สื่อสิ่งพิมพ์จะอยู่หรือไป… คำถามที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันทั้งวงการสื่อทั่วโลก ในขณะที่สื่อออนไลน์น้องใหม่กำลังแย่งชิงเวลาจากผู้บริโภค รวมถึงเม็ดเงินโฆษณากันแบบวินาทีต่อวินาที
ไม่ว่าจะมองทางไหน อนาคตของธุรกิจสื่อก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และจะถูกท้าทายอย่างต่อเนื่องด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
บนเวทีเสวนา The Future of Print: The New Culture and The New Business เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มาร์คัส แฟร์ส (Marcus Fairs) ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหาร Dezeen นิตยสารออนไลน์ด้านงานออกแบบและสถาปัตยกรรมที่โด่งดังไปทั่วโลกกล่าวว่า ในอนาคตเราอาจไม่จำเป็นต้องอ่านคอนเทนต์บนหน้าจออีกแล้ว เพราะเนื้อหาจะปรากฏขึ้นมาต่อหน้าเราด้วยเทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริง
มาร์คัส แฟร์ส ยังเป็นที่รู้จักในฐานะคนทำสื่อมืออาชีพ เขาเคยปลุกปั้นนิตยสาร Icon (2003) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนิตยสารที่ทรงอิทธิพลต่อวงการออกแบบมากที่สุดในโลก และทำงานบรรณาธิการจนถึงปี 2006 เขาตัดสินใจทำสื่อออนไลน์เต็มตัวด้วยการก่อตั้งเว็บไซต์ Dezeen ในปลายปี 2006 โดยนำเสนอข่าวสาร ผลงาน และเรื่องราวความสำเร็จของนักออกแบบและสถาปนิกทั่วโลก
หลังงานเสวนา เราได้พูดคุยกับเขาตั้งแต่เบื้องหลังความสำเร็จของ Dezeen ซึ่งมีผู้เข้าเว็บไซต์จากทั่วโลกหลายล้านคนในทุกๆ เดือน ความท้าทายของการทำสื่อออนไลน์ให้สร้างรายได้จากการผลิตคอนเทนต์ที่ให้คนอ่านฟรี ไปจนถึงบทบาทของบรรณาธิการและวิชาชีพสื่อมวลชนที่กำลังถูกหุ่นยนต์สั่นคลอน
เราจำเป็นต้องรู้ทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ และตัดสินใจเลือกทำสักอย่าง เพราะว่าเราไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง ที่สำคัญคือต้องตัดสินใจอย่างฉลาด คุณต้องรู้ว่าแพลตฟอร์มไหนคือแพลตฟอร์มที่ใช่สำหรับแบรนด์ของตัวเอง เวลาทดลองอะไรก็ตาม คุณต้องคอยเช็กความคืบหน้า กล้ายอมรับว่าตัวเองมาผิดทาง และถอยหลังออกมา
ตอนนี้คุณทำอะไรบ้างในฐานะบรรณาธิการบริหารของ Dezeen
สิบกว่าปีที่แล้วผมเปิดบริษัทของตัวเองกับภรรยา (ปี 2006) เริ่มต้นจากทำเองทุกอย่าง แต่ตอนนี้ผมไม่ค่อยได้เขียนแล้ว ส่วนใหญ่จะดูภาพรวมในเรื่องของสไตล์และความคิดสร้างสรรค์ของเนื้อหา หน้าที่หลักของผมในตอนนี้คือบริหารธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป ขยายฐานของผู้อ่านให้กว้างขึ้น และมั่นใจได้ว่าเราจะตามเทคโนโลยีได้ทัน เพราะว่ามันเปลี่ยนไปเร็วมาก
คุณและทีมงานมีวิธีปรับตัวอย่างไรในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว
เราพารานอยด์กันสุดๆ (หัวเราะ) เราคอยจับตามองตลอดว่าตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง คนจะทำอะไรกันต่อ และเริ่มทดลองทำสิ่งต่างๆ เช่น ปีที่ผ่านมาผมได้ยินเกี่ยวกับสแนปแชท (Snapchat – แอปพลิเคชันยอดฮิตในกลุ่มวัยรุ่นอเมริกัน) จากนั้น เราก็พยายามศึกษาวิธีใช้งานว่าจะใช้แพลตฟอร์มนี้อย่างเชี่ยวชาญได้อย่างไร แต่พอผ่านไป 6 เดือน เราพบว่านี่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเรา มันไม่มีอะไรคืบหน้า แต่เราก็ต้องลองทำสิ่งเหล่านี้อยู่ดีนะ ตอนนี้ช่องทางหลักที่เราโฟกัสคือ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม พินเทอเรสต์ ส่วนไลน์ยังไม่บูมในอเมริกา ปีที่แล้ววิดีโอบนเฟซบุ๊กกลายเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เกือบ 85 เปอร์เซ็นต์ของคนดูวิดีโอบนเฟซบุ๊กรับชมโดยไม่เปิดเสียง เราเลยกลับมาทำวิดีโอกันใหม่ทั้งหมดโดยเพิ่มแคปชันเข้าไป ซึ่งถือเป็นงานที่เยอะพอสมควร แต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี เพราะกลุ่มเป้าหมายของเราใหญ่ขึ้นเยอะมาก ดังนั้นเราจำเป็นต้องรู้ทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ และตัดสินใจเลือกทำสักอย่าง เพราะว่าเราไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง ที่สำคัญคือต้องตัดสินใจอย่างฉลาด คุณต้องรู้ว่าแพลตฟอร์มไหนคือแพลตฟอร์มที่ใช่สำหรับแบรนด์ของตัวเอง เวลาทดลองอะไรก็ตาม คุณต้องคอยเช็กความคืบหน้า กล้ายอมรับว่าตัวเองมาผิดทาง และถอยหลังออกมา
แล้วเริ่มทำสิ่งใหม่?
เริ่มทำอย่างอื่นแทน เราเคยทดลองทำหนังสือ 2 เล่มแบบ prints on demand (สิ่งพิมพ์ที่ผลิตงานจำนวนน้อยได้ตามที่ต้องการ) เพราะเราเชื่อว่าคนจับต้องหรือสัมผัสแบรนด์ของเราไม่ได้ และคิดว่าถ้าคนอยากจะซื้อนิตยสารหรือสิ่งพิมพ์ก็คงอยากจะเห็นหรือหยิบขึ้นมาอ่านในร้านกาแฟ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ใช่แนวทางของเรา การได้ทำหนังสือสวยๆ เป็นงานที่สนุกมาก แต่เราสนใจอย่างอื่นมากกว่า ผมไม่คิดว่า prints on demand จะเป็นอนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์เสียทีเดียว เพราะมันเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม
คุณคิดอย่างไรกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่สื่อออนไลน์ไล่บี้สื่อสิ่งพิมพ์ และทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหานี้คืออะไร
ผมไม่รู้ว่าสถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นอย่างไร ผมไม่ได้อยู่ในวงการนี้ เพราะผมทำเฉพาะออนไลน์ ข้อสรุปจากที่ผมพูดคุยกับสปีกเกอร์คนอื่นๆ ในงานเสวนาก็คือ สื่อสิ่งพิมพ์ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ ขณะที่อินเทอร์เน็ตมีพัฒนาการมาตลอด 10-15 ปีที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียเปลี่ยน วิดีโอเปลี่ยน เนื้อหาเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน แต่สิ่งพิมพ์ก็ยังไม่เปลี่ยน แค่ดิ้นรนมากขึ้น แต่ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่ามีสิ่งพิมพ์รูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น นิตยสาร Cereal และ Kinfolk พวกเขารู้ว่าจะใช้โซเชียลมีเดียอย่างไรถึงจะพาสินค้าของตัวเองเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้ สำหรับ Dezeen เราโฟกัสแค่สื่อออนไลน์เท่านั้น เราเคยคิดจะทำสิ่งพิมพ์ แต่ก็พบว่ามันไม่ใช่เป้าหมายของเรา เมื่อไรก็ตามที่คุณไม่ได้ติดตามว่ามีอะไรเกิดขึ้นบนโลกอินเทอร์เน็ต คุณก็จะพลาดและตามคนอื่นไม่ทัน ดังนั้นผมคิดว่าเราจะไม่กลับไปทำสิ่งพิมพ์อีกสักพัก แต่เรายังสนับสนุนสิ่งพิมพ์และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนิตยสารอยู่เหมือนเดิม
เราหมกมุ่นมากๆ ว่างานจะต้องออกมาดี หมกมุ่นกับคุณภาพของสื่อ เพราะฉะนั้นคนอ่านจึงไว้ใจเรา และคอมมูนิตี้ของนักออกแบบก็เชื่อใจเราด้วย พวกเขาอยากให้เราเขียนถึงเรื่องราวของพวกเขา แทนที่จะแค่ส่งจดหมายข่าวไปให้นิตยสารเหมือนกันทุกหัว เพราะพวกเขาเชื่อว่าเราจะทำงานออกมาอย่างดีที่สุด
แล้วการทำเฟซบุ๊กไลฟ์ล่ะ
เราทำไลฟ์สตรีมมิงกันเยอะและได้รับความนิยมมาก ซึ่งมันก็ดีในแง่ธุรกิจด้วย เพราะใครๆ ก็สามารถเฟซบุ๊กไลฟ์ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีฐานคนดูขนาดใหญ่เหมือนเรา ตอนนี้มีหลายคนเรียกร้องให้เราถ่ายทอดสดงานประชุมฟอรัมทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ผมคิดว่ามันเป็นธุรกิจที่กำลังโตในตอนนี้
โมเดลธุรกิจของ Dezeen เป็นอย่างไร คุณหารายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้คนอ่านคอนเทนต์ฟรีได้อย่างไร หรือมีช่องทางอื่นไหม
รายได้หลักของสื่อออนไลน์มาจากโฆษณาอยู่แล้ว ช่วงแรกที่ทำ Dezeen เราไม่ได้มั่นใจมากขนาดนั้นว่ารายได้จากโฆษณาจะโต เราเลยพยายามหาวิธีสร้างรายได้และกำไรหลายรูปแบบ อย่างแรกคือรับงานจากข้างนอก เช่น ลูกค้าที่ต้องการนักออกแบบ หรือเซลล์ ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นเราเปิดร้านขายนาฬิกาบนเว็บไซต์ www.dezeenwatchstore.com ซึ่งมันเป็นงานที่ยากมาก อีคอมเมิร์ซเป็นโมเดลธุรกิจที่อยู่คนละโลกกับเราเลย เรามีลูกค้าทั่วโลก แต่ปัญหาก็คือเราต้องซื้อนาฬิกามาจากที่อื่น และมาร์จินก็สูงมาก เราเคยคิดจะเปิดร้าน แต่พบว่ามันไม่ได้ทำกำไรมากเท่าไร นอกจากนี้เรายังจำหน่ายหนังสือบนเว็บไซต์และทำโปรดักชันสำหรับผลิตวิดีโอ เราทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ เช่น รถยนต์มินิคูเปอร์ (MINI) และผลิตวิดีโอคอนเทนต์ให้กับแบรนด์เหล่านี้ ลูกค้าจะจ่ายเงินให้เราเผยแพร่บนเว็บไซต์และช่องทางของเรา ทุกอย่างที่เราทำเป็นออนไลน์ทั้งหมด จริงๆ แล้วเราไม่คิดว่าโฆษณาออนไลน์จะทำกำไรได้ในแง่ธุรกิจ แต่มันกลับโตเร็วมาก และไม่ต้องลงแรงเยอะ
เว็บไซต์ของคุณมีคนเข้ามากถึง 2.5-2.7 ล้านคนต่อเดือน เบื้องหลังของความสำเร็จนี้คืออะไร
ผมคิดว่าเหตุผลหลักที่ทำให้เราประสบความสำเร็จคือโชคครับ ผมโชคดีที่ถูกไล่ออกจากงานของตัวเองเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่คนเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตพอดี ผมเป็นนักข่าวอาชีพคนแรกๆ ที่เริ่มมาทำสื่อบนอินเทอร์เน็ต ผมเลยได้เปรียบกว่าคนอื่นซึ่งมาทีหลัง มันเป็นเรื่องของโชคเลย (หัวเราะ) นอกจากโชคแล้ว คงเพราะว่าเราหมกมุ่นมากๆ ว่างานจะต้องออกมาดี หมกมุ่นกับคุณภาพของสื่อ เราพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดและตรวจสอบทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าบทความของเราสะกดคำและใช้เครื่องหมายถูกต้อง มันคือความหมกมุ่นในคุณภาพ ซึ่งเป็นงานที่เหนื่อยและหนักมากๆ เพราะฉะนั้นคนอ่านจึงไว้ใจเรา และคอมมูนิตี้ของนักออกแบบก็เชื่อใจเราด้วย พวกเขาอยากให้เราเขียนถึงเรื่องราวของพวกเขา แทนที่จะแค่ส่งจดหมายข่าวไปให้นิตยสารเหมือนกันทุกหัว เพราะพวกเขาเชื่อว่าเราจะทำงานออกมาอย่างดีที่สุด
กลุ่มเป้าหมายหลักของ Dezeen คือใคร
กลุ่มเป้าหมายหลักของเราคือใครก็ตามที่สนใจเกี่ยวกับการออกแบบ ครึ่งหนึ่งเป็นคนในอุตสาหกรรมการออกแบบและสถาปัตยกรรม ธุรกิจค้าปลีก ผู้ผลิต บริษัทต่างๆ หรือคนทำงานด้านสื่อมวลชน ส่วนอีกครึ่งก็คือคนทั่วไปที่สนใจงานออกแบบ ชอบอ่านบทความ หรือติดตามข่าวสารเกี่ยวกับวัฒนธรรมและงานออกแบบ กลุ่มเป้าหมายของเรายังครอบคลุมในระดับโลกด้วย ดังนั้นเราจึงจับตามองว่ามีกลุ่มผู้อ่านใหม่ๆ เกิดขึ้นในประเทศไหนบ้าง เช่น อินเดียกำลังเป็นตลาดที่น่าสนใจ และมีคนเข้าเว็บไซต์เราเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าเพราะอะไร แต่เราต้องหาคำตอบให้ได้ ถ้าคุณมองสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก ตลาดหุ้นในจีนเติบโตเร็วมาก และอินเดียอาจเป็นประเทศถัดไป มีคนบอกผมว่าอินเดียจะกลายเป็นตลาดหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้นและเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ที่สำคัญพวกเขาหาเว็บไซต์ของเราเจอด้วย เราจึงต้องทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับตลาดนี้เพื่อหาคำตอบ แต่ผมคิดว่าชาวอินเดียต้องการศึกษางานออกแบบเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ทันโลก
เพราะยุคนี้เส้นแบ่งของการสร้างคอนเทนต์มันบางมาก ทุกคนสามารถทำเว็บไซต์ได้ในราคาถูก ต้นทุนตอนเริ่มทำมันถูก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณจะพบว่าค่าใช้จ่ายมันสูงท่วมหัวเลยทีเดียว ฉะนั้นคุณต้องมีทีมเซลล์ฝีมือดี ขายเก่ง ทำการตลาดเก่ง
การบริหารเว็บไซต์ที่มีคนอ่านหลักล้านคนคงไม่ใช่เรื่องง่าย คุณมีวิธีบริหารความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้อ่านอย่างไร
เว็บไซต์ของเราเป็นคอมมูนิตี้ที่แอ็กทีฟและเปิดกว้างสำหรับคำวิพากษ์วิจารณ์ ขณะเดียวกันเราจะคอยดูแลการตอบโต้หรือถกเถียงบนพื้นที่คอมเมนต์ให้เป็นไปอย่างราบรื่น เราพร้อมรับฟังและอธิบายเวลามีคนตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์เรา ในส่วนของโซเชียลมีเดีย เราจะโพสต์คอนเทนต์ที่สร้างการสื่อสารทั้งสองฝ่าย และคอยสื่อสารกับผู้อ่าน แต่เรื่องการรักษาความสัมพันธ์กับผู้อ่านหรือขยายฐานกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น มันอาจมีเรื่องเชิงเทคนิคเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การใช้ SEO (Search Engine Optimization) หรือเวลาไปสัมภาษณ์สถาปนิก เราจะขอให้เขาช่วยแชร์บทสัมภาษณ์บนโซเชียลมีเดียด้วย คล้ายๆ กับการทำมาร์เก็ตติ้ง แต่เป็นลักษณะของมาร์เก็ตติ้งระหว่างบุคคลมากกว่า
Dezeen อัพเดตข่าวเร็วมาก คุณวางระบบการทำงานอย่างไร
เราแค่มีทีมงานที่ยอดเยี่ยม ผมไม่ค่อยได้ดูแลด้านกองบรรณาธิการแล้ว พวกเขาจัดการกันเองและเป็นบรรณาธิการที่ดีมากๆ ด้วย ผมคิดว่าการทำงานบรรณาธิการมันเป็นเรื่องการตัดสินใจอย่างรวดเร็วว่าจะทำอะไรต่อ และรักษาจังหวะอย่างสม่ำเสมอ เราใช้ Google Analytics วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลว่าคอนเทนต์ไหนได้รับความนิยมบ้างควบคู่ไปกับการใช้โซเชียลมีเดีย
ในยุคที่ใครๆ ก็สร้างคอนเทนต์เองได้ จุดเด่นที่ทำให้ Dezeen แตกต่างไปจากสื่อออนไลน์รายอื่นคืออะไร
ผมคิดว่ามันเป็นคำถามที่ดีมากเลยนะ เพราะยุคนี้เส้นแบ่งของการสร้างคอนเทนต์มันบางมาก ทุกคนสามารถทำเว็บไซต์ได้ในราคาถูก ต้นทุนตอนเริ่มทำมันถูก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณจะพบว่าค่าใช้จ่ายมันสูงท่วมหัวเลยทีเดียว ค่าเว็บโฮสติง-แพง ค่าติดตั้งระบบป้องกันการโจมตี-แพง ป้องกันสแปม-แพง ค่าจัดเก็บฐานข้อมูลและอีเมล ซึ่งเรามีคนสมัครสมาชิกและรับข่าวสารทางอีเมล 300,000 กว่าคน ทุกอย่างแพงหมด โซเชียลมีเดีย-ฟรี แต่สุดท้ายแล้วคุณก็ต้องยอมจ่ายเพื่อให้มันเวิร์ก จะเห็นได้ว่าเพดานมันสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณอาจต้องจ้างพนักงานเพิ่มและจ่ายเงินเดือนเพิ่มขึ้นด้วย ฉะนั้นคุณต้องมีทีมเซลล์ฝีมือดี ขายเก่ง ทำการตลาดเก่ง ยิ่งไปกว่านั้น เราทำงานหนักกันมากๆ ก่อนหน้านี้เราค่อนข้างมีปัญหา เพราะไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อหรือถอยหลังดี แต่ก็เราทำลายสถิติเดิมได้ทุกสัปดาห์ จำนวนคนอ่านเพิ่มขึ้นทุกเดือน เราโฟกัสกับธุรกิจและโซเชียลมีเดียมากขึ้น เราจะฉลองกันเวลาที่งานออกมาดี แต่ถ้ามีอะไรผิดพลาด เราจะรีบตรวจสอบและหาสาเหตุให้เจอ พยายามทำงานให้ดีขึ้นและเร็วยิ่งขึ้น
ธุรกิจสื่อออนไลน์ที่จะอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้ได้ในระยะยาวต้องมีอะไร
ผมคิดว่าการทำสื่อออนไลน์มันเป็นเรื่องของทัศนคติ คุณห้ามยอมแพ้ ผมรู้จักคนหนึ่งที่ทำเว็บไซต์และมีไอเดียดีมาก แต่พอมีบางอย่างผิดพลาด ทุกอย่างก็ล่มตามไปด้วย ดังนั้นคุณต้องยอมรับความจริงให้ได้ และรู้ว่าเวลาไหนควรจะพอหรือเลิกทำ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่คุณรักก็ตาม ตอนที่เราเริ่มทำ Dezeen ผมไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีเลย มันเป็นช่วงเวลาที่ยากมากๆ ผมตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วพบว่าธุรกิจไม่ทำเงิน แต่ผมเชื่อว่ามันจะเวิร์กและเชื่อแบบนั้นมาโดยตลอด อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งคือ คุณอาจจะหัวเสียหรือเกิดกลัวขึ้นมา แต่ผมกลับใจเย็นมากๆ และคิดว่า เออ กูจะทำสิ่งนี้ (หัวเราะ)
อะไรที่ทำให้คุณยังมีไฟและตื่นเต้นกับการทำงานในฐานะซีอีโอและบรรณาธิการบริหารของ Dezeen
การทำงานด้านสื่อ คุณต้องอยากรู้อยากเห็นและสนใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ตราบใดที่โลกยังเปลี่ยนไปทุกวัน มันต้องมีสักเรื่องที่คุณอยากจะรู้ จริงไหม มันเป็นสัญชาตญาณข้างในที่ผลักดันให้คุณอยากรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทุกๆ เช้าผมแทบอดใจรอไม่ไหวที่จะได้ลงไปชงกาแฟในครัว นั่งอ่านข่าวออนไลน์ เช็กยอดสถิติของเว็บไซต์ทั้งหมด แล้ววิเคราะห์ว่าทำไมตัวเลขถึงเพิ่มขึ้นหรือลดลง ผมทำแบบนี้ทุกวัน ทุกเดือน ซึ่งมันทำให้ครอบครัวของผมแทบเป็นบ้า (หัวเราะ)
ผมคิดว่าหุ่นยนต์สามารถเป็นบรรณาธิการได้สบาย แต่ตอนนี้หุ่นยนต์ยังไม่ฉลาดเท่าคนนะครับ ถ้าหากหุ่นยนต์ฉลาดเทียบเท่ากับมนุษย์ นั่นหมายว่าเราทุกคนจะสามารถมีทักษะความเชี่ยวชาญในระดับเดียวกันหมดใช่ไหมครับ แต่สำหรับคนทำงานด้านสื่อ นักข่าวและบรรณาธิการที่มีพรสวรรค์และความสามารถจะนำประสบการณ์ของตัวเองมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการทำงาน
เคล็ดลับความสำเร็จของคุณคืออะไร
ความอยากรู้อยากเห็นก็เป็นข้อหนึ่ง บวกกับความหมกมุ่นเล็กน้อย คุณต้องเชื่อว่าสิ่งต่างๆ สามารถดีขึ้นได้ พัฒนาได้ คุณอาจประสบความสำเร็จในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนและภูมิใจกับมันสัก 20 วินาที จากนั้นคุณก็ต้องเจอความท้าทายใหม่ เหมือนกับการทำโปรเจกต์ที่ไม่มีวันจบ บางครั้งผมสงสัยว่าทำไมผมถึงทำธุรกิจออนไลน์ เพราะมันเหมือนกับการปีนเขาอยู่ตลอดเวลาโดยที่ไม่มีวันไปถึงยอดเขา มันเป็นงานที่เหนื่อย แต่ผมยังอยากทำต่อไป และไม่พร้อมที่จะหยุด
คุณมีแผนจะทำอะไรต่อไป
เรามีคิดไว้หลายไอเดียเหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่ต้องทำก็คือจัดอีเวนต์เยอะขึ้น เช่น งานประชุม งานเสวนาตอนค่ำ หรือไม่ก็งานปาร์ตี้ งานประกาศรางวัล ทุกวันนี้บริษัทสื่อสิ่งพิมพ์สร้างรายได้เป็นจำนวนมากจากการจัดอีเวนต์ นิทรรศการ และงานประกาศรางวัล รายได้ของพวกเขาไม่ได้มาจากสิ่งพิมพ์อีกต่อไปแล้ว สิ่งพิมพ์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของมาร์เก็ตติ้งที่ช่วยซัพพอร์ตงานอีเวนต์เท่านั้น
ในงานเสวนา คุณพูดว่าหุ่นยนต์กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อวงการสื่อในเร็วๆ นี้ ทำไมจึงคิดเช่นนั้น
ผลกระทบมันเกิดขึ้นแล้วในวันนี้ มันง่ายมากที่เราจะซื้อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพมาทำงานแทนที่จะจ้างพนักงาน ผมคิดว่ามนุษย์ยังคงทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์เนื้อหาอยู่ แต่เทคโนโลยีจะมีบทบาทมากขึ้นในการตัดสินใจว่าควรจะเผยแพร่เรื่องอะไร เมื่อไร ตอนนี้เราใช้บริการของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence Service) เพื่อแนะนำคอนเทนต์บนเว็บไซต์ให้กับคนอ่าน และมันมีประสิทธิภาพการทำงานเป็น 2 เท่าของมนุษย์
เราใช้ระบบ AI กับโซเชียลมีเดียด้วยเพื่อวางแผนว่าควรโพสต์คอนเทนต์เวลาไหนบ้าง เราสังเกตว่าหลายคนพูดถึงเทคโนโลยีนี้กันมากขึ้น และพยายามทดลองใช้ให้เกิดผลลัพธ์บางอย่าง และเทคโนโลยีเริ่มเข้ามาแทนที่บางอาชีพมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่ในวงการสื่อ
ถ้าอย่างนั้นอาชีพบรรณาธิการยังจำเป็นอยู่ไหม มันจะหายไปด้วยหรือเปล่า
ผมคิดว่าหุ่นยนต์สามารถเป็นบรรณาธิการได้สบาย แต่ตอนนี้หุ่นยนต์ยังไม่ฉลาดเท่าคนนะครับ และหวังว่าคงอีกไม่นานเช่นกัน ถ้าหากหุ่นยนต์ฉลาดเทียบเท่ากับมนุษย์ นั่นหมายว่าเราทุกคนจะสามารถมีทักษะความเชี่ยวชาญในระดับเดียวกันหมดใช่ไหมครับ แต่สำหรับคนทำงานด้านสื่อ นักข่าวและบรรณาธิการที่มีพรสวรรค์และความสามารถจะนำประสบการณ์ของตัวเองมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการทำงาน ถ้าคุณอยากเจาะกลุ่มคนอ่านหรือขยายกลุ่มเป้าหมาย หุ่นยนต์อาจจะทำได้ดีกว่าคนในเรื่องนี้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าสื่อนั้นจะมีแต่คอนเทนต์ที่ไร้คุณภาพ บางครั้งคุณต้องตัดสินใจเลือกบางสิ่งบางอย่างบนพื้นฐานของ ‘คุณค่า’ ไม่ใช่ ‘ประสิทธิภาพ’ หรือในบางกรณีที่มีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น เราเคยจัดการประกวดออกแบบพาสปอร์ตใหม่ของสหราชอาณาจักรที่ชื่อ Brexit Passport Design ผมคิดว่าไม่มีหุ่นยนต์ตัวไหนสามารถนำเสนอไอเดียที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขนาดนี้ (หัวเราะ) มันทั้งเปลี่ยนมุมมองความคิดและสร้างความประหลาดใจให้กับผู้คน ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นส่วนสำคัญของการทำงานด้านสื่อและบรรณาธิการ ทำให้ผู้คนประหลาดใจและท้าทายคนอ่าน ซึ่งนี่แหละคือปัญหาของเฟซบุ๊ก ทุกคนถูกป้อนแต่คอนเทนต์ที่พวกเขาเห็นด้วยอยู่แล้ว และน่าจะเป็นปัญหาเหมือนกันทั่วทั้งโลก
อนาคตของสื่อจะเปลี่ยนไปอย่างไร
ผมไม่ทราบเหมือนกัน ตอนที่เราเริ่มทำ Dezeen โลกเรายังไม่มีไอโฟน เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรมด้วยซ้ำ เราคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตไม่ได้ แต่ผมคิดว่าหุ่นยนต์จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน หรือไม่ก็อาจจะมีคนคิดค้นโซเชียลมีเดียขึ้นใหม่ หรือเครื่องมือสื่อสารที่ดีกว่าไอโฟน เราก็แค่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเท่านั้นเอง
อ้างอิง:
– www.dezeen.com/2017/04/02/dezeen-breaks-records-traffic-comments-march-2017
หมายเหตุ:
– สัมภาษณ์วันที่ 25 มีนาคม 2560
– ปัจจุบัน Dezeen กำลังจะปิดตัวร้านขายนาฬิกาออนไลน์ ทั้งนี้ ธุรกิจสื่อของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบใด