×

รู้จัก Health Tech โอกาสทางธุรกิจใหม่ เมื่อสังคมไทยกำลังแก่

31.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • การทำธุรกิจ Health Tech ต้องมีทีมเป็นแพทย์ ร่วมกับผู้มีทักษะความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี มีเงินทุนมากพอให้รอดไปถึงระยะเติบโต
  • 5 เทรนด์สำคัญที่ควรจับตา ได้แก่ สังคมผู้สูงวัย (Aging Society), การจัดการข้อมูลและโลจิสติกส์ด้านสาธารณสุข (Healthcare Logistics), ระบบสาธารณสุขยุคดิจิทัล (Digital Healthcare), กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (Healthcare-related Industries) และการดูแลสุขภาพ-ความงาม (Wellness and Preventive Measure)
  • สตาร์ทอัพ Chiiwii LIVE บริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ทางไกล เผยผู้ใช้บริการมักเป็นผู้หญิง และผู้ขอคำปรึกษาปัญหาเรื่องเพศ ช่วยคัดกรองอาการเบื้องต้น ให้คำแนะนำสำหรับอาการที่ไม่ซับซ้อนโดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลบ่อย

     เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 เครือข่ายนวัตกรรม Aging 2.0 Bangkok โดยทีมงานอาสาสมัคร ‘เอจจิ้ง 2.0 บางกอกแชปเตอร์’ จัดงานสัมมนา ‘The Golden ERA Health Startups in Thailand’s Aging Society’ หรือยุคทองของสตาร์ทอัพไทยในสังคมผู้สูงวัย เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมฟังสนใจธุรกิจสตาร์ทอัพด้านสุขภาพ (Health Tech) มากขึ้น ทั้งยังชี้ถึงโอกาส และผลักดันการทำธุรกิจต่อไป  

 

 

    สำหรับ key speaker ในงานครั้งนี้ ได้แก่ กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ร่วมบริหารกองทุน 500 TukTuks ในฐานะนักลงทุน, นายแพทย์คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ซีอีโอบริษัท Ruckdee Consultancy และ แพทย์หญิงพิรญาณ์ ธำรงธีระกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง ชีวีไลฟ์ (Chiiwii LIVE) แอปพลิเคชันช่องทางปรึกษาทางการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) แบบเรียลไทม์ผ่านสมาร์ตโฟน

 

โลกกำลังแก่ แต่ทุกคนยอมจ่ายเพื่อสุขภาพและการใช้ชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

     เรืองโรจน์ พูนผล กล่าวว่า สตาร์ทอัพที่มาขอเงินลงทุนจากกองทุนของตนน้อยที่สุดคือด้าน Health Tech ทั้งที่ตลาดนี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตค่อนข้างดี เนื่องจากจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น และหลายคนยอมเสียเงินเพื่อตนเองและครอบครัว

     Health Tech จึงจะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญที่สุดในอีก 2 ปีข้างหน้า เพราะจะเข้ามาช่วยเหลือและตอบโจทย์ความต้องการด้านการดูแลรักษาสุขภาพของประชากรโลกถึง 20 ล้านคนในปี 2568 ซึ่งไม่ได้ช่วยเพียงคนที่สุขภาพไม่แข็งแรง แต่ยังแบ่งเบาภาระของคนรอบข้างที่ต้องดูแลผู้ป่วยด้วย

     เรืองโรจน์ยกตัวอย่างโดยอธิบายจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ต้องดูแลพ่อแม่ เขาพบว่าเมื่อถึงเวลาจำเป็น คนเรายอมจ่ายเท่าไรก็ได้เพื่อช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ดังนั้นต้องมองว่ามันคือการแมตชิ่งคอนเทนต์กับผู้สูงวัย

     สำหรับสตาร์ทอัพ Health Tech ที่ประสบผลสำเร็จจะต้องมีส่วนผสมของ Health คือแพทย์ ที่จะต้องมีแพทย์ถาวรประจำทีม ไม่ใช่แค่รวมตัวเฉพาะกิจ และ Tech คือคนที่สามารถพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่หนุนธุรกิจ และต้องระดมทุนให้เพียงพอ ซึ่งอาจจะต้องมีทุนที่มากกว่าสตาร์ทอัพประเภทอื่นๆ

 

 

4 ปัจจัยเสี่ยงที่สตาร์ทอัพสาย Health Tech ควรรู้

     โอกาสที่น่าสนใจก็มาพร้อมกับความเสี่ยงใหม่ๆ เช่นกัน เรืองโรจน์ชี้ว่าสตาร์ทอัพที่สนใจกลุ่มธุรกิจนี้ควรจับตามองความเสี่ยงต่อไปนี้

     Growth Stage หรือระยะการเติบโต เป็นปัญหาที่สตาร์ทอัพทั้งโลกประสบเหมือนกัน แม้ว่าสตาร์ทอัพจะมีโมเดลธุรกิจและรายได้จำนวนหนึ่งแล้ว แต่เมื่อลงทุนไปสักพัก เงินทุนไม่มา จะเรียกสภาวะนี้ว่า ‘ซอมบี้’ ตนขอแนะนำให้มีพาร์ตเนอร์ เพื่อให้ข้ามพ้นจากการระดมทุนรอบ series-A (เน้นระดมทุนเพื่อออกผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาด กระจายสินค้าหรือบริการไปสู่ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น หรือขยายไปยังตลาดใหม่) ไปยัง series-B (เน้นระดมทุนเพื่อขยายการเติบโตของธุรกิจ) ให้ได้ ดังนั้นต้องมีเงินทุนสำรองให้เยอะ

     Outdated Regulations กฎหมายของประเทศไทยล้าสมัย มีข้อจำกัดทางกฎหมายมากมาย ซึ่งไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ

     Patient Risk ความเสี่ยงของผู้สูงวัย

     Adoption Risk ไม่มีคนทดลองสินค้าก่อนออกสู่ตลาด จึงไม่ทราบความต้องการหรือประสบการณ์ที่แท้จริงของผู้ใช้ ซึ่งอาจจะต้องให้ผู้สูงวัยเป็นคนทดลองสินค้า

 

สตาร์ทอัพไทย กับโอกาสที่จะเป็นผู้นำในตลาดของสังคมผู้สูงวัย

     “ตอนนี้ยังไม่มีประเทศใดครองด้าน Heath Tech ซึ่งไทยได้เปรียบในเรื่องนี้ เรามีชื่อด้านการบริการสุขภาพอยู่แล้ว อย่างประเทศสิงคโปร์เป็นเมืองหลวงของสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังไม่มีประเทศใดเป็นเมืองหลวงในด้านเฮลท์แคร์ ซึ่งเราสามารถทำได้ เรามีจุดแข็ง มีฐานลูกค้า ประเด็นคือตอนนี้มีไม่ถึง 20 บริษัทที่ลงทุนด้าน Health Tech จากประมาณ 1,600 บริษัทสตาร์ทอัพทั่วโลก เราจะหวังพึ่งราชการไม่ได้

     “ผมอยากให้มีด้าน doctor on demand อย่างตอนนี้ที่มีประเด็นเรื่องโรคซึมเศร้า ก็สามารถปรึกษาหมอได้เลย ไม่ต้องไปโรงพยาบาล Health Tech บางอันที่ไม่เวิร์กคือขี่ช้างจับตั๊กแตน ปัญหาบางอย่างมันเล็ก แต่ทำใหญ่ อีกอย่างคิดว่าลูกหลานมักเป็นผู้ซื้อสินค้าให้คนมีอายุในบ้านใส่ ซึ่งคนเหล่านี้ลูกหลานซื้ออะไรให้ก็ใส่ ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยเท่าไรกับการผลิตสินค้าเป็นฮาร์ดแวร์ เพราะมีคู่แข่งเยอะ อีกทั้งยังพัฒนายาก ลงทุนก็ยาก อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าไทยสามารถเป็น Medical Hub ได้” เรืองโรจน์ปิดท้าย

 

 

     ทางด้าน นายแพทย์คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ กล่าวว่า สัดส่วนตลาดด้านสาธารณสุขในประเทศไทยนั้นเติบโตเรื่อยๆ ทั้งที่คนสูงวัยในประเทศเพิ่มจำนวน ยังมีคนสูงวัยจากต่างแดนย้ายข้ามมาพำนักในประเทศ ตนมองว่าปัญหาของเฮลท์แคร์ขยายวงกว้างมาจากคนทำนโยบาย หมอ และคนไข้ ที่เห็นกันคือบางครั้งไม่ได้มีอาการที่น่าเป็นห่วงจนต้องมาโรงพยาบาล หรืออุปกรณ์ในโรงพยาบาลไม่เพียงพอกับความต้องการของคนไข้ โดยในอนาคต จำนวนคนไข้จะยิ่งเพิ่ม ประเทศไทยอาจต้องอยู่ในจุดที่ย่ำแย่ แต่ในทางกลับกันก็เป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนหรือสตาร์ทอัพที่ต้องการเข้ามาทำตลาดเฮลท์แคร์เช่นกัน”

     นายแพทย์คณวัฒน์กล่าวต่อว่า แรงผลักดันทางเศรษฐกิจ สังคม ประชากร และเทคโนโลยี ที่เป็นตัวกำหนดเทรนด์สำคัญในด้านสาธารณสุข ได้แก่ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ความต้องการผู้เชี่ยวชาญที่เพิ่มขึ้น สังคมสูงวัย การเติบโตของเมือง การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการใช้ดิจิทัล

สำหรับ 5 เทรนด์สำคัญที่มองได้ว่าเป็นโอกาส มีดังนี้

  1. Aging Society สังคมผู้สูงวัย ข้อมูลจาก Ruckdee Consultancy เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของคนสูงอายุมากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยในปี 2558 จากจำนวนประชากรทั้งหมด มี 15.8% เป็นคนอายุมากกว่า 60 ปี และคาดว่าจะกลายเป็น 37.1% ในปี 2593 เนื่องจากอัตราคนมีลูกน้อยลง และอายุคาดเฉลี่ยนานขึ้น หรือคนอายุยืนขึ้น
    2. Healthcare Logistics ควรมีคลังข้อมูลด้านสาธารณสุขระดับประเทศ (National Healthcare Data) สำหรับแสดงให้แพทย์ในทุกโรงพยาบาลรู้ข้อมูลที่จำเป็นนี้
  2. Digital Healthcare แม้มีโอกาสในอุตสาหกรรมด้านสาธารณสุขมากมาย แต่ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมนี้ยังขาดสิ่งเหล่านี้คือ นโยบายที่เหมาะสม กฎหมายด้านการแพทย์ ข้อมูลที่มีมาตรฐาน การแชร์ข้อมูลทางการแพทย์ และปัจจัยอื่นๆ ที่เกื้อหนุนบริษัทให้ก้าวไปข้างหน้า  
  3. Healthcare-related Industries อุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข เช่น การท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ข้อมูลจากบริษัท Ruckdee Consultancy ปี 2555 ระบุว่า มีผู้ป่วยชาวต่างชาติจำนวน 2.53 ล้านคน มารักษาตัวในประเทศไทย สร้างรายได้ประมาณ 4.9 พันล้านเหรีญสหรัฐ โดยคาดว่าโรงพยาบาลเอกชนจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนี้เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนหลักในอนาคตดด้วย นอกจากนั้นยังมีด้านอาหารและเกษตรกรรมที่ต้องการด้านการจัดการดูแลอาหารการกินให้แก่ผู้ป่วย หรือด้านที่พักอาศัยเฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้น
  4. Wellness and Preventive Measure คนที่ต้องการดูดี สุขภาพแข็งแรงไปเรื่อยๆ จึงเกิดธุรกิจอื่นๆ เช่น สปา ความสวยความงาม และการชะลอวัย (anti-aging) เป็นต้น

 

 

     ปิดท้ายด้วยแพทย์หญิงพิรญาณ์ ธำรงธีระกุล เล่าประสบการณ์การทำธุรกิจสตาร์ทอัพ Health Tech ชีวีไลฟ์ บริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ระยะไกล เน้นผู้ใช้บริการที่เป็นผู้หญิงที่มักจะมีโรคบางชนิดที่ไม่กล้าปรึกษาหมอโดยตรง ประกอบกับสังเกตว่าคนไข้ส่วนใหญ่มักค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคก่อน จึงมองเห็นความต้องการใหม่ที่เกิดขึ้น

     แรกเริ่ม ชีวีไลฟ์ให้บริการในรูปแบบเว็บไซต์ chiiwii.com ให้คนเข้าไปถาม-ตอบโดยไม่คิดเงิน วางจุดยืนเป็นผู้ประกอบการทางสังคม (Social Enterprise) มีแอดมินคอยคัดกรองบางโรคที่ร้ายแรงเพื่อแนะนำให้ไปพบแพทย์ กรองคำถามว่าอยู่ในหมวดใด และยังเปิดเป็นคอมมูนิตี้ให้ผู้ที่มีอาการป่วยคล้ายๆ กันได้แลกเปลี่ยน มีบทความจากแพทย์ให้คำแนะนำด้านสุขภาพ พบว่าคำถามด้านเพศเยอะสุด เพราะคนไม่กล้าไปหาหมอ

 

 

     “หลังจากทำเว็บไซต์ พบว่าการให้คำปรึกษาจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ หากได้มีการพูดคุยซักถามเพิ่มเติมแบบ two-way communication เป็นที่มาของแอปพลิเคชันชีวีไลฟ์ ที่ทำให้คนไข้สามารถทำการนัดหมายเพื่อปรึกษากับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้อย่างสะดวกสบายบนสมาร์ตโฟนแบบเรียลไทม์ โดยจะเน้นให้คำปรึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพสำหรับผู้หญิง ทั้งในด้านความสวยความงาม การดูแลผิวพรรณ โรคผิวหนัง ปัญหาเรื่องเพศ ที่ผู้หญิงมักจะอาย ไม่กล้าถาม หรือในด้านการวางแผนครอบครัว รวมไปถึงการเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์ การดูแลตัวเองระหว่างการตั้งครรภ์ และการเลี้ยงลูกสำหรับคุณแม่มือใหม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เหมาะกับการปรึกษาออนไลน์เบื้องต้น

     “สำหรับประเด็นเรื่องการฟ้องหมอ Telemedicine มันโดนเรื่องกฎหมายโดยตรง ขอเงินคืนได้หรือไม่ หรือการฟันธงโรค แต่ต่อให้ไปโรงพยาบาลเองก็ใช่ว่าจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม แอปฯ นี้ไม่ได้ตอบโจทย์การไปโรงพยาบาล ไม่ได้มาแทนการไปโรงพยาบาล แต่อาจจะตอบสนองด้านการสกรีนคนไข้ที่อาการที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ช่วยคัดกรองผู้ป่วยในเบื้องต้นได้”

     สำหรับในอนาคต ชีวีไลฟ์ตั้งให้เป็น portal ของการปรึกษาแพทย์ที่เป็นหมอเฉพาะทางจริงๆ โดยตรง ที่ไม่ใช่การโพสต์ในเฟซบุ๊ก หรือพันทิป เพื่อให้ปัญหาของผลข้างเคียงหรือความยุ่งยากที่เกิดขึ้นจากการได้รับข้อมูลผิดๆ ลดลง

     นอกจากนี้ แพทย์หญิงพิรญาณ์ได้แสดงความเห็นต่อสถานการณ์สตาร์ทอัพ Health Tech ในเมืองไทย ณ ขณะนี้ว่า “สตาร์ทอัพ Health Tech มันยังไม่ค่อยมีในไทย และที่บอกมาทั้งหมดยังตัวเล็กมาก ซึ่งยังพัฒนาได้อีกเยอะ แต่ก็ติดในแง่ของกฎหมายที่ทำให้เราโตช้ากว่าประเทศอื่น ทุกคนอยากทำ อยากช่วย ทุกคนเห็นปัญหา และเหมือนมาด้วยใจจริง อยากแก้สังคมจริงๆ เพราะ Health Tech ได้เงินไม่เยอะหรอก”

     นี่เป็นเพียงตัวอย่างของกรณีศึกษาปัญหาและความเป็นไปได้ของสตาร์ทอัพที่สนใจและพยายามผลักดันธุรกิจ Health Tech เพื่อหยิบยื่นทางเลือกใหม่ๆ ของการรักษาโรค ดูแลสุขภาพ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ อุตสาหกรรมนี้ยังเต็มไปด้วย pain point อีกมากมายที่รอให้คนค้นพบทางแก้ไขและต่อยอดเป็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งหวังว่าเราจะไม่นิ่งหรือมองข้ามกันอีกต่อไป

 

อ้างอิง:

FYI

สถิติข้อมูลประชากรผู้สูงอายุของโลกกับประเทศไทย จากรายงาน World Population Prospect: The 2017 Revision

  • ปี 2560 จำนวนผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี มีประมาณ 962 ล้านคน (คิดเป็น 13% ของจำนวนประชากรทั่วโลก 7.6 พันล้านคน) และจะเพิ่มเป็น 2.1 พันล้านคนในปี 2593
  • สำหรับประเทศไทย ในปี 2560 มีจำนวนผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี คือ 11.73 ล้านคน และในปี 2593 จะมีประมาณ 21 ล้านคน
  • ปี 2593 จำนวนประชากรทั้งโลกจะมี 9.8 พันล้านคน ส่วนประเทศไทยมี 65 ล้านคน
  • นอกจากนั้น ช่วงปี 2588-2593 คนไทยจะมีอายุคาดเฉลี่ย 81.2 ปี โดยช่วงปีปัจจุบันนี้ 2558-2563 คืออายุ 75.6 ปี
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X