×

ทำไมความปลอดภัยด้านท่องเที่ยวของไทยจึงเกือบรั้งท้ายโลก รายงานจาก WEF ปี 2017

12.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • รายงานด้านความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของ The World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2017 เปิดเผยว่า ความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวของไทยอยู่ที่อันดับ 118 จากทั้งหมด 136 ประเทศ เกือบรั้งท้ายในอาเซียน ขณะที่ฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 126
  • นอกจากประเด็นด้านความปลอดภัยแล้ว ด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในการท่องเที่ยวของไทยก็รั้งท้ายด้วยเช่นกัน โดยอยู่อันดับที่ 122 เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านที่รั้งท้ายด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนเช่นกัน
  • ผู้ประกอบการเปิดเผยว่า กฎหมายด้านการควบคุมคนที่มาเปิดกิจการด้านการท่องเที่ยวนั้นหละหลวม ชาวต่างชาติหลายรายเข้ามากอบโกยกำไรในระยะเวลาอันสั้น ทำลายทรัพยากรและพื้นที่ชุมชน
  • WEF ยอมรับกับกระทรวงการต่างประเทศว่า ข้อมูลที่นำมาจัดทำรายงานนั้นเป็นข้อมูลเก่า และกำลังจะพิจารณาปรับปรุงวิธีการจัดอันดับใหม่

      The World Economic Forum (WEF) ปี 2017 เปิดเผยรายงานว่า ด้วยความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว โดยได้จัดอันดับของแต่ละประเทศในด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย สุขภาพและสาธารณสุข ตลาดแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ ความพร้อมด้าน ICT การให้ความสำคัญด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งในด้านความปลอดภัย ประเทศไทยถูกจัดอยู่ที่อันดับ 118 จาก 136 ประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ใน 20 อันดับรั้งท้าย โดยระบุว่าพื้นที่ชายแดนภาคใต้อย่างจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสคือพื้นที่เสี่ยง ที่มีผลทำให้อันดับด้านความปลอดภัยของประเทศไทยร่วงลง

     นอกจากนี้ประเทศไทยยังรั้งอันดับท้ายด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในด้านการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน แม้ด้านอื่นๆ ประเทศไทยจะถูกจัดอยู่ในอันดับครึ่งต้น แต่อันดับด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่รั้งท้ายอาจสะท้อนว่า เราอาจมุ่งเน้นแต่จำนวนยอดนักท่องเที่ยว แต่ละเลยด้านที่รักษาอุตสาหกรรมนี้ให้ยั่งยืน

 

 

ประเทศไทยรั้ง 20 อันดับสุดท้ายความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว

     ปณัตนันท์ ปจันทบุตร กรรมการผู้จัดการ Seven Marine เจ้าของกิจการท่องเที่ยวทั้งโรมแรมและให้เช่าเรือในภูเก็ตแสดงความคิดเห็นกับ THE STANDARD ว่า ไม่ใช่แค่เพียงข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์เท่านั้น แต่การรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยวอาจไม่เพียงพอด้วย “จำนวนตำรวจต่อจำนวนนักท่องเที่ยวและประชากรในภูเก็ตนั้นอาจน้อยเกินไป ผมคิดว่าทุกด้านเลย ทั้งด้านความปลอดภัย สาธารณสุข โรงพยาบาล มีไม่พอนะ” ซึ่งจำนวนประชากรภูเก็ตในปี 2015 มี 386,605 คน มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยเฉลี่ยแล้วปีละประมาณ 10 ล้านคน ขณะที่ แอมมี่ ทวีวงทรัพย์ ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมอมตะป่าตองกลับมองว่า “จริงๆ แล้วคิดว่ามาตรการความปลอดภัยของภูเก็ตอยู่ในระดับที่โอเคแล้ว อย่างตอนที่มีข่าวลือเรื่องกลุ่มไอเอสจะหลบเข้ามาไทย ทางการก็มีการแจ้งเตือนผู้ประกอบการ โรงแรมจะได้รับข้อมูล และตำรวจจะลงพื้นที่รอบๆ ขณะที่การปั่นป่วนเล็กๆ นั้นไม่กระทบต่อการท่องเที่ยวมากนัก” ล่าสุดการท่องเที่ยวภูเก็ตเปิดเผยว่า กำลังเตรียมติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่ม และเชื่อมทุกกล้องเป็นระบบเดียวกันทั้งหมด

     ด้านร้อยตำรวจอุดม ลักษณะ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงอยู่แล้วนั้นเปิดเผยว่า “เราจำเป็นต้องสร้างภาคประชาชนที่เข้มแข็งแทน ที่ อาจมีกำลังในการช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยได้มากกว่าภาครัฐด้วยซ้ำ ให้ประชาชนดูแลกันเอง ซึ่งเบตงกลายเป็นโมเดลตัวอย่างด้านนี้” ปัจจุบันเบตงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของชาวมาเลเซีย ในปี 2015 มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางมาเบตงประมาณ 400,000 คน และในปี 2016 เพิ่มขึ้นมาเป็น 800,000 คน

     ขณะที่เพื่อนบ้านเราอย่างฟิลิปปินส์อยู่ที่อันดับ 126 อินโดนีเซียอยู่ที่อันดับ 91 เวียดนามอยู่ที่อันดับ 57 มาเลเซียอยู่ที่อันดับ 41 เกาหลีใต้อยู่ที่อันดับ 37 ญี่ปุ่นอยู่ที่อันดับ 26 ขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่อันดับ 6

 

ไทยรั้งท้ายด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน

     นอกจากด้านความปลอดภัยด้านท่องเที่ยวที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงแล้ว ยังพบว่าประเทศไทยรั้งอันดับ 20 สุดท้ายในด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยไทยอยู่ที่อันดับ 122 จาก 136 ประเทศ มาเลเซียที่อันดับ 123 เวียดนามที่อันดับ 129 กัมพูชาที่อันดับ 130 อินโดนีเซียที่อันดับ 131 และจีนที่อันดับ 132 ปณัตนันท์ ปจันทบุตร กรรมการผู้จัดการ Seven Marine เปิดเผยว่า ปัจจุบันเจ้าของกิจการด้านการท่องเที่ยวเป็นชาวต่างชาติเยอะ ซึ่งพวกเขาอาจเข้ามาแค่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ โดยไม่ได้สนใจด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน แต่กฎหมายไทยไม่แข็งแรง “ความสามารถด้านการแข่งขันเราอาจจะโอเค แต่มันจะดีกว่านี้อีก ถ้าภาครัฐทำได้ดีกว่านี้ เวียดนามดึงนักท่องเที่ยวไปเยอะ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวด้านทะเล และอีกด้านหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประเทศไทยไม่ค่อยเด่นด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน คนมาลงทุนถือโอกาสหมด เพราะไม่ใช่บ้านเขา เขาไม่ได้ต้องการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ เพียงแต่ต้องการเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น มีผู้ประกอบการต่างชาติที่ผิดกฎหมาย แต่กฎหมายบ้านเราไม่แข็งแรง พวกคนต่างชาติที่เข้ามาทำกิจกรรมร้านอาหารและบริการท่องเที่ยวอื่นๆ ทำไมพวกเขาถึงเข้ามาได้เยอะมาก”

     สอดคล้องกับที่ สุรัชนา ภควลีธร ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโมเดลธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืน Local Alike ที่บริษัทของเธอได้เดินทางไปให้ความรู้กับหลายชุมชนทั่วประเทศไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวประเทศไทยขาดความสมดุล เพราะมุ่งเน้นแต่พัฒนาด้านเศรษฐกิจมากเกินไป และการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐนั้นไม่แข็งแรง “ชุมชนท้องถิ่นคือคนที่อยู่ใกล้กับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด กลับไม่มีอำนาจในการตัดสินใจและจัดการทรัพยากรในชุมชน คนข้างนอกเขาเข้ามาทำธุรกิจ เขาก็รีบทำกำไรในระยะเวลาอันสั้น” เธอยังมองอีกว่า การรวบรวมสถิติเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของไทยนั้นควรจะมีด้านอื่นๆ ด้วย เพื่อจะได้สะท้อนความเป็นจริงในหลายมิติ “การตั้งเป้าหมายการท่องเที่ยวควรจะมี KPI ด้านอื่นบ้าง เช่น เรื่องวัฒนธรรม สังคมของคนที่อาศัยอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว แล้วเงินที่ได้จากการท่องเที่ยวเป็นประโยชน์กับใคร”

 

 

กระทรวงต่างประเทศโต้รายงาน WEF เป็นข้อมูลเก่า

     อย่างไรก็ตามหากดูอันดับโดยรวมด้านความสามารถ ด้านการแข่งขัน ด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยถูกจัดอยู่ที่อันดับ 34 ซึ่งถือว่าอยู่ในอันดับที่ 3 ในบรรดาประเทศอาเซียน (สิงคโปร์อันดับที่ 13 มาเลเซียอันดับที่ 26) ขยับขึ้นมาจากปีที่แล้วที่อยู่อันดับ 35 โดยรายงานของ WEF สรุปว่า การท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา แต่ยังขาดความพร้อมด้านสาธารณูปโภคและเทคโนโลยี

     โดยก่อนหน้านี้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศออกมาเปิดเผยว่า WEF ยอมรับกับคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติว่า ข้อมูลที่ใช้จัดทำรายงานในแต่ละปีนั้นเป็นข้อมูลเก่า ซึ่ง WEF กำลังพิจารณาปรับปรุงวิธีการคำนวณและจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันทุกมิติ โดยเพิ่มการใช้ข้อมูลจากสถิติการท่องเที่ยวขององค์กรระหว่างประเทศและแบบสอบถาม

     งานวิจัยของ WEF พบว่า ในทุกๆ นักท่องเที่ยว 30 คน จะสามารถสร้างงานได้ 1 งาน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างงานในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ โดยปี 2016 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 32 ล้านคนเดินทางมายังประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท หากยึดตามงานวิจัยของ WEF เท่ากับว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยสามารถสร้างงานได้ประมาณ 1 ล้านงานให้กับแรงงานในไทย

     สถิติของกรมการท่องเที่ยวเปิดเผยว่า ปี 2016 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยจำนวนประมาณ 32 ล้านคน ขณะที่ปี 2015 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 30 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งสุรัชนามองว่า “นอกจากเศรษฐกิจการท่องเที่ยวแล้ว เราควรจะใส่ใจคุณภาพชีวิตของคนไทยเองด้วย ที่ต้องอยู่กับแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้ถึงแม้ประเทศไทยจะมีเสน่ห์มาก แต่เราก็ควรจะรักษาตรงนี้ให้ได้นานที่สุด เพราะสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ ก็เกิดขึ้นมากมาย มิเช่นนั้นเราจะเสียลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวมีคุณภาพไป

     อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่หน้าที่ของภาครัฐ แต่คือหน้าที่ของภาคเอกชน ท้องถิ่นที่เป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและเอกชนด้วย”

 

Photo: CHRISTOPHE ARCHAMBAULT, AFP

อ้างอิง:

     – กระทรวงการต่างประเทศ

     – www3.weforum.org/docs/WEF_TTCR_2017_web_0401.pdf

     – newdot2.samartmultimedia.com/home/details/11/221/25515

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X