×

เคาะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด 5-22 บาท แบ่ง 7 ระดับ สูงสุด 330 บาท ต่ำสุด 308 บาท มีผล 1 เม.ย. นี้

18.01.2018
  • LOADING...

หลังการประชุมบอร์ดค่าจ้างมาราธอนกันเกือบ 7 ชั่วโมง ในที่สุดที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างมีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดทั่วประเทศ 5-22 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้ 1 เมษายนปีนี้ โดยไม่มีผลย้อนหลัง

 

 

เมื่อเวลา 22.45 น. วันที่ 17 มกราคม 2561 จรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง เปิดเผยผลการประชุมบอร์ดค่าจ้าง ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 ว่าค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศมี 7 ระดับ แบ่งตามสภาพเศรษฐกิจ การเจริญเติบโต และดัชนีผู้บริโภคที่ลูกจ้างสามารถอยู่ได้

 

 

โดยจังหวัดที่ค่าจ้างสูงสุดมี 3 จังหวัดคือ ภูเก็ต, ชลบุรี และระยอง ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 330 บาทต่อวัน

 

 

รองลงมามี 7 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน

 

 

ระดับที่ 3 มี 14 จังหวัดคือ อุบลราชธานี, สุพรรณบุรี, สระบุรี, อยุธยา, หนองคาย, ลพบุรี, ตราด, ขอนแก่น, สงขลา, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, เชียงใหม่, นครราชสีมา และพังงา ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 320 บาทต่อวัน

 

 

ระดับที่ 4 มี 7 จังหวัดคือ จันทบุรี, สมุทรสงคราม, สกลนคร, มุกดาหาร, นครนายก, กาฬสินธุ์ และปราจีนบุรี ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 318 บาทต่อวัน

 

 

ระดับที่ 5 มี 21 จังหวัดคือ ร้อยเอ็ด, ประจวบคีรีขันธ์, นครสวรรค์, สระแก้ว, พัทลุง, อุตรดิตถ์, อุดรธานี, นครพนม, บุรีรัมย์, สุรินทร์, เพชรบุรี, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, ชัยนาท, เลย, ยโสธร, พะเยา, บึงกาฬ, น่าน, กาญจนบุรี และอ่างทอง ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 315  บาทต่อวัน

 

 

ระดับที่ 6 มี 22 จังหวัดคือ สิงห์บุรี, นครศรีธรรมราช, ตรัง, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน, เชียงราย, สุโขทัย, กำแพงเพชร, พิจิตร, อุทัยธานี, ศรีสะเกษ, ตาก, ชัยภูมิ, อำนาจเจริญ, แพร่, ราชบุรี, ระนอง, มหาสารคาม, ชุมพร, หนองบัวลำภู และสตูล ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 310 บาทต่อวัน

 

 

และระดับที่ 7 กลุ่มที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำสุดคือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ นราธิวาส, ยะลา และปัตตานี ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 308 บาทต่อวัน

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี ขณะเดียวกันได้เสนอให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 50 คน ต้องมีโครงสร้างเงินเดือนหรือค่าจ้างเพื่อให้ลูกจ้างได้มองเห็นอนาคตว่าในแต่ละปีจะได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเท่าไร เพื่อเป็นการประกันว่าจะมีการขึ้นค่าจ้างทุกปี

 

รวมถึงมีการเสนอให้พื้นที่ 3 จังหวัดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่นำร่องของการกำหนดค่าจ้างลอยตัว ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการในการหาลูกจ้างเข้ามาในสถานประกอบการของตัวเอง

 

ทั้งนี้จะนำข้อสรุปดังกล่าวเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานในวันที่ 18 มกราคม และนำเข้าคณะรัฐมนตรีทันทีในวันที่ 23 มกราคม โดยที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างเห็นตรงกันว่าให้ค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นี้ควรมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป โดยไม่มีผลย้อนหลัง ทั้งนี้เพื่อเผื่อเวลาให้นายจ้างและผู้ประกอบการได้ปรับตัว

 

ประธานบอร์ดค่าจ้างกล่าวด้วยว่า การปรับขึ้นค่าจ้างปกติมีการปรับขึ้นทุกปี แต่ที่ผ่านมาเมื่อปี 2554 ปรับขึ้นเยอะมากจากร้อยกว่าบาทมาเป็น 300 บาท ก็มีมติว่าไม่ให้ขึ้นค่าจ้าง 3 ปี ซึ่งเพิ่งจะมาขึ้นค่าจ้างปีที่แล้วครั้งเดียวเท่านั้น

 

 

สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำมีการกำหนดครั้งแรกในปี 2516 ในพื้นที่กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, นนทบุรี และปทุมธานี ที่อัตรา 12 บาท

 

 

ขณะที่การปรับค่าจ้างครั้งใหญ่ที่สุดของไทยคือเมื่อปี 2556 เป็นครั้งแรกที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ จากเดิม (1 มกราคม 2554 ถึง 1 เมษายน 2555) ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 159-221 บาท

 

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่ 

 

ภาพประกอบ: draeaminem

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X