หลังมีข่าวว่ากำลังซุ่มเฟ้นหาสตาร์ทอัพสายฟินเทคชั้นนำเพื่อลงทุนเมื่อปีก่อน ล่าสุด วันที่ 29 มิถุนายน 2560 บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดยโครงการอินเว้นท์ (InVent) ได้ประกาศร่วมลงทุนกับ ดิจิโอ (digio) ฟินเทคชั้นนำเป็นรายแรก ในการระดมทุนรอบ Series-A
ก่อนหน้านี้บริษัท อินทัช เคยลงทุนในสตาร์ทอัพไปแล้ว 10 ราย ซึ่งนับได้ว่าประสบความสำเร็จและยังโลดแล่นอยู่ในตลาดมาจนถึงวันนี้ เช่น Wongnai และ Ookbee รวมทั้ง ShopSpot ที่ exit หรือมีกิจการอื่น takeover ไปแล้ว น่าจับตามองว่าอินทัชมีวัตถุประสงค์อะไร จึงกระโดดลงมาเล่นในสนามฟินเทคที่กำลังบูมในไทย ณ เวลานี้
ในงานแถลงข่าว (29 มิถุนายน 2560) คิมห์ สิริทวีชัย รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริหารการลงทุน และหัวหน้าโครงการอินเว้นท์กล่าวว่าจากประสบการณ์ ปัจจัยที่ทำให้เขาสนใจพิจารณาลงทุนคือ มีแผนธุรกิจชัดเจน ผู้ก่อตั้งมีศักยภาพจะผลักดันธุรกิจให้เติบโตในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่เขามองเห็นในดิจิโอเช่นกัน
ดิจิโอไม่ใช่ผู้เล่นหน้าใหม่เสียทีเดียว แต่เป็นฟินเทครายแรกที่นำระบบรับชำระเงินผ่านมือถือ (mobile Point Of Sale: mPOS) เข้ามาให้บริการในไทยเมื่อปี 2556 ปัจจุบันเป็นผู้พัฒนาและให้บริการชำระเงิน (e-payment) กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) และให้บริการ mPOS ไปแล้วกว่าแสนเครื่อง ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ของไทย
ทวันทว์ บุณยวัฒน์ ผู้พัฒนาธุรกิจในโครงการอินเว้นท์ บริษัท อินทัช อธิบายว่าทางโครงการได้ศึกษาสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคมามาก ซึ่งอยู่ใน growth stage แล้ว ซึ่งดิจิโอก็ตอบโจทย์ทั้งผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น ทำให้คนเริ่มต้นธุรกิจเองได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสเติบโตนอกประเทศ
“ผมชอบโปรดักต์ของเขา เพราะว่ามันตอบสนองความต้องการของลูกค้าขั้นพื้นฐาน ทำให้คนเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายขึ้น และเขาไม่ได้ raise fund แต่ทำธุรกิจให้โตเอง จนปีที่แล้วจึงเริ่มพูดคุยตกลงกัน
“ผมคิดว่าธุรกิจจะรอดไม่รอด ขึ้นอยู่กับจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ เขาจะเห็นการ drive ยอดไปเรื่อยๆ ไม่ยอมให้ธุรกิจพังง่ายๆ”
การร่วมทุนครั้งนี้จึงน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกของการใช้บริการธุรกรรมทางการเงินออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอีก โดยดิจิโอจะนำเงินลงทุนไปขยายธุรกิจให้รองรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาใช้จ่ายเงินทางออนไลน์ เน้นความปลอดภัย (security solution) และผลักดัน e-payment ในภาคธุรกิจ ร่วมกับอินทัช ตามนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาล
คนจีนใช้เงินสดน้อยมาก แต่ละวันมีคนจีนเข้ามาเที่ยวในไทยหลายล้านคน ถ้าเราไม่มีเครื่องมือที่ให้ร้านค้ารับชำระเงินได้ เราก็จะพลาดโอกาส
รู้จัก ดิจิโอ ฟินเทคที่มีผู้ใช้บริการ 1 แสนร้านค้า
นพพร ด่านชัยนาม ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริการ DigiPay จะนำเทคโนโลยี mPOS เข้ามาแก้ปัญหาของร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่สามารถรับบัตรเครดิตได้ เครื่องรูดบัตรเครดิตยังมีต้นทุนสูง ค่าเช่าราคาเกินพันบาท บริการนี้จึงน่าจะตอบโจทย์ ช่วยให้คนเริ่มทำธุรกิจด้วยตัวเองง่ายขึ้น และยกระดับบริการให้รองรับการจ่ายเงินด้วย e-wallet ต่างๆ รองรับทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ เช่น Alipay และ WeChat Pay
ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการรับชำระเงินของดิจิโอมากกว่า 1 แสนร้านค้า มีลูกค้าภาคธนาคารและสถาบันการเงินราว 11 ราย ที่ผ่านมามียอดการรับชำระเงินเข้าผ่านระบบไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท
“เราอยากแก้ปัญหาธุรกิจร้านค้าขนาดเล็กเรื่องการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต และเราเป็นเจ้าแรกที่นำ mPOS เข้ามาในเอเชียเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้ไม่ได้มองเรื่องการลงทุนเลย เราโตเองได้มาตลอด 4 ปี ค่อยๆโตจาก 50-100% มาเป็น 300% เราเลยรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องการลงทุน” นพพรเล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจ ก่อนตัดสินใจมองหาและพูดคุยกับ Venture Capital เพื่อขยายสเกลธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และเติบโตในตลาดระดับภูมิภาคได้
“เรามี VC เข้ามาคุยกับเราตั้งแต่ปีแรกทั้งในไทยและต่างประเทศ จนปีที่แล้วมีเหตุต้องใช้เงินทุนค่อนข้างเยอะ และได้พบกับโครงการอินเว้นท์ ซึ่งคุยแล้วถูกเคมีกัน
“เราต้องการผลักดันการใช้เงินดิจิทัลแทนเงินสด และช่วยแก้ปัญหาการรับชำระเงินในไทยที่ซับซ้อน เราจะรวบรวมไว้เป็นโซลูชันเดียว สามารถรับการชำระเงินได้ทุกรูปแบบ และเชื่อมต่อกับระบบมาตรฐานทั่วโลก เช่น Visa, Master Card”
เมื่อถามว่าแนวโน้มการจ่ายเงินในอนาคตไทยจะเป็นอย่างไร นพพรกล่าวว่า “คนจีนใช้เงินสดน้อยมาก แต่ละวันมีคนจีนเข้ามาเที่ยวในไทยหลายล้านคน ถ้าเราไม่มีเครื่องมือที่ให้ร้านค้ารับชำระเงินได้ เราก็จะพลาดโอกาส ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวจีนนะครับ ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวชาติอื่นด้วย”
นอกจากนี้ ดิจิโอยังตั้งเป้าว่าจะเติบโตอีกไม่น้อยกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และมองว่ากลุ่มเป้าหมายของบริษัทไม่ใช่แค่ธนาคารหรือธุรกิจขนาดเล็ก แต่รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่อยากทำธุรกิจของตัวเอง และผลักดันบริษัทให้ก้าวไปสู่การแข่งขันระดับ Big Player
“เป้าหมายตอนนี้ของเราก็คือการเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แน่ๆ แล้วก็มอง IPO ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ” นพพรกล่าวสรุป