×

สำรวจภาพรวมตลาดนัดโซเชียลคอมเมิร์ซ ปี 2017 เทรนด์การค้าแบบไทยๆ ทำไมถึงกำลังมา!?

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • โซเชียลคอมเมิร์ซ คือเทรนด์การค้าขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเน้นการค้าผ่านรูปแบบการใช้บทสนทนาเป็นหลัก และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในไทย เนื่องจากอำนวยความสะดวกให้ทั้งตัวผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งต่างจากระบบการค้าสากลนิยมบนเว็บไซต์
  • สิ่งที่แบรนด์โซเชียลคอมเมิร์ซควรให้ความสำคัญคือการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลาเพื่อปรับกลยุทธ์การสร้างแบรนด์และการขายสินค้าให้ก้าวทันผู้ซื้ออยู่เสมอ
  • มัลติแบรนด์สโตร์ คือรูปแบบธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในแวดวงนักช้อปออนไลน์ ซึ่งต่อยอดมาจาก flea market และ pop-up market หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘ตลาดนัดไอจี’ โดยมีโมเดลธุรกิจคล้ายคลึงกับรูปแบบของห้างสรรพสินค้าด้วยการเปิดโอกาสให้แบรนด์ออนไลน์ได้มาร่วมทุนเช่าพื้นที่ภายในร้านเพื่อนำสินค้าไปวางขาย
  • นโยบายการจัดเก็บภาษีออนไลน์เกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุหลักๆ ทั้งการเติบโตที่รวดเร็วของแบรนด์โซเชียลคอมเมิร์ซในด้านรายได้และฐานความนิยม รวมถึงจำนวนเงินในการลงสื่อโฆษณาออนไลน์ที่รั่วไหลออกนอกประเทศไปสู่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กและกูเกิลโดยไม่มีการเสียภาษี

     ทุกวันนี้คุณสะดวกช้อปปิ้งสินค้าผ่านช่องทางไหนมากที่สุด

          ก. อินสตาแกรม

          ข. เฟซบุ๊ก  

          ค. หน้าร้าน ห้างสรรพสินค้า

          ง. เว็บไซต์ต่างๆ

 

     ถ้าเราย้อนเวลากลับไปถามคำถามเดียวกันนี้เมื่อสักประมาณ 10 ปีที่แล้ว หลายๆ คนคงจะจินตนาการไม่ออกเสียด้วยซ้ำว่าเราจะช้อปปิ้งกันบนโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊กได้อย่างไร

     แต่ทุกวันนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยชื่นชอบการช้อปปิ้งสินค้าบนโซเชียลมีเดียกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเองก็ดี หรือรูปแบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่ทำได้อย่างสะดวกสบาย

     เราจึงขออาสาพาคุณไปสำรวจเทรนด์การค้าแบบตลาดนัดโซเชียลคอมเมิร์ซในประเทศไทยทีละขั้นเพื่อให้คุณได้รู้จักโซเชียลคอมเมิร์ซมากกว่าเดิม รวมถึงเรื่องที่น่าสนใจของการเริ่มต้นสร้างแบรนด์ออนไลน์ ตลอดจนนโยบายการจัดเก็บภาษีออนไลน์ที่หลายๆ ฝ่ายเป็นกังวลว่าจะส่งผลกระทบในแง่ใดต่อตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซ

ประเทศเรานี่โคตรซูเปอร์แอดวานซ์เลยนะ ผมมีโอกาสได้คุยกับชาวต่างชาติ และส่วนใหญ่เขาก็ช็อกกันหมดที่คนไทยซื้อขายของกันผ่านโซเชียลมีเดีย 

ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai e-Commerce Association)

และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TARAD.com

รู้จัก ‘โซเชียลคอมเมิร์ซ’ เทรนด์การค้าแบบไทยๆ เพื่อคนไทย

     โซเชียลคอมเมิร์ซ (social commerce) มีที่มาจากคำสองคำคือ social media และ commerce ซึ่งหมายถึง การทำธุรกิจการค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม ฯลฯ โดยการค้าในรูปแบบนี้จะเน้นการค้าผ่านบทสนทนาเป็นหลัก (conversation commerce)  

     แล้วเทรนด์การค้ารูปแบบนี้ได้รับความนิยมมากน้อยแค่ไหนในปัจจุบัน? ข้อมูลที่น่าสนใจจากการสำรวจโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ระบุว่า ในปีพ.ศ. 2558 มูลค่าของอีคอมเมิร์ซประเทศไทยหมวดหมู่อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่งมีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 536,725.26 ล้านบาท นับเป็นอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซประเภทบริการและที่พัก (559,697.54 ล้านบาท)

     ขณะที่ในปีพ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา ETDA ได้คาดการณ์ไว้ว่า อีคอมเมิร์ซประเทศไทยในหมวดอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่งจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 731,828.33 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 195,103 ล้านบาท) และจะขยับขึ้นมาเป็นอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทยไปโดยปริยาย

     ความน่าสนใจของจำนวนเงินสะพัด 7 แสนกว่าล้านบาทที่ได้กล่าวมานั้นคือการที่ ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai e-Commerce Association) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TARAD.com บอกว่า เราน่าจะเเบ่งเป็นมูลค่าเงินสะพัดของโซเชียลคอมเมิร์ซได้ถึง 2.7 แสนล้านบาท หรือเกือบเท่าครึ่งหนึ่งของอีคอมเมิร์ซหมวดค้าปลีกและค้าส่งในไทยเลยก็ว่าได้

     ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ในปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่นิยมซื้อของบนโซเชียลมีเดียมากขึ้น โดยแยกปัจจัยหนุนที่ทำให้โซเชียลคอมเมิร์ซได้รับความนิยมในไทยออกเป็น 5 ข้อหลักๆ ดังนี้

 

     1. การเติบโตของเทคโนโลยีและระบบนิเวศที่สมบูรณ์แบบ

     นี่คือสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้โซเชียลคอมเมิร์ซเจริญเติบโตมาก การมีโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นมามากมาย ไล่ตั้งแต่เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือไลน์ ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยปิดการขายและส่งเสริมการทำธุรกิจได้อย่างดีเยี่ยม

     เมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่ยังคงคุ้นเคยกับการเลือกซื้อสินค้าผ่านหน้าเว็บไซต์ของแต่ละแบรนด์เป็นหลัก เมื่อจะแจ้งโอนเงินแต่ละทีก็ต้องหามุมถ่ายรูปสลิปพร้อมแนบไฟล์ผ่านอีเมล นับเป็นกระบวนการที่สิ้นเปลืองเวลาเเละสร้างความยุ่งยากให้กับตัวผู้บริโภคไม่น้อย

     แต่เมื่อโซเชียลมีเดียเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยมากขึ้น มันจึงถูกประยุกต์มาใช้ในการทำธุรกิจได้อย่างสมบูรณ์แบบ

     เริ่มต้นตั้งแต่การใช้เฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมเป็นแคตาล็อกสินค้า (ปัจจุบันในเฟซบุ๊กมีฟีเจอร์ shop now สำหรับร้านค้าและแบรนด์ ส่วนอินสตาแกรมก็มีฟีเจอร์อัลบั้มรูปที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพสินค้าในหลายๆ มุม) หรือการจ่ายเงินทำโฆษณาเพื่อสร้าง awareness ให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก ก่อนจะไปจบขั้นตอนการขายด้วยแชตแอปพลิเคชันไลน์เพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างตัวผู้ขายและผู้ซื้อ แม้แต่ภาคการขนส่งโลจิสติกเองก็มีผู้เล่นหน้าใหม่กระโจนเข้ามาเพิ่มขึ้น ทั้ง Kerry Express, Line Man หรือ Grab

 

     2. ความสะดวกสบายด้านธุรกรรม (Internet Banking)

     ทุกวันนี้ใครๆ ก็สามารถทำธุรกรรมการเงินในบัญชีธนาคารได้อย่างสะดวกสบายผ่านแอปพลิเคชันของแต่ละธนาคารเพียงปลายนิ้วสัมผัส และยังสามารถบันทึกไฟล์สลิปก่อนส่งต่อไปให้ปลายทางได้อีกด้วย ที่สำคัญ ธนาคารผู้ให้บริการบางรายยังลดขั้นตอนการเข้าใช้งานที่ยุ่งยากด้วยระบบจดจำลายนิ้วมือแล้ว ต่างจากในอดีตที่หากคิดจะช้อปออนไลน์ทั้งทีก็ต้องวิ่งออกไปหาตู้เอทีเอ็ม หรือคลิกเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของธนาคารแต่ละแห่ง

 

     3. ต้นทุนต่ำ ไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย

     อาจกล่าวได้ว่าโซเชียลมีเดียคือสวรรค์สำหรับผู้ประกอบรายเล็กและรายย่อยอย่างแท้จริง เพราะไม่จำเป็นต้องไปลงทุนจ่ายค่าเช่าออกแบบตกแต่งหน้าร้าน คุณก็มีพื้นที่ทำธุรกิจเป็นของตัวเองได้ หรืออาจจะลงทุนจ่ายค่าโฆษณาบนโซเชียลมีเดียในช่วงต้นแลกกับการทำให้แบรนด์ติดตลาดเป็นที่รู้จัก ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นคนรุ่นใหม่หลายรายหันหลังให้กับงานประจำ ก่อนมาโลดแล่นประกอบธุรกิจของตัวเองบนโซเชียลมีเดีย  

 

     4. เสน่ห์ของการฉีกซองเปิดกล่องสินค้า

     เพราะการที่คุณไม่มีโอกาสเห็นสินค้าจริงเหมือนการเดินช้อปสินค้าที่หน้าร้านหรือห้างสรรพสินค้า ความรู้สึกของการได้ฉีกซองหรือแกะกล่องบรรจุภัณฑ์สินค้าที่สั่งซื้อจึงถือเป็นหนึ่งในเสน่ห์และประสบการณ์เฉพาะตัวของการช้อปปิ้งออนไลน์ที่ใครหลายคนคงจะรู้สึกไม่ต่างกัน เพราะไหนจะต้องลุ้นกับคุณภาพของสินค้าแล้ว บรรจุภัณฑ์ที่ดีก็ถือเป็นหนึ่งใน first impression ระหว่างแบรนด์และตัวผู้บริโภคอีกด้วย

 

     5. ทำธุรกิจแบบไทยๆ พูดคุย ซื้อขาย ต่อรองได้ ไม่ต้องลงทะเบียน!

     ว่ากันว่าไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศบนโลกนี้ที่เหมาะกับการทำการค้าแบบโซเชียลคอมเมิร์ซ และแม้ว่าโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก หรือไลน์ จะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการค้าก็ตาม แต่พี่ไทยเราก็มีความสามารถในการประยุกต์โซเชียลมีเดียเหล่านั้นมาใช้สร้างธุรกิจได้อย่างน่าทึ่ง

 

     ภาวุธบอกว่า “ประเทศเรานี่โคตรซูเปอร์แอดวานซ์เลยนะ ผมมีโอกาสได้คุยกับชาวต่างชาติ และส่วนใหญ่เขาก็ช็อกกันหมดที่คนไทยซื้อขายของกันผ่านโซเชียลมีเดีย แม้แต่บุคลากรจากเฟซบุ๊กเองก็ยังตกใจกันมาก เพราะฟีเจอร์เฟซบุ๊กไลฟ์ที่เปิดตัวได้แค่ไม่กี่วัน คนไทยก็เอามาใช้ขายของกันแล้ว เราจึงเป็นประเทศที่มีความยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ในด้านรูปแบบการขายของไม่น้อยเลยทีเดียว”

     จะบอกว่าคนไทยเราไม่ชอบความวุ่นวายก็ว่าได้ ซึ่งระบบการค้าออนไลน์แบบสากลนิยมบนเว็บไซต์ หรือ ‘add to cart’ ที่ต้องผ่านการลงทะเบียนสมัครสมาชิก สร้างรหัสผ่าน ผูกบัตรเครดิต ก็เป็นขั้นตอนที่วุ่นวายยุ่งเหยิงไม่น้อยเมื่อเทียบกับการซื้อขายแบบโซเชียลคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นรูปแบบการค้าผ่านบทสนทนา และยังเอื้อประโยชน์ให้ทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถต่อรองราคา ขอดูรูปภาพสินค้าเพิ่มเติม หรือแจ้งโอนเงินได้อย่างครบวงจร จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่โซเชียลคอมเมิร์ซจะเป็นที่นิยมในไทยอย่างต่อเนื่อง

