×

กูรูห่วงตั้งรัฐบาลใหม่ช้าทำเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสุญญากาศ ห่วงรีดภาษีคนรวยทำรัฐสวัสดิการ กระทบความน่าดึงดูดในการลงทุน

29.05.2023
  • LOADING...

กูรูห่วงตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าทำเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสุญญากาศ หนุนก้าวไกลทลายทุนผูกขาด ปราบทุจริต แต่ห่วงรีดภาษีคนรวยเพื่อมุ่งสู่รัฐสวัสดิการกระทบความน่าดึงดูดในการลงทุน มองไทยอาจจำเป็นต้องขึ้น VAT เพื่อหารายได้

 

ศุภวุฒิ สายเชื้อ อดีตที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวในงานเสวนา ‘ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่’ จัดโดยมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของไทยที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ต้องล่าช้าออกไปจากไทม์ไลน์ปกติ สิ่งที่จะตามมาคือภาวะสุญญากาศทางเศรษฐกิจ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าน่ากังวลหากเกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนจากนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

“ที่สหรัฐฯ​ เรายังเห็นความผิดปกติของเศรษฐกิจและตลาดเงิน เช่น สถานการณ์แบงก์ล้ม และภาวะ Inverted Yield Curve หากเราทอดเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลออกไปจนเกิดภาวะถดถอยหรือ Recession ในสหรัฐฯ ขึ้นมาเราจะลำบาก เพราะเราเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิด ปัจจัยภายนอกจึงมีผลค่อนข้างมาก” ศุภวุฒิกล่าว

 

เมื่อถูกถามว่าหากต้องเลือกวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ควรจะต้องรีบเข้ามาจัดการ 3-5 เรื่องจะเลือกทำอะไรบ้าง ศุภวุฒิตอบว่า เรื่องแรกคือการโละและปรับปรุงกฎระเบียบ หรือกิโยตินกฎหมาย (Regulatory Guillotine) ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคเอกชนและการปราบคอร์รัปชันอย่างจริงจัง เรื่องที่ 2 คือการพัฒนาการศึกษา เร่งอัปสกิลและรีสกิลคนไทยอย่างจริงจังให้สามารถแข่งขันกับโลกยุคใหม่ได้ เนื่องจากผลการศึกษาและวัดระดับนานาชาติจากหลายหน่วยงานสะท้อนว่าเราต้องปรับปรุงทักษะของเด็กไทย

 

อีกหนึ่งเรื่องที่คิดว่าต้องเร่งทำคือการทลายทุนผูกขาด ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ตัวเองเห็นด้วย เนื่องจากปัจจุบันบริษัทใหญ่ 5% ในไทยทำรายได้ถึง 85% ของรายได้บริษัททั้งหมดและครองกำไรถึง 60% ของกำไรภาคธุรกิจทั้งหมด ซึ่งมันสะท้อนว่าโครงสร้างเชิงธุรกิจของไทยมีปัญหา ธุรกิจ SMEs และสตาร์ทอัพไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม โดยมองว่าการแก้ไขสามารถทำได้ผ่านการเพิ่มความโปร่งใสของการทำสัญญาต่างๆ กับภาครัฐและการส่งเสริมให้ธุรกิจรายใหญ่ของไทยออกไปแข่งขันในตลาดโลกที่ไม่สามารถผูกขาดได้

 

อย่างไรก็ดี มีบางนโยบายของพรรคก้าวไกลที่มองว่าอาจต้องใช้ความระมัดระวังเช่นกัน เช่น การทำรัฐสวัสดิการที่ต้องจัดเก็บภาษีหลายประเภทเพิ่มขึ้นจากคนรวย เช่น ภาษีจากกำไร Financial Transaction Tax และ Capital Gain Tax เพราะการเก็บภาษีเหล่านี้จะมีผลให้คนไม่อยากมาลงทุนในยามที่เราต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

 

“ปัจจุบันดอกเบี้ยในสหรัฐฯ อยู่ที่ 5.25% และตลาดมองว่ามีโอกาสจะขึ้นได้อีก แต่เราจะเก็บภาษีเพิ่มทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนลดลงอีก ถ้ารวมกับนโยบายขึ้นค่าแรง เรื่องเหล่านี้จะเป็น Headwind ทำให้เราฟื้นตัวยาก เมื่อ 20 ปีก่อน FDI จากต่างชาติที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคเคยมีสัดส่วนการลงทุนในไทยถึง 40% แต่ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ 8.9% เรื่องนี้จึงต้องระมัดระวัง” ศุภวุฒิกล่าว

 

เมื่อถูกถามถึงแนวทางการขึ้นภาษีโดยให้มีผลกระทบต่อการลงทุนน้อยที่สุด ศุภวุฒิกล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าสามารถทำได้ผ่านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT กลับไปที่ระดับ 10% ซึ่งเป็นระดับที่แท้จริงของไทย โดยทุกๆ 1% ที่ปรับขึ้นจะช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่ม 8 หมื่นล้านบาทและสามารถจัดเก็บได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้มักจะไม่เป็นที่นิยมทางการเมือง  

 

ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเดียวกันว่า โดยส่วนตัวได้อ่านบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคการเมืองแล้ว และเห็นด้วยกับทุกข้อ และมองว่าไม่มีอะไรที่น่าห่วง อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังมีความกังวลว่าการจัดตั้งรัฐบาลอาจจะมีความล่าช้า ซึ่งในกรณีดังกล่าวการจะออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยรัฐบาลรักษาการจะต้องได้ให้ กกต. เป็นผู้ตัดสินซึ่งต้องใช้เวลา

 

“หนึ่งในแนวคิดที่ผมเห็นด้วยคือการจัดทำงบแบบฐานศูนย์หรือ Zero Base Budget เพราะอะไรที่ไม่ดีจะสามารถตัดออกได้จริง จะมีประโยชน์มาก แต่ปีนี้อาจไม่ทัน เพราะกว่าจะตั้งรัฐบาลยังต้องใช้เวลา อาจต้องไปเริ่มทำกันในปีหน้า” ณรงค์ชัยกล่าว

 

ณรงค์ชัยให้ความเห็นอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำอย่างเร่งด่วนคือการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำมาหากิน เปรียบเสมือนเป็นการติดอาวุธให้คน ขณะเดียวกันก็อยากให้แก้ปัญหาคอร์รัปชันให้มีความโปร่งใส โดยเปิดให้มีระบบ Whistleblower สำหรับแจ้งเบาะแส ซึ่งมองว่าเรื่องนี้จะช่วยภาคธุรกิจได้มาก

 

อย่างไรก็ดี จากการประเมินเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีเชื่อว่าราคาสินค้าและบริการคงจะทรงตัวอยู่ในระดับสูง ไม่ปรับลดลงมา เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการบางส่วนได้อั้นการปรับขึ้นราคาตามต้นทุนเอาไว้ ทำให้รัฐบาลใหม่อาจต้องเจอคือการเรียกร้องจากประชาชนให้ภาครัฐคุมราคาเพื่อช่วยเหลือ

 

“การคุมราคาไม่ใช่เรื่องดี รัฐบาลจะสนองได้แค่ไหนต้องขึ้นอยู่กับฐานะการคลังของประเทศ ซึ่งฐานะการคลังของประเทศในเวลานี้ไม่ดี แม้เราจะขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะขึ้นไปเป็น 70% แต่เมื่อครบ 10 ปีก็ต้องกลับมาที่ระดับ 60% อีกครั้ง การใช้จ่ายจึงต้องระมัดระวัง โดยส่วนตัวมองว่าเราควรจะขึ้น VAT สัก 1% เป็นอย่างน้อย เพราะปัจจุบันเราเก็บภาษีได้แค่ 15% ของ GDP” ณรงค์ชัยกล่าว

 

ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ให้ความเห็นกรณีที่หุ้นไทยในบางกลุ่มปรับลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายทลายทุนผูกขาดว่า เรื่องนี้ต้องดูว่านโยบายดังกล่าวไปกระทบส่วนใดของตลาด เพราะหากดูหุ้นเบสิกหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานดีจริงๆ จะพบว่าไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนหุ้นที่ตกส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่มี Market Maker ทำให้มันขึ้นมาก่อนหน้านี้

 

“ผมมองว่าการทลายทุนผูกขาดเป็นนโยบายที่น่าเชียร์ เพราะเมืองไทยเราการผูกขาดเริ่มกลายเป็นนิสัย ถ้ามีโอกาสทำได้คิดว่าต้องรีบทำ ซึ่งไม่ดีกับประเทศชาติ หุ้นที่มันตกต้องไปดูว่ามันควรตกจริงๆ เพราะปั่นกันขึ้นมาก่อนหน้านี้หรือเปล่า” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising