แรงกดดันจากทีมคู่แข่ง เวลาที่จำกัด และอุปสรรคทางภาษา
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของสารพัดความท้าทายที่สตาร์ทอัพไทยต้องรับมือในระหว่างการนำเสนอผลงานหรือ Pitching ต่อหน้าบรรดาคณะกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง หรือแม้แต่นักลงทุนรายใหญ่บนเวทีระดับสากล
วันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา THE STANDARD ได้ไปเยือนงานจัดแสดงสินค้าและบริการเชิงนวัตกรรมสุดล้ำ Product Innovation Fair 2017 ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ Optus Campus เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 3-4 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา และมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศสุดเข้มข้นของการพิตช์งาน โดยเหล่าสตาร์ทอัพชั้นนำของ 6 โอเปอเรเตอร์ในเครือกลุ่มบริษัท Singtel ได้แก่ Optus (ออสเตรเลีย), Globe (ฟิลิปปินส์), Telkomsel (อินโดนีเซีย), Airtel (อินเดีย), Singtel (สิงคโปร์) ร่วมด้วยตัวแทนของสตาร์ทอัพจากประเทศไทยในโครงการ AIS The StartUp โดยไฮไลต์เด็ดของงานในปีนี้ก็คือ เทรนด์ด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะ AI, Machine Learning และระบบบริการบนคลาวด์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจะมาช่วยแก้ปัญหา (Pain Point) ในชีวิตประจำวันของคนยุคนี้มากขึ้น ผ่านโซลูชันใหม่ๆ ของสตาร์ทอัพ
หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าประเทศออสเตรเลียเป็นแหล่งกำเนิดนวัตกรรมที่สร้างอิมแพ็กให้กับโลก เช่น แผนที่ Google Maps หูเทียมไบโอนิกส์ (Bionic Ear) และ WiFi ความเร็วสูง ที่สำคัญยังเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ผู้คนสนุกกับการมองหาสินค้าและบริการใหม่ตลอดเวลา การพิตช์งานครั้งนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นด่านแรกที่ท้าทาย
เราจึงชวนสตาร์ทอัพไทยทั้ง 4 ทีมในโครงการ AIS The StartUp ได้แก่ FoodStory, FlowAccount.com, AIYA และ Keyceive ที่เข้าร่วมจัดแสดงงานครั้งนี้ มาแชร์ประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการพิตช์งานภายในเวลา 5-10 นาที ต่อหน้าบรรดาซีอีโอ ผู้บริหารระดับสูง และทีมสตาร์ทอัพต่างชาติ ร่วมด้วยบริษัทชั้นนำ และผู้เข้าร่วมงานในออสเตรเลีย
สตาร์ทอัพไทยควรเตรียมตัวอย่างไร การ Pitching งานในต่างประเทศให้ประสบการณ์อะไรที่มากกว่าความท้าทาย เราได้สรุปประเด็นสำคัญมาไว้ให้แล้ว
เราต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราหยุด คนอื่นก็จะเดินตามทัน
- เปิดโลกใหม่
ยิม-ฐากูร ชาติสุทธิผล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ FoodStory เล่าว่าการได้นำแอปพลิเคชัน Food Solution บริการสำหรับธุรกิจร้านอาหารแบบครบวงจรมานำเสนอในงานนี้ช่วยเปิดมุมมองของการทำธุรกิจในสเกลระดับโลก
คอนเซปต์ของ Food Solution คือการยกระดับธุรกิจร้านอาหารด้วยบริการดิจิทัลที่รวดเร็ว ช่วยผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนและเริ่มต้นกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การจัดการหน้าร้านไปจนถึงระบบบัญชี ภายใต้การผนึกกำลังระหว่าง Kbank AIS ร่วมด้วยสตาร์ทอัพไทย FlowAccount.com
“ผมคิดว่าประสบการณ์ครั้งนี้ช่วยเปิดโลกอีกโลกหนึ่ง การเจอตลาดใหญ่แบบออสเตรเลียถือเป็นโอกาสที่ดี เราได้รับฟีดแบ็กจากผู้บริหารที่มีมุมมองระดับโลก ได้สังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมไปถึงระบบการจัดการและเทคโนโลยีในร้านอาหารในเมืองซิดนีย์ พนักงานบริการอย่างไร แล้วเราจะทำอย่างไรให้บริการเหล่านี้ดีขึ้นได้
“ร้านอาหารในออสเตรเลียคิดค่าแรงเป็นรายชั่วโมง ซึ่งแตกต่างจากเมืองไทยที่มีค่าแรงถูกกว่าชัดเจน ถ้าหากเราพิสูจน์ได้ว่าบริการของเราช่วยประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจได้จริง โดยคิดค่าใช้บริการรายเดือน-รายปี ก็อาจเป็นโอกาสที่ดี
“ในฐานะเจ้าของธุรกิจ เราต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราหยุด คนอื่นก็จะเดินตามทัน”
ธุรกิจไทยต้องทำการบ้านมากขึ้นว่าจะขยายตลาดในประเทศอื่นได้อย่างไร โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาไทย
- ปูทางสู่ตลาดใหม่
ในประเด็นนี้สตาร์ทอัพไทยทั้ง 4 ทีมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเดินทางครั้งนี้ นอกจากจะได้ทำความรู้จักกับตลาดใหม่แล้ว ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการขยายธุรกิจในอนาคตอีกด้วย
กฤษฎา ชุตินธร ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท FlowAccount.com และอยู่เบื้องหลังการพัฒนาระบบบัญชีของแอปพลิเคชัน Food Solution ชี้ว่าการเปิดตลาดในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในประเทศที่มีการแข่งขันสูงเป็นทุนเดิม การมีพันธมิตรทางธุรกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญ
“การได้มาพรีเซนต์งานกับกลุ่มซีอีโอในเครือ Singtel และผู้ใช้อีกหลายร้อยล้านคนเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายๆ เราได้ทั้งประสบการณ์และโอกาสการเชื่อมต่อธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ เพราะการไปเปิดตลาดใหม่เป็นสิ่งที่ยากมากๆ ต้องมีพาร์ตเนอร์ที่แข็งแรง อย่างน้อยประตูมันเปิดแล้ว อยู่ที่ว่าเรามีความสามารถเพียงพอไหม โซลูชันของเราจะตอบโจทย์ของประเทศนั้นๆ จริงหรือเปล่า
“ธุรกิจไทยต้องทำการบ้านมากขึ้นว่าจะขยายตลาดในประเทศอื่นได้อย่างไร โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาไทย เราก็ต้องปรับตัวทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม และบริการ ควบคู่กับปรับปรุงระบบของเราให้เข้ากับระบบบัญชีในแต่ละประเทศ สำหรับการเปิดตลาดใหม่ ตลาดขนาดใหญ่ก็ยิ่งใช้เงินทุนเยอะ เราก็ต้องดูความเหมาะสมของระบบ และความเหมาะสมในการลงทุนด้วยว่าเราสู้ไหวไหม ระดมทุนมามากพอที่จะขยายตลาดในแต่ละประเทศหรือเปล่า นี่คือโจทย์ที่เราต้องประเมิน”
เทคโนโลยีมันจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทุกอย่างจะกลับมาตอบโจทย์เรื่องของผู้บริโภค
- ศึกษาเทรนด์เทคโนโลยีจากผู้นำด้านนวัตกรรม
ด้าน อัจฉริยะ ดาโรจน์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ AIYA ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแชตบ็อตสำหรับธุรกิจ มองว่าเป็นโอกาสดีที่ได้มาสำรวจเทรนด์ด้านเทคโนโลยีในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องนวัตกรรมอย่างออสเตรเลีย โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างดีในงาน Product Innovation Fair 2017
“เราได้เห็นนวัตกรรมในแต่ละประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของคนในประเทศนั้นๆ และได้รู้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาตอบโจทย์พวกเขาได้อย่างไร งานนี้ก็ได้รวบรวมอินไซต์ของผู้บริโภคจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและออสเตรเลียมาไว้ในที่เดียว ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการมองภาพรวมและคาดการณ์แนวโน้มล่วงหน้าเพื่อขยายตลาดไปต่างประเทศ
“ตลาดแชตบ็อตในไทยเพิ่งเริ่มต้น ประเทศอื่นเขาใช้เทคโนโลยีนี้มาเป็นปีแล้ว ผมว่าเทคโนโลยีมันจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทุกอย่างจะกลับมาตอบโจทย์เรื่องของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี เทเลคอม แชตบ็อต หรือบ้านอัตโนมัติ”
- ได้แรงบันดาลใจต่อยอดไอเดียใหม่ๆ
คงไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่าการเดินทางคือจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจนับไม่ถ้วน ทัศนัย แสวงทรัพย์ ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์อัจฉริยะ Keycieve เจ้าของผลงาน Smart Keybox ที่ใช้เทคโนโลยี Internet Of Things (IoTs) มาต่อยอดบริการ กล่าวว่าซิดนีย์เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อด้านการออกแบบ ทำให้เขาเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจมาเพียบ
“เราได้เห็นการออกแบบสถาปัตยกรรม เฟอร์นิเจอร์ และเทคโนโลยีในซิดนีย์ ได้รู้ว่าผู้คนที่นี่ชอบงานดีไซน์แบบไหน ซึ่งมีประโยชน์กับการพัฒนาโปรดักต์ของเรา ที่สำคัญเราได้มาเห็นวิธีการทำงานแบบมือโปร ความเอาจริงเอาจัง และสภาพแวดล้อมที่มีคนทำงานเก่งๆ มารวมตัวกัน เป็นแหล่งแรงบันดาลใจชั้นดี
“ตลาดต่างประเทศจะเข้าใจและตอบรับสินค้าของเราได้ง่ายกว่าตลาดในประเทศ ที่นี่ยังมีโอกาสอีกเยอะ โดยเฉพาะด้าน IoTs ซึ่งคนยังไม่ค่อยตื่นตัวกันมาก”
สตาร์ทอัพควรจะมีแนวคิดแบบ Think Global, Start Local ตั้งแต่วันแรกของการเริ่มธุรกิจ
หมัดเด็ดที่ควรรู้ เมื่อต้องพิตช์งานกับนักลงทุนระดับโลก
แน่นอนว่าการพิตช์งานต่อหน้านักลงทุน ผู้บริหาร และบริษัทชั้นนำในต่างแดนย่อมไม่ง่าย ไหนจะงัดวาทศิลป์ขึ้นมามัดใจผู้ฟังเพื่อให้เป็นที่จดจำ ดร. ศรีหทัย พราหมณี Head of AIS The StartUp ผู้อยู่เบื้องหลังและร่วมสนับสนุนสตาร์ทอัพในโครงการมาตั้งแต่วันแรก มาร่วมแชร์เคล็ดลับการพิตช์งานให้โดนใจผู้ฟังภายใต้แรงกดดันและเวลาอันแสนจำกัด
“การพิตช์งานภายในเวลาแค่ 5-10 นาทีต่อหน้าซีอีโอของบริษัทชั้นนำจากหลายประเทศ เท่ากับว่าพวกเขากำลังพิตช์ไปสู่ฐานลูกค้ามากกว่า 600 ล้านรายทั่วโลก ซึ่งไม่ใช่โอกาสที่หาได้ง่ายๆ นัก ฟีดแบ็กที่ได้รับจากซีอีโอเหล่านั้นก็จะครอบคลุมการบริการให้กับลูกค้าถึง 600 ล้านราย ก็เป็นหน้าที่ของสตาร์ทอัพที่ต้องตัดสินใจเองว่า จะนำความคิดเห็นไหนมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจและทิศทางในอนาคตของตัวเอง
“สตาร์ทอัพควรจะมีแนวคิดแบบ Think Global, Start Local ตั้งแต่วันแรกของการเริ่มธุรกิจ บางครั้งสตาร์ทอัพโฟกัสกับความต้องการของ Local มากเกินไปจนหลุดจากทิศทางของตลาด Global ดังนั้นการพาสตาร์ทอัพไปศึกษาตลาดต่างประเทศตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เป็นการส่งเสริมให้เขาได้เห็นเทรนด์โลก เรียนรู้เร็ว และปรับตัวเข้าสู่ตลาดโลกได้เร็ว”
ติดตามซีรีส์บทความ AIS The StartUp Visits Australia ตอนต่อไปได้ในสัปดาห์หน้า
อ่านตอนแรกได้ที่นี่
Photo: AIS The StartUp
ภาพประกอบ: Karin Foxx