×

จาก Zalora สู่ LOOKSI เซ็นทรัลกรุ๊ปรีแบรนด์อีคอมเมิร์ซแฟชั่น ตั้งเป้า 1 พันล้านใน 3 ปี!

15.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ลุคสิ (LOOKSI) คือแบรนด์อีคอมเมิร์ซสินค้าแฟชั่นที่เซ็นทรัลกรุ๊ป ซื้อกิจการ ซาโลร่า ไทยแลนด์ (Zalora) เว็บไซต์จำหน่ายสินค้าแฟชั่นช้อปปิ้งออนไลน์ในเอเชียแปซิฟิกที่เข้ามาเปิดตัวในไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ก่อนทำการรีแบรนด์ด้วยทุนจำนวน 100 ล้านบาท
  • ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์แบบ omnichannel ผนวกทั้งช่องทางออนไลน์ (แพลตฟอร์มลุคสิ) และออฟไลน์ (หน้าร้านในห้างเซ็นทรัล) ทั้งนี้แบรนด์แฟชั่นที่วางขายในห้างเครือเซ็นทรัลก็จะมาจำหน่ายในช่องทางของลุคสิด้วย
  • มีโครงการจะสนับสนุนดีไซเนอร์และผู้ประกอบการแบรนด์แฟชั่นหน้าใหม่ให้มีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าผ่านลุคสิ

     บริษัท เซ็นทรัล กรุ๊ป ออนไลน์ จำกัด (Central Group Online) ได้เปิดตัว ‘ลุคสิ (LOOKSI)’ อีคอมเมิร์ซจำหน่ายสินค้าแฟชั่นออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มทั้งหน้าเว็บไซต์และระบบแอปพลิเคชันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยตั้งเป้ากวาดรายได้รวม 1 พันล้านบาทภายใน 3 ปี พร้อมผุดโปรเจกต์ร่วมมือกับดีไซเนอร์ไทยหน้าใหม่

 

     

     ลุคสิ คือแบรนด์อีคอมเมิร์ซสินค้าแฟชั่นที่เซ็นทรัลกรุ๊ปได้ซื้อกิจการ ซาโลร่า ไทยแลนด์ (Zalora) เว็บไซต์จำหน่ายสินค้าแฟชั่นช้อปปิ้งออนไลน์ในเอเชียแปซิฟิกที่เข้ามาเปิดตัวในไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ต่อจากกลุ่มบริษัท ร็อคเก็ต อินเทอร์เน็ต (Rocket Internet) เมื่อปีที่ผ่านมา ก่อนจะรีแบรนด์ด้วยเงินลงทุนจำนวนกว่า 100 ล้านบาท

     การซื้อกิจการในครั้งนี้ของกลุ่มทุนเซ็นทรัลกรุ๊ป ยังครอบคลุมถึง ‘ซาโลร่า เวียดนาม’ อีกด้วย โดยที่อำนาจในการบริหารดูแลทั้งหมดจะตกเป็นหน้าที่ของทีมงานจากประเทศเวียดนามเท่านั้น

 

3 ปี 1 พันล้าน เซ็นทรัลกรุ๊ปและลุคสิวางกลยุทธ์อย่างไร

     ความได้เปรียบที่เห็นได้ชัดของอีคอมเมิร์ซสินค้าแฟชั่นลุคสิ คือการที่เจ้าของบริษัทอย่างเซ็นทรัลกรุ๊ป มีทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เป็นของตัวเอง โดยตั้งใจจะปรับกลยุทธ์การตลาดให้เป็นแบบ omnichannel เพื่อผนวกทั้งสองช่องทางและอำนวยความสะดวกช่วยเหลือซึ่งกันและกันแบบไร้รอยต่อ

 

 

     พรชนก ตันสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจออนไลน์ บริษัทเซ็นทรัล กรุ๊ป ออนไลน์ จำกัด บอกกับเราว่า “ลุคสิจะถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสร้าง awareness ให้กับแบรนด์คู่ค้าที่เข้ามาจำหน่ายสินค้ากับห้างเซ็นทรัล”

     ขณะเดียวกันลุคสิก็จะได้ประโยชน์จากการมีแบรนด์เหล่านั้นเข้ามาวางจำหน่ายมากขึ้น เช่น สินค้าเอ็กซ์คลูซีฟจาก Topshop โดยราคาสินค้าที่วางจำหน่ายผ่านทั้งสองช่องทางจะไม่ต่างกันมาก เพียงแต่ลุคสิอาจจะมีโปรโมชันและแคมเปญที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์

     โดยผู้บริโภคที่ถือบัตร The 1 Card (บัตรสมาชิกของห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัล) ก็สามารถสะสมแต้มพิเศษเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากการซื้อสินค้าผ่านลุคสิได้อีกด้วย

 

 

     ปัจจุบันลุคสิมีแบรนด์สินค้าเข้ามาวางจำหน่ายมากกว่า 1,000 แบรนด์ อาทิ ไนกี้ (Nike), ลีวายส์ (Levis’s) รวมถึงแบรนด์เอ็กซ์คลูซีฟที่จำหน่ายช่องทางออนไลน์เฉพาะกับแค่ลุคสิ เช่น ท็อปช็อป (Topshop), ลาคอสต์ (Lacoste’), แดปเปอร์​ (Dapper) โดยในอนาคตพรชนกตั้งเป้าหมายดึงแบรนด์ชั้นนำเข้ามาวางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำนวนแบรนด์สินค้าที่มีจำหน่ายในเวลานี้นับเป็นแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ของเป้าหมายทั้งหมด

     รวมถึงยังจับมือกับพันธมิตรบริการส่งสินค้าอย่าง Kerry Express, CJ Logistics และ DHL Express โดยในกรณีที่ผู้บริโภคไม่พอใจสินค้าก็สามารถส่งคืนได้ที่ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ทุกสาขาภายใน 30 วัน

 

 

ผันตัวเป็นช่องทางสนับสนุนดีไซเนอร์และผู้ประกอบการแบรนด์แฟชั่นหน้าใหม่

     นอกจากจะใช้กลยุทธ์แบบ omnichannel ลุคสิยังตั้งใจจะเปิดพื้นที่ให้ดีไซเนอร์และผู้ประกอบการแบรนด์แฟชั่นหน้าใหม่ได้เข้ามาทำการค้า

     สินสุพจน์ เจริญกุลธวัช หัวหน้าฝ่ายบริหารด้านครีเอทีฟและสื่อสารการตลาดของลุคสิบอกกับ THE STANDARD ว่าในอนาคตจะมีโครงการที่เป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกับนิตยสาร Harper’s BAZAAR ในชื่อ ‘Asia NewGen Fashion Award 2017’ เพื่อเฟ้นหาดีไซเนอร์รุ่นใหม่จากการแข่งขันประกวดผลงานการออกแบบเสื้อผ้า โดยเปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์และแบรนด์หน้าใหม่ส่งผลงานเข้ามาประกวดก่อนทำการคัดเลือกให้เหลือเพียง 5 รายที่จะได้ผลิตผลงานจำหน่ายกับทางลุคสิ

     “ถ้าเขา (ดีไซเนอร์และผู้ประกอบการแบรนด์แฟชั่นหน้าใหม่) ต้องทำสินค้าวางขายในห้างก็จำเป็นจะต้องผลิตออกมาในจำนวนมาก แต่ถ้ามีช่องทางลุคสิ เขาก็ไม่จำเป็นต้องผลิตสินค้าจำนวนเยอะๆ เพราะดีไซเนอร์หน้าใหม่บางรายอาจจะยังไม่มีต้นทุนขนาดนั้น เราจึงเป็นช่องทางให้ดีไซเนอร์ไทยหน้าใหม่ๆ ได้มีโอกาสออกแบบสินค้าและขายของได้จริง

     “ส่วนในอนาคตอาจจะมีการเปิดโอกาสให้เจ้าของแบรนด์ไทยหน้าใหม่รายอื่นๆ ได้นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายกับทางลุคสิมากขึ้น เพราะเดิมทีซาโลร่าก็เคยมีเซกชันให้ดีไซเนอร์หรือเจ้าของแบรนด์สินค้าไทยได้เข้ามาวางขายสินค้าในจำนวนกว่า 3,000 แบรนด์อยู่แล้ว แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นลุคสิ เราจึงต้องตัดบางแบรนด์ออกไปเพราะต้องการจริงจังกับคุณภาพสินค้า ทั้งนี้เราจะช่วยสนับสนุนแบรนด์ต่างๆ ในด้านการทำพรีเซนเทชันสินค้า ให้คำแนะนำในการถ่ายแคตตาล็อกหรือเป็นตัวแทนทำโปรดักชันให้”

 

   

      น่าจับตาไม่น้อยว่าลุคสิภายใต้การบริหารโดยทีมงานของเซ็นทรัลกรุ๊ปจะไปได้ไกลแค่ไหนในตลาดอีคอมเมิร์ซแฟชั่น B2C แบบครบวงจรนี้ เพราะปัจจุบันคู่แข่งโดยตรงของพวกเขาอาจจะยังมีจำนวนน้อยอยู่

     อีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada หรือ Shopee เองก็ยังไม่ได้เน้นขายสินค้าแฟชั่นในจำนวนแบรนด์ที่มากพอๆ กับพวกเขา ขณะที่อีคอมเมิร์ซสินค้าแฟชั่นเจ้าอื่นๆ (ที่มีหลายแบรนด์ให้เลือก) ก็อาจจะยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร

    นี่จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการเร่งสร้างฐานความนิยมจากผู้บริโภค เช่นเดียวกับการทบทวนหาช่องโหว่ที่เคยเกิดขึ้นกับแบรนด์ซาโลร่าเพื่อปรับกลยุทธ์ในลำดับต่อไป

 

Photo: Looksi.com

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X