×

‘Fed’ ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด 0.25% ครั้งแรกรอบ 4 ปี ส่งสัญญาณขึ้นต่ออีก 6 ครั้งในปีนี้

17.03.2022
  • LOADING...
ดอกเบี้ยนโยบาย

‘Fed’ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ครั้งแรกรอบ 4 ปี ส่งสัญญาณปีนี้ขึ้นต่ออีก 6 ครั้ง พร้อมปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิม 4%

 

เป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลายสำนัก เมื่อผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลงมติให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2018

 

เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวภายหลังการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นทางการระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นทิศทางที่ Fed ต้องมุ่งไปอยู่แล้ว เพราะเป้าหมายสูงสุดของ Fed ในเวลานี้ก็คือการจัดการกับภาวะเงินเฟ้ออย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยพาวเวลล์ยอมรับว่า ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยคุกคามหลักสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมที่ไม่แน่นอนซึ่งพร้อมผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นได้อีก ดังนั้น การจัดการปัญหาเงินเฟ้อนับจากนี้จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก

 

นอกจากนี้ พาวเวลล์ยังกล่าวว่า ตนเองมองไม่เห็นสัญญาณร้ายของวงจร Wage-Price Spiral ด้วยการที่ราคาสินค้าได้ปรับขึ้นอย่างมากจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อราคาสินค้าทุกประเภท จนผู้บริโภคคาดการณ์ว่า การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าดังกล่าวมิได้เป็นภาวะชั่วคราว ทำให้ผู้บริโภคในฐานะลูกจ้างบริษัทเริ่มทำการต่อรองขอขึ้นเงินเดือนกับนายจ้าง พร้อมย้ำว่า ระดับการขึ้นค่าแรงของสหรัฐฯ ในขณะนี้อยู่ในระดับกลางๆ ก่อนตั้งเป้าตัวเลขคนว่างงานในปีนี้จะทรงตัวอยู่ที่ 3.5%

 

เคธี บอสต์ฮันซิค (Kathy Bostjancic) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง Oxford Economics กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในครั้งนี้เป็นเสมือนสัญญาณกระตุ้นให้ตลาดตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่ปรับโฟกัสหันมาให้ความสนใจกับการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างแท้จริง

 

ในมุมมองของบอสต์ฮันซิค แม้สถานการณ์ในปัจจุบันจะมีปัจจัยซับซ้อนเกิดขึ้นมากมาย เช่นสงครามความขัดแย้งในยูเครน และการระบาดของไวรัสโควิดที่ยังไม่คลี่คลาย แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคือการที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

นอกจากนี้ถ้าหากสงครามยูเครนทำให้ Fed ไม่กล้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเลือกที่จะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อ บอสต์ฮันซิคมองว่า Fed ย่อมต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ภาวะเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

 

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ขณะนี้ยังคงออมเงินมากกว่านำเงินมาใช้จ่าย แม้จะได้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นหาก Fed ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อจัดการเงินเฟ้อ ก็มีความเป็นไปได้ว่า Fed อาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นมากกว่าเดิมในภายหลัง

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า Fed จะเลือกผ่อนคลายนโยบายการเงิน หรือคุมเข้มนโยบายการเงิน ผู้เชี่ยวชาญรวมถึงบอสต์ฮันซิคต่างเห็นว่า ทั้งสองทางล้วนมีความเสี่ยงที่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งสิ้น เพราะถ้าใช้นโยบายสายเหยี่ยวที่เข้มงวดมากเกินไปและเร็วเกินไปก็จะส่งผลให้ตลาดการเงินเข้าสู่ภาวะชะงักงัน และทำให้นักลงทุนแห่เทขายสินทรัพย์เสี่ยงจำนวนจนกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมให้เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

 

ขณะเดียวกัน หากเพิกเฉยเรื่องเงินเฟ้อ และเลือกที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป Fed ย่อมต้องหนีไม่พ้นปัญหาเศรษฐกิจจากภาวะเงินเฟ้อในภายหลังอยู่ดี

 

แน่นอนว่า ด้วยสถานะของ Fed บอสต์ฮันซิคมั่นใจว่า Fed จะไม่ยอมปล่อยให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) อย่างแน่นอน ซึ่งก็สอดคล้องกับท่าทีของพาวเวลล์ ประธาน Fed ที่ยืนยันหนักแน่นว่า Fed จะจับตาดูสัญญาณเตือนภัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้ออย่างไม่ให้คลายสายตา

 

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของ Fed นอกจากจะระบุถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% แล้ว ยังได้เปิดเผยถึงการคาดการณ์แนวโน้มที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 6 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ หรือหมายความว่า Fed จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทุกครั้งหลังจากนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของ Fed ณ ช่วงสิ้นปี 2022 จะขึ้นมาอยู่ที่ 1.75-2.00%

 

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม Fed ยังคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2023 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.8% ก่อนที่ในปีถัดไปคือปี 2024 จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใดๆ อีก

 

นอกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ที่ประชุม Fed ยังส่งสัญญาณปรับลดขนาดงบดุลในการประชุมในอนาคต โดยงบดุลดังกล่าวประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) มูลค่ารวมเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์

 

ยิ่งไปกว่านั้น Fed ยังยอมรับว่า ปัจจัยสงครามยูเครนและวิกฤตโควิดจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะใกล้ กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กระนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นก็ถือเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสมในการสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

 

ทั้งนี้ Fed ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในปีนี้สู่ระดับ 1.9% ขณะที่ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ดอกเบี้ยในปี 2023-2024 ไว้ที่ 2.8% และปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสู่ระดับ 2.4%

 

ในส่วนของเงินเฟ้อ Fed ได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้สู่ระดับ 4.3% ก่อนปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ในปี 2023 ที่ 2.7% และปี 2024 ที่ 2.3% และคงตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวที่ระดับ 2.0%

 

นอกจากนี้ Fed ยังคงตัวเลขคาดการณ์อัตราว่างงานในปี 2022-2023 ไว้ที่ระดับ 3.5% ขณะที่ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ในปี 2024 สู่ระดับ 3.6% และคงตัวเลขคาดการณ์อัตราว่างงานในระยะยาวที่ระดับ 4.0%

 

ด้านแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปีนี้ 2022 นี้ Fed ได้ปรับลดตัวเลขการเติบโตลงจากเดิมที่ 4.0% มาอยู่ที่ 2.8% พร้อมคงตัวเลขคาดการณ์ในปี 2023 ที่ระดับ 2.2% และปี 2024 ที่ 2.0% ขณะเดียวกันก็คงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวในระยะยาวที่ระดับ 1.8%

 

อ้างอิง: 

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X