     และเมื่อเจาะลงไปที่รายละเอียดปลีกย่อยของการเก็บข้อมูล ภาวุธบอกว่า ส่วนใหญ่กลุ่มผู้หญิงจะนิยมซื้อขายของผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก โดยมีสินค้ายอดนิยมอย่างเสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องสำอาง และสินค้าเกี่ยวกับแม่และเด็ก ขณะที่ผู้ชายจะไม่นิยมซื้อของผ่านโซเชียลมีเดีย แต่สินค้าส่วนใหญ่ที่ผู้ชายจะเลือกซื้อผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซคือแก็ดเจ็ต

     อย่างไรก็ตาม แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลคอมเมิร์ซคือเทรนด์ธุรกิจที่กำลังมาแรง แต่เขาก็ยังเชื่อว่าเเบรนด์ทั้งหลายควรมีช่องทางเว็บไซต์เป็นของตัวเองเพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย (ความนิยมตกลงอย่างรวดเร็ว, ฐานข้อมูลจำพวกแชตหาย) และช่วยเติมเต็มเพื่อเป็นฐานการเก็บข้อมูลลูกค้าของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลคอมเมิร์ซคือเทรนด์ธุรกิจที่กำลังมาแรง แต่เเบรนด์ทั้งหลายควรมีช่องทางเว็บไซต์เป็นของตัวเองเพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย และช่วยเติมเต็มเพื่อเป็นฐานการเก็บข้อมูลลูกค้าของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

สราลี ชายสมสกุล เจ้าของแบรนด์ Matchbox

 

เทคนิคสร้างแบรนด์ขายของออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ

     ยุคที่ใครๆ ก็เป็นเจ้าของธุรกิจขายของออนไลน์ได้ไม่ยาก สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าคุณภาพที่ดีของสินค้าและรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจคือการบริหารช่องทางต่างๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น การมีทั้งเพจเฟซบุ๊กในการขายของ และการใช้เว็บไซต์เป็นฐานเก็บข้อมูลลูกค้า ซึ่งการเก็บข้อมูลคือสิ่งที่ภาวุธย้ำเป็นพิเศษ เนื่องจากการทำแบรนด์โซเชียลคอมเมิร์ซในปัจจุบันมักเป็นรูปแบบของการซื้อมาขายไปเสียมากกว่า จึงมีช่องโหว่ด้านการเก็บข้อมูลต่างจากระบบเว็บไซต์

     โดยการเก็บฐานข้อมูลที่ว่าไม่เพียงแต่จะช่วยให้วิเคราะห์และพัฒนากลยุทธ์การขายได้เป็นอย่างดี แต่ยังช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลังนโยบายการจัดเก็บภาษีออนไลน์ถูกผลักดันใช้จริงอีกด้วย

     ที่สำคัญ การเลือกใช้ช่องทางต่างๆ ให้สอดคล้องกับประเภทของธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายก็ถือเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น อินสตาแกรมที่มีผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง การเลือกทำแบรนด์ขายสินค้าจำพวกเครื่องยนต์หรือเครื่องจักรผ่านอินสตาแกรมก็ดูจะเป็นแนวคิดที่ไม่เข้าท่าเมื่อเทียบกับการทำแบรนด์ขายเสื้อผ้าแฟชั่นหรือเครื่องสำอาง

     ภายหลังจากที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับ เติ้ล-ภณ รักสกุลนิตย์ เจ้าของแบรนด์กระเป๋าสะพายลายกุหลาบ Aristotle เราจึงได้ทราบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้เปลี่ยนไปไม่น้อย ด้วยปัจจัยทางเลือกร้านค้าที่มีอยู่หลากหลาย ลูกค้าส่วนใหญ่จึงใจร้อนกันมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่แบรนด์ทั้งหลายควรระวังเป็นอย่างยิ่งคือการค้างเเชตและการตอบกลับลูกค้าช้า แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ภณก็ให้เหตุผลว่า ช่วงเวลาที่ลูกค้าทักมาถามข้อมูลหรือขอรายละเอียดสินค้าคือช่วงเวลาที่ความอยากได้กำลังพลุ่งพล่านมากที่สุด แบรนด์และผู้ประกอบการเองจึงควรจะตักตวงไว้และปิดการขายให้รวดเร็ว

     เขายังบอกอีกด้วยว่า การใช้ดาราไทอินสินค้าในปัจจุบันเป็นเทคนิคที่หวังผลได้น้อยลงจากเดิมกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับในอดีต เพราะผู้บริโภคจะไตร่ตรองในการเลือกสินค้ามากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะไม่ได้หมายความว่าคุณห้ามใช้กลยุทธ์นี้แต่อย่างใด เพราะการเลือกใช้ดาราหรือคนดังที่มีอิทธิพลตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และมียอดผู้ติดตามสูงในการไทอินสินค้าก็ยังช่วยเร่งปฏิกิริยาให้แบรนด์ของคุณเป็นที่รู้จักได้เร็วขึ้นกว่าเดิมในระดับหนึ่ง

     นอกจากนี้ จากการเฝ้าสังเกตการณ์พฤติกรรมของร้านค้าออนไลน์ส่วนใหญ่พบว่า การไม่แจ้งรายละเอียดราคาสินค้า คือสิ่งที่แบรนด์โซเชียลคอมเมิร์ซควรจะหลีกเลี่ยง เนื่องจากสินค้ามีราคาที่สูงเกินไปหรือจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม บ่อยครั้งที่ข้อจำกัดของการไม่แจ้งราคาได้กลายมาเป็นปัญหากวนใจ และสร้างประสบการณ์ที่แย่ระหว่างตัวผู้บริโภคและแบรนด์

     ล่าสุดยังมีการเปิดเผยเนื้อหาพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ในมาตรา 4 วรรค 2 ที่ระบุไว้ว่า “ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท” ซึ่งอาจจะตีความได้ว่า กลยุทธ์การฝากร้านตามเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมอาจจะต้องถูกพับเก็บไปในที่สุด

แม้ร้านค้าออนไลน์จะเติบโตขึ้นมากแค่ไหน แต่ก็ยังคิดเป็นสัดส่วนแค่ 3.8 เปอร์เซ็นต์ของรูปแบบการค้าทั้งหมดอยู่ดี ขณะที่ร้านค้าออฟไลน์ยังเป็นเจ้าตลาดอยู่ที่สัดส่วน 96 เปอร์เซ็นต์

‘จากตลาดนัดไอจีสู่มัลติแบรนด์สโตร์’ ทางเลือกออฟไลน์ของผู้ประกอบการออนไลน์

     สำหรับงาน Thailand Zocial Awards 2017 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในช่วงการเสวนาจากผู้บริหารแพลตฟอร์มโซเชียลยอดนิยมในไทย ทั้งกูเกิล ไลน์ ยูทูบ เว็บไซต์พันทิป และทวิตเตอร์ โดย อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ ไลน์ ประเทศไทย ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อย

     เขาบอกว่า แม้ร้านค้าออนไลน์จะเติบโตขึ้นมากแค่ไหน แต่ก็ยังคิดเป็นสัดส่วนแค่ 3.8 เปอร์เซ็นต์ของรูปแบบการค้าทั้งหมดอยู่ดี ขณะที่ร้านค้าออฟไลน์ยังเป็นเจ้าตลาดอยู่ที่สัดส่วน 96 เปอร์เซ็นต์

     ในมุมหนึ่งเราย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าร้านค้าและสโตร์ออฟไลน์ยังคงเป็นตัวเลือกพื้นฐานอันดับหนึ่งของคนทั่วไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง ร้านค้าออนไลน์ก็มีข้อเสียเปรียบจากการที่ผู้ซื้อไม่สามารถลองเลือกหยิบจับสินค้าจริงก่อนตัดสินใจจ่ายเงินได้

     หรือพอคิดจะเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเอง ทุนทรัพย์ก็ยังไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ธุรกิจประเภท ‘มัลติแบรนด์สโตร์’ หรือการรวบรวมแบรนด์สินค้าหลากหลายแบรนด์ไว้ภายในร้านค้าเดียวจึงเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย (ส่วนใหญ่เน้นไปที่เสื้อผ้าแฟชั่นเป็นหลัก)

     ถ้าจะเท้าความไปถึงที่มาของมัลติแบรนด์สโตร์จริงๆ ก็คงต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ในช่วงนั้นเทรนด์ flea market และ pop-up market หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘ตลาดนัดไอจี’ กำลังเป็นที่นิยมและฮอตฮิตในหมู่วัยรุ่น โดยเป็นโมเดลอีเวนต์การรวบรวมแบรนด์สินค้าจากออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่แบรนด์จากเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมที่ประสงค์จะหาพื้นที่ให้ลูกค้าได้ลองสินค้าจริงเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น Zapp On Sale, Cheeze Pop-Up Market หรือ LOL Market เป็นต้น

     ผู้จัดงานจะทำหน้าที่ในการประสานงานกับฝั่งร้านค้า ออกแบบตกแต่งธีมงานให้โดดเด่น และติดต่อขอสปอนเซอร์จากแบรนด์ดังและธุรกิจกระแสหลักมาเป็นผู้สนับสนุนหลักของงาน ในบางครั้งจะมีการจัดเวทีคอนเสิร์ตคู่ขนานไปด้วย โดยรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากทั้งช่องทางสปอนเซอร์และค่าเช่าพื้นที่ของแบรนด์ต่างๆ

     แต่ด้วยระยะเวลาของการจัดงานตลาดนัดไอจีในช่วงสั้นๆ (ส่วนใหญ่ 2-3 วัน ไม่นับรวมกรณีจัดงานข้ามอาทิตย์) บรรดาแบรนด์และร้านค้าส่วนใหญ่จึงเริ่มไขว่คว้าหาพื้นที่ออฟไลน์ให้พวกเขาได้นำสินค้าเข้าไปวางขายในระยะเวลาที่นานขึ้น กระทั่ง ‘มัลติแบรนด์สโตร์’ ถือกำเนิดขึ้นและเริ่มเป็นที่รู้จักในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

     จากการได้พูดคุยกับทั้งฝั่งผู้บริหารมัลติแบรนด์สโตร์ชั้นนำอย่าง SOS, Matchbox และ Camp จึงพบว่า ธุรกิจประเภทนี้เพิ่งจะเริ่มบูมและเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อไม่เกิน 2 ปีที่ผ่านมา แม้ก่อนหน้านี้มัลติแบรนด์สโตร์จะเกิดขึ้นในไทยมาพักใหญ่แล้วก็ตาม โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลของการเริ่มสร้างมัลติแบรนด์สโตร์ว่า เพื่อตอบโจทย์ให้กับแบรนด์ร้านค้าออนไลน์ที่อยากมีหน้าร้านให้ลูกค้าได้ลองสินค้า แต่ติดปัญหาเรื่องเงินทุน จึงติดต่อแบรนด์ออนไลน์เจ้าอื่นๆ มาร่วมหุ้นเช่าพื้นที่ขายสินค้าภายในร้าน

     เจ้าของพื้นที่จะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพติดต่อแบรนด์ คิดแผนโปรโมต และการตลาด รวมไปถึงการอัพเดตยอดขายสินค้าให้กับแต่ละแบรนด์ ขณะที่แบรนด์มีหน้าที่ในการอัพเดตสต็อกสินค้าและจ่ายค่าเช่าเท่านั้น จึงทำให้มัลติแบรนด์สโตร์ตอบโจทย์ผู้ประกอบการในแง่ความสะดวกสบายและระยะเวลาในการวางขายสินค้าที่นานกว่า

     ลักษณะของการเช่าพื้นที่ภายในร้านมัลติแบรนด์สโตร์ก็จำแนกได้อีก 2 รูปแบบ ทั้ง GDP ที่คิดค่าเช่าจากราคาขายสินค้าแต่ละชิ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ตามเงื่อนไขสัญญา และแบบ fix rate ที่เก็บค่าเช่าเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนตามตกลง (ส่วนใหญ่เริ่มต้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน) โดยค่าเช่าจะผันแปรไปตามความนิยมของสาขาและทำเลในแต่ละแห่ง รวมถึงพื้นที่และราวแขวนสินค้าที่ต่างกัน

     จะเห็นได้ว่าโมเดลของมัลติแบรนด์สโตร์มีความคล้ายคลึงกับรูปแบบของห้างสรรพสินค้าทั่วไปอยู่พอสมควร แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาเติบโตจนมีแบรนด์ไว้วางใจเข้ามาเช่าพื้นที่ขายสินค้าภายในร้านตั้งแต่ 100-300 แบรนด์ หรือบางรายสามารถขยายสาขาได้ถึง 7 แห่งภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปีเป็นเพราะการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคมาก่อนแล้ว

     ยามที่นักช้อปออนไลน์คิดจะซื้อสินค้าจากแบรนด์บนไอจีและเฟซบุ๊กทั้งที แต่อยากลองสินค้าก่อนจ่ายเงิน มัลติแบรนด์สโตร์จึงตอบโจทย์ผู้ซื้อได้ทุกประการ ขณะที่กระบวนการในการคัดกรองเข้าไปวางขายสินค้าก็ไม่ได้ยุ่งยากหรือต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมายให้วุ่นวาย ส่วนเงินระดมทุนที่ได้จากการเก็บค่าเช่าร้านของแบรนด์ต่างๆ ก็ทำให้ธุรกิจมัลติแบรนด์สโตร์มีกำลังในการเลือกทำเลเงินทำเลทองเปิดหน้าร้านได้ตามต้องการ ซึ่งคงไม่เกิดขึ้นแน่นอนกับแบรนด์ออนไลน์ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาในตลาด

     แน่นอนว่าในอนาคต หากมีการนำเทคโนโลยี VR (virtual reality) และ AR (augmented reality) หรือเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาช่วยยกระดับให้การค้าออนไลน์ไม่ต้องพึ่งพิงรูปแบบการค้าออฟไลน์อีกต่อไป เช่น การนำ VR มาช่วยจำลองห้องลองเสื้อผ้าแบบเสมือนจริงได้ ผู้ประกอบการร้านค้าออฟไลน์และมัลติแบรนด์สโตร์ก็คงจะต้องปรับกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจกันอย่างหนักแน่นอน แต่จนกว่าจะถึงเวลานั้น ตราบใดที่ยังคงมีผู้เล่น SMEs หน้าใหม่และผู้ประกอบการแบรนด์สินค้าออนไลน์กระโดดเข้ามาร่วมวงในตลาดนี้อยู่เรื่อยๆ พื้นที่ออฟไลน์หรือธุรกิจอย่างมัลติแบรนด์สโตร์ก็ยังจัดเป็นยาบำรุงชั้นดีที่จะช่วยให้แบรนด์โซเชียลคอมเมิร์ซเติบโตได้เร็วกว่าปกติอยู่หลายเท่าตัว

น่าจะมีการแบ่งเรตในการจัดเก็บภาษีอะไรสักอย่าง เพราะแบรนด์ขายของออนไลน์บางเจ้าก็อาจจะยังไม่ได้มีผลประกอบการที่ดีมากนัก 

นโยบายจัดเก็บภาษีออนไลน์ ก้าวต่อไปหรือถอยหลังกลับ?

     เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ข่าวจากฝั่งกรมสรรพากรได้มีการเปิดเผยออกมาว่าพวกเขากำลังพยายามผลักดันนโยบายจัดเก็บภาษีออนไลน์ให้ถูกบังคับใช้จริงเพื่อดึงองค์กรและผู้ประกอบการบนโซเชียลคอมเมิร์ซทั้งหลายให้เข้ามาอยู่ในระบบการเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

     ว่ากันว่าที่มาของแนวคิดการจัดเก็บภาษีออนไลน์เกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ 2 ประการ

     ประการแรกคือ การเติบโตที่รวดเร็วของผู้ประกอบการโซเชียลคอมเมิร์ซ ซึ่งหลายๆ รายสามารถฟันกำไรจากการขายของบนพื้นที่โซเชียลมีเดียได้เป็นหลักร้อยล้านบาทโดยที่ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่สลึงเดียว!

     ประการถัดมาคือ จำนวนเม็ดเงินที่รั่วไหลออกนอกประเทศไปสู่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสื่ออย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล ผ่านบัตรเครดิตที่ใช้ในการลงสปอนเซอร์โฆษณา ซึ่งภาวุธคาดการณ์ว่า จำนวนเงินดังกล่าวน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1.25 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมเม็ดเงินสะพัดของสโตร์สินค้าดาวน์โหลดเกมและแอปพลิเคชันออนไลน์ เช่น เพลย์สโตร์ และแอปสโตร์ ที่ภาครัฐไทยไม่เคยมีการจัดเก็บภาษีกับบริษัทเหล่านี้มาก่อน เนื่องจากถือเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่

     จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาครัฐ นำโดยกรมสรรพากร เตรียมเร่งหาวิธีและนโยบายชะลอเงินรั่วไหลออกนอกประเทศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่นับจนถึงปัจจุบัน ความคืบหน้าของนโยบายดังกล่าวก็ยังไม่ปรากฏออกมาให้ฝั่งผู้ประกอบการได้เตรียมตัวเตรียมใจกันเท่าที่ควร

     ผู้ประกอบการอย่างภณเองบอกกับเราว่า “ส่วนตัวมองว่าถ้าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ถูกต้อง เราก็ควรจะทำให้ถูกต้อง เเต่ปกติเราก็ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัทที่เสียภาษีเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ก็รู้สึกว่ามันน่าจะมีการแบ่งเรตในการจัดเก็บภาษีอะไรสักอย่าง เพราะแบรนด์ขายของออนไลน์บางเจ้าก็อาจจะยังไม่ได้มีผลประกอบการที่ดีมากนักเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆ”

     ขณะที่ภาวุธแนะนำว่า สิ่งที่แบรนด์ออนไลน์และแบรนด์โซเชียลคอมเมิร์ซควรเริ่มเตรียมความพร้อมในตอนนี้คือการจัดเก็บข้อมูลและจัดทำระบบบัญชีให้เป็นระบบ “เมื่อใดก็ตามที่มีรายได้ คุณควรจะมีการเก็บข้อมูลว่าธุรกิจของคุณมีรายได้ รายรับ ต้นทุน และกำไร ต้องจัดทำระบบบัญชีอย่างดีเพื่อให้บริหารธุรกิจได้อย่างมีทิศทาง เมื่อภาครัฐจะเข้ามาตรวจสอบ คุณก็มีข้อมูลพร้อมให้เขาตรวจสอบ

     “แต่ในอนาคตที่นโยบายการจัดเก็บภาษีออนไลน์จะถูกบังคับใช้จริง ผมก็ยังเชื่อว่าการค้าออนไลน์ยังจะโตฉิบหายวายป่วงเหมือนเดิม เพราะมันคือเทรนด์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ”

     ล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราได้ทำการติดต่อไปยังประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอทราบรายละเอียดที่แน่ชัดของนโยบายการจัดเก็บภาษีการค้าออนไลน์ แต่ได้รับคำตอบว่านโยบายดังกล่าวยังต้องเข้าวาระการประชุมโดยคณะรัฐมนตรีเสียก่อน ตนจึงยังไม่สะดวกในการให้สัมภาษณ์ แต่คาดว่า 2-3 เดือนต่อจากนี้เราน่าจะได้เห็นความชัดเจนขึ้น

     ก็คงต้องติดตามกันอีกทีว่านโยบายจัดเก็บภาษีออนไลน์โดยกรมสรรพากรและรัฐบาลจะนำไปสู่อะไร ฝ่ายใดจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร จะช่วยป้องกันเงินรั่วไหลออกนอกประเทศได้แค่ไหน เมื่อถึงเวลานั้นเราคงจะได้ทราบกัน

     เมื่อถึงเวลานั้นเราคงจะได้ทราบกัน แต่ที่แน่ๆ นาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดนัดโซเชียลคอมเมิร์ซมาแรงจริงๆ

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

อ้างอิง:

     – www.etda.or.th/publishing-detail/value-of-e-commerce-survey-2016.html

     – www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/010/24.PDF

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising