ถ้าใครติดตามข่าวการเมืองอย่างใกล้ชิด นาทีนี้คงไม่มีวาทกรรมไหนจะร้อนแรงไปกว่า ‘เซตซีโร่’ ที่กำลังกลายเป็นกระแสร้อนแรงให้หลายคนได้พูดถึง โดยเฉพาะองค์กรอิสระต่างๆ ที่เข้าข่ายว่าจะต้องถูกเซตซีโร่ หรือแม้แต่บรรดานักการเมืองต่างๆ ที่ออกมาเล่นกับกระแสนี้กันอย่างต่อเนื่อง
แต่สำหรับใครที่ไม่ใช่คอการเมือง เซตซีโร่อาจเป็นคำที่ไร้ความหมาย ทั้งที่จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะส่งผลต่อเหตุบ้านการเมืองต่อจากนี้ไปอีกหลายปี เพราะนอกจากจะเป็นวาทกรรมทางการเมืองแล้ว เซตซีโร่ยังหมายรวมไปถึงความพยายามที่มีนัยของการจะปฏิรูปการเมืองก่อนที่การเลือกตั้งจะมาถึงอีกด้วย
ทำไมต้องเซตซีโร่? คงเป็นคำถามข้อใหญ่ที่หลายคนอยากรู้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ THE STANDARD พยายามค้นหาคำตอบที่มองไกลไปกว่ากระแสทางการเมืองในขณะนี้
PHOTO: PORNCHAI KTTIWONGSAKUL, AFP
อ้างล้างไพ่ กกต. ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ก่อนจะตอบคำถามว่าทำไมต้องเซตซีโร่ คงต้องเท้าความไปถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติตามมาตรา 67 ที่กำหนดว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติแล้ว ต้องจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกอย่างน้อย 10 ฉบับ ประกอบด้วย
1. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
2. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
3. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
4. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
5. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
6. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
7. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
8. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
9. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
10. พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ซึ่งฉบับที่ 1-4 เป็น พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ถ้าไม่มี 4 ฉบับนี้ก็ไม่อาจจัดการเลือกตั้งได้ ขณะที่ทั้ง 10 ฉบับต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 240 วัน นับจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เป็นที่มาของการทยอยพิจารณากฎหมายลูกอยู่ในขณะนี้
ซึ่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ…. มาตรา 70 วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่า
“ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้งที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่”
โดยที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 161 ต่อ 15 เห็นด้วยกับมาตรา 70 เท่ากับเป็นการเซตซีโร่ กกต. ทั้ง 5 คนให้พ้นจากหน้าที่ ก่อนจะสรรหาใหม่ 7 คนเพื่อรองรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
โดยนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ผู้เสนอกฎหมายดังกล่าวให้ สนช. พิจารณาให้เหตุผลว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดโครงสร้างของ กกต. ใหม่ทั้งหมด ทั้งในเรื่องจำนวนของกรรมการ หรืออำนาจหน้าที่ในการทำงานเพื่อตรวจสอบการเลือกตั้ง จึงเห็นควรว่าต้องมีการปรับเปลี่ยน กกต. ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
