เรียกได้ว่าเป็นยุคของ Digital Transformation แห่งแวดวงธุรกิจอย่างแท้จริง เมื่อเครือธุรกิจยักษ์ของไทย เครือสหพัฒน์ ลุกขึ้นมาปรับตัวทั้งในแง่โครงสร้างองค์กรที่เปลี่ยนมือมาสู่ผู้บริหารรุ่นใหม่ และเตรียมขยายแผนการลงทุนอีกครั้งในรอบ 2 ปีหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผนึกกำลังกับ Lazada บุกตลาดอีคอมเมิร์ซ หรือเล็งพัฒนาโรงงานและศูนย์กระจายสินค้าด้วยเทคโนโลยี Internet of Things พร้อมเดินหน้าธุรกิจสู่ยุค 4.0 อีกราย
บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์มั่นใจ เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกแน่นอน ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เริ่มผลิดอกออกผล
เครือสหพัฒน์ยกเครื่องใหม่ มีอะไรน่าจับตาบ้าง THE STANDARD ได้สรุปประเด็นสำคัญจากงานแถลงข่าวสหกรุ๊ป แฟร์ ครั้งที่ 21 มาให้แล้วดังนี้
Transform กว่า 200 ธุรกิจ ดึงพันธมิตรต่างชาติปั้นโรงงานรับ 4.0
แน่นอนว่าเป็นโจทย์ท้าทายครั้งใหญ่สำหรับธุรกิจที่มีบริษัทในเครือกว่า 200 ธุรกิจ เวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) มองว่า ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจจะต้อง Go Digital โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคจะต้องมีบริการจำหน่ายสินค้าทางอีคอมเมิร์ซที่เข้าถึงลูกค้าง่ายและครอบคลุมทุกช่องทาง พร้อมทุ่มเงินลงทุนเพิ่มราว 3 พันล้านบาทในครึ่งปีหลังนี้
– บุกอีคอมเมิร์ซ โดยจับมือกับ LAZADA Thailand ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และ O Shopping ให้สอดรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่นิยมซื้อของทางออนไลน์กันมากขึ้น ดึง Alipay วางระบบบริการชำระเงิน ทั้งนี้งบประมาณการลงทุนระบบไอทีอยู่ที่ 150 ล้านบาทต่อปี
– เปิดตัวแอปพลิเคชัน ICC App อัพเดตข่าวประชาสัมพันธ์ กิจกรรม และโปรโมชันต่างๆ ของธุรกิจในเครือสหพัฒน์
– ยกระดับ Total Supply Chain ของเครือสหพัฒน์ สร้างศูนย์กระจายสินค้าและโรงงานใหม่ในโครงการ ‘ไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี’ ที่จะรวมสินค้าทุกแบรนด์มาไว้ที่เดียวกันโดยใช้เทคโนโลยี Internet of Things
นับเป็นการร่วมทุนครั้งใหญ่ร่วมกับบริษัทชั้นนำคือ บริษัท ไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่น แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด, บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และ Paltac Corporation ประเทศญี่ปุ่น บริษัทชั้นนำด้านขายส่งและโลจิสติกส์ของญี่ปุ่น
– ด้านหมวดแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องสำอาง แม้ว่าจะเติบโตน้อยลง แต่ BSC เปิดตัวแบรนด์ใหม่ เจาะกลุ่มผู้ชายเจนวายที่ชอบแต่งตัว ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง ขณะที่ ‘เอราวัณสิ่งทอ’ ก็หันมาจับนวัตกรรมเส้นใยแทน
อย่างไรก็ดี บุณยสิทธิ์คาดการณ์ว่าภาพรวมของเครือสหพัฒน์ปีนี้น่าจะไม่มีการเติบโต และไม่ติดลบแต่อย่างใด
จับตากระแสธุรกิจไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าแทบทุกธุรกิจต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงเร็วแบบวินาทีต่อวินาที มีข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเข้ามาเป็นตัวแปรในการพัฒนาการบริหารธุรกิจและการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ขณะเดียวกันสถานการณ์การแข่งขันก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงและไม่แน่นอน ธุรกิจที่มีโอกาสอยู่รอดสูงกว่าไม่จำเป็นต้องปรับตัวทันที แต่ควรมีความยืดหยุ่นมากพอ และมองออกว่าจุดแข็งของธุรกิจตนเองคืออะไร การทุ่มลงทุนกับเทคโนโลยีอย่างเดียวนั้นใช้เวลานานกว่าจะได้ผลตอบแทนคืน ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจพลาดโอกาสและเพลี่ยงพล้ำไปในที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น เราได้เห็นสามทหารเสือแห่งโทรคมนาคมของไทยเริ่มกระจายการลงทุนในธุรกิจและเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ ฟินเทค การบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ การร่วมทุนสนับสนุนโครงการสตาร์ทอัพ หรือแม้แต่ภาคธนาคารก็ปรับตัวอย่างคึกคักไม่แพ้กัน เช่น ไทยพาณิชย์ ที่แยกตัวออกมาตั้งบริษัท Digital Ventures ร่วมลงทุนสนับสนุนธุรกิจเกิดใหม่และนวัตกรรมทางการเงิน, กสิกรไทย ที่ลงทุนด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือทหารไทย ที่เน้นการปรับขนาดโครงสร้างองค์กรและพัฒนาบุคคล
จึงไม่แปลกอะไรที่เครือธุรกิจอื่นๆ จะลุกขึ้นมาปรับตัวตามรอยเครือสหพัฒน์บ้าง เพราะ ‘สมควรแก่เวลาแล้ว’ เพียงแต่ต้องคอยแก้โจทย์ด้าน ‘สเกล’ ที่รองรับกลุ่มธุรกิจย่อยไปทีละโจทย์เท่านั้นเอง