×

สงครามรัสเซีย-ยูเครนเฟสใหม่: เมื่อรถถัง NATO ออกศึก สงครามเตรียมยกระดับ?

06.02.2023
  • LOADING...

เป็นที่ฮือฮากันอีกระลอก เมื่อทางฟากฝั่งค่ายตะวันตกกระพือข่าวเรื่องการส่งมอบรถถัง NATO ตัวจริงให้กับกองทัพยูเครน

 

รถถังที่ว่านี้คือรถถังตระกูล M1 Abrams, Leopard 2 และ Challenger 2

 

แน่นอนว่าพอมีกระแสข่าวฮือฮาขึ้นมาอีกรอบย่อมสร้างความฉงนให้กับผู้ติดตามสถานการณ์การสู้รบอย่างไม่ต้องสงสัยว่านี่อาจเป็นสัญญาณบอกเหตุบางอย่าง เช่น การยกระดับสงคราม การปรับเปลี่ยนแผนการบางอย่างหรือไม่ อย่างไร

 

ก่อนอื่นต้องย้ำอีกครั้งว่าการที่พันธมิตร NATO ส่งบรรดารถถัง รถหุ้มเกราะ ยานรบ ยานลำเลียงพล หรือยุทโธปกรณ์ทำนองนี้ (ต่อไปนี้จะขอใช้คำสั้นๆ ว่า ‘รถถัง’) ไปให้กับกองทัพยูเครนในการสู้รบต้านทานกับกองทัพรัสเซียนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องใหญ่โตอะไร เพราะอันที่จริงก่อนหน้านี้ทางพันธมิตร NATO โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก (ที่เคยเป็นรัฐบริวารสหภาพโซเวียต) อย่างโปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย ฯลฯ ต่างก็ได้ส่งรถถังค่ายโซเวียตเก่าที่ตนเองมีอยู่ อย่างเช่นรถถังในตระกูล T-56, T-72 ไปช่วยยูเครนแล้วก่อนหน้านี้

 

การที่บรรดาชาติพันธมิตร NATO ที่เคยเป็นกลุ่มประเทศบริวารสหภาพโซเวียตเดิมต้องบริจาคสรรพาวุธของตนให้กับยูเครนนั้นจริงๆ ก็เหมือนเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว’ นกตัวแรกคือการได้รับคำสรรเสริญจากยูเครน รวมถึงพันธมิตรตะวันตกว่าเป็นผู้เสียสละทรัพยากรเพื่อยับยั้งภัยคุกคามของรัสเซีย ได้เกียรติภูมิมากขึ้นบนเวทีโลก ส่วนนกตัวที่สองคือการได้ของใหม่มาแทนที่ของเดิม กล่าวคือเดิมทีต้องใช้รถถังโซเวียตเก่าๆ ในสต๊อกก็จะได้มีรถถังใหม่ๆ จากค่ายอเมริกาบ้าง เยอรมันบ้าง เข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บ พูดสั้นๆ คือได้ระบายของออกนั่นเอง

 

ที่น่าสังเกตคือ อะไรคือเหตุผลที่ทางตะวันตกต้องกระพือข่าวนี้ออกไปเป็นวงกว้าง?

 

ผู้เขียนมองว่าอาจถูกใช้มาเป็นสิ่งซัพพอร์ตกับ ‘เรื่องราว’ ที่ทางฝ่ายตะวันตกกำลังวาดขึ้นและพยายามบอกชาวโลกเกี่ยวกับสถานการณ์การสู้รบในยูเครน เรื่องราวที่ว่าคือยูเครนเป็นฝ่ายตั้งรับมาโดยตลอดและเพื่อให้ยูเครนสามารถตีโต้รัสเซียกลับออกไป แล้วเข้าไปยึดดินแดนที่รัสเซียยึดครองได้ ก็คือได้เวลาส่งของดีของเทพอย่างรถถังตะวันตกไปให้ใช้สักที

 

แต่ในความเป็นจริงข้อเท็จจริงที่มักไม่ได้รับการบอกเล่าแบบเน้นๆ คือจริงๆ แล้วสมาชิก NATO ในยุโรปตะวันออกได้ส่งรถถังตัวเองให้ยูเครนมาก่อนหน้านี้หลายเดือนแล้ว เช่น โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย ก็ได้ส่งรถถัง T72M/M1 รวมๆ กันก็ตกราว 300 กว่าคันได้แล้ว ยังไม่รวมสโลวีเนียที่ได้ส่งรถถัง M55S ซึ่งเป็นรถถัง T55 ค่ายโซเวียต/Warsaw Pact ที่ได้รับการปรับปรุงด้วยมาตรฐาน NATO เช่น เปลี่ยนจากปืนขนาด 100 มม. เป็น 105 มม. เป็นต้น นอกเหนือไปจากรถถังก็ยังมีพวกยานรบ ยานสายพานลำเลียงพลต่างๆ ทั้งของค่าย Warsaw Pact เก่า เช่นพวก BMP และของค่าย NATO เช่น YPR-765, M113 ซึ่งอย่างหลังนี่ร่วมกันส่งให้ยูเครนรวมๆ แล้ว 500 กว่าคัน ยิ่งถ้านับรวมพวกปืนใหญ่อัตตาจรชนิดต่างๆ ด้วยแล้ว เผลอๆ นับรวมกันน่าจะได้กว่า 2,000 ยูนิตแล้วที่ยูเครนได้ไปโดยตลอดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

 

แต่เผอิญว่ารอบนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ส่งรถถัง NATO แท้ๆ ที่ผลิตโดยตะวันตกไปให้ยูเครนตีตะลุยรัสเซีย

 

และ ‘เรื่องราว’ นี้จะต้องมีความน่าเกรงขามด้วยการให้คนมองภาพรถถัง NATO ที่ผลิตโดยอเมริกา เยอรมนี และอังกฤษ มีความเทพกว่า เหนือกว่า ใหม่กว่ารถถังโซเวียต/รัสเซีย

 

ข้อเท็จจริงที่ควรทราบคือทั้งรถถังฝั่ง NATO อย่าง M1 Abrams, Leopard 2 และรถถังโซเวียต/รัสเซียอย่าง T72, T80 มีจุดเริ่มต้นประจำการในยุคไล่เลี่ยกันคือช่วงสงครามเย็นทศวรรษที่ 1970-1980 และต่อมารถถังดังกล่าวก็มีการพัฒนาต่อยอดออกมาเป็นหลายรุ่นในอีกหลาย 10 ปีให้หลังเยอะแยะเต็มไปหมด (ผู้เขียนเองก็ขอสารภาพว่าไม่สามารถที่จะจำได้หมด) แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่บางครั้งด้วยความที่รุ่นแยกย่อยของรถถังเหล่านี้มีมากจนกระทั่งอาจมีการจับแพะชนแกะ จับเอารถถังรุ่นต้นมาเทียบกับรถถังรุ่นปลาย ซึ่งแน่นอนว่าผลการเทียบเคียงแสนยานุภาพอาจจะออกมาผิดพลาดได้ จะต้องดูให้ดีๆ หรืออย่างรถถังฝั่งโซเวียต/รัสเซีย เอาแค่ตระกูล T72 ก็สามารถแยกย่อยออกมาได้เช่น T-72 Ural, T-72A, T-72AV, T-72M, T-72M1, T-72B obr.1985, T-72B1, T-72B mod.1989, T-72S, T-72B1MS White Eagle, T-72B2 Rogatka, T-72B3 mod.2011, T-72B3 mod.2016, T-72B3 mod.2022 ฯลฯ

 

จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นชื่อ T72 แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีเฉพาะตัวที่ผลิตในช่วงปี 1972 แต่ยังมีเวอร์ชันปรับปรุงใหม่สุดๆ ที่ปี 2022 ด้วยเช่นกัน

 

ดังนั้นประเด็นว่าใครใหม่กว่าใครก็เป็นอันต้องตกไป เพราะทั้งฝั่ง NATO และฝั่งรัสเซียเองก็ใหม่พอๆ กัน

 

ประเด็นที่น่าหยิบเอามาคิดคือ หลักนิยมของการสร้างรถถังของแต่ละค่าย

 

รถถังฝั่งรัสเซียมีลักษณะเด่นคือคันเล็ก ใช้ลูกเรือน้อยกว่าคือ 3 คน โดยปกติมี 4 คน คือ ผบ.รถ, พลขับ, พลยิง และพลเปลี่ยนกระสุน แต่มีการใช้ Autoloader มาใช้ทำให้ประหยัดคนลงไปอีกคันละ 1 นาย จึงสามารถเอาทรัพยากรตรงนี้ไปเฉลี่ยลงในรถถังคันใหม่ได้เยอะกว่า พูดสั้นๆ คือผลิตรถถังพร้อมลูกเรือได้ Mass ขึ้นกว่าเดิม (สมมติใน 1 หน่วยรถถังมีทรัพยากรมนุษย์แค่ 12 คน ถ้าใช้การจัดอัตราปกติคือรถถังคันละ 4 คน คุณจะมีรถถังพร้อมรบแค่ 3 คัน แต่ถ้าคุณจัดเหลือคันละ 3 คน คุณจะมีรถถังพร้อมรบเป็น 4 คัน) นอกจากนี้ จุดอ่อนของรถถังรัสเซียอีกอย่างคือการทำความเร็วถอยหลังได้ช้า (ถ้าถึงเวลาต้องถอยจะหันหลังหนีไม่ได้เพราะจุดอ่อนอย่างเครื่องยนต์อยู่ด้านหลัง) เพราะตลอดระยะเวลาที่มีการพัฒนารถถังโซเวียต/รัสเซียจะเน้นการบุก เน้นตะลุยใช้ความเร็วไปข้างหน้า

 

ทำไมโซเวียตถึงมีหลักคิดผลิตรถถังแบบนี้? เพราะตอนนั้นคิดกันว่าถ้าสงครามเย็นเดือดเป็นสงครามร้อนขึ้นมา โซเวียตจะได้มีรถถังจำนวนมหาศาลบุกตะลุย NATO อย่างไม่หยุดยั้งจนถึงช่องแคบอังกฤษ กว่าอเมริกาจะส่งกองกำลังหลักข้ามทะเลมาก็ไม่ทันการ ดังนั้นความเร็วมุ่งไปข้างหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญกว่าการถอยหลัง

 

ส่วน NATO พอรู้แกวหลักคิดของฝ่ายโซเวียตก็เลยมีหลักคิดของตัวเองออกมาแก้เกมฝ่ายตรงข้าม นั่นก็คือเน้นการตั้งรับ และด้วยเหตุนี้รถถังฝ่าย NATO จึงมีการให้ความสำคัญกับความเร็วถอยหลังบวกกับมีเกราะด้านหน้าหนาเป็นพิเศษ ดูได้จาก M1 Abrams และ Leopard 2 เพื่อที่จะหันเกราะด้านหน้าเข้าหาฝ่ายตรงข้ามได้ตลอดเวลา

 

สรุปก็คือแต่ละฝ่ายก็มีจุดอ่อนจุดแข็งสลับกันไป

 

แต่อาจจะมีคำถามว่า ถ้าบรรดาพันธมิตร NATO ส่งของใหม่ให้ยูเครนรอบนี้ รัสเซียจะตอบโต้อย่างไร?

 

แน่นอนรัสเซียออกมาตอบโต้เชิงขู่แล้วว่าการที่ NATO ส่งของใหม่มาแบบนี้ย่อมจะเป็นเหตุให้ยกระดับความขัดแย้งที่มีอยู่ให้เข้มข้นกว่าเดิม

 

แต่ผู้เขียนก็มองว่ารัสเซียเองก็คงรู้ดีอยู่แก่ใจว่า NATO ไม่ได้เพิ่งจะส่งมาครั้งแรก (เพียงแต่เพิ่งส่งรถถัง NATO แท้ๆ ครั้งแรก) แต่ครั้งนี้ฝั่งตะวันตกตีฟูมากหน่อย แน่นอนรัสเซียก็ต้องตอบกลับในลักษณะที่ตีฟูเช่นกัน และถ้ามองย้อนกลับไป คำตอบของรัสเซียในลักษณะนี้ก็มีหลายครั้งแล้วเช่นกัน อย่างมากที่สุดก็อาจปล่อยจรวดหรือโดรนพลีชีพใส่ยูเครนมากเป็นพิเศษอะไรทำนองนั้นมากกว่าเป็นเชิงสัญลักษณ์

 

และเมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ นอกเหนือไปจากเรื่องแสนยานุภาพและหลักคิดการผลิตรถถังของแต่ละฝ่ายแล้ว ยังมีเรื่องนโยบายของแต่ละฝั่ง เช่น ในหมู่ประเทศ NATO ด้วยกันอาจมีความเห็นที่ต่างกันเรื่องการส่งซัพพลายอาวุธยุทโธปกรณ์ไปให้ยูเครนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นผลประโยชน์ที่อาจไม่ลงตัวหรือเรื่องในทำนองนี้ หรือแม้กระทั่งสภาพอากาศ/ฤดูกาลต่างๆ ที่อาจเป็นหรือไม่เป็นไปตามปกติของธรรมชาติที่จะเป็นคุณหรือโทษของแต่ละฝ่ายในการช่วงชิงความได้เปรียบของแต่ละฝ่ายเช่นกัน

อย่างที่เคยบอกมาโดยตลอดว่า เรื่องนี้ต้องดูกันไปยาวๆ

 

แฟ้มภาพ: M-Production / Shutterstock

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising