ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 จะอยู่ที่ 29,800 ล้านบาท หดตัว 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน เหตุผลหลักน่าจะมาจากภาวะกำลังซื้อ รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคหันมาประหยัดและใช้จ่ายระมัดระวังในการทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลปีใหม่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯ ทำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการให้เงินกับบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะที่อยู่ในต่างจังหวัด เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและภาวะราคาสินค้าเกษตรที่ชะลอตัว รวมถึงภาวะภัยแล้ง ส่งผลให้เม็ดเงินส่วนนี้ปรับเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัจจัยดังกล่าว น่าจะมีส่วนช่วยให้เม็ดเงินกระจายลงสู่ภาคธุรกิจต่างๆ ในต่างจังหวัดได้ในระดับหนึ่ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า กำลังซื้อของภาคประชาชน ส่วนหนึ่งได้ถูกแบ่งใช้จ่ายไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งจากกิจกรรมของภาคเอกชน อาทิ เทศกาลช้อปปิ้งวันคนโสด 11.11 (วันที่ 11 เดือน 11) รวมถึงการต่อยอดมาถึงเทศกาลลดราคาครั้งใหญ่ 12.12 (วันที่ 12 เดือน 12) ซึ่งในปีนี้กิจกรรมข้างต้นได้รับความสนใจจากผู้ซื้อค่อนข้างสูง
ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาครัฐเอง ก็มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายหรือ ชิมช้อปใช้ ในช่วงก่อนหน้า (คนกรุงเทพฯ มีการลงทะเบียนทั้งเฟส 1 และเฟส 2 สัดส่วนร้อยละ 63.8 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม) ซึ่งเบื้องต้นช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงที่มีมาตรการพอสมควร แต่ก็มีผลต่อการทำกิจกรรมในช่วงปีใหม่ ที่อาจลดลงในส่วนที่ได้ทำไปแล้ว อาทิ การซื้อสินค้า การทานอาหาร หรือการท่องเที่ยว เป็นต้น
จากผลสำรวจที่เกิดขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 แยกเป็นค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม 9,800 ล้านบาท รองลงมาคือ ท่องเที่ยวในประเทศ (ค่าเดินทางกลับบ้าน เดินทางท่องเที่ยว รวมถึงค่าที่พัก) 8,000 ล้านบาท ซื้อของขวัญ/ของฝาก 7,800 ล้านบาท การให้เงินพ่อแม่/พี่น้องเป็นของขวัญปีใหม่ 2,500 ล้านบาท และทำบุญ/ไหว้พระ 1,500 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง บริจาคสิ่งของ) 200 ล้านบาท ทั้งนี้ งบประมาณใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,400 บาท เทียบกับปี 2562 ที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,600 บาท
หากสังเกต จะพบว่า ปีนี้การซื้อของขวัญของฝาก เป็นกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯ ทำลดลง ทั้งในส่วนของการซื้อให้ตนเอง ซื้อให้ครอบครัว การซื้อให้กับลูกค้าองค์กร รวมถึงการซื้อเพื่อจับสลาก ซึ่งนอกจากเป็นการปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อแล้ว ยังเป็นผลจากนโยบายการรณรงค์งดให้งดรับของขวัญในช่วงปลายปี (No Gift Policy) ที่ได้รับการตอบรับจากองค์กรต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยคาดว่ากลุ่มสินค้าประเภทกระเช้าของขวัญ น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ เนื่องจากเป็นสินค้าที่นิยมให้กับองค์กรมากที่สุด
การจัดกิจกรรมอีเวนต์ โดยเฉพาะการลดแลกแจกแถมสินค้า ยังคงเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ได้รับความสนใจ และช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อสูงที่สุด นอกจากนี้ แม้ว่าผู้บริโภคจะยังเลือกใช้ช่องทางร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้านเป็นช่องทางหลักในการเลือกซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 แต่ช่องทางออนไลน์ ทั้ง E-Marketplace และ Social Commerce ก็ได้รับการตอบรับและมีบทบาทมากขึ้น ดังนั้น การคัดเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมกับประเภทสินค้า จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์