ความเคลื่อนไหวกรณี รังสิมันต์ โรม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เวลาประมาณ 10.50 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนาวิกโยธินได้ควบคุมตัวนายรังสิมันต์จาก สภ.บางเสาธง มายังศาลทหารกรุงเทพ เพื่อส่งฟ้องในข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ในคดีรณรงค์แจกเอกสารประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปีที่แล้ว
นายรังสิมันต์ถูกควบคุมตัวมาโดยรถตู้ของตำรวจ เมื่อถึงยังศาลทหาร นายรังสิมันต์ได้กล่าวกับสื่อมวลชนที่มาปักหลักรอทำข่าวว่า ตนเองไม่ได้ถูกจับเพราะเกี่ยวข้องกับคดีประชามติอะไร แต่น่าจะเป็นเพราะว่าตนจะไปยื่นขอข้อมูลรถไฟ-ไทยจีน ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้
ขณะทวิตเตอร์ของ iLaw รายงานบรรยากาศและการดำเนินคดีกับนายรังสิมันต์ว่า เมื่อมาถึงยังศาลทหารกรุงเทพ ได้กินข้าวเที่ยง จากนั้นอัยการทหารเตรียมฟ้องนายรังสิมันต์ 2 คดี คือ คดีรณรงค์แจกเอกสารประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 และคดีชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ ปี 2558
จากนั้นในช่วงเวลา 13.10 น. เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายรังสิมันต์ออกจากศาลทหารกรุงเทพ ขึ้นรถตู้ของตำรวจไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อรอฟังผลการพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราว
ล่าสุด เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายรังสิมันต์ด้วยวงเงินประกัน 2 คดี รวมเป็น 60,000 บาท โดยคดีรณรงค์แจกเอกสารประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 วงเงิน 50,000 บาท และคดีชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ เมื่อปี 2558 วงเงิน 10,000 บาท และมีเงื่อนไขห้ามยุยงปลุกปั่นทางการเมือง และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
ขณะนี้นายรังสิมันต์อยู่ในขั้นตอนการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
ทั้งนี้นายรังสิมันต์เป็นนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ถูกตำรวจจับกุมตัวที่หน้าหอสมุดเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวานนี้ (25 มิถุนายน) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายจับ เนื่องจากไม่ไปรายงานตัวต่อศาลทหารในคดีรณรงค์แจกเอกสารประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปีที่แล้ว พร้อมกับถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.บางเสาธง เจ้าของคดีไว้ 1 คืน ก่อนนำตัวมาศาลในวันนี้
สำหรับหมายจับที่ สภ.บางเสาธง นั้น คือคดีที่นายรังสิมันต์ถูกจับกุมจากการแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ตลาดเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 (1 ปีที่แล้ว) โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง และวรรคสาม และข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คมช. ฉบับที่ 25/2549 ซึ่งระบุให้การฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การจับกุมตัวนายรังสิมันต์เกิดขึ้น 1 วัน ก่อนที่เขาจะเดินทางไปยื่นขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรถไฟไทย-จีน ในวันนี้ (26 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล
ขณะที่ในวันเดียวกับที่นายรังสิมันต์ถูกจับกุม เฟซบุ๊กแฟนเพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ได้แจ้งว่าจากกรณีการจับกุมตัวนายรังสิมันต์ สมาชิก DRG ที่จะไปยื่นหนังสือขอข้อมูลโครงการรถไฟไทย-จีน ถูกควบคุมตัว จึงขอเลื่อนการไปยื่นหนังสือขอข้อมูลดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนด ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวยังไม่ถูกยกเลิก แต่เป็นเพียงการเลื่อนออกไป พร้อมกับโพสต์ข้อความในเพจว่า “คสช. กลัวอะไร? จึงต้องขวางคนไปขอข้อมูลรถไฟไทย-จีน”