×

MG เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ‘NEW MG EP’ เคาะราคา 1 ธ.ค. ชี้รัฐยังออกมาตรการหนุนคนใช้ EV ได้ตรงจุดกว่านี้

26.11.2020
  • LOADING...
NEW MG EP

ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ทิศทางการทำตลาดของค่ายรถยนต์ MG (บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด) ในช่วงระยะหลังๆ มานี้ให้ความสำคัญกับการบุกตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นอย่างมาก โดยล่าสุดได้เปิดตัว NEW MG EP รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบ 100% ซึ่งมาในรูปโฉมสเตชันแวกอน (Station Wagon) คันแรก

 

รถยนต์ไฟฟ้า NEW MG EP มาพร้อมกับจุดเด่นในด้านรูปลักษณ์แบบสเตชันแวกอน ตัวห้องโดยสารใหญ่ นั่งสะดวกสบาย​ ฐานล้อกว้าง และยังขยายพื้นที่ด้านหลังเพื่อเพิ่มความกว้าง ‘Leg Room’ ส่วนพื้นที่จัดเก็บของสามารถพับเบาะได้แบบ 60:40 เพื่อช่วยให้จุสัมภาระได้สูงสุดที่ 1,456 ลิตร

 

ตัวรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแบบ 100% ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนความจุ 50.3 kWh วิ่งได้สูงสุดในระยะทาง 380 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง มอเตอร์ไฟฟ้า 120kw พร้อมกำลังสูงสุดที่ 163 แรงม้า ช่วยให้ทำอัตราเร่งจาก 0-100 ได้ภายในระยะเวลา 8.8 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (รูปแบบการขับขี่ทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ โหมด Normal โหมด ECO และโหมด Sport)

 

นอกจากนี้ ตัวแบตเตอรี่ยังมาพร้อมกับระบบระบายความร้อนแบบ Liquid Cooling System ที่จะช่วยให้แบตเตอรี่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ในทุกสถานการณ์ และกันน้ำกันฝุ่นที่ระดับ IP67

 

อีกจุดเด่นของ NEW MG EP คือคุณสมบัติของความประหยัด ซึ่งทาง MG เคลมว่า ในการชาร์จแบตเตอรี่จากไฟบ้านที่ 0-100% จะต้องจ่ายค่าไฟที่ประมาณ 200 บาทต่อครั้งเท่านั้น หรือคิดเป็นอัตราสิ้นเปลืองที่ราวๆ 80 สตางค์ต่อกิโลเมตร และมีค่าบำรุงรักษาอยู่ที่ 7,828 บาทต่อ 100,000 กิโลเมตร เนื่องจากไม่มีค่าบำรุงรักษาเครื่องยนต์

 

โดยการใช้งานในระยะยาว หากแบตเตอรี่ของตัวรถยนต์ NEW MG EP มีปัญหา ก็สามารถเลือกซ่อมเฉพาะ ‘โมดูล’ ได้ ไม่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ยกทั้งชุด (โมดูลตัวหนึ่ง สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 บาท) ช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบำรุงรักษาถูกลงอย่างเห็นได้ชัด โดยยังสามารถนำตัวรถเข้าตรวจซ่อมปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในทุกๆ ศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาของ MG ทั่วประเทศ

 

NEW MG EP มีสีตัวถังให้เลือก 3 สี คือ ขาว (Arctic White), เงิน (Metallic Grey) และดำ (Black Knight) โดยจะเปิดราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการที่งาน Motor Expo 2020 ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563 พร้อมเปิดรับจองภายในงาน และโชว์รูม MG ทุกสาขาทั่วประเทศ (ข้อมูลอื่นๆ ติดตามได้ที่เว็บไซต์ของ MG ประเทศไทย)

 

สำหรับการเปิดตัว NEW MG EP ในครั้งนี้ ส่งผลให้ MG มีโปรดักต์ไลน์ในกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นคันที่ 3 แล้ว หลังจากเดือนมิถุนายนปีที่แล้วได้เปิดตัว NEW MG ZS EV รถไฟฟ้าแบบ 100% วางจำหน่ายในท้องตลาดด้วยราคาเอื้อมถึงได้ที่ 1.19 ล้านบาท และกวาดยอดขายไปได้แล้วทั้งสิ้นกว่า 2,000 คัน 

 

ขณะที่เมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ เพิ่งเปิดตัวรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด NEW MG HS PHEV เพื่อเพิ่มทางเลือกรถยนต์พลังงานสะอาดให้กับผู้ที่สนใจได้เลือกจับจอง ส่งผลให้ MG สามารถครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้มากกว่า 90% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า MG ยังมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกในประเทศไทยอย่างชัดเจน เนื่องจากมองเห็นโอกาสที่ค่ายผู้ผลิตหลายรายยังไม่ก้าวเข้ามาในตลาดนี้ ประกอบกับการที่ MG และบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ต่างก็มีทรัพยากรและต้นทุนที่พร้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

 

“เรามียอดขาย MG ZS EV กว่า 2,000 คันแล้วในประเทศไทย แต่ลำพังการมีรถไฟฟ้าแค่โมเดลเดียวคงไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เราจึงเปิดตัว EP ออกมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย และสร้างมาตรฐานขั้นต่ำของรถยนต์ไฟฟ้าในไทยที่เหมาะสม (ราคา ขนาดตัวรถ และสมรรถนะ)

 

“ภายในปีนี้เรายังมีแผนจะพัฒนาจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ครบ 100 จุดทั่วประเทศไทย ส่วนปีหน้าเราตั้งเป้าจะเพิ่มสถานีชาร์จให้ครอบคลุม 500 จุดทั่วประเทศ ส่วนการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการผลิตรถยันต์สันดาป ICE ในอนาคตของ MG ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด แต่เราจะพยายามเปิดตัวรถพลังงานทางเลือกรุ่นใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นประโยชน์ และอยากเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ทางเลือก

 

สำหรับประเด็นการออกมาตรการสนับสนุนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยนั้น ผู้บริหาร MG มองว่า รัฐบาลจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนมากกว่านี้ในการกระตุ้นดีมานด์ สนับสนุบให้ผู้บริโภคหันมาพิจารณาการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลาย โดยชี้ว่าการให้สิทธิการผลิตรถยนต์ในกลุ่มไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า BEV เท่าๆ กัน อาจจะเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้องสักเท่าไร

 

“จริงๆ แล้วการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ระหว่างรถยนต์พลังงานทางเลือกทั้ง 3 ประเภทควรจะแตกต่างกัน เนื่องจากรถแต่ละประเภทมีต้นทุนในการผลิตที่แตกต่างกัน ส่วนอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่โต เป็นเพราะความกังวลด้านจุดชาร์จ ซึ่งจะแก้ไขได้ด้วยการผลักดันส่งเสริมของรัฐบาลในการพัฒนาระบบนิเวศให้ดียิ่งขึ้น

 

“ส่วนนโยบายส่งเสริมผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้านั้น ผมมองว่ารัฐอาจจะต้องมีแนวทางการดำเนินงาน มาตรการการสนับสนุนที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมมากกว่านี้”

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X