×

ถอดสูตรความสำเร็จของแหลมเกต อินฟินิท: มากกว่าคุณภาพอาหารและการใส่ใจ คือการเรียนรู้จาก ‘ความโง่’

05.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • แหลมเกต อินฟินิท ภายใต้การบริหารของโค้ก-อพิชาต บวรบัญชารักข์ มีจุดกำเนิดในการทำธุรกิจเพียงเพราะอยากถ่ายรูปธุรกิจที่ทำลงในอินสตาแกรมเหมือนคนรอบตัว บวกกับความต้องการอยากมีร้านอาหารให้เพื่อนๆ ได้มานั่งรับประทาน
  • อพิชาตเล่าให้เราฟังว่า เขาต้องประสบกับความผิดพลาดมานับครั้งไม่ถ้วน เริ่มต้นตั้งแต่การขาดทุนแบบย่อยยับติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี, บริหารจัดการคิวลูกค้าไม่ดีจนถูกตำหนิ, ขายดีเพราะเป็นบุฟเฟต์แบบไม่จำกัดเวลาจนหากำไรไม่เจอ ซึ่งทุกๆ ข้อผิดพลาดเหล่านั้นได้กลายเป็นบทเรียนให้เจ้าตัวและแหลมเกตเรียนรู้และพัฒนาจนประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้
  • นอกจากคุณภาพและรสชาติอาหารที่แหลมเกตยึดถือเป็นสาระสำคัญ การใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การตกแต่งร้าน, เครื่องแต่งกายของพนักงาน, เพลงประกอบ, ภาชนะที่ใช้ใส่อาหาร, เมนูอาหารแบบใช้แล้วทิ้ง หรือแม้กระทั่งแฟชั่นเซต ก็กลายเป็นเสน่ห์ที่หาตัวจับยาก

     13.28 น. เสียงระฆังดังขึ้นแทบจะในวินาทีเดียวกันกับที่ม่านแดงผืนยักษ์ถูกเปิดออก นี่คือสัญญาณเตือนว่ารอบบริการที่ 2 ของวันใกล้จะเริ่มต้นขึ้น พนักงานหญิงไม่ต่ำกว่า 6 คนในเครื่องแต่งกายเชิ้ตสีขาวแขนยาวสวมเข้าคู่กับกระโปรงยาวสะบัดสีเลือดหมูยืนตั้งแถวต้อนรับอย่างพร้อมเพรียง หากไม่ได้ทราบจากชื่อเรื่อง หลายคนคงเดาไม่ออกว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในร้านอาหาร

 

 

     แม้จะเป็นวันเสาร์ที่เปียกชุ่มไปด้วยสายฝน แต่ลูกค้าจำนวนมากทั้งไทยและเทศยังคงทยอยจับจองโต๊ะในร้านอาหารทะเลบุฟเฟต์ ‘แหลมเกต อินฟินิท’ อย่างต่อเนื่อง จนพื้นที่ 666 ตารางเมตรแน่นขึ้นมาทันตา เมนูยอดฮิตอย่างปลากะพงทอดน้ำปลา, ต้มยำทะเลน้ำข้น, หมึกผัดไข่เค็ม และหอยนางรมสดๆ ฝาโต ซึ่งส่งตรงมาจากศรีราชา และจัดวางในภาชนะรถเข็นขนาดย่อมถูกเสิร์ฟจนล้นโต๊ะอาหารทันที

 

 

     ถ้านับเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนคงคุ้นหูกับชื่อแหลมเกตกันมาบ้าง เพราะหากไม่เคยไปลิ้มลองรสชาติความสดของอาหารทะเลถึงตัวร้าน ก็น่าจะเคยผ่านตากับแฟชั่นเซตแปลกๆ ที่นำกุ้งหอยหมึกปูปลามาเป็นองค์ประกอบจนถูกแชร์ลงบนโลกออนไลน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

     ในวันที่เส้นทางธุรกิจกำลังไปได้ดีแบบสุดๆ เราชวน โค้ก-อพิชาต บวรบัญชารักข์ ผู้ปลุกปั้นแหลมเกตจนปังและเปรี้ยง มาเปิดเผยตำราลับการสร้างแบรนด์ในแบบของเขาที่เจ้าตัวมักจะบอกอยู่บ่อยๆ ว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความ ‘โง่’ ล้วนๆ!

