×

กูเกิลสมควรโดนอียูสั่งปรับ 2.4 พันล้านยูโรจริงหรือ?

28.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 mins read
  • มาเกรธ เวสเทเกอร์ หัวหน้ากรรมาธิการการแข่งขันการค้าของอียูชี้แจงว่าบริการค้นหาและเทียบราคาสินค้าของ Google Shopping นั้นปิดกั้นโอกาสของบริษัทคู่แข่งและผูกขาดตลาด
  • กูเกิลได้ครองส่วนแบ่งตลาดเสิร์ชเอนจินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจในยุโรปทั้ง 31 ประเทศมากถึงร้อยละ 90 มาตั้งแต่ปี 2008

     กลายเป็นคำสั่งที่สะเทือนยักษ์ใหญ่แห่งวงการไอทีไปแล้ว เมื่อคณะกรรมาธิการยุโรปสั่งปรับกูเกิลเป็นจำนวนเงิน 2,424,495,000 ยูโร (ประมาณ 9.2 หมื่นล้านบาท) จากการจัดอันดับการค้นหาข้อมูลที่ไม่เป็นธรรมของ ‘Google Shopping’ บริการค้นหาสินค้าซึ่งละเมิดกฎหมายการป้องกันการผูกขาดในยุโรป (Antitrust Law) ขณะที่บริษัทกูเกิลเตรียมยื่นอุทธรณ์ ตามการรายงานเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560

     การตัดสินใจครั้งนี้ได้จุดประเด็นการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า เสิร์ชเอ็นจินยักษ์ใหญ่สมควรได้รับโทษจริง หรือไม่ควรยอมจำนนต่อข้อกล่าวหานี้กันแน่ เพราะหากมองในแง่ตลาด กูเกิลถือเป็นผู้ผูกขาด (Monopoly) ธุรกิจเสิร์ชเอ็นจินในหลายภูมิภาคทั่วโลก

 

     Photo: Uladzik Kryhin/ShutterStock   

     

     มาเกรธ เวสเทเกอร์ (Margrethe Vestager) หัวหน้ากรรมาธิการการแข่งขันการค้าของอียูได้ชี้แจงในแถลงการณ์ว่า บริการเปรียบเทียบราคาของกูเกิลไม่ใช่แค่การดึงดูดความสนใจผู้บริโภคด้วยคุณภาพของสินค้าที่ดีกว่าคู่แข่ง ตรงกันข้าม บริษัทกลับชูบริการเสิร์ชของตัวเองให้โดดเด่นกว่าบริการอื่น และปิดกั้นโอกาสของบริษัทคู่แข่ง นอกจากนี้ยังพบว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาดเสิร์ชเอนจินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจยุโรปทั้ง 31 ประเทศเกือบทั้งหมดตั้งแต่ปี 2008 โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90

     กองบรรณาธิการเว็บไซต์ The Guardian แสดงความคิดเห็นว่า อย่างน้อยยังมีองค์กรที่พร้อมจะลุกขึ้นมาต่อต้านบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่และกดดันให้ดำเนินการภายใต้กฎหมายเสียที และคำตัดสินของคณะกรรมาธิการยุโรปที่ได้สืบสวนเรื่องนี้มาตลอด 7 ปีก็น่าจะมีน้ำหนักมากกว่าคำสั่งเรียกร้องของประเทศใดประเทศหนึ่ง และยังเสนอให้กูเกิลทบทวนทิศทางการทำงานใหม่

 

     Photo: Been Marty/ShutterStock   

     Photo: Randy /ShutterStock   

     

     นอกจากนี้ยังมีหลายบริษัทและกลุ่มธุรกิจที่เคยพยายามฟ้องร้องกูเกิลมาแล้ว ได้ร่วมกันลงนามเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาการผูกขาดตลาดของ กูเกิล อาทิ Oracle, Getty Images, Yelp และ News Corporation ตามการรายงานจากเว็บไซต์ Recode

     ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการยุโรปเคยตัดสินสั่งปรับบริษัทไอทีชั้นนำของโลกมาแล้ว เริ่มจาก Microsoft ที่ถูกปรับเงิน 1,200 ล้านยูโร หรือกว่า 4 หมื่นล้านบาท จากการกีดกันและผูกขาดทางการค้าเช่นกัน ปี 2016 Apple เคยถูกสั่งให้จ่ายภาษีย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยให้กับรัฐบาลไอร์แลนด์ เพื่อชดเชยการได้สิทธิพิเศษทางภาษีจากรัฐบาลไอร์แลนด์จำนวนกว่า 1,300 ล้านยูโร หรือกว่า 5 หมื่นล้านบาท

 

     Photo: EMMANUEL DUNAND/AFP

     

     เคนต์ วอล์กเกอร์ (Kent Walker) ทนายที่ปรึกษาของบริษัทกูเกิลในรัฐแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า บริษัทไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของอียู และจะหาทางยื่นอุทธรณ์ต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

     นี่อาจเป็นสัญญาณว่านักกฎหมายกำลังจับตามองและเตรียมจัดการกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่ครองตลาดโลกจนไม่เปิดทางให้กับผู้เล่นรายอื่น อีกทั้งยังเอาเปรียบธุรกิจระดับโลคัลในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการเองก็ต้องหาทางกำหนดกรอบข้อกฎหมายอย่างชัดเจนระหว่างการให้บริการเสิร์ชเอ็นจินที่มอบทางเลือกที่ดีกว่าให้กับผู้ใช้งาน กับการไม่ปิดกั้นโอกาสธุรกิจคู่แข่ง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising