หลังจากเห็นผู้มีจิตศรัทธาทุกเชื้อชาติจากทั่วโลกแวะเวียนไปกราบไหว้และเข้าร่วม ‘พิธียืมเงินเจ้าแม่กวนอิม’ ในวันเปิดพระคลัง หรือวันเปิดทรัพย์ ที่วัดเจ้าแม่กวนอิมฮ่องฮำ ในฮ่องกง ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วคนที่ไม่สะดวกบินไปถึงฮ่องกงจะสามารถเข้าร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ได้หรือไม่ และถ้าอยากกราบไหว้ขอพร เจ้าแม่กวนอิม ในเมืองไทยมีที่ไหนบ้าง?
คำตอบคือ ได้! สามารถไหว้ตามสถานที่จัดพิธีที่มีองค์เจ้าแม่กวนอิมประทับอยู่ หรือจะไหว้ที่บ้าน ตั้งรูปเคารพ ทำพิธีขอเงินทองโชคลาภก็ได้เช่นกัน
ในเมืองไทยสถานที่ที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมมีอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ ตำหนักพระแม่กวนอิม โชคชัย 4 กรุงเทพฯ, พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม รามอินทรา กรุงเทพฯ ศาลเจ้าแม่กวนอิม วัดเกาะลอย ศรีมหาราชา จังหวัดชลบุรี และ วิหาร อี่ ทง เทียน ไท้ กบินทร์บุรี
จากความสงสัยนำไปสู่การพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิหาร อี่ ทง เทียน ไท้ ไม่ว่าจะเป็นที่มาขององค์พระโพธิสัตว์กวนอิมแกะสลักจากหยกขาวที่ประดิษฐานภายในวิหาร แรงบันดาลใจในการออกแบบวิหาร และแนวคิดในการปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์กบินทร์บุรี ให้กลายเป็นศูนย์รวมใจของคนกบินทร์บุรีและแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของไทย
THE STANDARD จึงถือโอกาสลงพื้นที่สำรวจและพูดคุยกับ เทียนไท กีระนันทน์ ผู้รับผิดชอบดูแลโครงการวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม อี่ ทง เทียน ไท้ กบินทร์บุรี
เทียนไท กีระนันทน์ ผู้รับผิดชอบดูแลโครงการวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม อี่ ทง เทียน ไท้ กบินทร์บุรี
ระหว่างเดินชมวิหารฯ เทียนไทเล่าว่า บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ได้รับองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมแกะสลักจากหยกขาวโดยชาวจีนที่ปักกิ่ง ด้วยความเลื่อมใสและศรัทธาในองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมเป็นทุนเดิม บุณยสิทธิ์จึงมีดำริให้ใช้พื้นที่ด้านหน้าสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์กบินทร์บุรี ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี สร้างวิหาร อี่ ทง เทียน ไท้ ในปี 2558 ด้วยเงินส่วนตัวและเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา โดยจำลองแบบมาจาก ‘หอบูชาฟ้า’ หรือ ‘หอสักการะฟ้าเทียนถาน’ ในกรุงปักกิ่ง ที่จักรพรรดิราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ซิง ใช้เป็นสถานที่บวงสรวงเทพยดาเพื่อขอพรให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล
องค์พระโพธิสัตว์กวนอิมปางประทานพร
องค์พระโพธิสัตว์กวนอิมที่ประดิษฐานภายในวิหารแห่งนี้คือองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมปางประทานพร ประทับยืนบนหลังพญามังกรที่เวียนว่ายอยู่กลางมหาสมุทร มือถือแจกันประทานน้ำอมฤต น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ และกิ่งหลิว
ความพิเศษขององค์พระโพธิสัตว์กวนอิมองค์นี้คือ องค์พระแกะสลักจากหยกขาวชิ้นใหญ่ที่ได้มาจากเหมืองในป่าลึกของเมืองนับปีตรู ประเทศพม่า มีความสูง 2.62 เมตร หนัก 2.8 ตัน ฐานบัวบนประติมากรรมแกะสลักลวดลายพญามังกรสูง 0.45 เมตร หนัก 0.78 ตัน ฐานมังกรสูง 1.02 เมตร หนัก 4.95 ตัน และฐานแปดเหลี่ยมสูง 0.91 เมตร หนัก 5.9 ตัน
“ฐานดอกบัวบานวางอยู่บนประติมากรรมแกะสลักเป็นลวดลายพญามังกรเวียนว่ายกลางมหาสมุทร”
ถอดรหัสสถาปัตย์ ‘วิหารแห่งความศรัทธา’
วิหาร อี่ ทง เทียน ไท้ มีการออกแบบผังอาคารวิหารเป็นวงกลมตามแบบหอสักการะฟ้าเทียนถาน หลังคาซ้อน 3 ชั้น มุงกระเบื้องสีเขียว
“วิหารแห่งนี้เป็นวิหารแรกที่นำกระเบื้องโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบางประกบด้วยกระจกเทมเปอร์ 2 ชั้น มาใช้เป็นวัสดุมุงหลังคาทรงกาบกล้วย เลียนแบบกระเบื้องหลังคาจีน เพื่อใช้เป็นพลังงานบนยอดหลังคาและผืนหลังคาตอนกลางคืน นอกจากนั้นยังติดตั้งเสาล่อฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนการดึงพลังงานจากฟ้ามายังผู้มีจิตศรัทธาที่มาสักการะองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม” เทียนไทเล่าต่อว่า ตัววิหารทำช่องประตูรอบวิหาร 12 ช่อง เป็นตัวแทนของ 12 นักษัตร รวมถึงเสาวงใน 12 ก็เป็นตัวแทนของ 12 เดือน ในขณะที่เสาวงนอกหมายถึง 12 ชั่วยาม
“ฝ้าเพดานเป็นรูปมันดาลา หมายถึงมณฑลศักดิ์สิทธิ์แห่งการตรัสรู้ มีภาพวาดตำนานพระโพธิสัตว์กวนอิม 11 ปาง ที่คัดมาจาก 84 ปาง นอกจากนั้นยังมีสัญลักษณ์มงคลต่างๆ ภายในวิหารและภายนอกวิหาร เช่น มังกร เมฆ ดอกบัว ที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ความบริสุทธิ์ ความเจริญ อย่างราวระเบียงรอบวิหารทั้ง 3 ชั้น ออกแบบให้เหมือนวงกระเพื่อมของน้ำ เปรียบได้กับภูมิจักรวาลในไตรภูมิกถา มีทางเข้าออกเชื่อมกันในแต่ละชั้น ชั้นละ 4 ด้าน เช่นเดียวกับหลักปฏิบัติ 4 ประการในพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และถ้าสังเกตอักษรมงคลที่มีความหมายต่างกันไปแต่ละชั้น รวมถึงปูนปั้นลวดลายมังกรที่ขนาบข้างตัวอักษร เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงผู้ปกป้องคุณงามความดี เป็นมงคลยิ่งแก่ผู้มาสักการะ” เทียนไทเล่า
โถงอเนกประสงค์ชั้นใต้ดิน นอกจากเสา 24 ต้นที่เชื่อมจากตัวอาคารด้านบน ยังมีเสาต้นที่ 25 ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางโถง “เชื่อกันว่าเป็นเสารับพลังฟ้าดิน เพราะเป็นเสาประธานที่สร้างขึ้นเพื่อฐานรององค์พระโพธิสัตว์กวนอิมที่ประดิษฐานอยู่ด้านบน” เทียนไทยังบอกด้วยว่า ความตั้งใจของประธานบุณยสิทธิ์คือต้องการให้เสาแต่ละต้นเป็นตัวแทนของบริษัทและบุคคลสำคัญที่ทำให้เครือสหพัฒน์เติบโตอย่างแข็งแกร่งมาจนถึงทุกวันนี้ เปรียบเสมือนเสาที่ช่วยกันพยุงวิหาร นอกจากนั้นผนังโดยรอบยังมีเรื่องราวของบริษัทในเครือและบุคคลสำคัญเหล่านั้นให้ผู้ที่สนใจได้อ่านกัน
กิจกรรม ‘รับพลังชีวิต’ ประจำปี
สำหรับผู้มีจิตศรัทธาสามารถเข้ามาสักการะองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น. ส่วนบริเวณโถงชั้นใต้ดินจะเปิด 06.00-18.00 น.
แต่ถ้าใครอยากเปิดรับพลังชีวิต พลังจากฟ้าดินแบบจัดเต็ม ทางวิหารจะจัดกิจกรรมสักการะประจำปี ทุกวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี และมีการจัดกิจกรรมตามวันสำคัญและเทศกาลต่างๆ เช่น พิธีสวดมนต์ถวายแด่พระโพธิสัตว์กวนอิม, วันพระจีน (วันชิวอิก), งานเทศกาลตรุษจีน ฯลฯ
“วันที่ 18 มีนาคมนี้ เราจะจัดกิจกรรมวันประสูติพระโพธิสัตว์กวนอิม เริ่มตั้งแต่ตอน 09.30 น. จะทำพิธีเปิดมนต์จีน และจะมีพิธีสวดมนต์กงฮุก สวดมนต์ปักเต้า สวดมนต์กิมบ้อ สวดมนต์ไต่ปุยปอฉ่ำ ตั้งแต่ช่วงเช้าไปจนถึงบ่าย นอกจากนั้นยังเตรียมกิจกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเวียนธูป ลอยดอกบัวขอพร และถวายเทียนคู่”
จะเตรียมของไหว้บูชาองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมไปเองหรือจะใช้ของที่วิหารจัดเตรียมไว้ให้ก็ได้ หลักๆ ที่ต้องมีคือ น้ำสะอาดใส่ในภาชนะใหม่และสะอาด ดอกบัวสีชมพู/สีขาว หรือดอกมะลิ ผลไม้ และธูป 5 ดอก
วิธีขอพร ใครที่ต้องการขอพรเรื่องโชคลาภให้อธิษฐานและสัมผัสที่ตัวพญามังกร ถ้าจะขอพรเรื่องหน้าที่การงานและครอบครัวให้มั่นคงให้สัมผัสที่ฐานดอกบัว และถ้าขอพรเรื่องสุขภาพให้อธิษฐานว่าท่านได้เทน้ำมนต์ลงจากคนโท (แจกัน) มาสู่ร่างกายของเรา
แลนด์มาร์กฮีลใจแห่งใหม่ของชาวกบินทร์บุรีและคนไทย
มากไปกว่าการสร้างวิหารเพื่อให้ผู้ที่นับถือองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมได้มาเคารพกราบไหว้ บุณยสิทธิ์ยังตั้งใจสร้างพื้นที่กว่า 4 ไร่นี้ให้กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจและแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชาวกบินทร์บุรีและคนไทย
เดิมทีลานอเนกประสงค์ของสวนอุตสาหกรรมฯ มีกิจกรรมเกิดขึ้นตลอดทั้งปี เช่น งานสหกรุ๊ปแฟร์ กบินทร์บุรี งานแฟร์ใหญ่ของชาวกบินทร์บุรี รวมถึงงานเทศกาลประจำปีต่างๆ ไปจนถึงจัดตั้งเป็นศูนย์กลางการฉีดวัคซีนโควิดและบริจาคเลือด
การวางแผนสร้างวิหารฯ จึงมองไปถึงการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบและภายในสวนอุตสาหกรรมให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้คน
“ท่านเล็งเห็นว่า กบินทร์บุรีเป็นเส้นทางที่ชาวต่างชาติรวมถึงคนไทยใช้เป็นทางผ่านไปยังจังหวัดปราจีนบุรีและนครราชสีมา อีกทั้งองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมมีคนเคารพนับถือและกราบไหว้บูชาไม่แต่เฉพาะคนไทย แต่รวมถึงคนจีนและคนไต้หวัน หรือคนแถบเอเชีย จึงอยากให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกบินทร์บุรี ที่ไม่เพียงต้อนรับผู้ที่มากราบไหว้องค์พระโพธิสัตว์กวนอิมแต่ยังออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนเข้ามาใช้เป็นสถานที่พักผ่อนทำสมาธิ และเป็นที่ทำกิจกรรมต่างๆ”
นอกเหนือไปจากการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ตลอดทั้งปีด้วยไม้ดอกนานาพันธุ์ จนกลายเป็นแหล่งเช็กอินแห่งใหม่ของจังหวัด เห็นว่าตอนนี้กำลังเตรียมการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ภายในสวนเพื่อให้คนที่เข้ามามีที่นั่งพักผ่อนมากขึ้น
“ในอนาคตเรามีแผนที่จะปรับปรุงพื้นที่ให้น่าสนใจมากขึ้น นอกจากมากราบไหว้องค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ยังสามารถมาถ่ายรูปตามจุดต่างๆ จะมีร้านกาแฟให้นั่งพักผ่อน รวมถึงสเตชันชาร์จรถ EV คาดว่าน่าจะได้เห็นช่วงปีหน้าอย่างแน่นอน” เทียนไทกล่าวทิ้งท้าย
เช็กอินวิหาร อี่ ทง เทียน ไท้ แล้วไปเที่ยวไหนต่อดี?
เพื่อให้การเดินทางมารับพลังชีวิตสมบูรณ์แบบที่สุด ขอแจกพิกัดแหล่งท่องเที่ยวใกล้ๆ เผื่อใครอยากหากิจกรรมทำเพิ่มหรืออยากทำคอนเทนต์ต่อ
- สนามกอล์ฟกบินทร์บุรี สปอร์ต คลับ เอาใจสายกีฬากับสนามกอล์ฟ ระดับแชมเปียนชิป มีความยาว 8,075 หลา เป็นสนามกอล์ฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทยและยาวเป็นอันดับที่ 10 ของโลก
- แก่งหินเพิง เอาใจสายแอดเวนเจอร์กับกิจกรรมล่องแก่งหินเพิงท่ามกลางสายน้ำและแก่งสำคัญๆ ทั้ง 7 แห่ง
- ไร่ศักดิ์สุภา รีสอร์ท เที่ยวชมทุ่งดอกหงอนนาคบนพื้นที่กว่า 10 ไร่ จะแวะเที่ยวแล้วกลับหรือจะพักเข้าพักที่นี่ก็ได้
- อุทยานแห่งชาติทับลาน ป่าลานผืนสุดท้ายของไทย ไปดูพันธุ์ไม้โบราณหาชมยากที่มีลักษณะคล้ายต้นปาล์มให้เห็นกับตา
- อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา โครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายในพระราชดำริของรัชกาลที่ 9
การเดินทางไป วิหาร อี่ ทง เทียน ไท้
- เส้นทางนครนายก ทางถนนหมายเลข 33 เมื่อเข้าเขตกบินทร์บุรี วิหารจะอยู่ทางซ้ายมือ
- เส้นฉะเชิงเทรา จากถนนหมายเลข 304 เลี้ยวซ้ายที่แยกตัดถนนหมายเลข 33 ชิดซ้ายก่อนถึงแยกเพื่อมุ่งหน้าไปยังปราจีนบุรี วิหารตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์กบินทร์บุรี