×

ไขข้อสงสัย ทำไมคนรุ่นใหม่อ้างอิงตัวเองกับ 2475 ไม่ใช่ ‘14 ตุลา 16 – 6 ตุลา 19’ อย่างคนรุ่นก่อน

20.08.2022
  • LOADING...
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอสรุปบทเรียนและการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชน ‘การฟื้นฟูคณะราษฎรใหม่: การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยุคดิจิตอล’ ในงาน ‘PBIC RESEARCH SYMPOSIUM: 90 ปี ประชาธิปไตยไทย 88 ปีธรรมศาสตร์’ ณ ห้องพูนศุข มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 

 

กนกรัตน์กล่าวถึงการอ้างอิงตัวเองกับประวัติศาสตร์ในขบวนการเคลื่อนไหวว่า ไม่ว่าขบวนการไหนในโลกก็จะอ้างอิงตัวเองกับชุดประวัติศาสตร์ของความสำเร็จ ความชอบธรรมก่อนหน้านี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง และลดทอนความชอบธรรมของขั้วการเมืองฝั่งตรงกันข้าม การอ้างอิงแบบนี้ใน Social Movement เป็นเรื่องปกติมาก 

 

ประเด็นที่ว่า ทำไมการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 จึงแตกต่างจากการเคลื่อนไหวของ ‘เสื้อเหลือง-เสื้อแดง’ ซึ่ง ‘เสื้อเหลือง-เสื้อแดง’ เลือกอ้างอิงตัวเองกับประวัติศาสตร์ ‘เดือนตุลา’ คือ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 

 

คนเสื้อเหลืองอ้างอิงตัวเองกับ 14 ตุลา ในฐานะขบวนการต่อสู้เพื่อล้มล้างอำนาจที่เขามองว่าเป็น ‘เผด็จการรัฐสภา’ ของ ทักษิณ ชินวัตร เหมือนนิสิตนักศึกษาช่วง 14 ตุลา

 

ในขณะที่คนรุ่น 6 ตุลา 2519 มองว่าตัวเองเป็นเหยื่อความรุนแรงของรัฐที่ใช้ความรุนแรงแบบที่เกิดขึ้นในช่วง 6 ตุลา จะเป็นการอ้างอิงไปคนละแบบ

 

ในขณะที่คนรุ่นใหม่ปฏิเสธประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือมีความชัดเจนในงานวิชาการจำนวนมากที่อ้างอิง 14 ตุลา กับราชาชาตินิยม จึงเกิดคำถามว่า ชนะอะไร ล้มรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร, จอมพล ประภาส จารุเสถียร ได้แล้วภายใน 3 ปี จอมพล ถนอม กับ จอมพล ประพาส กลับมาแล้วเป็นระบอบที่เข้มแข็งกว่าเดิม เป็นการชนะยังไง 

 

และมีความชัดเจนในขบวนการเสื้อเหลืองพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กปปส. ใช้ 14 ตุลา ทำให้ขบวนการคนรุ่นใหม่ ไม่ใช้ 14 ตุลา ในกลไกการอ้างอิงความชอบธรรม

 

ส่วนทำไมคนรุ่นใหม่ไม่อ้างอิงตัวเองกับ 6 ตุลา สำหรับเขา 6 ตุลา คือประวัติศาสตร์แห่งความพ่ายแพ้ จากการได้สัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ว่าทำไมไม่อ้างอิง 6 ตุลา เขาบอกว่า 6 ตุลา ก็แพ้ไม่ใช่เหรอ นักศึกษาถูกปราบเข้าป่า ทำไมเราต้องอ้างอิงตัวเองกับประวัติศาสตร์ที่ดูไม่มีความหวังแบบนั้น 

 

คนรุ่นใหม่มอง 6 ตุลา แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้านี้ที่มองว่า 6 ตุลา เป็นขบวนการนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ถูกกระทำโดยรัฐ 

 

แต่คนรุ่นนี้มองว่า สำหรับเขา 6 ตุลา คือ ‘ฝ่ายซ้าย’ เพราะงานประวัติศาสตร์สมัยใหม่ คนรุ่นใหม่ไม่ได้มองแบบที่ ‘คนเดือนตุลา’ อยากให้เขามอง ประวัติศาสตร์ทางความคิดทางการเมืองสมัยใหม่เติบโตมากขึ้น คนรุ่นใหม่เข้าใจ 6 ตุลา ไปหลากหลายแบบมากๆ แล้ว 

 

ในแง่นี้เขาไม่ได้อยากอ้างอิงตัวเองกับขบวนการฝ่ายซ้ายแบบเดิม หลายคนโดยเฉพาะแกนนำ เข้าใจและเห็นปัญหาของขบวนการฝ่ายซ้ายแบบเดิมด้วย 

 

ประวัติศาสตร์ 2475 ในฐานะเครื่องมือ กรอบคิด ที่ถูกอ้างอิงในการเคลื่อนไหว

กนกรัตน์กล่าวว่า เหตุที่คนรุ่นใหม่เลือก 2475 เพราะ 2475 เป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นประวัติศาสตร์แห่งชัยชนะ จะชนะแบบไหนก็ตาม ก็เป็นชัยชนะ และเป็นประวัติศาสตร์ชุดเดียวที่เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนและอำนาจที่อยู่สูงที่สุดในโครงสร้างทางการเมือง 

 

ตอนไปสำรวจพบว่า นักเรียนมัธยมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยมองแตกต่างกันในแง่เซนส์ของความกังวล การพุ่งเป้าเข็มชี้ทางการเมือง โดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยจะให้ความสำคัญกับปัญหารัฐบาล ปัญหาคอร์รัปชัน และอธิบายทั้งหมดนั้นผ่านระบอบรัฐประหาร ทางออกคือแก้ไขรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งใหม่ 

 

แต่สำหรับนักเรียนมัธยม มีความกังวลประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาก ซึ่งส่วนตัวฟังแล้วตกใจมาก เด็กมัธยมมีความคิดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์แตกต่างจากเด็กมหาลัยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 

 

ในระยะต่อมาประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ก็กลายเป็นประเด็นสำคัญในการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ หลังกระบวนการสร้างคณะราษฎรรุ่นใหม่ ทำให้ขบวนการนักศึกษาทั้งขบวนการกลายเป็นคณะราษฎรรุ่นใหม่จริงๆ ไม่ว่าเขาจะเชื่อว่าจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ก็ตาม ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กษัตริย์ถูกฝังลงไป จึงเห็นภาพขบวนการทั้งขบวนเชื่อมกับประวัติศาสตร์ 2475 ซึ่งยังไม่จบ 

 

ประวัติศาสตร์ 2475 สำหรับคนรุ่นใหม่ เป็นทั้งเครื่องมือ เป็นทั้งกรอบคิด เป็นประวัติศาสตร์ที่อ้างอิงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ประวัติศาสตร์ 2475 คือวีรบุรุษทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

 

ขณะที่ 2475 เป็นการล้มระบอบทั้งระบอบ และเป็นการล้มโดยคนอายุน้อยมาก เป็นคนอายุยังไม่เกิน 30 ปี หรือ 30 ปีต้นๆ หลายคนอายุ 20 ปีกลางๆ นอกจากนั้นเป็นมิชชันทางการเมืองที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ไม่ใช่แพ้ และจากนี้สำหรับคนรุ่นใหม่คือมิชชันต่อไปที่จะต่อสู้ทางการเมืองโดยมีขั้วการต่อสู้ทางการเมืองจากประชาชนกับอำนาจที่อยู่สูงที่สุดในโครงสร้างทางการเมือง 

 

ประวัติศาสตร์ 2475 เป็นเรื่องคนรุ่นใหม่ อายุน้อย มีการศึกษา มันคือพวกเขา คือสิ่งที่แกนนำเป็น 

 

เลือกตั้งเป็นความหวัง แทนการชุมนุม

กนกรัตน์กล่าวว่า ณ ปัจจุบัน 2 ปี คณะราษฎร 2563 สิ่งที่เราเห็นคือคณะราษฎรสมัยใหม่ กลายเป็นส่วนหนึ่งของคณะราษฎร และไม่ใช่ในนาม 2475 ตอนนี้อยู่ในวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ มองปัญหาทั้งหมดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่ใช่โครงสร้างที่มองแบบคนรุ่นก่อนมอง โดยคนรุ่นก่อนจะประเมินสถานการณ์การเมือง แก้ปัญหาที่กระทรวง แก้ที่ระบบเลือกตั้ง 

 

ขณะที่ตอนนี้คนรุ่นใหม่มองโครงสร้างที่โครงสร้างจริงๆ ไปแล้ว หลังจากทะลุเพดาน ไม่ใช่ทะลุอย่างเดียว แต่เป็นการยกระดับความเข้าใจเรื่องการเมือง เรื่องโครงสร้าง ขึ้นไปถึงระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมันจะทำให้เกิดวิธีคิดใหม่ต่อทางออกในการแก้ปัญหาทางการเมือง 

 

สิ่งที่เขาเสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจดูเป็นการคุกคาม แต่ในอีกแง่หนึ่งสำหรับเขา เขาต้องการแก้ปัญหา แล้วถ้าปัญหามันมีโครงสร้างอยู่เหนือระบบราชการและกองทัพธรรมดา อาจจะไม่ได้หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์เอง แต่โครงสร้างของตัวสถาบันทั้งองคาพยพเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเมืองทั้งหมดอย่างปฏิเสธไม่ได้ 

 

กนกรัตน์กล่าวถึงกระแสการชุมนุมที่ลดลง ว่าก่อนหน้านี้มีคำถามเยอะมากว่า ทำไมม็อบหายไป ทำไมจึงรู้สึกว่าม็อบฝ่อ ม็อบแผ่ว ในเรื่องนี้การเติบโตขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในเชิงทฤษฎี โลกทั้งโลกมีปัญหาความยากจน โลกทั้งโลกมีปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้ โลกทั้งโลกมีระบอบเผด็จการ โลกทั้งโลกมีสงครามตลอดเวลา แต่ทำไมคนทุกคนที่เจอปัญหาไม่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว 

 

เนื่องจากความทุกข์ยากไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้คนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว แต่ทางออกจากความทุกข์ยากนี้ คือกลไกสำคัญที่สุดที่ทำให้คนเลือกที่จะลุกขึ้นมาชุมนุม 

 

การลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวผ่านกรอบคิด 2475 ในช่วงปี 2563 การใช้ 2475 จุดติด เพราะทำให้เห็นว่า

 

  1. คนรุ่นใหม่เคยสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงได้ถ้าเรากดดัน ก็รู้สึกว่า 2475 ยังทำได้เลย ล้มระบบทั้งระบบ 

 

  1. การเมืองมวลชน มีชุดประสบการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ถ้าลุกขึ้นมาชุมนุมจำนวนมหาศาล เราอาจจะกดดันรัฐบาลได้ 

 

  1. มีชุดประสบการณ์ว่า ถ้าม็อบไปสู่สิ่งที่เกือบจะเรียกว่า Riot (จลาจล) ในหลายประเทศ รัฐจะฟังประชาชน 

 

แต่ปัญหาคือ 2 ปีผ่านไป ทั้ง 3 อย่างนี้ไม่ได้ผล 

 

สังคมไทยจำนวนมากมีความตื่นตัว แต่การที่จะทำให้ความตื่นตัวกลายเป็นการเข้าร่วม มีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ใช่ม็อบอย่างเดียว บทบาทของแกนนำ ผู้ประกอบการการเคลื่อนไหว การนำเสนอทางออกทั้งนามธรรมและในทางปฏิบัติ เป็นสิ่งที่คนต้องการ พวกเขาไม่ได้มีเวลามาคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถชนะได้ ทุกคนต้องการไกด์ไลน์ ทุกคนอยากรู้ว่าในเชิงปฏิบัติต้องทำอย่างไร จึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งจากการประเมิน คนมาร่วมม็อบเขาคิดแล้ว เชื่อกรอบคิด 2475 พลังประชาชน การเลือกตั้ง ทั้งหมดนั้นเปลี่ยนแปลงได้ และบางอย่างเคยประสบความสำเร็จ เช่น เคยไปเลือกตั้งแล้วได้พรรคอนาคตใหม่ ก็อาจจะทำให้เชาเชื่อและเป็นกลไกที่ทำให้เห็นว่า 1 เสียงสามารถเปลี่ยนได้ 

 

หลังชุมนุมไป 2 ปีกว่า ตั้งแต่วันแรกจนม็อบทะลุแก๊สจบ เราไม่เคยเห็นรูปแบบที่ซ้ำกัน เขาคิดจนไม่รู้จะคิดยังไง ปัญหาคือ เมื่อไม่เวิร์กคนก็ไม่มาร่วมกับวิธีการที่ไม่ประสบความสำเร็จ 

 

ประการต่อมาคือ ความหวังกับการเลือกตั้ง แน่นอนทุกคนเกียร์ว่างเพื่อรอเลือกตั้ง แต่ในรายละเอียดไม่ใช่เพียงแค่เท่านั้น เพราะเขาเคยมีความหวังและประสบความสำเร็จจากการเลือกตั้งจนได้พรรคอนาคตใหม่ รวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คนรู้สึกว่าการเลือกตั้งเป็นวิธีที่ต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพสูง สร้างความแตกต่างได้ ไปเลือกตั้งง่ายกว่า หรือไปดนตรีในสวนเพื่อแสดงพลังแบบนี้ง่ายกว่า และเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ถูกมาก โดยเฉพาะสำหรับชนชั้นกลางที่ไม่ได้เดือดร้อนมากนัก ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ในแง่นี้ การมีความหวังกับการเลือกตั้งจึงเป็นกลไกที่สำคัญที่ทำให้คนไม่ออกไปชุมนุม 

 

ประวัติศาสตร์ 2475 ในฐานะการประนีประนอม เป็นยาหมดอายุ

กนกรัตน์กล่าวว่า ชีวิตหลังการชุมนุม ในทุกประเทศทั่วโลกการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นตอนชุมนุม การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเกิดขึ้นหลังการชุมนุมนับ 10 ปี เมื่อคนที่เป็นแกนนำและเป็น Active Citizen เข้าไปอยู่ในทุกที่ของสังคม ตัวอย่าง คนเดือนตุลา เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมาก เพราะฝ่ายซ้ายที่พ่ายแพ้ เมื่อเขาเข้าไปยึดกุมพื้นที่ต่างๆ ทางการเมือง ทางสังคม เขากลายเป็นพลังไม่ว่าจะดีหรือร้าย ดังนั้น ในระยะยาวเราจะเห็นบทบาทคนรุ่นใหม่รุ่นนี้ทั้งที่เป็นแกนนำและไม่ใช่แกนนำ 

 

เราเห็นการตื่นตัวขึ้นของกลุ่มใหม่ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในนามการเมือง แต่เป็นกิจกรรมใหม่ๆ กลไกใหม่ๆ ที่มาพร้อมสำนึกใหม่ๆ มากมาย ซึ่งเรายังมองไม่เห็นว่าเป็นกลไกทางการเมือง 

 

อนาคต 2475 ในขบวนการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่จะเป็นอย่างไร การอ้างอิงใช้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องปกติมาก ใช้กันอย่างแพร่หลายในการเคลื่อนไหว เป็นการสร้างกรอบความคิด และได้กลายเป็นกรอบที่อาจจะหมดอายุแล้วในระยะสั้นของการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ 

 

การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในระลอกต่อไป การยกระดับไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นโครงสร้างที่อยู่เหนือพรรคการเมือง อยู่เหนือกองทัพ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทางออกจะไปไกลกว่า 2475 ส่วนตัวเชื่อมั่นในคนรุ่นนี้ ผ่านมา 3 ปี พิสูจน์ว่าคนรุ่นนี้มองโลกอีกแบบหนึ่ง เห็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง การพูดถึงสถาบันทางการเมืองที่เป็นเผด็จการในประเทศนี้และในหลายๆ ประเทศ วิธีคิดไม่ใช่เรื่องการล้มหรือไม่ล้มอีกแล้ว 

 

ข้อเสนอของคณะราษฎรในปัจจุบันมีความพยายามประนีประนอมมาก เมื่อเทียบกับความดื้อดึงของคนรุ่นใหม่ ถ้าฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ตระหนักถึงความประนีประนอมนี้ของคนรุ่นใหม่ ปัญหาก็คือ เขาจะไปไกลกว่านี้แค่ไหน 

 

ที่บอกว่า 2475 หมดอายุในขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ คือการประนีประนอมหมดอายุ ส่วนทางออกไปถึงไหนไม่มีใครรู้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X