×

บทเรียนการระบาดระลอกแรก สู่บททดสอบใหม่หลังเปิดประเทศอีกครั้ง

02.11.2021
  • LOADING...
opening country

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • การเปิดประเทศไทยในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้นึกถึงบรรยากาศเมื่อต้นปี 2563 อีกครั้ง ตอนนั้นนักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว แต่ขณะเดียวกันไวรัสโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ก็ระบาดเป็นวงกว้างในเมืองอู่ฮั่นและเริ่มระบาดในเมืองอื่น ทำให้ตรวจพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ
  • การเปิดประเทศในเดือนพฤศจิกายนนี้อยู่บนความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน (Vaccine Coverage) ที่ยังไม่ครอบคลุมในระดับประเทศ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 มีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 30.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 42.9% ส่วนระดับจังหวัดที่ใกล้เคียง 80% มีเพียงกรุงเทพฯ และภูเก็ตเท่านั้น ในระหว่างที่รอการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่ละจังหวัดจึงต้องเตรียมมาตรการควบคุมและป้องกันโรคอื่นรองรับไว้

“ปีหน้าเราไปเที่ยวอู่ฮั่นกัน” ผมนัดแนะกับล่ามภาษาจีนและทีมสอบสวนโรคเมื่อปีที่แล้ว 

 

เราติดตามนักท่องเที่ยวชาวจีนครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยช่วงตรุษจีน แต่มาตรวจพบว่าเป็นโควิดเกือบครึ่งหนึ่ง ผู้ติดเชื้อถูกแยกรักษาในโรงพยาบาล ส่วนสมาชิกที่เหลือต้องถูกกักตัว ตอนนั้นยังไม่มี SQ หรือ ASQ เราจึงต้องเช่าโรงแรมใกล้กรมควบคุมโรค จ.นนทบุรี เป็นสถานที่กักตัว 14 วัน เพื่อให้ไปติดตามอาการวัดไข้และตรวจหาเชื้อได้สะดวก 

 

ในวันที่ครบกำหนดกักตัว ล่ามเล่าให้ฟังว่าพวกเขายินดีให้เราไปเยี่ยมที่อู่ฮั่นได้ พร้อมส่งรูปดอกซากุระบานที่นั่นมาชักชวน ผมจึงนัดแนะกับทุกคนในทีมว่าจะไปเที่ยวกันให้หายเหนื่อย แต่ผ่านมาเกือบ 2 ปี โควิดยังไม่หายไปไหน กรมควบคุมโรคยังต้องรับผิดชอบสถานการณ์การระบาดอยู่ (ส่วนผมลาเรียนต่อปริญญาโท) และหลายประเทศยังคงจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ รวมถึงประเทศจีน

 

การเปิดประเทศไทยในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ผมนึกถึงบรรยากาศเมื่อต้นปี 2563 อีกครั้ง ตอนนั้นนักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว แต่ขณะเดียวกันไวรัสโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ก็ระบาดเป็นวงกว้างในเมืองอู่ฮั่นและเริ่มระบาดในเมืองอื่น ทำให้ตรวจพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ

 

เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อควรมีการสอบสวนโรค เพื่อจำกัดวงการระบาดให้แคบที่สุด ด้วยการซักถาม ‘ไทม์ไลน์’ กิจกรรมและการเดินทางที่ผ่านมา ติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในไทม์ไลน์มาซักถามเพิ่มเติม หากเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงจะต้องกักตัวและตรวจหาเชื้อ และทำความสะอาดสถานที่ที่ผู้ติดเชื้อเดินทางไป การสอบสวนโรคชาวต่างชาติจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ผมไม่แน่ใจว่าทีมในแต่ละจังหวัดพร้อมกันหรือยัง

 

การเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว

ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาหลังจากเปิดประเทศน่าจะเป็นกลุ่ม Test and Go คือเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาทางเครื่องบินจากประเทศในรายชื่อที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนด ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ก่อนเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมง เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยจะเดินทางไปที่โรงแรมโดยไม่แวะที่ใด (Seal Route) จากนั้นตรวจ RT-PCR อีกครั้ง

 

หากผลเป็นลบจะสามารถเดินทางไปได้ทุกที่ในประเทศ ไม่เฉพาะ ‘พื้นที่สีฟ้า’ นำร่องด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น หากนักท่องเที่ยวป่วยหรือตรวจพบเชื้อระหว่างเที่ยวในจังหวัดใด (ศบค. กำหนดให้มีการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 6-7 ด้วยชุดตรวจ ATK แล้วรายงานในแอปพลิเคชันหมอชนะ) จังหวัดนั้นจะต้องสอบสวนโรคแล้วประสานงานกับจังหวัดอื่นที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาให้สอบสวนโรคต่อ

 

opening country

 

กรณีนักท่องเที่ยวติดเชื้อมาจากประเทศต้นทาง การสอบสวนโรคจะไม่มีความซับซ้อนมาก แต่นักท่องเที่ยวมีโอกาสติดเชื้อจากภายในประเทศไทยได้ หากเดินทางไปเที่ยวในจังหวัดที่การระบาดยังสูงอยู่ เช่น เชียงใหม่ หรือก่อนจะเดินทางไปตราดต้องผ่านจันทบุรี (พื้นที่สีแดงเข้ม) กรณีนี้ทีมจะต้องขยายผลการสอบสวนโรคต่อ แต่ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่เยอะอยู่ก่อนแล้วก็อาจทำได้ไม่ครอบคลุม

 

การสอบสวนโรคในนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

การสอบสวนโรคน่าจะยึดตามแนวทางที่ใช้อยู่ในประเทศไทย ล่าสุดเป็นฉบับเดือนสิงหาคม 2564 ขั้นตอนการสอบสวนโรคประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การทบทวนประวัติผู้ติดเชื้อรายแรกที่ตรวจพบ (Index Case) และการค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมด้วยการติดตามผู้สัมผัสหรือค้นหาเชิงรุก การสัมผัสที่มีโอกาสได้รับเชื้อจะเริ่มนับตั้งแต่ช่วง 2 วันก่อนเริ่มมีอาการ เพราะก่อนหน้านั้นผู้ป่วยยังไม่แพร่เชื้อ

 

ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน และตรวจหาเชื้ออย่างน้อย 1 ครั้ง 

  • หากตรวจด้วย RT-PCR ต้องตรวจ 1 ครั้งในวันที่ 7 นับจากวันสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย แต่ถ้าจังหวัดมีความพร้อมในการตรวจ ให้ตรวจเพิ่มในวันแรกที่พบผู้สัมผัส เพื่อให้สามารถแยกรักษาได้เร็วขึ้น 
  • หากตรวจด้วย ATK ต้องตรวจ 3 ครั้ง โดยตรวจทันทีที่พบผู้สัมผัส หากผลเป็นลบให้ตรวจซ้ำอีก 2 ครั้งในช่วง 3-5 วัน และ 10-14 วัน นับจากการตรวจครั้งแรก แต่ไม่เกินระยะฟักตัว 14 วัน

 

แต่ถ้ายึดตามแนวทางของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) ปรับปรุงล่าสุดเมื่อตุลาคม 2564 จะมีข้อยกเว้นให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ไม่จำเป็นต้องกักตัว แต่ควรตรวจหาเชื้อในช่วงวันที่ 5-7 นับจากวันสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย และจะต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาที่เข้าไปในอาคารที่เป็นสถานที่สาธารณะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ จนกว่าจะทราบผลการตรวจหาเชื้อเป็นลบ

 

ทีมสอบสวนโรคควรเตรียมอะไรเพิ่มเติม

จากการสอบสวนโรคนักท่องเที่ยวชาวจีนเมื่อต้นปีที่แล้ว ผมมีบทเรียนประมาณ 3 ข้อที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทีมสอบสวนโรคหลังจากเปิดประเทศอีกครั้ง กล่าวคือ 

 

  1. ต้องเตรียมล่ามแปลภาษา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ โดยตอนนั้นกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ต้องจ้างล่ามภาษาจีนในการสื่อสารระหว่างทีมกับผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสที่เดินทางมาด้วยกัน

 

  1. ต้องเตรียมสถานที่กักกัน (Quarantine) จากแผนภาพของ ศบค. สังเกตว่ามีขั้นตอนเฉพาะ ‘ผู้ติดเชื้อ’ ซึ่งจะถูกแยกรักษาที่โรงพยาบาลหรือ Hospitel แต่ยังไม่มีขั้นตอนสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาด้วยกัน ซึ่งจะกลายเป็น ‘ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูง’ ที่ต้องกักตัว 14 วัน แต่นักท่องเที่ยวไม่มีที่พักในประเทศ และไม่ควรให้พักโรงแรมปะปนกับผู้อื่น แต่ละจังหวัดจึงต้องเตรียม LQ เดิม หรือโรงแรมที่เคยเป็น ASQ ไว้

 

  1. ต้องมีช่องทางประสานงานกับผู้ให้บริการเรียกรถแท็กซี่ นักท่องเที่ยวน่าจะใช้บริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน หากมีช่องทางประสานงานกับบริษัทผู้ให้บริการ ทีมจะสามารถติดตามพนักงานขับรถที่ผู้ติดเชื้อใช้บริการมาคัดกรองความเสี่ยงได้เร็วขึ้น หรือถ้านักท่องเที่ยวเรียกรถข้างทาง ต้องตรวจสอบกล้องวงจรปิด ควรขอความร่วมมือตำรวจในพื้นที่ช่วยระบุทะเบียนรถให้

 

ทั้งนี้ ศบค. กำหนดให้นักท่องเที่ยวใช้แอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ ระหว่างที่ท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อติดตามอาการและบันทึกผลการตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง ซึ่งเดิมออกแบบให้ช่วยในการสอบสวนโรค เพราะแอปพลิเคชันจะเก็บข้อมูลการเดินทางผ่านระบบ GPS ด้วย แต่ที่ผ่านมาภาครัฐยังไม่ประสบความสำเร็จในการใช้แอปพลิเคชันนี้มาก่อน จึงไม่มั่นใจว่าสามารถนำมาใช้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้มากน้อยเพียงใด

 

นักท่องเที่ยวต่างชาติ vs. แรงงานต่างชาติ

ศบค. กำหนดมาตรการสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาทางเครื่องบินไว้ค่อนข้างรัดกุม แต่การเปิดประเทศทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มสูงขึ้น จึงมีแรงงานต่างชาติลักลอบเข้าประเทศ รวมถึงมีขบวนการรับจ้างพาหลบหนีเข้าเมืองมากขึ้น ถึงแม้ ศบค. จะเพิ่มความเข้มงวด และมีข่าวการจับกุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง แต่นั่นอาจไม่เพียงพอ และเสี่ยงต่อการระบาดเหมือนระลอกที่ 2 ได้

 

การนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมายและการจัดทำฐานข้อมูลแรงงานต่างชาติน่าจะเป็นทางออกสำหรับเรื่องนี้ โดยมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องร่วมกันออกแบบวิธีการที่เหมาะสม เช่น การตรวจหาเชื้อด้วย ATK ที่จุดผ่านแดนแล้วมากักตัวก่อนเข้าทำงาน หรือเข้ากักตัวในสถานที่ที่กำหนดบริเวณชายแดนจนครบ 14 วัน แล้วถึงจะเดินทางเข้ามาทำงานได้ เป็นต้น

 

การเปิดประเทศในเดือนพฤศจิกายนนี้อยู่บนความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน (Vaccine Coverage) ที่ยังไม่ครอบคลุมในระดับประเทศ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 มีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 30.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 42.9% ส่วนระดับจังหวัดที่ใกล้เคียง 80% มีเพียงกรุงเทพฯ และภูเก็ตเท่านั้น ในระหว่างที่รอการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่ละจังหวัดจึงต้องเตรียมมาตรการควบคุมและป้องกันโรคอื่นรองรับไว้

 

จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อน้อยหรือการระบาดอยู่ในระดับต่ำควรสอบสวนโรคอย่างเข้มข้น เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ หรืออย่างน้อยก็ชะลอไม่ให้เกิดหลายคลัสเตอร์ในเวลาเดียวกัน ร่วมกับการเฝ้าระวังโรคในกลุ่มอาชีพที่ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว เช่น พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม สนามบิน ซึ่งก็เป็นบทเรียนจากการระบาดระลอกแรกเช่นกัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X