เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติในวาระที่ 3 เห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ. … เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 180 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง
โดยสาระสำคัญคือ การปรับเพิ่มอัตราค่าชดเชยให้กับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยจะได้ค่าชดเชยอัตราใหม่เป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน เป็นการปรับเพิ่มเติม สำหรับคนที่ทำงานมาครบ 20 ปี ซึ่งรวมถึงกรณีนายจ้างมีการเปลี่ยนตัว เปลี่ยนนิติบุคคล หากลูกจ้างไม่ยินยอม ก็สามารถรับค่าชดเชยพิเศษตามกฎหมายฉบับนี้
ขณะที่อัตราค่าชดเชยในช่วงอายุงานอื่นๆ ยังคงเดิม ดังนี้
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10 ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน
อย่างไรก็ตาม สิทธิพิเศษที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายนี้คือ กรณีย้ายสถานประกอบการไปที่อี่น หากลูกจ้างไม่ตามไปก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ และได้สิทธิ์ชดเชยตามอัตราดังกล่าว ซึ่งกฎหมายเก่าจะไม่ได้ชดเชย ต้องตามไปอย่างเดียว แต่กฎหมายใหม่ให้สิทธิ์ลูกจ้างเลือกได้
นอกจากนี้ยังให้ลูกจ้างลากิจธุระจำเป็นโดยยังได้ค่าจ้าง 3 วันทำงานต่อปี ขณะที่ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ลาก่อนคลอด-หลังคลอดได้ 98 วัน จากเดิม 90 วัน รวมถึงให้สิทธิเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชาย โดยระบุว่าลูกจ้างชายหญิงมีงานเท่าเทียมกัน ต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า