นำมาสู่หลากหลายคำถามที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาว่า มติดังกล่าวมีความเป็นธรรมที่เพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะสำหรับ กกต. ที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันที่มีที่มาอย่างชอบธรรมตามกฎหมายเดิม หรือนี่เป็นเพียงเกมการเมืองที่ต้องการเล่นงานที่ตัวบุคคลมากกว่าจะทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และคำถามสำคัญก็คือ แล้วองค์กรอิสระอื่นๆ อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มีลิสต์อยู่ในกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ จำเป็นต้องมีการเซตซีโร่ล้างไพ่ใหม่ทั้งหมดตามมาตรฐานเดียวกันกับที่ กกต. โดนหรือไม่
PHOTO: CHRISTOPHE ARCHAMBAULT, AFP
เซตซีโร่ กกต. การปฏิรูปที่เสียของ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเซตซีโร่ กกต. ทั้ง 5 คน ทั้งที่บางคนยังมีคุณสมบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างนำมาใช้โจมตีกันและกัน
แต่หากมองข้ามวาทกรรมทางการเมืองแล้วมองให้ลึกลงไปจะเห็นได้ว่า เนื้อหาสาระของเรื่องนี้คือความพยายามจะปฏิรูปองค์กรอิสระให้สามารถมีอำนาจตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้อย่างเข้มแข็งในอนาคต
สุริยะใส กตะศิลา รองคณะบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า ส่วนตัวรู้สึกเสียดายที่เรื่องนี้ถูกโยงไปเป็นปมทางการเมือง ทั้งที่จริงๆ แล้วสังคมควรจะใช้โอกาสนี้ในการถกเถียงกันถึงบทเรียนการทำงานขององค์กรอิสระต่างๆ มากกว่า
“ที่น่าห่วงตอนนี้คือเราพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระทั้งระบบ 6 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยพิจารณาเป็นเรื่องๆ หรือแต่ละองค์กรไป โดยไม่ได้มีภาพใหญ่ ไม่ได้สรุปบทเรียนร่วมกัน เช่น เราไม่รู้ว่าหลักปฏิบัติในการเซตซีโร่ กกต. จะถูกนำไปใช้ในการเซตซีโร่ ปปช. ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือองค์กรอิสระอื่นๆ ไหม ไม่มีใครตอบได้นะครับ ทำให้บางคนบอกว่าแต่ละองค์กรมีความต่างกัน ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน มันกลายเป็นว่าต้องเถียงกันไม่รู้จบ เพราะเหมือนกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ซึ่งประเด็นนี้อาจทำให้ประชาชนสับสน หรือถูกมองว่าการจัดการกับองค์กรอิสระครั้งนี้มีวาระทางการเมือง หรือมีนัยซ่อนเร้นอยู่
“ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เรามีองค์กรอิสระมาแล้ว 20 ปี มีหลักการถ่วงดุล ตรวจสอบที่ชัดเจนที่สุดตั้งแต่ปี 2540 มาจนถึงปัจจุบัน คนวัย 20 ควรจะต้องถอดบทเรียนกันได้แล้ว ควรจะต้องวิเคราะห์ความล้มเหลวหรือความสำเร็จขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้าง แต่เราไม่ได้ทำการบ้านตรงนี้กันเลย สุดท้ายกลับบอกว่าจะต้องเซตโน่นเซตนี่ เหมือนนับหนึ่งใหม่ตลอด แต่ไม่เคยย้อนกลับไปถามว่า แล้วที่เคยนับมาก่อนหน้านั้นเราเจออะไรมาบ้าง บทเรียนร่วมกันคืออะไร ผมว่านี่แหละคือความฉาบฉวยของการปฏิรูป มันเลยทำให้เนื้อในของการปฏิรูปจริงๆ ไปไม่สุดทาง หรือพูดง่ายๆ ว่าเสียของ”
นอกจากนี้สุริยะใสยังตั้งข้อสังเกตว่า การเซตซีโร่ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งโจทย์ปฏิรูปองค์กรอิสระที่ผิดพลาด เพราะมองปัญหาเป็นจุดๆ แต่ไม่ได้มองในภาพรวมอย่างที่ควรจะเป็น
“องค์กรอิสระเหล่านี้มีหลักการตามรัฐธรรมนูญร่วมกันคือ ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลฝ่ายบริหารและกลไกรัฐทั้งระบบ ซึ่งกระบวนการได้มาขององค์กรอิสระเหล่านี้ต้องปลอดจากการแทรกแซงของนักการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และสุดท้ายองค์กรเหล่านี้ต้องเป็นอิสระจริงๆ ซึ่งทุกองค์กรควรใช้มาตรฐานเดียวกัน ก่อนจะลงลึกในรายละเอียดเรื่องคุณสมบัติหรืออำนาจต่างๆ ซึ่งถ้ามองภาพใหญ่แบบนี้ มันก็จะนำมาสู่วิธีในการแก้ปัญหาที่เป็นมากกว่าการนับหนึ่งใหม่โดยเปลี่ยนแค่ตัวบุคคลเท่านั้น
“ขณะที่โจทย์ของรัฐบาลในวันนี้คือการแก้ปัญหาเป็นจุดๆ ไป เช่น เวลาคุณบอกว่าคุณจะจัดการกับการเลือกตั้งที่ทุจริต คุณก็ไปเขียนกฎหมายว่าใครควรจะมีอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง พอวันหนึ่งคุณบอกว่ากรมการปกครองทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นกลาง เปิดช่องให้มีการทุจริตการเลือกตั้ง คุณก็บอกว่าต้องมีองค์กรอิสระแบบ กกต. พอเวลาผ่านไป กกต. จังหวัดถูกแทรกแซง คุณก็รวบอำนาจมาที่ กกต. กลาง แล้วเพิ่มกรรมการจาก 5 เป็น 7 คน เชื่อสิว่าถ้า กกต. ชุดใหม่นี้ล้มเหลว รอบหน้ากระแสก็จะกลับไปที่กรมการปกครองอีก ซึ่งการมองปัญหาเป็นจุดๆ มันแก้กันไม่จบ พอแก้แล้วก็จะมีปัญหาใหม่วนกลับมาอีก กลายเป็นการปฏิรูปที่วนอยู่ในอ่าง แล้วสุดท้ายก็ไปไม่ถึงไหน”
สำหรับประเด็นเรื่องการเซตซีโร่องค์กรอิสระนั้น สุริยะใสมองว่าสุดท้ายคงต้องมีการเซตซีโร่องค์กรอิสระทั้งระบบ เพราะได้เริ่มกับ กกต. ไปแล้ว ไม่อย่างนั้นในทางการเมืองอาจถูกกดดันให้ใช้มาตรฐานเดียวกันกับ กกต. และผู้ดำรงตำแหน่งที่ไม่ถูกเซตซีโร่ก็จะถูกขุดคุ้ยมากขึ้นว่ามีความเชื่อมโยงกับคนในรัฐบาลหรือไม่ ในฐานะที่ถูกยกเว้น
“มันจะกลายเป็นประเด็นใหม่ทางการเมือง ผมถึงบอกว่าถ้ากลัดกระดุมผิดเม็ดตั้งแต่แรก ก็จะมีปัญหาตามมาอีกเยอะ”
“ผมไม่คิดว่าคุณสมบัติใหม่มันจะดีเลิศ” เสียงสะท้อนจาก กกต. ที่ไม่ได้ไปต่อ
หลังมติเซตซีโร่ กกต. เกิดขึ้น สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งกลายเป็นคนที่สื่อและสังคมจับตามองแทบจะในทันที เพราะนอกจากจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้โดยตรงแล้ว แต่ละโพสต์ที่แสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือดต่อประเด็นที่เกิดขึ้นยังก่อให้เกิดวาทกรรมอีกมากมายที่สื่อจะนำไปขยายความต่อ
ทั้ง ‘บังเอิญ กกต. ชุดนี้สั่งไม่ได้’ ‘ด้านมืดของการปฏิรูปการเลือกตั้ง’ หรือ ‘การเซตซีโร่ กกต. คือตราบาปสำคัญของการเมืองไทยที่ไม่ต่างอะไรกับการลงมตินิรโทษสุดซอย’ ทุกวลีล้วนสะท้อนความจริงในใจ ซึ่งสมชัยยืนยันกับ THE STANDARD ว่า ที่ต้องออกมาส่งเสียง ไม่ใช่ทำเพราะอยากอยู่ต่อ แต่เป็นเพราะจำเป็นต้องแสดงจุดยืนให้เป็นหลักฐานประจักษ์
“ต้องการทำให้เกิดหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าเรามีความคิดอย่างไรในแต่ละเรื่อง และบางเรื่องก็เป็นการปกป้องตนเองในกรณีที่มีคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเรา และเป็นช่องทางสื่อสารให้เห็นว่าเราคิดอย่างไร”
เมื่อถามถึงจุดยืนที่ชัดเจนสำหรับการเซตซีโร่องค์กรอิสระในภาพรวม สมชัยระบุว่า
“จุดยืนของผมคือต้องให้คนเก่าที่เขาทำงานอยู่ทำงานต่อไปจนครบวาระในทุกองค์กร เพราะตอนที่เขาเข้ามา เขาก็เข้ามาภายใต้คุณสมบัติเดิม ไม่ใช่คุณสมบัติใหม่ แล้วผมก็ไม่ได้คิดว่าคุณสมบัติใหม่มันจะดีเลิศ มันเป็นเพียงกำแพงกั้นเท่านั้นเอง ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ได้คนดีอย่างแท้จริง
“แต่เมื่อคุณจะเซตซีโร่ กกต. ผมก็พูดต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นก็จำเป็นจะต้องดำเนินการให้เหมือนกันและเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกองค์กรด้วย ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็น 3 แบบ แบบที่ 1 คือถูกเซตซีโร่ เริ่มใหม่หมด แบบที่ 2 คือคนที่มีคุณสมบัติครบตามกฎหมายใหม่ก็จะอยู่ต่อไปจนครบวาระ ส่วนคนที่คุณสมบัติไม่ครบก็ต้องออกไปแล้วสรรหาใหม่ แบบที่ 3 ซึ่งอาจจะน่าเกลียดที่สุดคือไม่ได้สนใจคุณสมบัติใหม่ แต่ก็ให้คนเก่าอยู่ต่อไปจนครบวาระ ซึ่งพอถึงเวลา เขาก็จะอ้างว่ามันเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน”
สำหรับคุณสมบัติใหม่ของ กกต. สมชัยมองว่าเป็นการจำกัดกรอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งที่แคบจนเกินไป เพราะให้ความสำคัญกับผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทางราชการ ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ใช่วิธีคิดที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้หมายความว่าคนที่มีตำแหน่งสูงจะเป็นคนที่มีความสามารถ เนื่องจากสังคมไทยมีระบบอุปถัมภ์อยู่ด้วย
“มันไม่ได้สะท้อนคุณสมบัติที่แท้จริง และอาจกลายเป็นอุปสรรคในการกีดกั้นคนที่อาจจะมีความพร้อม มีความสามารถ แต่ติดขัดกรอบคุณสมบัติดังกล่าว ซึ่งเป็นวิธีคิดที่สะท้อนแนวคิดแบบอำนาจนิยม เห็นความสำคัญของระบบราชการสูง และเปิดพื้นที่แก่ภาคสังคมน้อยมาก”
นอกจากนี้ยังวิจารณ์ว่า การนำคนใหม่เข้ามาทั้งหมดไม่มีทางดีกว่าการมีคนเก่าผสมกับคนใหม่ เพราะประสบการณ์และความรู้ของคนเก่าจะเป็นส่วนเสริมให้เกิดการทำงานที่ต่อเนื่อง และคนใหม่จำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้พอสมควร ดังนั้นในทางบริหารนับว่าไม่เป็นผลดี
พร้อมทิ้งท้ายให้สื่อคอยจับตามองการเซตซีโร่ต่อจากนี้ โดยสังเกตให้ดีว่าองค์กรไหนจะอยู่รอด แล้วองค์กรนั้นมีความคล้อยตามหรือเชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจมากน้อยแค่ไหน หรือองค์กรไหนมีความเป็นอิสระสูงจนสมควรต้องเซตซีโร่หรือไม่
อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
PHOTO: PORNCHAI KTTIWONGSAKUL, AFP
‘เซตซีโร่ได้ ไม่ยึดติด’ เปิดใจกรรมการสิทธิฯ เป้าหมายต่อไปที่อาจถูกนับหนึ่งใหม่
อีกหนึ่งองค์กรอิสระที่กำลังถูกจับตาอย่างมากในเวลานี้คงหนีไม่พ้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ในร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหาใหม่ โดยให้เพิ่มตัวแทนจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ขึ้นทะเบียนกับ กสม. นอกจากนี้ยังรวมถึงนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน บุคลากรด้านสาธารณสุข ตัวแทนจากสภาทนายความ อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนคุณสมบัติของกรรมการสิทธิฯ ทำให้หลายฝ่ายมองว่า กสม. เป็นองค์กรอิสระรายต่อไปที่จะต้องถูกเซตซีโร่อย่างแน่นอน
อังคณา นีละไพจิตร หนึ่งในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการเซตซีโร่ กสม. เพราะที่ผ่านมาทางคณะกรรมการสิทธิฯ ถูกลดสถานะจากระดับ A เป็น B โดยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในระดับสากล หรือ ICC ที่มีหน้าที่ประเมินคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลกที่เป็นสมาชิกให้เหตุผลว่า คณะกรรมการสรรหาของ กสม. ที่ผ่านมาไม่มีความหลากหลาย เนื่องจากมีการสรรหาในยุครัฐบาลทหาร ทำให้ขาดองค์ประกอบจากตัวแทนที่หลากหลาย เช่น ประธานรัฐสภาและหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน และส่งผลต่อการทำงานในเวทีระดับโลก ทั้งสิทธิในการลงมติในที่ประชุม หรือไม่สามารถมีถ้อยแถลงด้วยวาจาในสภาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้
“ตามหลักการเห็นว่าดี แต่ต้องมาดูกันอีกที เพราะตอนนี้เรายังไม่มีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ยังไม่มีหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ถ้าสมมติจะต้องสรรหากรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่ภายใต้รัฐบาลนี้ก็จะทำให้ไม่ครบองค์ประกอบอยู่ดี ส่วนตัวจึงเห็นควรให้มีการสรรหาในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่า”
พร้อมกันนี้ยังเปิดเผยอีกว่า ส่วนตัวไม่ได้ยึดติดถ้าจะต้องถูกเซตซีโร่ เพราะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน ถึงจะไม่ได้เป็นกรรมการสิทธิฯ แล้วก็ยังสามารถทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้อยู่ดี แต่ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการเขียนบทเฉพาะกาลโดยไม่ตัดสิทธิคนที่ทำงานอยู่เดิมจนเกินไป
“ส่วนตัวคิดว่าเพื่อที่จะไม่เป็นการตัดสิทธิกรรมการที่ทำหน้าที่อยู่ในวันนี้ ก็อาจจะเขียนบทเฉพาะกาลว่าจะไม่ตัดสิทธิคนเก่า เพราะกฎหมายระบุไว้ว่ากรรมการองค์กรอิสระจะสามารถดำรงตำแหน่งได้แค่วาระเดียว และไม่สามารถที่จะไปสมัครเป็นองค์กรอิสระได้อีก เช่น กสม. พ้นหน้าที่แล้ว จะไปสมัครเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเขียนบทเฉพาะกาลแบบนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย ส่วนสมัครใหม่แล้วจะถูกเลือกหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเซตซีโร่เท่านั้น หลังจากนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปยาวๆ ว่า สุดท้ายแล้วองค์กรอิสระใดบ้างที่จะเข้าข่ายถูกเซตซีโร่เป็นรายต่อไป แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การปฏิรูปองค์กรอิสระครั้งนี้จะตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศที่ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลมีความเข้มแข็ง และไม่ถูกแทรกแซงจากการเมืองอย่างที่สังคมคาดหวังได้หรือไม่ หรือสุดท้ายจะเป็นการตอบโจทย์ในใจของคนบางกลุ่มเพียงเท่านั้น
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan
อ้างอิง: