“วันนี้ คนหนุ่มสาวไม่ได้เปิดทีวีดูข่าว เขาเปิด TikTok”
นี่ไม่ใช่แค่คำพูดลอยๆ แต่คือความจริงที่ Reuters Institute ยืนยันในรายงาน Digital News Report 2025 ซึ่งสำรวจผู้คนกว่าแสนคนใน 48 ประเทศทั่วโลก และชี้ชัดว่า โลกของสื่อกำลังเปลี่ยนอย่างเงียบเชียบ ทว่ายิ่งใหญ่เกินจะคาด
เพราะสิ่งที่เปลี่ยนไม่ใช่แค่ ‘แพลตฟอร์ม’ แต่คือ ‘ความไว้ใจ’ และ ‘พฤติกรรม’ ของผู้บริโภค
🟡 ความน่าเชื่อถือลดลง แต่ยังไม่สิ้นศรัทธา
แม้หลายประเทศจะยังไว้วางใจสื่อดั้งเดิม เช่น BBC, CNN, ARD แต่มีคนเพียง 40% เท่านั้นที่เชื่อว่าข่าวส่วนใหญ่น่าเชื่อถือ
อีกด้านหนึ่ง คนธรรมดาที่กลายเป็น Creator/Podcaster/YouTuber กลับได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เช่น Joe Rogan, Tucker Carlson หรือแม้แต่ Hugo Travers แห่ง TikToker สายข่าวจากฝรั่งเศส ที่รายงานบอกว่า 22% ของคนรุ่นใหม่ชาวฝรั่งเศส (อายุต่ำกว่า 35 ปี) เลือกเสพข่าวสารจากเขา
นี่ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ ‘ดาราข่าว’ แต่มันคือ ‘การสื่อสารที่ข้ามพรมแดนของความเป็นสื่อ’
🟡 ยุคของวิดีโอ เสียง และปัญญาประดิษฐ์
คนอายุ 25–34 ปีทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ อังกฤษ ฟิลิปปินส์ และอินเดีย เปลี่ยนจากการอ่านเป็นการดูข่าว อย่างมีนัยสำคัญ
🔸Podcast กลายเป็นของจำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจการเมือง
🔸ในสหรัฐอเมริกา ผู้คน 15% ใช้พอดแคสต์ข่าวเป็นแหล่งข่าวรายสัปดาห์ แต่คนใช้วิทยุตามข่าวมีเพียง 13%
🔸YouTube และ TikTok กลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการรับรู้ข่าวสาร
และ AI ก็เข้ามาอยู่ในสมรภูมินี้เช่นกัน
🔸7% ของผู้คนใช้ ChatGPT หรือ Gemini เพื่อเสพข่าว และในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 25 ปี ก็มีจำนวนถึง 15%
ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่ยังไม่สบายใจถ้าให้ AI ผลิตข่าวเองโดยไม่มีมนุษย์ควบคุม
แต่คำถามคือ เราจะใช้ AI เพื่อเพิ่มพลังให้สื่อ หรือจะปล่อยให้มันแทนที่มนุษย์?
🟡 คนไม่ได้หมดใจจะเสพข่าว แค่เนื้อหาหนักเกินไป
40% ของคนทั่วโลกกำลังเลี่ยงข่าวบางประเภท โดยเฉพาะข่าวสงคราม การเมือง และประเด็นที่ทำให้รู้สึกเหนื่อย เพราะต้องการข่าวที่มีความหวัง มีคำอธิบาย และมีทางออก
นี่คือโอกาสของสื่อ… ที่จะไม่ใช่แค่รายงาน แต่ ‘แปลความ’ และ ‘สร้างพลังใจ’
🟡 ธุรกิจข่าวจะไม่รอด ถ้ายังขายแบบเดิม
มีแค่ 10% ของผู้บริโภคในอังกฤษ และ 20% ในอเมริกา ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อเสพข่าวแบบสมัครสมาชิก
แต่ในนอร์เวย์กลับมียอดใช้จ่ายสูงถึง 42% เพราะมีโมเดล ‘บันเดิล’ ซึ่งหมายถึงการมัดรวมแพ็กเกจ ข่าวสารหรือบริการสื่อหลายๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกันแล้วขายในราคาเดียว ทั้งยังมีระบบจ่ายแบบยืดหยุ่น
จุดเปลี่ยนอยู่ที่เราจะทำให้ข่าวเป็นบริการที่คน ‘อยากจ่าย’ ได้อย่างไร?
🟡 บทเรียนสำคัญที่ผมอยากฝากไว้
- อย่ายึดติดกับช่องทาง แต่ต้องเข้าใจพฤติกรรมใหม่ของผู้ฟังผู้ชม
- สื่อเดิมยังมีพลัง ถ้าเรายังยึดมั่นในความถูกต้อง ความโปร่งใส และความจริง
- AI ไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นเครื่องมือที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง
- คนต้องการความหวัง ไม่ใช่แค่พาดหัวร้อนแรง
- โมเดลรายได้ต้องยืดหยุ่น และมองหาความร่วมมือแบบใหม่
ในวันที่ข่าวสารล้นโลก และความจริงอาจถูกกลบด้วยเสียงดัง เราไม่ได้ต้องการแค่ ‘คนที่รายงานก่อน’ แต่ต้องการ ‘คนที่อธิบายได้ดีที่สุด’
และนี่อาจเป็นบทบาทใหม่ของนักข่าวและนักสื่อสาร
ไม่ใช่แค่ผู้ส่งข่าว แต่เป็นผู้นำทางในโลกที่ซับซ้อนกว่าเดิม