เราชอบที่จะได้เห็นคนเข้าร้านมานั่งกินอาหารแล้วมีความสุข เวลาได้จัดงานปาร์ตี้แล้วเห็นเพื่อนๆ มีความสุขก็จะพลอยสุขตามไปด้วย ก็เลยโยนคำว่า ‘ความสุข’ ใส่เข้าไปในธุรกิจของเราในทุกๆ ส่วน

 

แหลมเกตแห่งแรก สุขุมวิท 47: อยากทำธุรกิจถ่ายรูปลงอินสตาแกรมเก๋ๆ ผลลัพธ์ที่ได้คือเจ๊งแบบไม่เป็นท่า!

     อพิชาตย้อนความหลังเล่าให้เราฟังว่า ป๋าและแม่ของเขาเคยเปิดกิจการร้านอาหารทะเลแหลมเกตที่ตัวเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี มาตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับเพื่อนๆ ที่มักจะแวะเวียนมาอุดหนุนเป็นประจำ ก่อนที่ 20 ปีให้หลัง ธุรกิจของบ้านบวรบัญชารักข์จะปิดตัวลง เนื่องจากทั้งป๋าและแม่อยู่ในช่วงวัยเกษียณพอดี

     กระทั่งปี 2555 อพิชาตที่ในขณะนั้นกำลังประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งก็เกิดความคิดอยากสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง เพียงเพราะเห็นคนรอบตัวถ่ายรูปคู่กับธุรกิจของพวกเขาลงในอินสตาแกรมกันจ้าละหวั่น ประกอบกับมีเงินทุนที่ได้จากการทำงานและการจัดสรรโดยป๋าและแม่ เขาจึงไม่รีรอที่จะปลุกกิจการร้านอาหารทะเล ‘แหลมเกต’ ขึ้นมาอีกครั้ง โดยได้ไอเดียมาจากเพื่อนๆ ที่เข้ามาบ่นให้เจ้าตัวฟังอยู่บ่อยๆ ว่าคิดถึงแหลมเกต

 

 

     “บอกตามตรงว่าเราเบื่อร้านอาหารทะเลมาก สมัยเด็กๆ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ต้องอยู่ช่วยป๋าและแม่ที่ร้าน เพราะเป็นวันที่ขายดีที่สุด มันดึงเวลาเราไปทั้งชีวิตเลย แต่ที่สุดแล้วก็ตัดสินใจเปิดร้านอาหารทะเล เพราะเพื่อนๆ รอบตัวบ่นให้ฟังอยู่ตลอดว่าอยากกินอาหารที่บ้าน (ร้าน) เราตัดสินใจเปิดร้านอาหารทะเลแหลมเกตซีฟู้ด (Laemgate Seafood) ในปี 2556 ที่สุขุมวิท 47 แบบบุฟเฟต์ a la carte กับเมนูอาหาร 9 รายการในราคา 499 บาท โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 4-5 ล้านบาท ปรากฏว่าแค่ 2 เดือนแรกก็มีลูกค้าเยอะพอสมควร แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีลูกค้าอีกเลยแม้จะเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งก็คิดเข้าข้างตัวเองว่าคงเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี มีเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง เลยยอมขาดทุนเดือนละ 400,000 บาทเป็นเวลา 1 ปีเต็มๆ ทั้งที่คนรอบตัวก็เตือนตลอด จนสุดท้ายหุ้นส่วนก็มาขอถอนตัว เราจึงยอมฉีกสัญญาเช่ามูลค่า 5 ล้านบาททิ้งและปิดกิจการลง”

     ถึงจะปิดกิจการแหลมเกตไป แต่เขาก็ยังรู้สึกอยู่ลึกๆ ว่าแบรนด์ยังมีโอกาสไปต่อได้ แม้จะไม่ได้มีหุ้นส่วนร่วมลงทุนอีกต่อไป ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาดังกล่าวทำให้เขาได้นั่งทบทวนความผิดพลาดของตัวเองอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง “ยอมรับว่าช่วงนั้นเราไม่มีภาระเลย มีเงิน แต่ไม่มีสมอง ชีวิตก็ไม่ต้องเดือดร้อน เลยอยากเปิดร้านอาหารเล่นๆ ไว้ถ่ายรูปลงอินสตาแกรมเหมือนคนอื่น พอเปิดร้านอาหารก็ไม่ได้วางคอนเซปต์อะไรนอกจากทำให้ดูดี ดูแพง และดูหรูเข้าไว้ ขายกุ้งแช่น้ำปลาจานละ 800 บาท เพราะไม่รู้ว่าราคาท้องตลาดเขาขายกันเท่าไร ไม่เคยศึกษาข้อมูลการตลาด การวางแบรนดิ้ง และกำลังในการจับจ่ายของผู้คน รู้อย่างเดียวว่าการจัดวางอาหารแบบไหนสวยหรือไม่สวย”

 

 

แหลมเกตกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ: ประสบการณ์พิเศษราคา 2,000 บาทจากร้านอาหารไทยริมแม่น้ำในปราก

     ช่วงรอยต่อหลังตัดสินใจปิดกิจการแหลมเกตที่สุขุมวิท 47 อพิชาตเลือกเดินทางไปพักผ่อนเพื่อให้ลืมเรื่องเครียดสารพัดสารเพที่หลั่งไหลเข้ามา โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ ‘ปราก’ เมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งเจ้าตัวคงยังไม่ล่วงรู้ว่าการเดินทางในครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำธุรกิจของเขาอย่างไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

     “วันหนึ่งเราไปนั่งกินข้าวที่ร้านอาหารไทยริมแม่น้ำพร้อมเพื่อน และคิดว่าถ้ารสชาติอาหารดีขนาดนี้ ค่าใช้จ่ายต้องไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นบาทแน่นอน ปรากฏว่าเช็กบิลออกมา มื้อนั้นเราจ่ายไปแค่ 2,000 บาท เราประหลาดใจมาก เลยไปคุยกับเชฟและเจ้าของร้าน ทั้งคู่บอกคล้ายๆ กันว่าพวกเขาต้องการสร้าง ‘ประสบการณ์’ ที่ดีให้กับลูกค้า อยากให้เขารู้สึกว่าภาพอาหารที่มองว่าแพง ในความเป็นจริงไม่ได้แพงอย่างที่คิด พอกลับมาประเทศไทยก็ตัดสินใจว่าจะลองเปิดร้านอาหารทะเลแหลมเกตขึ้นมาอีกครั้งเมื่อปี 2558 ในรูปแบบบุฟเฟต์ a la carte เช่นเดิมที่พหลโยธิน 11 ในราคาหัวละ 499 บาทแบบไม่จำกัดเวลา ปรากฏว่าผลตอบรับดีมากๆ ลูกค้าแน่นร้านจนโดนด่าเละ! เนื่องจากบริหารไม่ดี ต้องให้คนยืนรอกัน อาหารก็ไม่พอ จากช่วงแรกๆ ที่เหมือนจะไปได้ดีกลายเป็นขาดทุนหนักกว่าเดิม 600,000 บาทตั้งแต่เดือนแรก”

 

 

     ถึงจะกลับมาเปิดร้านอาหารเป็นคำรบที่ 2 ด้วยความมุ่งมั่นแบบสุดๆ แต่เมื่อผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปดั่งที่หวัง อพิชาตตัดสินใจหันไปขอคำปรึกษาจากพี่สาวคนสนิท ‘ดีเจอ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล’ ก่อนจะค้นพบไอเดียว่าสิ่งที่เขาควรมอบให้ลูกค้านอกเหนือจากประสบการณ์ก็คือ ‘ความสุข’

     “ส่วนตัวเราชอบที่จะได้เห็นคนเข้าร้านมานั่งกินอาหารแล้วมีความสุข เวลาได้จัดงานปาร์ตี้แล้วเห็นเพื่อนๆ มีความสุขก็จะพลอยสุขตามไปด้วย ก็เลยโยนคำว่า ‘ความสุข’ ใส่เข้าไปในธุรกิจของเราในทุกๆ ส่วน เริ่มต้นตั้งแต่ราคาที่เปลี่ยนเป็น 555 บาท และเพิ่มอาหารเป็น 24 รายการ โดยอิงจากเมนูยอดฮิตสมัยร้านแหลมเกตของป๋าและแม่ จำกัดระยะเวลาบริการ 90 นาที และแบ่งคิวให้บริการเป็นรอบๆ โดยเปิดให้โทรมาจองล่วงหน้าเพื่อป้องกันปัญหาลูกค้ามารอเต็มร้าน หลังจากนั้นผลตอบรับของร้านก็เริ่มกลับมาดีขึ้น แม้จะยังไม่ทำกำไรก็ตาม”

     ในช่วงที่ผลประกอบการแหลมเกตบุฟเฟต์สาขาพหลโยธิน 11 ย่านอารีย์กำลังรุ่งเรืองแบบสุดๆ และได้ฐานลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้นจนต้องขยายสาขาที่ 2 ไปยังพหลโยธิน 7 (ซอยอารีย์ 4) คิวลูกค้าที่จองแน่นขนัดข้ามเดือนก็ดูท่าว่าจะไม่ลดน้อยลงแต่อย่างใด ซ้ำร้าย ด้วยสภาพแวดล้อมของสถานที่ตั้งก็ส่งผลให้เกิดการจราจรที่แออัดคับแคบ แถมลูกค้าจำนวนไม่น้อยก็ประสบปัญหาด้านที่จอดรถ

     “ตอนนั้นเราขายดีมากๆ แต่ก็ต้องมาคิดว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร เพราะถึงแม้จะอยากโต แต่ก็ไม่อยากย้ายไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า เลยเข้าไปขอคำแนะนำจากเจ้านายเก่าซึ่งอาศัยอยู่ที่อาคารอินฟินิท (SJ Infinite One) พอได้มาเห็นตัวสถานที่ก็รู้สึกว่าอาคารแห่งนี้น่าจะตอบโจทย์เราในหลายๆ ด้านได้เนื่องจากมีที่จอดรถเยอะ พื้นที่ในอาณาบริเวณกว้างขวาง ทั้งยังอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้าสถานีหมอชิต เลยตัดสินใจย้ายแหลมเกตจากอารีย์ 4 และพหลโยธิน 11 มาอยู่ที่อาคารอินฟินิท ชั้น 2 บนพื้นที่ขนาดความกว้าง 666 ตารางเมตร พร้อมด้วยโต๊ะประมาณ 330 ที่นั่ง เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559”

 

 

ร้านอาหารธีมโรงละครสุดเวอร์วัง: ใส่ใจทุกๆ รายละเอียดตั้งแต่ ‘การแต่งร้าน’ ไปจนถึง ‘เมนูอาหาร’

     จริตความเป็นคนใส่ใจทุกรายละเอียดของอพิชาตถูกบอกเล่าผ่านการตกแต่งร้านแหลมเกตตั้งแต่สมัยที่เจ้าตัวยังอยู่สุขุมวิท 47 ครั้นต้องโยกย้ายร้านมาอยู่ในสถานที่ที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม มีหรือจะยอมปล่อยผ่าน?  

     หากใครเคยมีโอกาสใช้บริการร้านอาหารแหลมเกตในอาคารอินฟินิทก็คงจะนึกภาพองค์ประกอบสุดเวอร์วังดังกล่าวกันออก เริ่มต้นตั้งแต่โทนร้านสีดำพร้อมผ้าม่านและพรมแดง การออกแบบเครื่องแต่งกายให้พนักงานหญิงพร้อมจับแต่งหน้าทาปาก นี่ยังไม่นับเมนูอาหารที่ถูกออกแบบให้คล้ายคลึงกับนิตยสารฟรีก๊อบปี้

 

 

     อพิชาตเล่าถึงที่มาว่า “ตั้งแต่สมัยเด็กๆ เราเป็นคนชอบประกวดแข่งขันรายการต่างๆ มาตลอด สิ่งที่ทำให้เราชนะการแข่งขันทั้งหลายคือความ ‘แตกต่าง’ เราเชื่อว่าเราจะทำอะไรทั้งทีมันต้องไม่เหมือนใคร ไอ้วิธีคิดแบบนี้นี่แหละที่เรานำมาใช้กับการตกแต่งร้านตามสไตล์แหลมเกต นำโทนสีดำเข้ามาใช้เป็นหลัก พร้อมกับผ้าม่านสีแดงที่จะเป็นตัวบอกรอบการให้บริการประหนึ่งว่าเป็นโรงละคร เราติดต่อพี่โจ้-ชยวัสส์ ปัญจภักดี จาก Rainforest the Wedding ให้มาช่วยแต่งร้าน โดยยกดอกไม้ขึ้นไปประดับลอยอยู่เหนือหัวเสมือนนั่งอยู่ในทุ่งดอกไม้ในแบบสวน Vertical Garden (โยงระย้าลงมาจากเพดาน)

     “เราลงดีเทลทุกอย่างตั้งแต่กระดาษรองจาน หรือภาชนะใส่อาหารแบบกระทะเหล็ก ที่ไม่ว่าจะโยนกี่ครั้งๆ ก็ไม่เคยแตก ที่สำคัญต้องถ่ายรูปออกมาแล้วดูดี เราจับพนักงานผู้หญิงทุกคนแต่งหน้าแต่งตัวใหม่ พร้อมฝึกบุคลิกภาพ ทักษะการพูดคุยกับลูกค้า และทักษะการแต่งหน้า กรูมมิ่งให้กับเขา สร้างห้องแต่งตัวให้พนักงานได้เปลี่ยนชุดและแต่งหน้า เพราะมองว่าการให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญ พนักงานทำงานแล้วจะต้องมีความสุข ส่วนเมนูก็เปลี่ยนมาเป็นรูปเล่มแบบนิตยสารฟรีก๊อบปี้ขนาด A3 ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งทันที เพราะไม่ชอบเมนูร้านอาหารทะเลเล่มหนาๆ หรือเป็นแผ่นกระดาษเคลือบพลาสติกที่ผ่านการใช้งานมานับครั้งไม่ถ้วนจนมีกลิ่นคาวติดอยู่”

 

Photo: Laemgate/Facebook

 

เพลงประกอบและวอยซ์โอเวอร์ที่มีผลต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหาร: เบื้องหลังสุดลึกลับที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

     เทคนิคพิเศษท่ีอพิชาตบอกกับเราว่าสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการทำร้านอาหารบุฟเฟต์ได้คือ การใช้เสียงเพลงประกอบแนวจิตวิทยาที่ถูกประพันธ์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมดในราคาหลักแสนบาท เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการรู้สึกหิวหรือเริ่มอิ่มได้ตามจังหวะที่ดัง

     “เราให้น้องที่รู้จักซึ่งทำงานเป็นนักประพันธ์ดนตรี (Music Director) ให้กับบริษัทวอร์นเนอร์มิวสิค ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มาดีไซน์และเรียบเรียงเพลงเชิงจิตวิทยา โดยคิดราคา 300,000 บาท เมื่อลูกค้าเดินเข้ามานั่งที่โต๊ะอาหาร จังหวะของเพลงประกอบที่เปิดคลอจะยิ่งปลุกอารมณ์ให้เขารู้สึกอยากกินอาหารกันมากขึ้น พออาหารชุดแรกเริ่มเสิร์ฟ ดนตรีก็จะเปลี่ยนจังหวะให้ยืดย้วยลง ก่อนจะค่อยๆ กลับมาใช้จังหวะที่กระตุ้นอารมณ์มากขึ้นในช่วงที่ใกล้จะหมดเวลา พอเป็นอย่างนี้มันก็มีผลในเรื่องค่าใช้จ่ายธุรกิจบุฟเฟต์ที่ทำให้เราประหยัดลงไปด้วย ทั้งหมดมันเป็นเรื่องจิตวิทยาล้วนๆ

     “ส่วนเสียงที่ใช้เป็นวอยซ์โอเวอร์บอกกฎกติกาการเข้าใช้บริการของทางร้านก็เป็นเสียงของพี่รัดเกล้า อามระดิษ ที่ได้มอบเป็นของขวัญวันเปิดร้านให้เรา โดยจังหวะการพูดและน้ำเสียงที่ใช้ทั้งหมดถูกออกแบบด้วยตัวของเขาเอง เพื่อให้ลูกค้าทุกท่านต้องตั้งใจฟังโดยที่ไม่รู้ตัว และไม่ใช่ในทำนองบังคับ”

ทุกๆ อย่างที่เราเล่ามามันเกิดจากความโง่ของเราที่ได้เรียนรู้มันไปเรื่อยๆ โดยไม่เคยกลับไปโง่เรื่องเดิมซ้ำเป็นครั้งที่สอง

Photo: Laemgate/Facebook

 

แฟชั่นเซตสุดอลัง: วิธีการทำร้านอาหารให้กลายเป็นที่จดจำและสะดุดตาบนโลกออนไลน์

     นอกเหนือจากคุณภาพความสดใหม่ของอาหารและการตกแต่งร้านที่ใส่ใจในทุกๆ รายละเอียดแล้ว สิ่งที่จะลืมพูดถึงไม่ได้คือ ‘แฟชั่นเซตสุดอลัง’ ในแบบฉบับของแหลมเกต ที่ไม่ว่าจะปล่อยออกมาคราใดก็กลายเป็นกระแสโด่งดังบนโลกออนไลน์จนเกิดยอดไลก์ ยอดแชร์ จำนวนมหาศาลอยู่เสมอ

     โดยจุดขายอยู่ที่การใช้ดาราและคนดังอย่าง แข-รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น, โอม-คณิน สแตนลีย์, กุ้ง-กุสุมา ชาวดอน, เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม, ต้าเหนิง-กัญญาวีร์ สองเมือง, ตี๋-บุญยเกียรติ วงค์ษาแจ่ม (ผู้รักษาประตูสโมสรสุพรรณบุรี เอฟซี) ไปจนถึงลีนา จังจรรจา มาเป็นแบบ และใช้รายการอาหารภายในร้านมาจัดวางองค์ประกอบได้อย่างลงตัว

 

Photo: Laemgate/Facebook

 

     อพิชาตบอกว่า “ก่อนหน้านี้คนจะแชร์คอนเทนต์จำพวกรูปเมนูอาหารจากร้านเป็นส่วนใหญ่ แต่เราพูดกับทีมงานว่าเบื่อ แหลมเกตเล่าแต่เรื่องเดิมๆ มา 30 ปี ถึงเวลาต้องเปลี่ยนเรื่องเล่าได้แล้ว ช่วงนั้นก็เลยลองเอารัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น ที่กำลังโด่งดังจากบทบาท ‘เอ็นจอย’ มาลองถ่ายแบบ โดยใช้อาหารภายในร้านจัดวางเป็นองค์ประกอบรอบๆ ตัวเขาอีกที ซึ่งก่อนที่เราจะทำก็มีแต่คนค้านกันทั้งนั้น ผลปรากฏว่าพอทำออกมาแล้วมันกลายเป็นสื่อที่คนบนโลกออนไลน์เอาไปแชร์กันต่อเป็นจำนวนมาก ยอดผู้ติดตามเพจแหลมเกตที่จากเดิมมีแค่ 1,000 คนก็เพิ่มขึ้นสูงสุดกว่า 200,000 คน

     “แต่เซตที่ปังและถูกพูดถึงมากที่สุดหนีไม่พ้นเซต ‘มองมุมกลับ กลับมุมมอง’ ที่ใช้ลีนา จังจรรจา มาเป็นแบบ เพราะมองว่าเขาไม่ได้บ้าอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ ในบางมุมเขาก็เป็นนักกฎหมายที่ช่วยเหลือผู้อื่นมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งยังรอบรู้เรื่องข่าวสารบ้านเมือง แต่ปรากฏว่าตอนถ่ายทำลีนาหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาไลฟ์ แล้วคนเข้ามาด่าในเพจแหลมเกตจนเกือบต้องปิดร้าน ตอนนั้นมือสั่นไปหมด ทุกอย่างมันผิดคาดมาก ต้องบอกกับตัวเองให้ใจเย็นๆ จนหลังจากนั้น 2 ชั่วโมง เมื่อเราปล่อยแฟชั่นเซตดังกล่าวออกไป กระแสด้านลบที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็ตีกลับกลายเป็นเสียงชื่นชมทันที เพราะใช้คอนเซปต์ที่ตั้งคำถามว่า ‘ทำไมคนถึงชอบมองคนแค่เปลือกนอก?’ มันกลายเป็นจุดขายที่ทุกวันนี้ก็ยังมีคนทักเข้ามาถามในเพจอยู่เสมอว่าเมื่อไรจะปล่อยแฟชั่นเซตใหม่ๆ ออกมาเสียที สิ่งที่เราทำคือการสร้างเสน่ห์และ awareness (การรับรู้) ให้กับคนบนโลกโซเชียล ที่แม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่เคยกินแหลมเกตมาก่อน แต่สุดท้ายก็จะหันกลับมาให้ความสนใจร้านเราอยู่ดี”

 

Photo: Laemgate/Facebook

Photo: Laemgate/Facebook

Photo: Laemgate/Facebook

Photo: Laemgate/Facebook

 

     ตลอดบทสนทนาระยะเวลากว่า 1 ชั่วโมงที่เราได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองกับอพิชาต เจ้าตัวยอมรับกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘ความโง่’ คือสิ่งที่พัดพาให้เขามายืนในจุดที่ประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้ เขาโง่ในทุกๆ เรื่องตั้งแต่การดื้อดึงทำร้านอาหารจนล้มเหลวแบบไม่เป็นท่า ถูกคนโกงสารพัดสารเพ แต่ความโง่ทั้งหลายทั้งปวงก็กลายเป็นบทเรียนราคาแพงที่ทำให้เขาไม่เคยกลับไปผิดพลาดในเรื่องเดิมๆ อีกเลย

     “โง่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโง่ซ้ำเรื่องเดิมๆ นะ แต่ทุกๆ อย่างที่เราเล่ามามันเกิดจากความโง่ของเราที่ได้เรียนรู้มันไปเรื่อยๆ โดยไม่เคยกลับไปโง่เรื่องเดิมซ้ำเป็นครั้งที่สอง” อพิชาตกล่าวทิ้งท้าย

     คงจริงอย่างที่เขาบอก หากไม่เคยยอมรับว่าตัวเองโง่หรือเคยทำผิดพลาด ที่สุดแล้วก็คงจะไม่ได้เรียนรู้ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นเสียทีจนพานทำผิดซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า… และนอกเหนือจากการใส่ใจในรายละเอียดและให้ความสำคัญกับคุณภาพของอาหารแล้ว การเรียนรู้จากความผิดพลาดนี่แหละที่เป็นหนึ่งในเคล็ดลับประสบความสำเร็จตามแบบฉบับแหลมเกต

 

     แหลมเกต อินฟินิท (Laemgate Infinite) ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 อาคาร SJ Infinite One Business Complex อยู่ใกล้กับรถไฟฟ้าสถานีหมอชิต เปิดให้บริการตั้งแต่วันพุธถึงวันจันทร์ (ปิดบริการเฉพาะวันอังคาร) ให้บริการวันละ 4 รอบ รอบละ 90 นาที

  • 11.30น.-13:00น.
  • 13:30น.-15:00น.
  • 17:30น.-19:00น.
  • 19:30น.- 21:00น.

 

Map:  

 

FYI
  • ถึงจะเวอร์วังกับการตกแต่งร้านและลงดีเทลองค์ประกอบอื่นๆ มากแค่ไหน แต่ป๋าและแม่ของอพิชาตก็กำชับกับเขาเสมอว่า ‘แหลมเกต’ จะต้องไม่ลืมใส่ใจและรักษาคุณภาพความสดอร่อยของอาหาร ดังนั้นในทุกๆ เดือน เจ้าตัวจะต้องทำอาหารไปให้ทั้งคู่ชิมเพื่อตรวจสอบมาตรฐาน
  • ลูกค้าของร้านสัดส่วนกว่า 60% เป็นชาวต่างชาติ ส่วนอีก 40% เป็นคนไทย
  • เมนูของหวานขึ้นชื่ออย่าง ‘โรตี’ มีที่มาจากการที่อพิชาตได้ชักชวนเจ้าของร้านโรตีในย่านอารีย์มาร่วมงานด้วย โดยจากเดิมที่พ่อค้าคนดังกล่าวอาจจะเคยตีแผ่นแป้งเฉลี่ยต่อวันจำนวน 40 แผ่นและมีรายได้ไม่คงที่ เขาก็สามารถการันตีรายได้ที่มั่นคงด้วยการตีแผ่นแป้งโรตีจำนวนกว่า 800 แผ่นให้กับแหลมเกต ทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีซึ่งทำให้โรตีรสชาติอร่อยเป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าเดิม
  • แต่เดิมร้านอาหารทะเล ‘แหลมเกตุ’ มีสระอุพ่วงท้าย แต่หลังจากที่จดทะเบียนการค้า พวกเขาจึงต้องเปลี่ยนเป็น ‘แหลมเกต อินฟินิท’ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising