือง ซึ่งแท้จริงแล้วต้องมีราคาเพียงแค่ 20 เหรียญสหรัฐ ​แต่สุดท้ายทางการของรัสเซียก็ได้ตามตัวคนขับจนเจอ และดิเอโก้ก็ได้รับเงินคืนพร้อมกับได้นั่งรถแท็กซี่คันนั้นฟรีตลอดการแข่งขัน ซึ่งคาดเดาได้ว่าเป็น ‘คำแนะนำ’ จากตำรวจนั่นเอง

 

Photo: Yurl CORTEZ/AFP

 

เหยียดสีผิว แรงงานเกาหลีเหนือตาย นักบอลโดนกล่าวหาว่าใช้สารกระตุ้น ที่ยังผูกติดกับเจ้าภาพรัสเซีย

     ช่วงปีที่ผ่านมา รัสเซียตั้งเป้าหมายใหญ่อยู่ 2 ข้อ อย่างแรกคือการสร้างทัวร์นาเมนต์ที่น่าจดจำสำหรับแฟนกีฬา ซึ่งถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ค่อนข้างยากลำบาก โดยก่อนหน้านี้ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในโซชิ เมื่อปี 2014 ซึ่งถือว่าเป็นการฟื้นฟูประเทศหลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย

     ซึ่งการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกก็ได้ช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศขึ้นมาได้ แต่สุดท้ายก็เกิดปัญหาด้านลบขึ้น เมื่อนักกีฬารัสเซียถูกตัดสิทธิออกจากการแข่งขันหลายรายการ เนื่องจากองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือ World Anti-Doping Agency (WADA) มีรายงานว่า นักกีฬารัสเซียมีการใช้สารกระตุ้นจริง

     ขณะที่การแก้ปัญหาแฟนบอลหัวรุนแรง ซึ่งสร้างปัญหาไว้ในฟุตบอลยูโร 2016 ที่ประเทศฝรั่งเศสและการเหยียดสีผิว ทางเจ้าภาพถือว่าสามารถปรับปรุงในส่วนนี้ได้ดี เนื่องจากไม่มีรายงานการทะเลาะวิวาทระหว่างแฟนบอลเกิดขึ้นในคอนเฟเดอเรชันส์คัพครั้งนี้ แต่ก็ยังมีรายงานว่ามีแฟนบอลโบกผลไม้กล้วยใส่นักฟุตบอลทีมชาติแคเมอรูน

 

Photo: Franck Fife/AFP

 

VAR-Video Assistant Referees กับปัญหาที่ยังแก้ไม่จบ

     VAR หรือ Video Assistant Referees อุปกรณ์ที่นำกรรมการ 2 คนมานั่งดูไฮไลต์และภาพช้าเพื่อช่วยกรรมการตัดสินได้ถูกทดลองใช้อีกครั้งในฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์ครั้งนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบระบบสำหรับฟุตบอลโลกในปี 2018 โดยระบบ VAR ได้ถูกใช้งานและย้อนคำตัดสินของกรรมการถึง 6 ครั้ง ซึ่ง จานนี อินฟานติโน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ รู้สึกภูมิใจกับการทำงานของระบบนี้เป็นอย่างดี

     โดยที่ผ่านมาอินฟานติโนเปิดเผยว่า ระบบ VAR ได้ทดสอบใช้งานแล้ว 74 เกม แต่สิ่งที่ยังต้องแก้ไขคือการสื่อสารระหว่างกรรมการในสนาม และกรรมการ 2 คนที่มอนิเตอร์ภาพช้าอยู่หน้าระบบ VAR รวมถึงขั้นตอนการตัดสินใจ ซึ่งถูกวิจารณ์เป็นอย่างมากในการแข่งขันคอนเฟเดอร์เรชันส์คัพครั้งนี้

     โดยระบบ VAR สร้างข้อกังขาหลายครั้งในเกมที่เยอรมนีชนะแคเมอรูน ไป 3-1 ในรอบแบ่งกลุ่ม กรรมการต้องขอให้กรรมการ 2 คน ใช้ระบบ VAR ถึง 2 ครั้งก่อนจะตัดสินใจไล่ผู้เล่นแคเมอรูนออกจากสนาม

     ขณะที่ชิลีถูกปฏิเสธลูกยิงที่น่าจะเป็นประตูหลังจากเรียกใช้ระบบ VAR ในเกมที่พวกเขาชนะแคเมอรูน 2-0 รวมถึงในช่วงท้ายเกม ระบบ VAR ก็กลับคำตัดสินของผู้ช่วยผู้ตัดสินที่ยกธงให้ชิลีล้ำหน้า และให้ประตูกับชิลีไป

 

Photo: KIRILL KUDRYAVTSEV/AFP

 

     ซึ่งปัญหาการสื่อสารส่วนสำคัญเกิดขึ้นจากการที่กรรมการในสนามและผู้ใช้ระบบ VAR ระหว่างการดูภาพช้าหรือไฮไลต์นั้นไม่มีการนำภาพนั้นมาขึ้นโชว์ แต่กลับเป็นการหยุดเกมและรอให้กรรมการสื่อสารกันก่อนจะตัดสินใจ ซึ่งจุดนี้ทำให้แฟนบอลทั้งในและนอกสนามอาจสับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวะนั้น

     แต่สุดท้ายระบบ VAR จะถูกทดสอบการใช้งานเต็มรูปแบบอีกครั้งในการแข่งขันฟุตบอลเซเรียอาร์ อิตาลี และบุนเดสลีกา เยอรมนี สองลีกสูงสุดของยุโรปที่ประกาศใช้ระบบ VAR เข้ามาช่วยตัดสินในฤดูกาลหน้าเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเชื่อว่าจากการทดลองใช้กับฟุตบอลลีกที่แข่งขันทุกสัปดาห์จะช่วยให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า พบเห็นปัญหาและหาทางแก้ไขได้ทันการสำหรับฟุตบอลโลกปี 2018 อย่างแน่นอน  

     ในการแข่งขันฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์ปี 2017 ยังคงมีปัญหาต่างๆ มากมายที่เจ้าภาพจำเป็นต้องนำไปปรับปรุง เนื่องจากการแข่งขันฟุตบอลโลกควรถูกจดจำด้วยลูกยิงประตูสำคัญ หรือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสนาม ไม่ใช่เกิดจากเหตุวุ่นวายนอกสนาม แต่ผลของการเตรียมพร้อมของรัสเซียก็ช่วยให้แฟนบอลที่เดินทางมาร่วมในครั้งนี้รู้สึกตื่นเต้นกับฟุตบอลโลกในปี 2018 กันแล้ว

     “ผมคิดหลายครั้งก่อนจะตัดสินใจเดินทางมา เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับประเทศรัสเซีย แต่สุดท้ายแล้วมันเป็นอะไรที่วิเศษมาก ผมต้องเริ่มเก็บเงินเพื่อเตรียมพร้อมกลับมาดูฟุตบอลโลกตั้งแต่วันพรุ่งนี้แล้ว”

     ฟรานซิสโก การ์เซีย นักศึกษาชาวเม็กซิกัน ได้ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางมาร่วมชมการแข่งขันคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2017 ในรัสเซีย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X