×

‘ขยายต่อเนื่อง 15 เท่า จาก 20 สู่ 300 แบรนด์’ เทคนิคคือสร้างความมั่นใจให้กับแบรนด์ต่างๆ และลูกค้า

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • SOS คือมัลติแบรนด์สโตร์ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จากความตั้งใจที่รู้สึกว่าการทำแบรนด์ขายสินค้าออนไลน์ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในการได้จับได้ลองสินค้าจริง จึงอยากจะมีหน้าร้านเป็นของตัวเองเพื่อให้ลูกค้าได้ลองสินค้า แต่ติดปัญหาเรื่องเงินทุนจึงต้องทำการร่วมหุ้นกับแบรนด์อื่นๆ เพื่อลดต้นทุนค่าเช่าสถานที่ โดยเจ้าตัวจะทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านในการบริหารจัดการ การขาย และการจัดสต็อ
  • คอนเซปต์หลักที่ใช้ในการกำหนดธีมของ SOS คือ Simple Luxury หรือ เรียบ หรู ดูดี ซึ่งสินค้าและแบรนด์ภายในร้านส่วนใหญ่ก็จะต้องมีสไตล์สอดคล้องไปกับโทนนี้ เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบการแต่งตัวสไตล์ดังกล่าวเป็นหลัก
  • SOS เจาะตลาดผู้บริโภคในเซกเมนต์ที่หลากหลาย เน้นจับกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อปานกลางค่อนไปทางสูง (เสื้อผ้าราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป) และ Sense by SOS ที่เน้นจับกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อปานกลาง (เสื้อผ้าราคาต่ำกว่า 1,000 บาทลงมา) นอกจากนี้ยังเน้นการขยายสาขาไปตามพื้นที่ที่มีกำลังซื้อสูงเป็นหลักทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ สยาม, ลาดพร้าว, ทองหล่อ และรังสิต

     หลังเริ่มต้นดำเนินธุรกิจมัลติแบรนด์สโตร์มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 พวกเขาใช้ระยะเวลาเพียง 2 ปีกว่าๆ ในการขยายสาขาของร้านได้มากถึง 7 สาขา (เฉลี่ย 2-3 สาขาต่อปี) จากเดิมที่เคยติดต่อแบรนด์ต่างๆ มาวางขายภายในร้านถึง 100 แบรนด์ แต่กลับได้แบรนด์มาร่วมงานจริงๆ เพียง 20 แบรนด์ ผ่านมาถึงวันนี้ประสบการณ์และความสามารถก็พัฒนาให้ SOS (Sense of Style) เติบโตขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากแบรนด์ต่างๆ มาร่วมธุรกิจถึง 300 แบรนด์!

     เราขออาสาพาคุณไปร่วมค้นหาคำตอบว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้หนุ่มสาวรุ่นใหม่จำนวน 4 คน (ภายหลังเพิ่มหุ้นส่วนเป็น 9 คน) ตัดสินใจลงหลักปักฐานร่วมกันสร้างธุรกิจมัลติแบรนด์สโตร์ตั้งแต่วันที่ประเทศไทยยังไม่คุ้นเคยกับธุรกิจประเภทนี้ดีสักเท่าไร

     และเพราะเหตุใด SOS จึงเติบโตได้เร็วมากถึงเพียงนี้ ผ่านคำบอกเล่าของ โบว์-วิภาดา วงศ์สุรไกร และ นำ-ทรัพย์สิทธิ์ ดำรงรัตน์ สองสมาชิกตัวแทนผู้ร่วมก่อตั้งยุคบุกเบิกของ SOS

 

 

ก้าวข้ามข้อจำกัดการลองสินค้าแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์ด้วยการเปิดร้านมัลติแบรนด์

     ในยุคที่การซื้อขายของออนไลน์กลายมาเป็นวิธีการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินและสินค้าที่ง่ายดาย สะดวกสบายเพียงปลายนิ้วแตะบนสมาร์โฟน แต่บรรดาร้านค้าออนไลน์ก็ยังมีช่องโหว่อีกมากมายที่ทำให้พวกเขาเสียเปรียบเหล่าร้านค้าออฟไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการให้บริการและการได้ลองสินค้าจริง

     โบว์-วิภาดา วงศ์สุรไกร เล่าให้เราฟังว่า เธอเองก็เป็นหนึ่งในเจ้าของธุรกิจแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์ในชื่อ ‘ไลลาแบรนด์’ มาก่อน และแม้ว่าจะมีการแจ้งข้อมูลรายละเอียดสินค้าหรือบริการสั่งตัดพิเศษตามไซส์ แต่สิ่งที่ทำให้เธอมักจะพบปัญหาในการทำธุรกิจออนไลน์อยู่บ่อยๆ คือการที่ลูกค้าไม่สามารถลองสินค้าตัวจริงได้ บ่อยครั้งจึงเกิดปัญหาสีไม่ตรงกับรูป ไซส์ไม่พอดีกับตัว การส่งสินค้ากลับคืนจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของเธอยู่ตลอดเวลา

     นำ-ทรัพย์สิทธิ์ ดำรงรัตน์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง SOS เล่าเสริมให้เราฟังว่า “ตอนนั้นเราก็เลยคิดกันว่าอยากจะมีหน้าร้านเป็นของตัวเองครับ แต่ก็ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่สยามฯ ได้ด้วยกำลังของแบรนด์ๆ เดียว เลยเกิดเป็นไอเดียว่าจะลองแชร์ค่าเช่าที่กับหลายๆ แบรนด์มาเช่าร้านที่สยามฯ กัน เพราะเมื่อก่อนลูกค้าแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์จะหาสถานที่ลองสินค้าได้ยาก ส่วนใหญ่จะมีแค่อีเวนต์ที่จัดขึ้น 2-3 เดือนต่อครั้งเท่านั้น เราก็เลยเห็นโอกาสที่จะทำให้กลุ่มลูกค้าเหล่านั้นได้มาจับและลองสินค้าของจริงผ่านการเปิดร้านมัลติแบรนด์ SOS ในสาขาแรกที่สยามสแควร์ ซอย 1”

 

 

‘ขยายต่อเนื่อง 15 เท่า จาก 20 สู่ 300 แบรนด์’ เทคนิคคือสร้างความมั่นใจให้กับแบรนด์ต่างๆ และลูกค้า

     ทรัพย์สิทธิ์ย้อนความหลังเล่าให้เราฟังว่า ในช่วงแรกที่คิดจะเปิดร้าน SOS ขึ้นมา ถือเป็นช่วงที่คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับ business model ของธุรกิจประเภทนี้สักเท่าไร (พ.ศ. 2558) ประกอบกับอายุที่น้อย (เริ่มทำ SOS เมื่ออายุ 23 ปี) พวกเขาจึงต้องพิสูจน์ตัวเองมากเป็นพิเศษ

     “ช่วงแรกที่เตรียมเปิดร้านใหม่ๆ เราต้องเข้าไปแนะนำตัวและเสนอสิ่งที่เราจะทำกับแบรนด์ต่างๆ จำนวนทั้งหมด 100 กว่าแบรนด์ ตั้งแต่ 10 โมงเช้าจนถึง 4 ทุ่มทุกวันตลอดระยะเวลา 1 เดือน ตอนนั้นไม่มีใครเคยทำธุรกิจแบบนี้มาก่อน ประกอบกับเห็นว่าเราเป็นเด็ก บางคนมาคุยกับเราแล้วเดินออกไปเลยก็มี จนสุดท้ายเราก็ได้แบรนด์มาลงที่ร้านสาขาแรกจำนวน 20 แบรนด์ ซึ่งก็เป็นจำนวนที่เป็นไปตามความต้องการของเรา”

     เขาเล่าให้เราฟังว่าหลังเปิดตัว SOS สาขาแรกได้ไม่นาน ลูกค้าทั้งฝั่งที่เดินเข้ามาช้อปปิ้งภายในร้านหรือลูกค้าฝั่งแบรนด์ต่างก็ให้ผลตอบรับที่ดีเกินคาด จนเริ่มมีแบรนด์ไว้วางใจติดต่ออยากมาอยู่กับ SOS เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งนำไปสู่การขยายสาขาและการเพิ่มจำนวนแบรนด์ที่เข้ามาวางขายภายในร้าน

     อนึ่ง รูปแบบในการดำเนินธุรกิจของ SOS จะมีความคล้ายคลึงกับห้างสรรพสินค้าทั่วๆ ไป (ในสเกลที่เล็กกว่า) โดยจะเก็บค่าเช่ากับแบรนด์ที่นำสินค้ามาลงภายในร้านทั้งในรูปแบบ fix rate  หรือรูปแบบ GP (หักเปอร์เซ็นต์ของราคาขายสินค้าแต่ละชิ้น) ตามระยะเวลาในสัญญา แต่สิ่งที่ทำให้ SOS ต่างจากห้างสรรพสินค้าเป็นเรื่องของการทำการตลาด โดยร้านจะพยายามโปรโมตด้วยรูปแนะนำสินค้าแบรนด์ต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ของ SOS ซึ่งบางแบรนด์ก็จะได้ประโยชน์จากการมียอดผู้ติดตามและคนรู้จักเพิ่มขึ้น

     ทรัพย์สิทธิ์กล่าวต่อว่า “เวลาที่เราโปรโม เราจะไม่ได้โปรโมเฉพาะร้าน SOS ของเรา แต่จะโปรโมให้กับแบรนด์ต่างๆ ควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ก็จะโฟกัสไปที่ลูกค้ากลุ่มที่เข้ามาช้อปในร้าน เราตั้งใจจะให้ SOS เป็นทั้งสวรรค์สำหรับคน้อปเสื้อผ้าและ one-stop service ในเวลาเดียวกัน เมื่อเข้ามาร้านเรา เขาต้องได้สินค้าตั้งแต่หัวจรดเท้า ไล่ตั้งแต่หมวก, แว่นตา, เครื่องประดับ, เสื้อ, กระโปรง, เดรส ไปจนถึงรองเท้า หรือพาวเวอร์แบงก์”

 

 

คอนเซปต์สินค้าต้อง Simple Luxury เพื่อกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน

     หนึ่งในจุดแข็งของร้าน SOS คือการยึดคอนเซปต์หลักการคุมโทนและการรวบรวมสินค้าในสไตล์ Simple Luxury หรือเรียบ หรู ดูดี มาวางขายภายในร้านเท่านั้น เพื่อเป็นการจับกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคที่ชัดเจน

     “เรามองว่าคอนเซปต์ของ SOS จะชัดเจนกว่าร้านอื่นๆ คือการเป็นร้านในสไตล์ Simple Luxury หรือเรียบ หรู ดูดี สินค้าภายในร้านเราจะไม่ได้หวานเวอร์หรือเป็นแนวแบ๊ว ด้วยความที่ร้านเรามีคอนเซปต์ชัดเจน เวลาที่โปรโมตัวร้านหรือสินค้าภายในร้านออกไป กลุ่มเป้าหมายก็จะได้เห็นว่า SOS ต้องมีสินค้าในสไตล์เขาแน่นอน คนที่เข้ามาที่ร้านก็จะไม่เกิดความลังเลว่าสินค้าชิ้นนี้ไม่ใช่สไตล์ของเขาหรือเด็กไป เพราะทุกชิ้นคือสินค้าที่มีสไตล์เดียวกัน” วิภาดาบอกกับเรา

     ขณะที่ทรัพย์สิทธิ์บอกว่า “SOS จะแตกต่างจากมัลติแบรนด์สโตร์ร้านอื่นๆ ตรงที่เขาจะเลือกแบรนด์และสินค้าเข้ามาวางขายที่ร้านเฉพาะสินค้าที่เป็น Simple Luxury เท่านั้น เพราะอยากโฟกัสสไตล์ของความเรียบ หรู ดูดี ให้ลูกค้าที่มีรสนิยมชื่นชอบสไตล์นี้ได้เข้ามาที่ร้านและเลือกสินค้าที่เขาชอบจริงๆ SOS จึงเน้นการโฟกัสไปที่สไตล์ใดสไตล์หนึ่งเป็นหลัก ไม่ได้เลือกสินค้าทุกสไตล์และทุกแนวมารวมอยู่ด้วยกันภายในร้านเดียว”

 

เล่นกับเซกเมนต์ที่หลากหลายผ่าน SOS และ Sense by SOS

     อย่างที่เราได้ทราบกันว่าสินค้าของ SOS จะเน้นโทนของความเรียบ หรู ดูดีเป็นหลัก โดยเสนอราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นว่ากลุ่มผู้บริโภคบางส่วนอาจจะยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเองและมีกำลังซื้อที่ไม่สูงนัก พวกเขาจึงตัดสินใจเปิดเซกเมนต์ย่อยจาก SOS ออกมาเป็น Sense by SOS เพื่อรองรับฐานกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อปานกลาง รวมถึงปรับบุคลิกของการตกแต่งร้านและแนวสินค้าให้ตรงกับกลุ่มผู้บริโภคที่อายุน้อยลงมา แต่ยังคงความเรียบและดูดีไว้

     ทรัพย์สิทธิ์กล่าวว่า “สินค้าส่วนใหญ่ในร้าน SOS จะมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป กลุ่มลูกค้าที่เข้าถึงได้ก็อาจจะเป็นวัยทำงานแล้ว เราเห็นว่าลูกค้าที่เป็นวัยเรียนก็มีดีมานด์อยู่ แต่อาจจะยังไม่มีความสามารถในการซื้อเสื้อผ้าตัวละสองถึงสามพันบาท ประกอบกับเราเห็นว่าแบรนด์เสื้อผ้าที่ราคาไม่เกิน 1,000 บาทก็มีจำนวนมาก เลยคิดจะจับลูกค้ากลุ่มนี้ไปด้วย จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจขยายไลน์ย่อยเปิดร้าน Sense by SOS”

     ซึ่งหากแบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย สำหรับ SOS จะมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้หญิง 90 เปอร์เซ็นต์ อีกอย่างละ 5 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ชายและยูนิเซ็กซ์ ในช่วงวัยตั้งแต่ 18-35 ปี เริ่มต้นตั้งแต่เด็กมหาวิทยาลัยไปจนถึงเฟิสต์จ็อบเบอร์ สินค้าส่วนใหญ่จะมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป พร้อมคอนเซปต์ Simple Luxury เรียบ หรู ดูดี
     ส่วน Sense by SOS จะเน้นกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่เด็กรองลงมา ราคาสินค้าภายในร้านก็จะถูกลงตามไปด้วย โดยส่วนใหญ่สินค้าจะมีราคาต่ำกว่า 1,000 บาท มีคอนเซปต์หลักคือ Easy Everyday ใส่สบายๆ ง่ายๆ แต่ก็ไม่ได้แบ๊วเกินไป อาจจะมีลายพิมพ์บ้าง แต่ก็ยังคงความเรียบหรูดูดีแบบ SOS อยู่

 

 

ขยายสาขาไปตามแลนด์มาร์ใหญ่ๆ ในกรุงเทพ และปริมณฑลโดยยึดพื้นที่ที่มีกำลังซื้อเป็นหลัก

     หลังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากการเปิด SOS สาขาแรกที่สยามสแควร์ ซอย 1 เมื่อปีพ.ศ. 2558 พวกเขาก็ใช้ระยะเวลาแค่ 3-5 เดือนถัดมาในการขยาย SOS สาขาที่ 2 ทันที โดยปัจจุบันพวกเขาสามารถขยายสาขาได้มากกว่า 7 สาขาภายในระยะเวลา 2 ปีเศษๆ แบ่งเป็น SOS สยามสแควร์ ซอย 2, สยามสแควร์ ซอย 6, ทองหล่อ, เซ็นทรัล ลาดพร้าว และ Sense by SOS สยามสแควร์ บริเวณ Hard Rock Cafe, ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และเซ็นทรัลลาดพร้าว (คาดว่าจะเปิดตัวในช่วงเดือนพฤษภาคม) โดยเฉลี่ยแล้วสามารถขยายสาขาได้มากกว่า 2-3 สาขาต่อปี

     และหากเราทำการจำแนกสาขาต่างๆ ตามสถานที่ก็จะพบว่า แค่เฉพาะพื้นที่ในโซนสยามสแควร์ SOS ก็มีการขยายสาขากระจายมากถึง 3 สาขา ขณะที่อีก 4 สาขาแบ่งเป็นโซนลาดพร้าว 2 แห่ง, ทองหล่อ และรังสิตอีกอย่างละ 1 แห่ง

     “ผมว่าในเมืองไทย สยามสแควร์คือแหล่งช้อปปิ้งที่สุดยอดที่สุดแล้วครับ” ทรัพย์สิทธิ์กล่าว “ไทยไม่ได้เหมือนกับญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่มีแหล่งช้อปปิ้งหลายๆ ย่านที่ได้รับความนิยมพอๆ กัน ถ้ามองเฉพาะในกรุงเทพฯ ยังไงอันดับแรกก็ต้องเป็นสยามสแควร์ เพราะเป็นสถานที่ที่รวมคนหลากหลายวัย ทั้งวัยรุ่น, มหาวิทยาลัย, วัยทำงาน มันเลยทำให้ที่นี่กลายเป็น prime location นอกจากนี้ก็มีดีมานด์ที่ใหญ่มากๆ การที่เราจะไปเปิดสาขาใหม่สักแห่ง ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ อยากจะเปิดที่ไหนก็เปิด เราต้องทำรีเสิร์ชกันเยอะมาก เซอร์เวย์ที่หลายๆ แห่ง เพราะว่าถ้าแบรนด์เขาไปกับเราแล้วเกิดขายสินค้าไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้”
   ทั้งนี้เขาได้มองถึงภาพรวมในอนาคตกับการขยายสาขาของ SOS ไว้ว่า “เราวางแผนว่าอยากจะขยายสาขาต่อไปเรื่อยๆ เท่าที่จะทำได้ ส่วนปัจจุบันที่เราสามารถขยายสาขาได้เยอะขนาดนี้ก็คงเป็นเพราะช่วงขาขึ้นของธุรกิจมัลติแบรนด์ แต่มันก็คงไม่ได้เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ทุกๆ ธุรกิจก็มีช่วงขึ้นและลงของตัวเอง ก็คงต้องเตรียมตัวรับมือกันต่อไปครับ”

FYI
  • นอกจากโบว์-วิภาดา วงศ์สุรไกร และนำ-ทรัพย์สิทธิ์ ดำรงรัตน์ อีก 2 สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง SOS ประกอบไปด้วย บุ๊ค-ณัชชารีย์ กิจวิริยะธนโชติ (สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป Olives) และสน-ยุกต์ ส่งไพศาล (ดาราหนุ่มชื่อดัง)
  • หากเคยแวะไปเยี่ยมเยียนร้าน SOS คุณจะสังเกตได้ว่าการตกแต่งภายในร้านจะใช้หินอ่อนเป็นวัสดุหลัก เนื่องจากหุ้นส่วนทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าตรงตามคอนเซปต์ของความเรียบหรูดูดี ขณะที่ร้าน Sense จะใช้ไม้ตกแต่งในโทนเรียบๆ
  • SOS ไม่ได้หมายความถึงรหัสและสัญญาณในการขอความช่วยเหลือ แต่ย่อมาจากคำว่า Sense of Style ที่โบว์ วิภาดารู้สึกว่าเป็นชื่อเรียกที่จำง่าย และทุกคนก็คงมีเซนส์ของสไตล์การแต่งตัวที่แตกต่างกัน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X