วันนี้ (1 มกราคม) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการฯ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลรณรงค์และป้องกันอุบัติเหตุทางถนนช่วงควบคุมเข้มข้นระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 5 มกราคม 2568 ภายใต้ชื่อ ‘ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ’ และได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน
สมศักดิ์ระบุว่า ปภ. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีการเกิดอุบัติเหตุ 262 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 245 คน ผู้เสียชีวิต 36 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 42.75, ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 24.43 และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 21.37 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 89.93 รองลงมาคือรถกระบะและรถยนต์ส่วนบุคคล
ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 76.72, ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.84 และถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.92 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ 00.01-01.00 น., 17.01-18.00 น. และ 18.01-19.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 18.51 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,781 จุด และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,639 คน
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 12 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 5 คน
ทั้งนี้ สมศักดิ์กล่าวว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (27-31 ธันวาคม 2567) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,398 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,354 คน ผู้เสียชีวิตรวม 215 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 11 จังหวัด, จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (44 ครั้ง), จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ภูเก็ต (43 คน) และจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและนนทบุรี (จังหวัดละ 10 คน)
ในวันนี้ประชาชนบางส่วนทยอยเดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพมหานครและจังหวัดเขตเศรษฐกิจในภาคต่างๆ ทำให้เส้นทางหลักและเส้นทางสายรองที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดมีปริมาณรถหนาแน่น ประกอบกับเมื่อคืนนี้ประชาชนส่วนใหญ่เฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ อาจทำให้ผู้ขับรถที่จะเดินทางกลับในวันนี้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการง่วงแล้วขับได้
นอกจากนี้ยังมีประชาชนบางส่วนเฉลิมฉลองเทศกาลต้อนรับปีใหม่ต่อในพื้นที่ ศปถ. จึงประสานให้จังหวัดดำเนินการเตรียมความพร้อมของด่านตรวจ, จุดตรวจ, จุดสกัด และจุดบริการ เพื่อรองรับการเดินทางกลับของประชาชน รวมถึงบริหารจัดการการจราจรทั้งสายหลักและสายรอง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดคับคั่ง
ทั้งนี้ ในส่วนการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อรองรับผู้ประสบเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) บูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการดำเนินงานและลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยประสานขอความร่วมมือหน่วยปฏิบัติการแพทย์ทางบก น้ำ อากาศ กับหน่วยปฏิบัติการอำนวยการในทุกเขตสุขภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกปฏิบัติการฉุกเฉิน
ส่วนศูนย์นเรนทรเตรียมความพร้อมกำลังคน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการอำนวยการ และศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิตามนโยบาย ‘เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่’ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ สาเหตุและพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันและลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ต้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด