แบตเตอรี่ลิเธียม-ซัลเฟอร์ถูกพูดถึงมาหลายปีแล้วสำหรับการเป็นแบตเตอรี่ชนิดใหม่แห่งอนาคต ที่กำลังจะมาทดแทนแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ด้วยให้พลังงานสูง มีอายุการใช้งานยาวนาน ปลอดภัย และราคาถูก แต่ปัญหาใหญ่สำคัญที่ทำให้แบตเตอรี่ยังไม่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายคือ การลดลงของความจุไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว และมีรอบการใช้งานที่สั้น
ปัญหานี้กำลังจะหมดไป เพราะทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมนาช ในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ได้ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Science Advances ซึ่งอ้างว่า พวกเขาได้พัฒนาแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จสมาร์ทโฟนได้เป็นเวลา 5 วัน หรือให้พลังงานรถยนต์ไฟฟ้า 1,000 กิโลเมตร
หากเทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง จะเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการพัฒนาพลังงานสีเขียวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทีมนักวิจัยกล่าวว่า แบตเตอรี่ลิเธียม-ซัลเฟอร์ที่สร้างขึ้นนั้น ‘มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก’ และสามารถให้ผลลัพธ์ได้ดีกว่าแบตเตอรี่แบบดั้งเดิมถึง 4 เท่า ที่สำคัญยังมีราคาที่ถูกลงมาก และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิต
กุญแจสำคัญที่ทำให้แบตเตอรี่ลิเธียม-ซัลเฟอร์มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นคือ การปรับปรุงการยึดเหนี่ยวของอนุภาคในแคโทดของกำมะถัน ซึ่งช่วยให้แบตเตอรี่รับมือกับแรงดันที่สูงขึ้น โดยที่ยังมีเสถียรภาพและไม่ลดประสิทธิภาพลง
“งานของพวกเราจะปฏิวัติตลาดรถยนต์ของออสเตรเลีย และมอบตลาดพลังงานที่สะอาดและไว้ใจได้ให้กับชาวออสเตรเลีย” ศ.ไมนาก มาจัมเดอร์ หัวหน้านักวิจัย กล่าวในการแถลงข่าว
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากรัฐบาลออสเตรเลีย ขณะนี้ได้จดสิทธิบัตรแบตเตอรี่ใหม่เรียบร้อยแล้ว และมีการทดสอบเพิ่มเติมในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากยังมีความความท้าทายและข้อจำกัดบางประการเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอยู่
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: