ตลาดหุ้นไทยเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในดัชนีหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีสุดเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยดัชนีปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,400 จุด ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน มาอยู่ที่ระดับ 1,482 จุด เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา หรือปรับเพิ่มขึ้นราว 5.2%
การเพิ่มขึ้นของดัชนีหุ้นไทยรอบนี้ เป็นไปตามทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศที่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะไทยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศได้ดี อีกทั้งการมาของวัคซีนโควิด-19 จะช่วยให้เศรษฐกิจโลก และการท่องเที่ยวกลับมาได้ในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม จากการพบเคสผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศวันเดียวสูงถึง 535 ราย ถือเป็นประเด็นที่เข้ามากดดันดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า
สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คงส่งผลเชิงลบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่ก็ถือว่าสอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า หากดัชนีปรับตัวลดลงคงเป็นเพียงการปรับฐานระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังต้องติดตามต่อระยะยาว อย่างน้อยเคสล่าสุดที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 500 ราย ก็ทำให้ต้องติดตามตัวเลขอื่นๆ ที่จะติดเชื้อต่อจากจำนวนนี้อีกราว 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ หากอ้างอิงจากความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศที่เคยเกิดกรณีเดียวกัน คือพบผู้ติดเชื้อในแหล่งแรงงานข้ามชาติ อาทิ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น พบว่าดัชนีปรับฐานลงราว 1-2% จากนั้นก็จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับที่สอดรับกับปัจจัยพื้นฐาน
“ส่วนตลาดหุ้นไทยเอง หากมีการปรับฐานลงระยะสั้นๆ และดัชนีลงไปซื้อขายที่ระดับ 1,400 จุด ก็สมเหตุสมผล และสอดรับกับปัจจัยพื้นฐานในปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าหุ้นไทยปรับขึ้นแรงและเร็วมาก”
เขากล่าวเพิ่มว่า ในระยะกลาง-ยาว ภาพรวมการลงทุนยังอยู่กับเทรนด์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากความชัดเจนของวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น และเริ่มกระจายให้แก่ประชาชนในแต่ประเทศ ฉะนั้นธีมการลงทุนในระยะกลาง-ยาว ยังคงเน้นหุ้นกลุ่มที่จะกำไรฟื้นตัวสูง และหุ้นที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงหุ้นเทคโนโลยีที่เป็นเทรนด์แห่งอนาคตเช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม ในมิติของเศรษฐกิจจริง ยอมรับว่ากำลังซื้อที่ถูกคาดหวังว่าจะฟื้นตัวในช่วงปลายปีจะไม่เป็นไปตามคาด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่พบผู้ติดเชื้อ ซึ่งกลุ่มที่รับผลกระทบหนักก็ยังเป็นกลุ่มท่องเที่ยวและค้าปลีกรายย่อยต่างๆ ซึ่งต้องติดตามมาตรการจากรัฐบาลอย่างใกล้ชิดว่ามีแผนรองรับอย่างไร ในส่วนของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เชื่อว่ารัฐบาลไม่น่าจะประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่น่าจะใช้วิธีล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่เสี่ยงมากกว่า
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ คงจะคล้ายๆ กับความกังวลที่ปะทุขึ้นมาหลายรอบก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้ค่อนข้างจะรุนแรงกว่าในเชิง Sentiment ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อและการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว ซึ่งประเด็นที่คนกลัวคือเรื่องของการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเริ่มเห็นจากจังหวัดต้นตอแล้ว และปรากฏการณ์ที่จะเริ่มเห็นมากขึ้นคือการกระตุ้นให้คนอยู่บ้านมากขึ้น
ฉะนั้นแล้วธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบคงจะหนีไม่พ้นร้านอาหาร โรงแรม โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า รวมถึงระบบขนส่งมวลชน
ส่วนดัชนี SET เช้าวันจันทร์ (21 ธันวาคม 2563) น่าจะเปิดลบจาก Panic Sell ด้วยเช่นกัน และหากการแพร่ระบาดครั้งนี้นำไปสู่การล็อกดาวน์ ก็จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงอีกครั้ง
“ความน่ากลัวของ SET คือที่ผ่านมา Price in แต่ข่าวดี เมื่อมีข่าวร้ายเข้ามากระทบ ประกอบกับ Valuation ที่เปราะบาง ทำให้ SET มีโอกาส Panic Sell ออกมาได้ ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนอาจจะไม่ได้เตรียมตัวรับมือ และข้ามข่าวร้ายไปเสียหมด กรณีนี้จะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนช่วงไตรมาส 1/64”
สำหรับผลกระทบต่อดัชนี SET ในเชิงตัวเลขคงจะประเมินได้ยาก แต่ในเชิงมูลค่าพื้นฐานมองว่าแนวรับอยู่ที่บริเวณ 1,400 จุด และมีแนวรับสำคัญที่ 1,350 จุด ซึ่งอาจจะไม่ลงไปถึงก็ได้ เพราะ SET ปรับขึ้นมาไกลมากพอสมควร แต่จากกรณีนี้คงยากที่ SET จะทะลุ 1,500 จุด ช่วงปลายปีนี้
นอกจากนี้ ต้องจับตาค่าเงินบาทด้วย ส่วนหนึ่งที่ต่างชาติเข้าซื้อก่อนหน้านี้เพราะไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี แต่ถ้าเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ อาจเห็นแรงขายล็อกกำไรในส่วนของค่าเงินในระลอกแรกได้ และจะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงแรก
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์