×

กลยุทธ์จัดการ Supply Chain ให้องค์กรก้าวกระโดดแบบไม่สะดุดในโลกยุคใหม่

06.08.2021
  • LOADING...
Supply Chain

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางความไม่แน่นอนในสถานการณ์ปัจจุบัน ธุรกิจต้องเผชิญความท้าทายในการจัดการซัพพลายเชนเป็นอย่างมาก จากผลสำรวจ 2021 KPMG CEO Outlook Pulse Survey ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2021 พบว่า ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกเห็นว่า ความเสี่ยงด้านซัพพลายเชน (Supply Chain Risk) เป็นความเสี่ยงลำดับต้นๆ ที่จะส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น บริษัทจำเป็นต้องวางแผนรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ สถานการณ์โควิดได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อซัพพลายเชน ทำให้หลายบริษัทพยายามหาทางบริหารจัดการให้เกิดความยืดหยุ่น คล่องตัว พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เช่น

 

  • เพิ่มแหล่งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการสั่งซื้อวัตถุดิบและเพิ่มช่องทางการขนส่ง
  • เปลี่ยนจากการสั่งซื้อวัตถุดิบผ่านหน้าร้าน (Offline) เป็นการสั่งซื้อออนไลน์ (Online)
  • เพิ่มความหลากหลายของช่องทางการติดต่อสื่อสารและรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า เช่น เพิ่มช่องทางการขายแบบออนไลน์ โดยผ่าน E-Commerce ของบริษัทเอง หรือผ่าน E-Marketplace ของผู้ให้บริการรายอื่นๆ ตลอดทั้งการใช้บริการเดลิเวอรี เพื่อส่งสินค้าให้ลูกค้าเร็วที่สุด    
  • เปิดคลังเก็บและกระจายสินค้าชั่วคราวเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่ในการจัดส่งมากที่สุด
  • ปรับโมเดลธุรกิจสู่ B2C (Business to Consumer) ให้เกิดการขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตหรือผู้ค้าตรงไปยังผู้บริโภค

 

การจัดการซัพพลายเชนเพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าตรงเวลาหรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด บริษัทจำเป็นต้องนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์และวางแผน รวมถึงอาศัยความร่วมมือจากผู้ผลิต ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ และองค์กรต่างๆ ที่อยู่ในซัพพลายเชน มาทำให้การจัดหา การผลิต และการส่งมอบสินค้าและบริการให้ลูกค้าเป็นไปได้อย่างไม่สะดุด

 

บริษัทควรจัดการ Supply Chain ในโลกยุคใหม่อย่างไร?

สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากซัพพลายเชน และทำให้ซัพพลายเชนเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการสร้างข้อได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ คือ การลดความซับซ้อนในทุกขั้นตอน เพิ่มความรวดเร็ว ความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และการคาดการณ์ความเสี่ยงล่วงหน้า เพื่อบริหารจัดการและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยหนึ่งในแนวทางการจัดการซัพพลายเชนยุคใหม่ คือ การปรับรูปแบบการจัดการซัพพลายเชนแบบมีขั้นตอนต่อเนื่องเป็นแบบเครือข่ายแทน โดยอาศัยความเชื่อมโยงของข้อมูลในการบริหารจัดการให้เกิดความรวดเร็ว คล่องตัว และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน 

 

การจัดการซัพพลายเชนรูปแบบเดิม

 

Supply Chain

 

การจัดการซัพพลายเชนรูปแบบใหม่

(ซัพพลายเชนแบบเครือข่าย โดยสร้างความเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล)

 

Supply Chain

อ้างอิง: KPMG

 

การจัดการซัพพลายเชนแบบเครือข่ายจะมี Supply Chain Control Tower ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมข้อมูลการบริหารจัดการซัพพลายเชน โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการบริหารจัดการ เช่น Advanced Data Analytics โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาวิเคราะห์ วางแผน สนับสนุนการตัดสินใจ บริหารจัดการ และติดตามผลของทุกขั้นตอนในกระบวนการ เช่น การวางแผนที่แม่นยำจากการเชื่อมโยงข้อมูลในซัพพลายเชนทุกส่วน การจัดหาหรือสั่งซื้ออัตโนมัติ การสืบค้นแหล่งที่มาของวัตถุดิบอย่างถูกต้องและรวดเร็ว การบริหารจัดการการผลิตแบบเรียลไทม์ การบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การบริหารจัดการและติดตามการขนส่งให้เกิดความปลอดภัย การส่งมอบสินค้าและบริการที่ตรงเวลา รวมถึงการติดตามข้อมูลและเอกสาร การดำเนินงานของพนักงาน ระดับความพึงพอใจของลูกค้า เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีต่อลูกค้า ตลอดทั้งการคาดการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการ โดยอาศัยข้อมูลจากทั้งภายในและภายนอกซัพพลายเชนมาประมวลผล เช่น ข้อมูลทางการตลาด ความผันผวนของสถานการณ์ต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ใช่เพียงคำตอบเดียวที่ทำให้การจัดการซัพพลายเชนในโลกยุคใหม่ประสบความสำเร็จ บริษัทต้องคำนึงถึงปัจจัยในด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ดังนี้

 

  1. Strategic Alignment: การจัดการซัพพลายเชนต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กร
  2. Value Maximization: ประเมินประโยชน์ที่ได้จากการจัดการซัพพลายเชนอยู่เสมอ ทั้งในด้านประสิทธิภาพ คุณค่า ความคล่องตัว ความเสี่ยง การบริหารต้นทุนอย่างเหมาะสม เป็นต้น
  3. People: ยกระดับความรู้ ทักษะของพนักงาน ให้พร้อมจัดการซัพพลายเชนยุคใหม่ เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างไร พนักงานยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จ
  4. Partnership: สร้างเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขัน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของพันธมิตรในการส่งมอบสินค้าและบริการได้อย่างรวดเร็ว สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าสูงสุด
  5. ESG (Environmental, Social and Governance): บริหารจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน โดยนำประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) มาผสมผสานเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชน

 

ด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ธุรกิจควรเร่งจัดการซัพพลายเชนที่ตอบโจทย์ สร้างความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร กระบวนการ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด โดยจะนำมาซึ่งการขับเคลื่อนธุรกิจให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising